แก้รัฐธรรมนูญ : สส. พรรคประชาชน เสนอลบล้างผลพวงคสช. – เพิ่มกลไกต่อต้าน ป้องกันรัฐประหาร

นับแต่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ มีข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพียงข้อเสนอเดียวจาก 26 ข้อเสนอที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาจนสามารถประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ คือ ข้อเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้ง ที่ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ขณะที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีก 25 ฉบับต่างตกไปต่างวาระกัน ในจำนวนดังกล่าวมีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถึง 12 ฉบับที่ต้องตกไปในวาระหนึ่งแม้ได้รับเสียงข้างมากของรัฐสภาแล้ว แต่ไม่ผ่านเงื่อนไขเสียงเห็นชอบหนึ่งในสามของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มาจากการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

หลังจาก สว. แต่งตั้งหมดอายุ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล (เดิมก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ซึ่งต่อมา สส. ในพรรคย้ายมาสังกัดพรรคประชาชน) เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสามฉบับต่อรัฐสภา ได้แก่ 1) ยกเลิก มาตรา 279 ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 2557 2) ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ-แผนปฏิรูปประเทศ 3) เพิ่มกลไกป้องกัน-ต่อต้านการรัฐประหาร โดยข้อเสนอยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งรับรองประกาศ-คำสั่ง คสช. และการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะภาคประชาชนรวมถึง สส. เองต่างเคยเสนอประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้วแต่ถูกโหวตคว่ำไปโดยมี สว. แต่งตั้งจาก คสช. เป็นตัวแปรสำคัญ

อย่างไรก็ดี แม้สองในสามของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ สส. พรรคประชาชนเสนอ จะเป็นข้อเสนอที่เคยเข้ารัฐสภาและถูกคว่ำไปแล้ว แต่หน้าตาของวุฒิสภาที่เป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงไป จาก สว. แต่งตั้ง เป็นสว. ชุดใหม่จากระบบ “เลือกกันเอง” ข้อเสนอลบล้วงผลพวงรัฐประหารโดย คสช. รวมถึงข้อเสนอใหม่คือการเพิ่มกลไกการป้องกันและการต่อต้านรัฐประหาร จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเสียง สว. โดยต้องการเสียงเห็นชอบอย่างน้อย 67 เสียง

ยกเลิก ม. 279 ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 57 – บุคคลที่เสียหายจากประกาศ คำสั่ง คสช. ฟ้องศาลได้

หลัง คสช. รัฐประหารในปี 2557 ในฐานะผู้ก่อการรัฐประหารได้ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หรือผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐ และใช้อำนาจพิเศษผ่านการออกประกาศและคำสั่งต่างๆ โดยอ้างเหตุเรื่องความมั่นคงในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างเช่น เสรีภาพในการพูดหรือแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพสื่อ นอกจากนี้ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ 2557 หัวหน้า คสช. ยังมีอำนาจพิเศษตาม “มาตรา 44” ของรัฐธรรมนูญ ที่สามารถออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ ได้อย่างอิสระไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางบริหาร ตุลาการ หรือนิติบัญญัติ การใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวของ คสช. นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงสร้างผลกระทบทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

แม้สถานะของ คสช. จะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ยังให้การรับรองการใช้อำนาจของ คสช. ที่ผ่านมาไว้อยู่ ในมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทบัญญัติสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่า

มาตรา 279 บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำที่มีผลใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำนั้น เป็นประกาศ คำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี

บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 ว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย

บทบัญญัติดังกล่าว รับรองการใช้อำนาจพิเศษของ คสช. ให้ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่งผล คสช. ที่เป็นผู้ใช้อำนาจออกประกาศ-คำสั่ง ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบตามกฎหมาย อีกทั้งการยกเลิกหรือแก้ไขประกาศ-คำสั่ง คสช. ก็ต้องทำเป็นร่างพระราชบัญญัติเสนอต่อสภาหรือทำเป็นคำสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรี ขึ้นอยู่กับว่าประกาศหรือคำสั่งนั้นมีสถานะเป็นการใช้อำนาจแบบใด

ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ สส. พรรคประชาชนเสนอ กำหนดยกเลิกมาตรา 279 ไปทั้งมาตรา และเสนอเพิ่มเติมบทบัญญัติรับรองให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากบรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. หรือหัวหน้า คสช. มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้

ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ-แผนปฏิรูปประเทศ

“ยุทธศาสตร์ชาติ” หนึ่งในเครื่องมือสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่ทำให้ชนชั้นนำภาครัฐที่นำโดยกองทัพกับนายทุนผูกขาดสามารถมีบทบาทควบคุมการออกนโยบายการพัฒนาประเทศไปถึง 20 ปีผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยทหารและนายทุน นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ชาติยังถูกวางไว้เป็นเงื่อนไขระยะยาวที่ใช้กับทุกรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 นโยบายของรัฐบาล รวมถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่สองที่ สส. พรรคประชาชนเสนอ เสนอยกเลิกมาตรา 65 ซึ่งระบุว่า 

มาตรา 65  รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

การจัดทำ การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ  ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย

ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

พร้อมกับเสนอยกเลิกพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ด้วย

สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติ เกี่ยวพันกับนโยบายของรัฐบาลและงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 142 และมาตรา 162 กำหนดไว้ว่าต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเสนอตัดคำว่ายุทธศาสตร์ชาติออกไปจากบทบัญญัติสองมาตราดังกล่าวให้สอดคล้องกับการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ โดยนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติอีก

นอกจากนี้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง ยังเสนอยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ยกหมวด ตั้งแต่มาตรา 257 ถึงมาตรา 261

ใจความสำคัญของหมวด 16 คือ กำหนดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็คือพระราชบัญญัติว่าด้วยแผนและการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 กฎหมายฉบับนี้กำหนดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ขึ้นมา มีหน้าที่จัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดไว้ เช่น ด้านกฎหมาย ด้านการเมือง ด้านการศึกษา รวมทั้งทำงานอื่นๆ ตามที่รับมอบหมายจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

เพิ่มกลไกป้องกัน-ต่อต้านการรัฐประหาร

นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 มีการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลด้วยวิถีทางที่แตกต่างกันถึง 13 ครั้ง โดยผู้นำการรัฐประหารส่วนใหญ่เป็นทหารจากกองทัพบก

หลังการรัฐประหาร คณะรัฐประหารจะออกกฎหมายมานิรโทษกรรมตัวเอง ตามมาด้วยการใช้อำนาจพิเศษ ออกประกาศหรือคำสั่งที่มีสถานะเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร รวมถึงอำนาจตุลาการ โดยผลผลิตจากคณะรัฐประหารแต่ละยุคสมัยไม่ได้บังคับใช้เพียงแต่ช่วงที่คณะรัฐประหารครองอำนาจเท่านั้น แต่มีผลบังคับใช้เรื่อยมาจนกว่าจะมีการยกเลิก โดยเฉพาะประกาศหรือคำสั่งที่มีสถานะเป็นกฎหมาย จะสิ้นผลไปจนกว่าจะมีการออกกฎหมายมายกเลิก

ตัวอย่างประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารในอดีต ที่ยังมีผลบังคับใช้ เช่น

  • ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 11 มกราคม 2502 ออกในยุคการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กำหนดให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการขจัดความไม่เรียบร้อย หากมีกรณีที่บุคคลเข้าไปปลูกที่อยู่อาศัยหรือที่ตั้งการค้าในพื้นที่ทางสัญจรหรือหรือที่สาธารณสมบัติที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน
  • ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ออกในยุคการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เนื้อหาของประกาศ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา บทบัญญัติที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ และยังไม่มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมภายหลัง เช่น ความผิดต่อเจ้าพนักงาน  มาตรา 140 มาตรา 190 มาตรา 191 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน  มาตรา 218 มาตรา 224
  • คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ออกในยุคการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 กำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพิ่มอัตราโทษความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น โดยอัตราโทษของ มาตรา 112 จำคุกสามถึง 15 ปี ก็เป็นผลพวงมาจากคำสั่งฉบับนี้

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การใช้อำนาจของคณะรัฐประหารมีผลบังคับใช้ คือการวางบรรทัดฐานโดยศาลยุติธรรมในอดีต ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 ซึ่งระบุว่า “การที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จนั้น คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขยกเลิกและออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติเพื่อบริหารประเทศชาติต่อไปได้มิฉะนั้นประเทศชาติจะตั้งอยู่ด้วยความสงบไม่ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 จึงเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์ การแต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นรัฐมนตรีในตอนนั้น ก็ย่อมเป็นการชอบด้วย” ก็เป็นหนึ่งในคำพิพากษาที่รับรองสถานะรวมถึงความชอบธรรมของการใช้อำนาจโดยคณะรัฐประหาร

ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่สามที่ สส. พรรคประชาชนเสนอ ระบุว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลายทศวรรษเป็น “วงจรอุบาทว์” ของการเมืองไทย ทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยในประเทศไทยต้องสะดุดหยุดลง เพื่อตัดวงจรนรัฐประหาร จึงเสนอเพิ่มบทบัญญัติในหมวด 16/1 การลบล้างผลพวงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และการป้องกันและการต่อต้านรัฐประหารเข้าไปในรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญ คือ

หนึ่ง ลบล้างการนิรโทษกรรมตนเองของคสช.

หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คสช. เดินรอยตามคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) โดยนิรโทษกรรมตัวเองผ่านรัฐธรรมนูญชั่วคราวซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ต่างจากคณะรัฐประหารยุคก่อนที่นิรโทษกรรมตนเองผ่านกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ

รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 มาตรา 48 กำหนดให้บรรดาการกระทำเนื่องจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของคสช. รวมไปถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลัง 22 พฤษภาคม 2557 หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ สส. พรรคประชาชนเสนอ กำหนดให้บทบัญญัติ มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 “เป็นโมฆะ” เสียเปล่า เสมือนว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลใดๆ ในทางรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ลบล้างการนิรโทษกรรมตนเองของ คสช. ออกไป เพื่อให้ คสช. อยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยกฎหมายและมีความรับผิดจากการรัฐประหารและการใช้อำนาจต่างๆ

สอง ประชาชนมีสิทธิต่อต้านการรัฐประหาร ข้าราชการมีหน้าที่ไม่ต้องปฏิบัติตาม

ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อด้านการรัฐประหารด้วยวิธีการใดๆ ในฝั่งข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีสิทธิและหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างประจักษ์ชัด และมีหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะทหารหรือคณะบุคคลที่ทำรัฐประหาร

สาม ห้ามศาลรับรองการรัฐประหาร

นอกจากกำหนดห้ามข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามคำสั่งคณะรัฐประหารแล้ว ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังกำหนดให้ฝ่ายตุลาการ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลอื่นๆ ห้ามวินิจฉัย หรือพิพากษารับรองความสมบูรณ์ทางกฎหมายและสถานะทางกฎหมายให้แก่คณะผู้ก่อการรัฐประหาร ประกาศ คำสั่ง และการกระทำอื่นใดของคณะผู้ก่อการรัฐประหาร

สี่ ยุติวงจรพ้นผิด ได้รัฐบาลจากประชาชนแล้วต้องดำเนินคดีต่อผู้รัฐประหาร ไม่มีอายุความ

ตามประวัติศาสตร์การรัฐประหาร หลังคณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจและออกจากอำนาจไปแล้ว ก็ลอยนวลหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดใดๆ เนื่องจากเมื่อทำรัฐประหารแล้ว ก็จะชิงออกกฎหมายนิรโทษกรรมตนเอง ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พยายามวางกลไกไม่ให้คณะรัฐประหารต้องพ้นผิด โดยกำหนดว่า กรณีที่คณะทหารหรือคณะบุคคลรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ แย่งชิงอำนาจสูงสุดของปวงชนชาวไทย (อำนาจอธิปไตย) หรือล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด เมื่อใดที่อำนาจสูงสุดกลับมาเป็นของปวงชนชาวไทย ได้รัฐบาลและอำนาจการปกครองที่ชอบธรรมแล้ว ให้ดำเนินคดีต่อคณะทหารหรือคณะบุคคลที่ก่อรัฐประหารโดยทันทีและโดยปราศจากอายุความ

ห้า บทบัญญัติต่อต้านรัฐประหารเป็นจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญ มีผลแม้รัฐธรรมนูญสิ้นผล

ในมาตราสุดท้ายของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยังกำหนดเพิ่มเติมว่า ให้บทบัญญัติในหมวดนี้ มีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญและหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ มีผลใช้บังคับโดยตลอดแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสิ้นผลไป

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage