ช่วงเวลา | ยอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร – 30 กันยายน 2558 | ยอดรวมเฉพาะเดือนกันยายน2558 |
---|---|---|
คนถูกเรียกรายงานตัว | 785 | 3 |
คนถูกจับกุมคุมขัง | 481 | 2 |
คนถูกจับกุมคุมขังจากการชุมนุมโดยสงบ | 212 | 3 |
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร | 145 | 1 |
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน | 47 | 1 |
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (ม.112) | 54 | 1 |
จำนวนคนที่ถูกคุมขังด้วยคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วและที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ในเดือนกันยายน 2558 | 47 |
เรียกพิชัย-ประวิตร-การุณ นอนค่ายทหารปรับทัศนคติ
เดือนกันยายน 2558 มีปรากฏการณ์เรียกบุคคลให้ไปรายงานตัวและคุมขังไว้ในค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติเป็นเวลาหลายคืน โดยไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวและไม่ให้ติดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งการใช้อำนาจลักษณะนี้คสช.เคยทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 3-4 เดือนหลังการยึดอำนาจ แต่หลังจากนั้นลักษณะการเรียกตัวจะเปลี่ยนเป็นแค่การพูดคุยแล้วปล่อยตัวในวันเดียวกัน หรือการเชิญไปกินข้าว กินกาแฟ หรือการไปเยี่ยมเยียนที่บ้านมากกว่า จนกระทั่งการใช้อำนาจในลักษณะนี้กลับมามีให้เห็นอีกครั้งในเดือนกันยายน ซึ่งการควบคุมตัวด้วยอำนาจพิเศษลักษณะนี้เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก
9 กันยายน 2558 พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีทหารมารับตัวที่บ้านเพื่อไปปรับทัศนคติ ซึ่งคาดการณ์ว่า มาจากสาเหตุที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน วิจารณ์การบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน 10 กันยายน 2558 การุณ โหสกุล อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ถูกเชิญไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 และถูกกักตัวไว้
pichai
13 กันยายน 2558 ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกรายงานตัวที่กองทัพภาคที่ 1 และถูกควบคุมตัวต่อเนื่อง
จนกระทั่งวันที่ 15 กันยายน 2558 เดลินิวส์ รายงานว่า มีการปล่อยตัวพิชัย การุณ และประวิตร โดยทั้งสามต้องลงนามในเอกสารข้อตกลงหยุดการเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นที่จะกระทบต่อการทำงานของคสช. หลังการปล่อยตัวประวิตรเปิดเผยกับประชาไท ว่าระหว่างการควบคุมตัวเขาถูกปิดตาเวลาเดินทางและถูกให้อยู่ในห้องที่ไม่มีแสงแดดและไม่มีอากาศ และหลังจากนั้นประวิตรตกลงใจลาออกจากการเป็นผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น
ขณะที่ 16 กันยายน 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า วรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ช่วงเวลาประมาณ 11.30 น. มีทหารแต่งชุดลายพรางรวม 6 คน เดินทางมาที่บ้านพัก แต่ขณะนั้นไม่อยู่บ้าน
17 กันยายน 2558 สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า มีทหารโดยอ้างว่ามาจากมณฑลทหารบกที่ 24 (มทบ.24) จำนวน 3 นาย ติดตามประกบกลุ่มนักศึกษาและทีมอาจารย์ลงมายังพื้นที่ โครงการวิจัยความเป็นธรรมทางสังคมด้านสุขภาวะ พ.ศ.2557 – 2558 พื้นที่จังหวัดอุดรธานี
ภาพอาจารย์สันติภาพขณะให้ข้อมูลกับทหารที่ติดตาม
นอกจากนี้ยังมีรายงานการไปเยี่ยมเยียนบุคคลต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ทหารอีกหลายครั้ง เช่น ศิริวัฒน์ จุปะมัดถา ผู้ประสานงาน นปช.พะเยา เป็นต้น
เดือนกันยายน 2558 มีคนถูกเรียกรายงานตัวอย่างน้อย 9 คน รวมแล้วนับตั้งแต่การรัฐประหารถึงสิ้นเดือนกันยายน 2558 มีคนถูกเรียกรายงานตัวแล้ว อย่างน้อย 785 คน
ศาลพลเรือนพิพากษา 2 คดี “ไม่จำคุก” ฐานฝ่าฝืนไม่มารายงานตัว
17 กันยายน 2558 ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีไม่มารายงานตัวของณัฐ โดยสั่งปรับ 4,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ เหลือปรับ 2,000 บาท ส่วนโทษจำคุก ศาลสั่งยกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลว่าคดีนี้หลังจากการฝ่าฝืนแล้วณัฐก็ไม่ได้หลบหนี จึงเห็นว่าโทษจำคุกรุนแรงเกินไป ซึ่งเป็นครั้งแรกในคดีการเมืองที่ศาลยกโทษจำคุกให้ตามมาตรา 55
21 กันยายน 2558 เวลา 9.45 น. ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษา คดีไม่มารายงานตัวของสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ศาลเห็นว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับบุคคลที่ถูกเรียกตามคำสั่งคสช. ฉบับที่ 1-3/2557 และ 5-6/2557 เป็นการกำหนดโทษเพิ่มเติมย้อนหลังและเป็นประกาศที่มุ่งใช้กับเฉพาะบุคคลที่มีรายชื่อในประกาศเรียกรายงานตัว ซึ่งตามหลักของกฎหมายอาญา กฎหมายจะกำหนดโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลังไม่ได้ และกฎหมายจะออกมาเพื่อเอาโทษกับเฉพาะบุคคลไม่ได้ ศาลแขวงดุสิตจึงไม่ลงโทษตามประกาศ คสช. 29/2557 แต่เห็นว่าการที่จำเลยไม่มารายงานตัวตามประกาศ เป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ศาลพิพากษา ให้ปรับ 500 บาท
Sombat
โดยก่อนหน้านี้ มียังไม่เคยมีคำพิพากษาของศาลพลเรือนในข้อหาไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช. แต่มีคำพิพากษาของศาลทหารในข้อหานี้ ของจำเลยอย่างน้อย 6 คน ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท จำเลยรับสารภาพศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท รอลงอาญา จนกระทั่งมีคำพิพากษาของศาลพลเรือนออกมาสองคดีในเดือนนี้
คดีของณัฐเป็นคดีแรกที่ศาลตัดสินไม่ลงโทษจำคุกจำเลยในข้อหานี้ ส่วนคดีของสมบัติเป็นคดีแรกที่จำเลยต่อสู้คดีและมีผลคำพิพากษา และยังเป็นคดีที่มีการลงโทษที่น้อยที่สุดตั้งแต่มีการตัดสินคดีในข้อหานี้มา และเป็นครั้งแรกตั้งแต่การรัฐประหารพฤษภาคม 2557 ที่ศาลชี้ว่าประกาศ คสช. ใช้บังคับไม่ได้ เพราะขัดกับหลักกฎหมายอาญา ขณะที่มีคดีไม่มารายงานตัว อีก อย่างน้อย 4 คดี ที่จำเลยอยู่ระหว่างการต่อสู้ว่าประกาศคสช.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ คดีของวรเจตน์ ภาคีรัตน์, จาตุรนต์ ฉายแสง, จิตรา คชเดช และสิรภพ ซึ่งต้องรอดูผลคำพิพากษาต่อไป
รำลึก 19 กันยาฯ ตำรวจไม่ใช้กำลังขวางกิจกรรม แต่ขู่เอาผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และประกาศ คสช.
19 กันยายน 2558 เนื่องในวันครบรอบ 9 ปี เหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ประกาศจัดกิจกรรม “9 ปีที่ก้าวไม่พ้นรัฐประหาร 19 กันยา” ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ จนกระทั่งวันงานเวลาประมาณ 12.00 น. เฟซบุ๊กของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ประกาศย้ายห้องไปจัดที่ชั้น 4 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
เมื่องานเสวนาเริ่มขึ้น พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เข้าชี้แจงในงานว่า การจัดกิจกรรมในสถานที่ปิดเช่นนี้ สามารถทำได้ แต่เมื่อเรามีพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะแล้ว การจะออกไปเดินบนท้องถนนสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และผิดประกาศหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ด้วย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
เมื่อกิจกรรมเสวนาเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 16.00 น. ประชาชนประมาณ 100-200 คน เดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวตรวจกระเป๋าสัมภาระทุกคนที่ประตูมหาวิทยาลัยฝั่งสนามหลวง ส่วนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเจ้าหน้าที่ตำรวจก็นำแผงเหล็กมากั้นและตรึงกำลังอยู่โดยรอบตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว เมื่อขบวนเดินทางไปใกล้ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นายก็ออกมาตั้งแถวกั้นเพื่อไม่ให้กลุ่มประชาชนเดินเข้าไปยังพื้นที่บริเวณฐานอนุสาวรีย์ได้ แต่เมื่อกลุ่มประชาชนพยายามฝ่าแผงกั้นเข้าไป เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้ใช้กำลังเข้าขัดขวาง ทำให้กลุ่มประชาชนเข้าไปอยู่บริเวณพื้นที่รอบฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ในเวลาประมาณ 17.00 น. และปักหลักอยู่ชุมนุมจนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้าขัดขวางการชุมนุมแต่อย่างใด
![](https://oldfreedom.ilaw.or.th/sites/default/files/wysiwyg_imageupload/5855/11145092_10156025735890551_8587094826537034419_o.jpg)
ช่วงเวลาประมาณ 20.40 น. มีรายงานว่าชายชื่อศิริชัย ซึ่งมาร่วมในการชุมนุมครั้งนี้ถูกจับกุมตัวจากบริเวณร้านมนต์นมสด และนำตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์ เขาถูกปล่อยตัวประมาณหนึ่งชั่วโมงให้หลัง โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา ตำรวจแจ้งว่าเชิญตัวมาพูดคุยเพราะสงสัยอาจเกี่ยวข้องกับเหตุความมั่นคง ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในวันนี้
อ่านรายละเอียดกิจกรรมวันที่ 19 กันยายน 2558 ต่อ คลิกที่นี่
ห้ามงานเสวนา 2 งาน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 ที่ห้องสมุดสันติประชาธรรม สวนเงินมีมา เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบหลายสิบนาย ได้เดินทางเข้าระงับการจัดงานเสวนา “ชีวิตของนายนรินทร์ กลึง คนขวางโลก” ที่มีวิทยากรคือศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา เจ้าหน้าที่ระบุการจัดเสวนานี้มีความสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย และคำสั่งคสช.
งานเสวนานรินทร์ กลึง
5 กันยายน 2558 เฟซบุ๊กของ โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง แจ้งข้อมูลการเลื่อนจัดงาน “ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติในเขตพะลึน รัฐมอญ ประเทศเมียนมา” ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องด้วยฝ่ายบ้านเมืองไม่อนุญาตให้จัดการประชุม คณะผู้จัดการประชุมจึงจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด
ในเดือนกันยายน 2558 มีการปิดกั้นการจัดกิจกรรมสาธารณะอย่างน้อย 2 งาน และมีการแทรกแซงเรื่องสถานที่จัดงานของขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีกอย่างน้อย 1 งาน
กระแสห้ามพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ สุดท้ายเน้นปิดปาก ‘เสื้อแดง’ กลุ่มอื่นยังเคลื่อนไหวได้
วันที่ 6 กันยายน 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาตินัดลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลการลงมติเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบ ก่อนหน้าวันลงมติ มีการเปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ แต่ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลห้ามการวิพากษวิจารณ์รัฐธรมนูญ โดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ ว่า การปลุกระดมให้ผ่านหรือไม่ผ่าน จะไม่สนับสนุนให้ทำเช่นนั้นและถือเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะอาจเข้าข่ายผิดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การส่งไลน์ หรือเอสเอ็มเอส ในลักษณะยั่วยุ ปลุกระดม ผิดกฎหมายทำไม่ได้
ในช่วงที่กำลังมีกระแสความตื่นตัวเรื่องร่างรัฐธรรนูญ ก็มีกระแสความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ทหารในการไปเยี่ยมเยี่ยนนักเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆ 5 กันยายน 2558 ประชาไท รายงานว่า ทหารเข้าค้นบ้านอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ (ฟอร์ด เส้นทางสีแดง) เนื่องจากได้ทำแคมเปญประกาศจะทำเสื้อ ‘Vote NO’ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ยังไม่มีการสั่งทำเสื้อจริงๆ 6 กันยายน 2558 เว็บไซต์ Kapook รายงานว่า ชาย 1 คน และหญิง 1 คน ได้นั่งประท้วงกลางถนนบริเวณหน้ารัฐสภา และแจกเอกสาร “คำชี้แจง เรื่อง ปัญหาร่างรัฐธรรมนูญ 285 มาตรา พัฒนาหรือทำลายชาติ” เพื่อต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นเอกสารจาก พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาได้เข้ามาควบคุมตัวผู้ประท้วงขึ้นรถไป
อนุรักษ์(ฟอร์ด เส้นทางสีแดง)
ขณะที่กิจกรรม “กรวดน้ำคว่ำขัน ร่างรัฐธรรมนูญ 2558” ของกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2558 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากมาดูแลอย่างใกล้ชิด และมีการขู่ด้วยจะผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่กิจกรรมก็สามารถจัดได้ ส่วนงานเสวนา “ความหวังของระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่” เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2558 ซึ่งจัดโดยเครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ และงานเสวนา “วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 กับทิศทางการปฏิรูปการเมืองไทย: ทางออกหรือทางตัน” วันที่ 3 กันยายน 2558 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็สามารถจัดงานได้
ความเคลื่อนไหวคดีต่างๆ: ยกฟ้อง ‘ภูเก็ตหวาน’, คดี 112 ให้จำคุก ‘เฉลียว’ แต่รอลงอาญา ‘นิรันดร์’
ยกฟ้องภูเก็ตหวาน 1 กันยายน 2558 ศาลจังหวัดภูเก็ตอ่านคำพิพากษาคดีที่กองทัพเรือ ฟ้องสำนักข่าวภูเก็ตหวาน จากการเผยแพร่รายงานของรอยเตอร์เรื่องการค้ามนุษย์ ด้วยข้อหาหมิ่นประมาท และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลพิพากษาให้ยกฟ้องเนื่องจากสำนักข่าวรอยเตอร์น่าเชื่อถือ การเผยแพร่ข้อมูลจากรอยเตอร์จึงไม่ใช่การหมิ่นประมาท ไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จ และเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ได้ใชกับการหมิ่นประมาท
ศาลอุทธรณ์จำคุกเฉลียว 2 ปี 6 เดือน 3 กันยายน 2558 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีมาตรา 112 ของเฉลียว จากการอัพโหลดคลิปขึ้นเว็บไซต์ 4Share คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน รอลงอาญา แต่อัยการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากาษาให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา เฉลียวจึงถูกส่งไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ก่อนที่สามวันต่อมาศาลฎีกาจะสั่งให้ประกันตัว และเจ้าตัวประสงค์จะยื่นฎีกา
ภาพเฉลียว
สืบพยาน คดีชุมนุมของอภิชาต 11 และ 30 กันยายน 2558 ศาลแขวงปทุมวันนัดสืบพยานคดีชุมนุมฝ่าฝืนประกาศคสช.ของอภิชาต โดยสองครั้งที่ผ่านมา สืบพยานโจทก์ไปแล้วสองปาก พยานจำเลยสองปาก โดยจำเลยต่อสู้คดีว่าประกาศคสช.เรื่องการห้ามชุมนุมนั้นไม่ชอบธรรม ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ศาลนัดสืบพยานต่อในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558
ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง อานดี้ ฮอลล์ 18 กันยายน 2558 ศาลจังหวัดพระขโนงนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอานดี้ ฮอลล์ ให้สัมภาษณ์นักข่าวอัลจาซีรา และถูกบริษัท เนเชอรัล ฟรุ๊ต ฟ้องหมิ่นประมาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า คดีนี้เกิดขึ้นที่ประเทศพม่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทสำเร็จลงที่ประเทศพม่าแล้ว จึงดำเนินคดีในประเทศไทยไม่ได้ ให้ยกฟ้อง
อานดี้ ฮอลล์
สืบพยาน คดีชาญวิทย์ 15-16 กันยาน 2558 ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดสืบพยานคดีมาตรา 112 ของชาญวิทย์ ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการแจกใบปลิวที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อปี 2552 โดยโจทก์นำพยานเข้าสืบสามปาก จำเลยนำพยานเข้าสืบสองปาก จำเลยต่อสู้ว่าเอกสารที่แจกไม่ได้ทำให้บุคคลใดเสียหาย การสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดฟังคำพิพากษา 1 ธันวาคม 2558
ปล่อยตัว คธา (คดีหุ้นตก) 22 กันยายน 2558 คธา ผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้นามแฝงว่า Wet Dream โพสข่าวลือเกี่ยวกับสาเหตุที่หุ้นตกในปี 2552 ซึ่งถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ได้รับการปล่อยตัวแล้ว
รอลงอาญา คดี112 ของ นิรันดร์ 29 กันยายน 2558 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การ คดีมาตรา 112 ของนิรันดร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ ASTV จากการเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน เมื่อพิจารณาจากอายุและพฤติการณ์ของจำเลย ซึ่งรีบแก้ไขเยียวยาความผิดทันที จึงเห็นควรให้รอการลงโทษ
ความเคลื่อนไหวอื่นๆ: จับซ้ำ ‘ลุงบัณฑิต’, ถอดยศทักษิณ, ถอนพาสปอร์ตจาตุรนต์
ถอนพาสปอร์ตจาตุรนต์ 2 กันยายน 2558 กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตแบบบุคคลทั่วไป (เล่มสีแดง) ของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ขอให้ดำเนินการ โดยระบุถึงสาเหตุการยกเลิกพาสปอร์ต จากการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการเป็นผู้ต้องหาคดีขัดคำสั่งคสช.ที่ไม่เข้ารายงานตัว และคดีมาตรา 116
ถอดยศทักษิณ 5 กันยายน 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 26/2558 เรื่อง การดําเนินการเพื่อถอด พันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตํารวจ
จับ ‘เพนกวิน’ นักเรียนม.5 6 กันยายน 2558 พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเรียนชั้น ม.5 และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ถูกรวบตัวมายัง สน.ปทุมวันและถูกซักถามประวัติก่อนปล่อยตัว หลังจากเขาตั้งคำถามพร้อมชูป้าย ช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดโอกาสให้ตั้งคำถาม ในงานกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ผลงานความก้าวหน้าของรัฐบาลในการปฏิรูปการแก้ทุจริตคอร์รัปชัน” เนื่องในงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2558 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์
ภาพ”เพนกวิ้น”จากมติชน ออนไลน์
ศาลทหารกังวลทนายโพสต์เฟซบุ๊ก 7 กันยายน 2558 นัดสืบพยานโจทก์ คดีไม่มารายงานตัวของสิรภพ ที่ศาลทหารกรุงเทพ ระหว่างพิจารณาคดี ศาลได้แจ้งให้ อานนท์ นำภา ทนายความจำเลย จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทราบถึงการนำเอาคำเบิกความ และการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลไปเผยแพร่ในระบบอินเตอร์เน็ต ว่าเป็นช่องทางให้ผู้อื่นมาแสดงความคิดเห็นที่น่าจะเกิดความเสียหายได้ ซึ่งศาลไม่สบายใจต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่นในโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับคำเบิกความของ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ และโพสต์ที่เกี่ยวกับการตั้งข้อสังเกตในการพิจารณาของศาล
จับซ้ำ ‘ลุงบัณฑิต’ แสดงความเห็นในงานสัมมนา 12 กันยายน 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า บัณฑิต อานียา นักเขียนและนักแปลวัย 74 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเชิญตัวไปที่สน.ชนะสงคราม หลังแสดงความคิดเห็นในตอนท้ายของงานเสวนา “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยบัณฑิตได้กล่าวถึงสิ่งที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยสุดท้ายตำรวจได้ทำบันทึกร่วมกัน และปล่อยตัวโดยยังไม่เแจ้งข้อกล่าวหา ในบันทึกระบุว่าข้อความที่บัณฑิตกล่าวในงานเสวนามีลักษณะหมิ่นเหม่
ภาพบัณฑิต อานียา จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ปิดถาวรวิทยุหมู่บ้านเสื้อแดง 16 กันยายน 2558 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า กสทช.ได้มีคำสั่งมายัง “สถานีวิทยุหมู่บ้านเสื้อแดง” จ.อุดรธานี ภายใต้การดูแลของนายอานนท์ แสนน่าน ซึ่งใช้ชื่อสถานีวิทยุเสียงประชาชน Voice People Radio FM 100.00 MHz และ FM 100.75 MHz ให้นำเอาเสาวิทยุลง ถือว่าเป็นคำสั่งปิดถาวร เป็นการปิดตำนานสถานีวิทยุหมู่บ้านเสื้อแดง
โรงพิมพ์ไม่พิมพ์นิวยอร์คไทมส์หนึ่งวัน 22 กันยายน 2558 บีบีซีไทย รายงานว่า หนังสือพิมพ์อินเตอร์แนชันแนล นิวยอร์ค ไทมส์ ได้ส่งอีเมลแจ้งไปยังสมาชิกว่า จะไม่มีการตีพิมพ์ฉบับประจำวันอังคารที่ 22 กันยายน 2558 ในประเทศไทย เนื่องจากสำนักพิมพ์ที่เป็นคู่สัญญาสำหรับการตีพิมพ์ในประเทศไทย แจ้งปฏิเสธที่จะพิมพ์ฉบับดังกล่าว เนื่องจากมีบทความที่มีเนื้อหาอ่อนไหวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในหน้าแรก
เดือนกันยายน 2558 มีคนถูกจับจากการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ อย่างน้อย 5 คน รวมตั้งแต่การรัฐประหารจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2558 มีคนถูกจับจากการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะอย่างน้อย 212 คน