ศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นองค์กรและกลไกสำคัญในยามที่ประเทศต้องการตัดสินชี้ขาดทั้งในแง่ของการใช้อำนาจรัฐหรือความสับสนของการตีความกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่า ผลของการตัดสินย่อมส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในสังคม ด้วยเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องมีหลักประกัน “ความเป็นอิสระ” ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
หลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และออกประกาศให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีอันต้องสิ้นสุดลง แต่ยังคงให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญยังคงทำหน้าที่ของตนต่อไป
ในปี 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. ได้รับหน้าที่ในการแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระจากคสช. และถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารที่มีการแทรกแซงกระบวนการแต่งตั้งองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งทางการเมือง ดังนี้
๐ 29 มิถุนายน 2559 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2559 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มาตราดังกล่าวทำให้มีผู้ที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคสช. ต้องถูกดำเนินคดี
๐ 28 กันยายน 2559 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามผลการออกเสียงประชามติในคำถามพ่วงเพื่อให้วุฒิสภาเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยบุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องมาจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเป็นคนเสนอตามกฎหมายก็ได้
๐ 20 เมษายน 2560 หัวหน้าคสช. ใช้ “มาตรา 44” ต่ออายุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง
๐ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องจากผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขอให้วินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 60 หรือไม่ โดยศาลระบุต้องใช้สิทธิทางศาลและผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน
๐ 9 มีนาคม 2561 ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้องกรณีที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิก สนช. ว่าขอให้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 185 บัญญัติว่าให้ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.และกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระตามกฎหมาย ป.ป.ช. เดิมนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่ขัด
๐ 23 พฤษภาคม 2561 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 91,92,93,94,95 และ 96 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลใช้บังคับในวาระเริ่มแรก มีเนื้อหากำหนดให้การสรรหา ส.ว.มีการกำหนดจำนวนกลุ่มผู้สมัคร วิธีการสมัครและกระบวนการเลือก แตกต่างไปจากการได้มาซึ่งส.ว.ตามบททั่วไป ไม่มีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
๐ 30 พฤษภาคม 2561 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนที่บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ใด ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและไม่ได้เเจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือเเจ้งเหตุที่มอาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นจะถูกจำกัดสิทธิ์ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองหรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้นไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
๐ 5 มิถุนายน 2561 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 53/2560 ที่ไปแก้ไข พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่พรรคการเมืองต้องยืนยันสมาชิกพรรคเดิมภายใน 30 วัน และให้มีสาขาและตัวแทนจังหวัดของพรรคหลังคสช. ปลดล็อค นั้น ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
๐ 29 สิงหาคม 2561 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นตรวจสอบกรณีการถือครองหุ้นเกินจำนวนที่กำหนด แต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจงของผู้ถูกร้อง และเอกสารประกอบแล้ว ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏมูลเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมหรือการบริหารราชการแผ่นดินแต่ประการใด กรณียังไม่มีเหตุอันควรสงสัย ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนตามบทบัญญัติดังกล่าว
๐ 7 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์สั่งยุบไทยรักษาชาติ เหตุกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากการเสนอชื่อ ‘ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ’ อยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรีที่พรรคเป็นผู้เสนอ
๐ 24 เมษายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยสูตรคำนวน ส.ส.ปาร์ตี้สิสต์ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้ายการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 โดยระบุเป็นหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง
๐ 8 พฤษภาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้ายการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ว่าด้วย กำหนดวิธีคิด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ว่าด้วยการคำนวณที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
๐ 23 พฤษภาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากกรณีถือครองหุ้นใน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เข้าลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ และไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ปมแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ขัดกับกฎหมายหรือไม่ ชี้เป็นเพียงการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรอง เสนอรายชื่อตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นการออกกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับ
๐ 26 มิถุนายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นผ่าน ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติ 41 ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลถือในหุ้นกิจการสื่อมวลชนไว้พิจารณา โดยมีมติรับคำร้องทั้งสิ้น 32 คนและส่งสำเนาให้ผู้ถูกร้องชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีมติให้ ส.ส. กลุ่มนี้หยุดปฎิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำวิจฉัย เหมือนกับกรณีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยระบุเหตุผลว่า จะต้องมีเหตุอันควรสงสัย แต่กรณีนี้ผู้ร้องไม่ได้ตั้งกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง คงมีเพียงเอกสารประกอบแบบคำร้องเท่านั้น
๐ 19 กรกฎาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาปมพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร ปิยบุตร และคณะกรรมการบริหารพรรค ใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพีระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีสัญลักษณ์ของพรรคมีความเชื่อมโยงกับองค์กรลับ “อิลลูมินาติ” (Illuminati) ซึ่งนายณฐพร โตประยูร ผู้ร้องระบุว่ามีแนวคิดล้มล้างการปกครองระบบกษัตริย์
๐ 27 สิงหาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ มีความผิดฐานถือหุ้นสัมปทานรัฐเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กรณีถือครองหุ้นของบริษัทที่ได้รับสัปทานจากรัฐ ส่วนอดีตรัฐมนตรีในยุคคสช. อีก 3 คน ได้แก่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ไม่มีความผิด
๐ 11 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้วินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการกระทำทางการเมือง เป็นเรื่องของรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบในองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ
๐ 18 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคสช. และนายกฯ ไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ แม้ว่าศาลฎีกาจะเคยพิพากษาให้การฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช. เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานของรัฐ