สี่ปี คสช. ใช้มาตรา44 + สนช. เข้ายึดองค์กรอิสระได้เบ็ดเสร็จตามใจ

 

ประเทศไทยมีองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตอยู่มากมาย เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.), ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งโดยหลักการแล้วองค์กรเหล่านี้ต้องตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ที่มาของผู้จะมาอยู่ในองค์กรอิสระก็จึงต้องเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร
ที่ผ่านมาในสังคมไทยยังไม่มีกลไกการสรรหากรรมการองค์กรอิสระที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกัน สังเกตได้จากรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับที่ต่างกำหนดวิธีการได้มาซึ่งกรรมการของแต่ละองค์กรไว้แตกต่างกัน
ตามรัฐธรรมนูญ 2550 องค์กรสำคัญที่มีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้จะมาเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ คือ วุฒิสภา (ส.ว.) แต่ในยุคสมัยของ คสช. วุฒิสภาไม่มีอยู่ โดยมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใช้อำนาจแทนส.ว. แต่สิ่งที่ต่างกันคือ สมาชิก สนช. มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ดังนั้น สนช. จึงเป็นตัวแทน คสช. ที่จะคัดเลือกคนเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระและคัดเลือกคนที่ คสช. ไม่ต้องการออกไป ซึ่งจะเห็นได้จากการลงมติเห็นชอบและไม่เห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระของ สนช. ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา
แต่ คสช. ไม่เพียงใช้อำนาจเลือกสรรกรรมการองค์กรอิสระผ่าน สนช. เท่านั้น คสช. ยังใช้อำนาจพิเศษออกประกาศ คสช. และใช้อำนาจตาม "มาตรา 44" ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. อีกหลายฉบับเพื่อเข้าไปออกแบบการสรรหากรรมการองค์กรอิสระโดยตรง ฉบับที่สำคัญ ก็เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 48/2557 ที่ประกาศว่า การสรรหาองค์กรอิสระให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2550 ไปพลางก่อน แต่ต่อมาก็มี คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 40/2559 ออกมาสั่งระงับการสรรหาองค์กรอิสระทุกแห่ง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อรอให้รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ก่อน
หลังรัฐประหาร คสช. ใช้อาศัยอำนาจพิเศษออกประกาศ/คำสั่ง ไปอย่างน้อย 14 ฉบับ และใช้อำนาจผ่านการลงมติของ สนช. ไปอย่างน้อย 14 ครั้ง  หากผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระคนใดที่ คสช. พอใจก็อาจได้อยู่ยาวกว่ากำหนดการของตัวเอง แต่หากองค์กรอิสระใดยังไม่ได้คนที่ คสช. พอใจ เมื่อออกกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญใหม่ คสช. ก็มีไม้ตายสุดท้าย คือ ใช้การ "เซ็ตซีโร่" ให้เริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ทั้งหมด 
จนถึงวันที่ คสช. อยู่มาครบสี่ปี การแต่งตั้งและสรรหาหลายองค์กรก็ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งรายละเอียดขั้นตอนของแต่ละองค์กรก็แตกต่างกันออกไป ดังนี้ 
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.): วิษณุนั่งกรรมการสรรหา ตั้งคนของ คสช. มาตรวจสอบ คสช.
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 48/2557 กำหนดให้การสรรหาองค์กรอิสระดำเนินการตามระบบเดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 ไปพลางก่อน แต่เมื่อปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติเพราะอายุครบ 70 ปี กระบวนการสรรหากลับไม่ได้เดินหน้าไปตามปกติ เพราะ คสช. เห็นว่า กรรมการอีก 4 คน ก็กำลังจะครบวาระในอีก 4 เดือนถัดไป เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 คสช. จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 12/2558 สั่งให้ปานเทพยังดำรงตำแหน่งต่อไปได้หลังอายุ 70 ปี และให้ไปหมดวาระพร้อมกัน และเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่พร้อมกันทีเดียว 
ในวันเดียวกัน นอกจากจะต่ออายุให้ประธาน ป.ป.ช. แล้ว คสช. ยังเห็นว่า กระบวนการสรรหาป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แต่สองตำแหน่งหลังยังไม่มี และประธานศาลปกครองสูงสุดอยู่ระหว่างถูกพักราชการ จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2558 กำหนดให้ประธาน สนช. และรองนายกรัฐมนตรี เข้าเป็นกรรมการสรรหาด้วย ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีคนดังกล่าว คือ วิษณุ เครืองาม
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2558 ถือว่า ขัดต่อหลักประกันความเป็นอิสระของ ป.ป.ช. โดยตรง เพราะป.ป.ช. มีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร กระบวนการสรรหาจึงต้องไม่ให้ฝ่ายบริหารเข้ามายุ่งเกี่ยวได้ และการที่กฎหมายเดิมกำหนดให้มีผู้นำฝ่ายค้านเป็นกรรมการสรรหาก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ ด้วยหลักคิดที่ว่า ผู้นำฝ่ายค้านน่าจะเป็นตัวแทนของผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้ แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นประธาน สนช. ซึ่งถูกแต่งตั้งมาโดย คสช. และรองนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้ คสช. เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นสองเสียงในจำนวนกรรมการสี่คนที่เหลืออยู่ ที่จะคัดเลือกกรรมการ ป.ป.ช.
ต่อมาเมื่อกรรมการอีกสี่คนกำลังจะหมดวาระและกำลังจะเริ่มกระบวนการสรรหา คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 28/2558 ก็ออกมายืดอายุให้กับปานเทพ อีกครั้งหนึ่ง เพื่ออุดรูรั่วของคำสั่งที่ 12/2558 โดยให้ปานเทพยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะสรรหาคนใหม่มาแทนได้ 
19 พฤศจิกายน 2558 ที่ประชุม สนช. รับรายชื่อมาจากกรรมการสรรหา และลงมติเห็นชอบให้ คมพิทักษ์ อดีตกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, สุวณา สุวรรณจูฑะ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ และพลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีตผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายในกองทัพบก เป็นกรรมการ ป.ป.ช.
9 ธันวาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่ 45/2558 กำหนดให้ปานเทพ พ้นจากตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. และให้กรรมการห้าคนชุดใหม่ ประชุมร่วมกับสี่คนที่ยังอยู่ในตำแหน่ง เพื่อเลือกหาประธาน ซึ่งต่อมาที่ประชุมเลือกให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน ป.ป.ช. ซึ่งพล.ต.อ.วัชรพล นั้นเป็นอดีต สมาชิก สนช. ที่เพิ่งลาออกเพื่อมาเข้ารับการสรรหาเป็น ป.ป.ช. และยังเป็นอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เท่ากับว่า คสช. ได้ส่งคนของตัวเองเข้ามาเป็นประธาน ป.ป.ช. ได้สำเร็จ พร้อมกับกรรมการรวมห้าจากเก้าคน ก็มาจากกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งโดยคนของ คสช. 
และเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ พร้อมด้วยการประกาศใช้พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต องค์กร ป.ป.ช. ก็จึงไม่ถูก "เซ็ตซีโร่" และให้กรรมการที่เพิ่งเลือกมาอยู่ต่อไปจนครบวาระ คือ เจ็ดปี
ศาลรัฐธรรมนูญ: ต่ออายุให้อยู่ยาวจนหลังเลือกตั้ง คุ้มกันประกาศ/คำสั่ง คสช.
ภายใต้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 48/2557 ที่กำหนดให้การสรรหาองค์กรอิสระดำเนินการตามระบบเดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 ไปพลางก่อน วันที่ 9 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบให้นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และเคยเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว นครินทร์ยังเคยทำงานเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 และ ร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1 ในยุคของ คสช. ฉบับปี 2558 นอกจากนี้ในปี 2552-2558 ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของสุพจน์ ไข่มุกด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่ 2 ของ คสช. ด้วย
วันที่ 29 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม สนช. ลงมติให้ความเห็นชอบให้ปัญญา อุดชาชน ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้ปัญญาเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และเคยเป็นคณะอนุกรรมาธิการประสานข้อมูลของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2558 
แม้ในปี 2559 จะมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 40/2559 สั่งระงับการสรรหาองค์กรอิสระทุกแห่งเพื่อรอรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่เนื่องจากในเดือนพฤษภาคม 2560 ตุลาการ 5 คน ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล จะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอยู่ในตำแหน่งมาจนครบวาระ 9 ปีแล้ว วันที่ 5 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง ฉบับที่ 23/2560 กำหนดให้สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปได้เลย โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก โดยขั้นตอนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 23/2560 ก็เขียนไว้คล้ายกับขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ 2550 
แต่คำสั่งดังกล่าวยังไม่ทันได้ทำงาน วันที่ 20 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. ก็เปลี่ยนใจหันหลังกลับ 180 องศา ใช้มาตรา 44 อีกครั้งออกคำสั่งฉบับที่ 24/2560 ให้งดเว้นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งก่อนหน้านี้เอาไว้ก่อน เพื่อรอรัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูก และยืดอายุให้ตุลาการทั้ง 5 คนทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีกฎหมายลูกใช้บังคับ
เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ พร้อมด้วยการประกาศใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรนี้ก็ไม่ถูก "เซ็ตซีโร่" คือ ให้ตุลาการที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ส่วนตุลาการที่หมดวาระแล้วแต่ คสช. ช่วยยืดอายุไว้ก็ให้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมีการเรียกประชุมสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป เท่ากับว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยว่า การกระทำใดของ คสช. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่โดยไม่มีกำหนดสิ้นสุดที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่า คสช. ต้องการจัดการเลือกตั้งเมื่อไร
ในระยะเวลา 4 ปี ของ คสช. มีการออกประกาศและคำสั่งมากกว่า 520 ฉบับ และออกพระราชบัญญัติกว่า 289 ฉบับ หลายฉบับเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจนเพื่อคุ้มครองความมั่นคงของ คสช. แต่เมื่อประชาชนยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายเหล่านั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตุลาการชุดนี้ยังไม่เคยวินิจฉัยว่า กฎหมายฉบับใดขัดต่อรัฐธรรมนูญเลย ไม่ว่าจะเป็น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้เอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร, คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่สั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน หรือพ.ร.บ.ประชามติฯ ที่มีข้อจำกัดการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ และสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งหน้าก็อาจเกิดขึ้นภายใต้การควบคุมโดยกฎหมายของ คสช. ที่อาจจำกัดสิทธิของประชาชนโดยที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นชุดเดิม
ผู้ตรวจการแผ่นดิน: สนช. พอใจแค่สอง ปัดตกสายสัมพันธ์รัฐบาลเพื่อไทย
ภายใต้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 48/2557 ที่กำหนดให้การสรรหาองค์กรอิสระให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2550 ไปพลางก่อน การสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเดิมมีประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน เป็นกรรมการสรรหา ก็จึงเปลี่ยนเป็นพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. มาใช้อำนาจนี้แทน และจากเดิมที่ผู้ให้ความเห็นชอบเป็นวุฒิสภา ก็จึงเปลี่ยนเป็น สนช. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ 
วันที่ 22 ตุลาคม 2557 ที่ประชุม สนช. เห็นชอบให้ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน แทน พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ลาออกจากไปรับตำแหน่งประธาน สนช. ทั้งนี้ในช่วงที่ พรเพชร ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส ได้ทำงานร่วมกับ พรเพชร ในตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน
วันที่ 4 ธันวาคม 2557 ที่ประชุม สนช.ไม่เห็นชอบให้ ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย ในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุม สนช. จึงเห็นชอบให้ ‘บูรณ์ ฐาปนดุล’ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน
วันที่ 2 มิถุนายน 2559 ที่ประชุม สนช. ลงมติไม่เห็นชอบ นพ.เรวัต วิศรุตเวช อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ และอดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยสมาชิก สนช. กังวลถึงสายสัมพันธ์ทางการเมืองของเรวัตที่เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต รมช.พาณิชย์ สมัยรัฐบาลเพื่อไทย และที่ปรึกษาด้านต่างประเทศของสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา จากพรรคเพื่อไทย 
วันที่ 19 เมษายน 2561 ที่ประชุม สนช. ลงมติไม่เห็นชอบให้ภรณี ลีนุตพงษ์ ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายบริหาร ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากพบข้อร้องเรียนเข้าข่ายการแอบอ้างบุคคลที่มีตำแหน่งระดับสูงในราชการ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเอง และยังพบว่าไม่ได้รับการตรวจสุขภาพจริง 
ในวันที่ คสช. ปกครองประเทศมาครบสี่ปี ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงยังเพียงมีสองคน ซึ่งแต่งตั้งมาโดย สนช. ทั้งคู่ ส่วนอีกตำแหน่งหนึ่งยังคงว่างอยู่ และเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้พร้อมด้วยพ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน องค์กรนี้ก็จึงไม่ถูก "เซ็ตซีโร่" และให้ทั้งสองคนยังคงดำรงตำแหน่งไปจนครบวาระ 7 ปี  
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการฯ: เปลี่ยนวิธีสรรหาให้ศาลเลือก และจบที่ สนช.
ภายใต้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 48/2557 ที่กำหนดให้การสรรหาองค์กรอิสระให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2550 ไปพลางก่อน แต่วิธีการเดิมแบบเดิมยังไม่เป็นที่พอใจ วันที่ 27 มิถุนายน 2557 คสช. จึงออกประกาศ ฉบับที่ 71/2557 และ 76/2557 เปลี่ยนระบบการสรรหา คตง. จากเดิมที่กรรมการสรรหา ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน และประธานองค์กรอิสระอื่นที่เลือกกันเอง และให้วุฒิสภาเห็นชอบ เป็นให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกอีกจำนวนหนึ่งคน และให้ สนช. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบแทนวุฒิสภา
ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2557 ‘คณะกรรมการสรรหาฯ’ ได้พิจารณาคัดเลือก คตง. จำนวน 7 คน ประกอบด้วย ปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์, อุไร ร่มโพธิหยก, ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม, สุทธิพล ทวีชัยการ, จิรพร มีหลีสวัสดิ์, กรพจน์ อัศวินวิจิตร และวิทยา อาคมพิทักษ์ และ สนช. ก็ลงมติเห็นชอบให้ทั้งเจ็ดคนเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมกับให้ ‘พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส’ เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยมีวาระเพียงสามปีตามประกาศ ฉบับที่ 71/2557 
16 กันยายน 2558 เนื่องจากมีกรรมการบางคนลาออก หัวหน้า คสช. จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 29/2558 กำหนดให้กรรมการที่เหลือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก่อน ยกเว้นเหลือกรรมการไม่ถึงห้าคน ต่อมา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 อีกครั้ง ออกคำสั่งที่ 40/2559 ให้งดเว้นการสรรหากรรมการองค์กรอิสระเพื่อรอรัฐธรรมนูญใหม่ แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ช้ากว่ากำหนด และกรรมการชุดเดิมกำลังจะหมดวาระลงพร้อมกัน วันที่ 5 เมษายน 2560 ก่อนที่รัฐธรรมนูญใหม่จะประกาศใช้ได้วันเดียว หัวหน้า คสช. ก็ใช้มาตรา 44 อีกครั้ง ออกคำสั่งที่ 23/2560 และก็ตามมาด้วย คำสั่งที่ 24/2560 และ 25/2560 ให้ดำเนินการหากรรมการ คตง. ไปก่อน โดยมีคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธาน สนช. ประธานศาลปกครองสูงสุด บุคคลที่แต่งตั้งโดยองค์กรอิสระอื่น และสุดท้ายให้ สนช. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ
17 พฤษภาคม 2560 หลังคณะกรรมการสรรหาดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. แล้ว สนช. ก็ลงมติเห็นชอบบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 7 คน ประกอบด้วย ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์, ศ.พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์, อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป, จินดา มหัทธนวัฒน์, พลเอกชนะทัพ อินทามระ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก, วีระยุทธ ปั้นน่วม, สรรเสริญ พลเจียก 
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เนื่องจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินก็หมดวาระแล้วเช่นกัน และคำสั่งที่ 23/2560 กำหนดให้หัวหน้า คสช. แต่งตั้งคนใหม่แทนไปก่อนจนกว่ากระบวนการสรรหาจะแล้วเสร็จ วันที่ 22 กันยายน 2560 หัวหน้า คสช. ยังใช้อำนาจมาตรา 44 อีกครั้ง ออกคำสั่งที่ 43/2560 แต่งตั้งให้พรชัย จำรูญพาณิชย์กุล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่มีอาวุโสสูงสุด เป็นผู้รักษาการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเมื่อดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 23/2560 คตง. ชุดใหม่ก็เข้ามาเลือกบุคคลมาเสนอให้ สนช. ต่อมา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 สนช. ได้พิจารณาเห็นชอบให้ ประจักษ์ บุญยัง" ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ตัวจริง) 
และเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้พร้อมด้วยพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ฉบับใหม่ องค์กรนี้ก็ไม่ถูก "เซ็ตซีโร่" และให้ คตง. ที่ตั้งไว้เสร็จก่อนแล้วอยู่จนครบวาระ 7 ปี ส่วนผู้ว่าการฯ ก็จะอยู่จนครบวาระ 6 ปี
คณกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.): คว่ำยกชุดไม่พอ เซ็ตซีโร่ไม่พอ ใช้ม.44 ปลดเลย
กรรมการ กกต. ทั้งห้าคนเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 13 ธันวาคม 2556 ก่อน คสช. เข้ายึดอำนาจและดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาจนอยู่ภายใต้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 48/2557 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี แม้ไม่มีกรรมการคนใดพ้นจากตำแหน่งจึงไม่ต้องเริ่มกระบวนการหาคนใหม่ แต่ช่วงเวลาสี่ปีในยุค คสช. ซึ่งมีคำสั่งระงับการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย กกต. ชุดนี้จึงมีงานเพียงการจัดทำประชามติ ในปี 2559 ครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ พร้อมด้วยการประกาศใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง องค์กรนี้ก็ถูก "เซ็ตซีโร่" คือ การให้ทั้งห้าคนพ้นจากตำแหน่ง และเริ่มกระบวนการหาคนใหม่
เมื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหาตามกฎหมายใหม่ ซึ่งยังไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นําฝ่ายค้าน ประธาน สนช. จึงเป็นกรรมการสรรหาด้วย แต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ประชุม สนช. มีมติไม่เห็นชอบ บุคคลทั้ง 7 คน ที่กรรมการสรรหาคัดเลือกมา ประกอบด้วย เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ, ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมายบริษัท วรวิสิฏฐ์, ประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย, ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา และ ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 
สำหรับเหตุผลที่ สนช. ไม่เห็นชอบคาดว่ามาจาก 1) ภารกิจของ กกต. ชุดใหม่ในการควบคุมการเลือกตั้งมีความสำคัญ จึงอยากได้บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์ในการทำงาน 2) ว่าที่ กกต. สายศาล คือ ฉัตรไชยและปกรณ์ มีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาภายในศาล เกรงว่าจะมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยภายหลัง และ 3) คาดกันว่า สนช. ได้รับคำสั่งจากจากผู้มีอำนาจให้ไม่เห็นชอบทั้ง 7 คน ทำให้ กกต. ชุดเดิมทั้งห้าคนยังต้องรักษาการต่อไปและเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่
แต่วันท่ี่ 20 มีนาคม 2561 หัวหน้า คสช. ก็ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 4/2561 สั่งให้ สมชัย ศรีสุทธิยากร หยุดปฏิบัติหน้าที่กรรมการการเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่า มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในกรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการและกําหนดการการเลือกตั้ง (ที่ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมีการเลือกตั้ง) และสมชัยสมัครเข้าเป็นเลขาธิการ กกต. ชุดใหม่ โดยไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งก่อน ซึ่งถือเป็นการกระทําที่เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และยังถือโอกาสในการออกคำสั่งครั้งนี้แถมข้อกำหนดด้วยว่า หากกรรมการที่เหลืออยู่อีกสี่คนอายุครบเจ็ดสิบปี ก็ให้อยู่ในตำแหน่งไปก่อนจนกว่าจะได้ชุดใหม่เข้าทำหน้าที่แทน
อย่างไรก็ดี วันที่ 12 กรกฎาคม 2561 ที่ประชุม สนช. เห็นชอบบุคคลผู้สมควรดำรงคณะกรรมการการเลือกตั้ง จำนวน 5 คน จากทั้งหมด 7 คน แบ่งเป็น 3 คนแรก ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และ ธวัชชัย เทิดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี
ซึ่งทั้ง 3 คนมาจากคณะกรรมการสรรหาอันประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราฎร(ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ที่แทน) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร(ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว) ประธานศาลปกครองสูงสุด  และบุคคลที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรมนูญแต่งตั้ง ส่วนอีก 2 คน มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นคนคัดเลือก ได้แก่ ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และ ปกรณ์ มหรรณพ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.): 'เซ็ตซีโร่' หลังทำงานแค่สองปี
กรรมการ กสม. ทั้งเจ็ดคน เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 25 มิถุนายน 2552 ก่อน คสช. เข้ายึดอำนาจและต่อเนื่องมาอยู่ภายใต้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 48/2557 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และหมดวาระกันในปี 2558 ตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจก็ถูกข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองของ กสม. นำโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ก็เคยเรียก คสช. มาสอบสวนเกี่ยวกับการจับกุม ควบคุมตัวบุคคล และการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นแล้วหลายครั้ง
หลังชุดเดิมทำงานจนครบวาระ คณะกรรมการสรรหาก็ทำงานตามระบบของรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเสนอรายชื่อบุคคล 7 คน ให้ สนช. พิจารณา ได้แก่ ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวสมุทรปราการ, บวร ยสินทร ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิก สนช. ของ พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท, ประกายรัตน์  ต้นธีรวงศ์ ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง, วัส ติงสมิตร ผู้พิพากษาอาวุโส ในศาลฎีกา, รองศาสตราจารย์ นพ.ศุภชัย ถนอมทรัพย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ 
โดยเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์คัดค้านรายชื่อทั้งเจ็ด ระบุว่า ผู้เป็นกรรมการสรรหาไม่ได้เป็นบุคคลในภาคประชาสังคมที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ขณะที่กระบวนการให้การสรรหาก็ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และไม่สามารถอธิบายหรือตอบคำถามของสาธารณชนได้ว่า บุคคลที่เลือกมามีคุณสมบัติเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม วันที่ 20 สิงหาคม 2558 สนช. ลงมติเห็นชอบว่าที่ กสม.จำนวน 5 คน ไม่เห็นชอบเพียง บวร ยสินทร เนื่องจากบวรถูกร้องเรียนเรื่องมีคดีความทางการเงินหลายครั้ง และศุภชัย ถนอมทรัพย์ มีปัญหาถูกร้องเรียนทางจริยธรรม จึงมีกระบวนการคัดเลือกใหม่ จนกระทั่งวันที่ 16 ตุลาคม 2558 สนช.ได้เห็นชอบ เตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว.จังหวัดเชียงราย และอดีต สนช.ปี 2549-2551 ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา และชาติชาย สุทธิกลม อดีตเลขาธิการ กสม. ให้เป็น กรรมการ กสม.
แต่กรรมการชุดนี้เริ่มทำงานได้ยังไม่ถึงสองปี เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ พร้อมด้วยการประกาศใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรนี้ก็ถูก "เซ็ตซีโร่" คือ ให้กรรมการทั้งเจ็ดคนพ้นจากตำแหน่ง และเริ่มกระบวนการหาคนใหม่ แถมรัฐธรรมนูญกับพ.ร.ป.ยังกำหนดหน้าที่ใหม่ให้ กสม. ต้องเป็นเครื่องมือของรัฐบาลคอยชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมด้วย
นอกจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งเจ็ดองค์กรตามที่กล่าวมา ยังมีอีกหลายองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สภาผู้แทนราาษฎร หรือวุฒิสภามีบทบาทในกระบวนการสรรหา แต่ในยุค คสช. บทบาททั้งหมดตกเป็นของสภาแต่งตั้งอย่าง สนช. เป็นผู้ประทับตราอนุมัติหรือไม่อนุมัติการสรรหาคนเพื่อมาตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช. ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.), ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.), ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการอัยการ, อัยการสูงสุด, ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฯลฯ