ปัจจุบัน การแสดงความคิดเห็นในสังคมไทยถูกกำกับด้วยกฎหมายหลายฉบับ น่าสังเกตว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อและเสรีภาพในการแสดงออกแทบทุกฉบับที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบันถูกเขียนขึ้นและประกาศใช้โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
ในปีพ.ศ. 2555 – 2556 เป็นปีที่รูปแบบการใช้กฎหมายเหล่านั้นค่อยๆ ปรากฏตัวให้เห็นชัดเจนมากขึ้น หลายกรณีที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ทางการเมืองก็ได้เข้าสู่การพิจารณาช่วงปีพ.ศ. 2555-2556 นี้เอง และมีหลายคดีที่ศาลมีคำพิพากษาที่ตีความกฎหมายและสร้างบรรทัดฐานต่อประเด็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกออกมาให้เห็นเป็นแนวทางในปีนี้เช่นกัน
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รวบรวมข้อมูลสถานการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สื่อ การบริโภคข่าวสาร และการแสดงออกในสังคมไทย ทั้งที่เป็นการใช้สื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ และการใช้สื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตอันเป็นสื่อที่พลเมืองเป็นทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร รวมถึงติดตามการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบต่างๆ ด้วย
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ประมวลข้อมูลที่มี จัดทำเป็นรายงานสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออก โดยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปิดกั้นและละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก ประมวลคำพิพากษาใหม่ ติดตามความเคลื่อนไหวคดี และร่างกฎหมาย คำสั่ง และนโยบายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ มกราคม พ.ศ. 2555 ถึง เมษายน 2556
การปิดกั้นและการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก
เหตุผลทางศีลธรรม การหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ความมั่นคงของประเทศ ความสามัคคีของคนในชาติ การหมิ่นศาสนา และการหมิ่นประมาทบุคคล เป็นเหตุผลหลักที่ถูกใช้เพื่อการปิดกั้นและละเมิดเสรีภาพ เมื่อจำแนกตามประเภทสื่อพบรายละเอียดการละเมิดที่น่าสนใจ ดังนี้
- พลเมือง พบการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะแล้วถูกดำเนินคดี โดยมีพลเมืองถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ คดีใหม่อย่างน้อย 3 คดี และคดีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาอย่างน้อย 2 คดี
- สื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ปรากฏรายชื่อหนังสือที่ถูกสั่งแบนตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 แต่มีหนังสือพิมพ์ถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญา ตามมาตรา 326 อย่างน้อย 15 คดี สาเหตุส่วนใหญ่เป็นการฟ้องเพราะหมิ่นประมาทบุคคลให้เสียหาย หัวหนังสือที่นักข่าว คอลัมนิสต์ และบรรณาธิการ ถูกฟ้องใหม่ในปี 2012 ได้แก่ หนังสือพิมพ์สยามดารา หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ส่วนผู้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อหนังสือพิมพ์ในปี 2012 ได้แก่ บุคลากรในแวดวงดารานักแสดง นักธุรกิจ สโมสรฟุตบอล บริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ข้าราชการทหาร และ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- สื่อภาพยนตร์ ภาพยนตร์ถูกแบนและเซ็นเซอร์รวม 2เรื่อง คือ เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย ถูกสั่งห้ามฉายตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ด้วยเหตุผลว่าภาพยนตร์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม และภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ถูกสั่งห้ามฉายเช่นกันแต่ต่อมา คณะกรรมการภาพยนตร์แจ้งให้ตัดบางฉากแล้วเผยแพร่ได้
- สื่อโทรทัศน์ มีรายการที่ถูกสั่งให้งดออกอากาศโดยอำนาจเจ้าของสถานีอย่างน้อย 3 รายการ และถูกปรับโดยอำนาจของ กสทช. 1 รายการ และถูกชะลอการออกอากาศและอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการสอบสวน 1 รายการ เหตุผลของการละเมิดคือ มีเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี มีการดูหมิ่นศาสนา และดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ฯ
- สื่ออินเทอร์เน็ต มีคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มากกว่าสองหมื่นยูอาร์แอล โดยร้อยละ 80 เป็นเพจที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ร้อยละ 20 มีเนื้อหาลามกอนาจาร และมี 1 ยูอาร์แอลเป็นเนื้อหาดูหมิ่นศาสนา
อย่างไรก็ดี การปิดกั้นหรือห้ามเผยแพร่ อาจเป็นตัวชี้วัดการละเมิดเสรีภาพได้เพียงมิติเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีรูปแบบการละเมิดเสรีภาพด้วยวิธีอื่นๆ อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเซ็นเซอร์ตัวเองที่ถือเป็นวิกฤตสื่อรูปแบบใหม่ที่กำลังดำเนินอยู่
(คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
คำพิพากษาคดีที่น่าสนใจในปี 2555 – 2556
คดีน่าสนใจที่ศาลมีคำพิพากษาในปี 2555-2556 เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นกษัตริย์ฯ มาตรา 206 ว่าด้วยการดูหมิ่นศาสนา มาตรา 215 ว่าด้วยการชุมนุมมั่วสุม มาตรา 365 ว่าด้วยการบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย มาตรา 326 และ328 ว่าด้วยการหมิ่นประมาท พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เกี่ยวกับการโพสต์ข้อความทางอินเทอร์เน็ต
คดีที่ศาลพิพากษาโดยยกเหตุผลว่า การวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จำนวน 1 คดี คือ การยกฟ้องคดีหมิ่นประมาทที่เอ็นจีโอที่ถูกโรงไฟฟ้าฟ้อง หลังให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์วิจารณ์การประมูลโรงไฟฟ้า ศาลชี้ว่า เป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ อยู่ในวิสัยที่ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้
แต่ยังมีคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอีกหลายคดีที่ศาลยกฟ้องด้วยเหตุผลอื่นๆ ได้แก่ การยกฟ้องเพราะเห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนา คือ กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกฟ้องคดีหมิ่นกษัตริย์ฯ จากการปราศรัย การยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าจำเลยกระทำความผิด คือ กรณีนายสุรภักดิ์ ถูกกล่าวหาว่าเขียนข้อความในเฟซบุคหมิ่นกษัตริย์ฯ และกรณีตัวแทนสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก็สถูกนายจ้างฟ้องว่าส่งอีเมลหมิ่นประมาท
คดีจำนวนมากมีคำตัดสินที่ไม่เป็นคุณต่อเสรีภาพในการแสดงออก มีปรากฏการณ์ที่ชี้ว่า สื่อในฐานะตัวกลางผู้ส่งผ่านข้อมูลอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะมีการใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ฯ มาดำเนินคดีกับประชาชน คดีสำคัญช่วงปีที่ผ่านมาได้แก่ คดีลงโทษผู้ให้บริการเว็บบอร์ดประชาไท ที่ปล่อยให้มีข้อความกระทบต่อความมั่นคงเผยแพร่นานกว่า 20 วัน ส่งผลให้ศาลพิพากษาว่ากระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้จำคุก 1 ปีและให้รอลงอาญา
นอกจากนี้ ยังมีคดีเกี่ยวกับการหมิ่นกษัตริย์ฯ ที่ผู้ถูกกล่าวหาอาจไม่ใช่เจ้าของเนื้อหาหรือเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ ก็ได้ แต่เพียงทำหน้าที่เป็นสื่อหรือเป็นตัวกลางเท่านั้น เช่น ในคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ที่ศาลมีคำพิพากษาเมื่อเดือนมกราคม 2556 ว่า จำเลยมีความผิดจากการเผยแพร่บทความสองชิ้น แม้จำเลยจะไม่ใช่ผู้เขียนบทความ แต่ศาลเห็นว่าจำเลยคือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจตีพิมพ์ เผยแพร่ และจัดจำหน่าย มีคำสั่งให้ลงโทษจำคุก 10 ปี เช่นเดียวกับคดีนายเอกชัย คนเร่ขายซีดีสารคดีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยที่จัดทำโดยสำนักข่าวเอบีซี และเอกสารจากเว็บไซต์วิกิลีกส์ ก็ถูกศาลพิพากษาเมื่อเดือนมีนาคม 2556 ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี แต่เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือ 3 ปี 4 เดือน
ศาลชั้นต้นยังมีคำพิพากษาที่สร้างบรรทัดฐานว่า การบอกเล่าซ้ำว่ามีข่าวลือถือเป็นความผิด ดังเช่นคดีนายคธา ที่โพสข้อความว่ามีข่าวลือไม่เป็นมงคลซึ่งส่งผลต่อตลาดหุ้นไทย ศาลวินิจฉัยว่า แม้จำเลยไม่ใช่ต้นตอผู้ปล่อยข่าวลือ แต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิเอาข่าวลือมาเผยแพร่ ไม่เช่นนั้นใครก็สามารถหมิ่นประมาทบุคคลอื่นได้โดยอ้างว่ามีข่าวลือเท่านั้น โดยให้ลงโทษจำคุก 2 กรรม กรรมละ 2 ปี รวมเป็น 4 ปี
เรื่องการหมิ่นกษัตริย์ฯ ยังพบคดีที่จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ศาลลงโทษนายอุทัย ซึ่งมอบใบปลิวที่มีเนื้อหาหมิ่นกษัตริย์ฯ ให้แก่เพื่อนบ้าน ศาลสั่งให้ลงโทษจำคุก 3 ปีแต่ให้รอลงอาญาเพราะเห็นว่าจำเลยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า นับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา คดีส่วนใหญ่ที่ถูกลงโทษในคดีหมิ่นกษัตริย์ตามมาตรา 112 ศาลมักลงโทษจำเลยกรรมละ 5 ปี แต่คดีนี้เป็นครั้งแรกที่มีคดีที่ศาลลงโทษในอัตราโทษที่เบาที่สุดที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ 3 ปี ทำให้ศาลสามารถสั่งให้รอลงอาญาได้ ถัดจากคดีนี้ ยังมีคดีที่นายยศวริศ หรือเจ๋ง ดอกจิก ซึ่งปราศรัยและใช้ท่าทางปิดปากตนเอง ศาลตีความว่าการกระทำดังกล่าวผิดมาตรา 112 และให้ลงโทษจำคุก 3 ปี และมีเหตุให้บรรเทาโทษลงเหลือโทษจำคุก 2 ปี แต่ศาลไม่รอลงอาญา
ช่วงปี 2555 – 2556 ยังมีคดีเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองที่น่าสนใจ เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ศาลสั่งลงโทษจำเลยซึ่งเป็นเอ็นจีโอและนักเคลื่อนไหวจำนวน 10 คน ที่ประท้วงแล้วปีนรั้วรัฐสภาเพื่อคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยศาลเห็นว่าการชุมนุมครั้งนั้นมีความผิดฐานชุมนุมมั่วสุมและใช้กำลังประทุษร้าย พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่เป็นแกนนำ 2ปี ปรับ 9,000 บาท และจำเลยที่ไม่ได้เป็นแกนนำ จำคุก 1 ปี ปรับ 9,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษลงหนึ่งในสามคงเหลือโทษจำคุก 1 ปี สี่เดือน ปรับ 6,000 บาท และลงโทษจำคุก 8 เดือน ปรับ 6,000 บาท ตามลำดับ และให้รอลงอาญาเป็นเวลาสองปีเพราะเห็นว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง
สำหรับคดีเกี่ยวกับศาสนา มีข้อมูลว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษในคดีดูหมิ่นศาสนาที่พระรูปหนึ่งใช้มือตบพระพักตร์พระพุทธรูปและติดป้ายว่า “ทองเหลืองว่านี้ไม่ใช่พระพุทธเจ้าไม่ต้องกราบไหว้มัน” แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ระบุว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าเป็นการสอนพุทธศาสนิกชนไม่ให้ยึดติดในวัตถุนั้น ยังมีวิธีอื่นที่ทำได้ แต่การกระทำดังกล่าวกับสิ่งเคารพทางศาสนาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป แสดงให้เห็นถึงเจตนาเหยียดหยามพุทธศาสนา
(คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
ความเคลื่อนไหวคดีที่น่าสนใจในปี 2555-2556
เมื่อพิจารณาจากคดีที่มีความเคลื่อนไหวในชั้นสืบสวนสอบสวนของตำรวจและอัยการ พบว่าในช่วงต้นปี 2555 คดีการเมืองจำนวนหนึ่งถูกระงับไป เช่น คดีที่มาจากการเปิดผังล้มเจ้าในปี 2553 แต่อย่างไรก็ดี มีหลายคดีที่มีความเคลื่อนไหวไปในทางที่น่าวิตกกังวล มีการสั่งฟ้องในคดีใหม่ๆ อาทิเช่น ตำรวจตัดสินใจสั่งฟ้องคดีที่นักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์พระบรมวงศานุวงษ์ และยังมีกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหา แม้การจับกุมนั้นจะยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดีเลยก็ตาม มีคดีที่จำเลยตัดสินใจไม่ต่อสู้คดีต่อแล้วยื่นเรื่องเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ
นอกจากนี้ ในปี 2555 มีผู้ต้องหาจำนวน 5 คดี ที่เริ่มตัดสินใจไม่สู้คดีต่อและอยู่ระหว่างยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ โดยจำแนกเป็น คดีที่จำเลยไม่สู้คดีตั้งแต่ชั้นศาลชั้นต้น ได้แก่ นายสุรชัย แซ่ด่าน นายเสถียร และคดีที่จำเลยไม่สู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ได้แก่ นายธันย์ฐวุฒิ นายอำพล (เสียชีวิตแล้ว) และคดีที่พิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่เพิ่งดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษ ได้แก่ คดีวันชัย ทั้งนี้ ในปี 2555 มีคดีที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษจำนวน 3 คดี ได้แก่ นายโจ กอร์ดอน นายสุชาติ นาคบางไทร และนายสุริยันต์
(คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
สถานะของจำเลยในคดีเกี่ยวข้องกับเสรีภาพการแสดงออกรอบปี 2555-2556
ปัญหาหนึ่งที่ปรากฏมาอย่างต่อเนื่อง และยังคงแสดงให้เห็นเป็นวิกฤตจนปัจจุบัน คือการที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวกับการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
ปัจจุบัน เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ควบคุมตัวประชาชนที่ถูกลงโทษจากการแสดงออกทั้งสิ้นอย่างน้อย 8 คดี โดยมีประชาชน 2 คนที่คดียังไม่ถึงที่สุด และมีประชาชน 5 คน ที่ตัดสินใจไม่สู้คดีแล้ว รอยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ และมีประชาชนเสียชีวิตในเรือนจำ 1 คน
สำหรับผู้ที่ถูกคุมขังแต่ได้รับอิสระภาพแล้ว มีทั้งสิ้น 5 คน จำแนกเป็น การปล่อยตัวเพราะต้องโทษครบกำหนด 1 คน ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 3 คน และได้รับการปล่อยตัวเพราะชนะคดีในศาลชั้นต้น 1 คน
(คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
กฎหมาย คำสั่ง ความเคลื่อนไหวทางนโยบาย ในปี 2555
กฎหมายและนโยบายออกใหม่ในปี 2555 ที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อาจจำแนกหมวดหมู่ได้เป็น เรื่องความมั่นคงของชาติ เรื่องศีลธรรม เรื่องลิขสิทธิ์ อุดมการณ์รัฐ และอื่นๆ
ศีลธรรม VS เสรีภาพในการแสดงออก
เตรียมดันร่างกฎหมายดูหมิ่นศาสนา
สถานะ : รอการพิจารณา
ร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาเสนอโดยพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีเนื้อหาว่าด้วยการปกป้องพระพุทธศาสนาให้มั่นคง แก้ปัญหาการดูหมิ่นศาสนา เช่น การห้ามการจาบจ้วง ละเมิด บิดเบือน ต่อพระศาสดา ศาสนธรรม ศาสนศึกษา และอื่นๆ ให้ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสีย มัวหมอง หรือวิปริตผิดเพี้ยน ล่าสุด ปลายปี 2555 ร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (อ้าง 1, 2, 3)
ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย
สถานะ : อยู่ระหว่างการพิจารณา
พฤศจิกายน 2555 ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย มีเนื้อหาเพื่อป้องกันและปราบปรามสื่อรูปแบบต่างๆ ที่จะกระตุ้น ส่งเสริม หรือยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมอันตราย ได้แก่ 1. การกระทำวิปริตทางเพศ 2. ความสัมพันธ์หรือการกระทำทางเพศกับเด็ก 3. การกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก 4. การฆ่าตัวตายของเด็กหรือเป็นหมู่คณะ 5. การใช้ยาเสพติด และ 6. การกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฆ่าผู้อื่น หรือทำร้ายร่างกายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย (อ้าง 1, 2, 3)
กท.วัฒนธรรม เครือข่ายสื่อเพื่อเยาวชน เสนอร่างกฎหมาย “สื่อปลอดภัย”
สถานะ: อยู่ระหว่างการพิจารณา
เมษายน 2555 คณะรัฐมนตรีรับร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉบับที่เสนอโดยกระทรวงวัฒนธรรม โดยเป็นร่างที่ส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพการผลิตและพัฒนาสื่อให้มีคุณภาพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างกลไกการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ โดยกำหนดให้มีสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำรายได้มาจาก กสทช., ค่าปรับการละเมิดลิขสิทธิ์ และรายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์
ต่อมา ในเดือนสิงหาคม 2555 สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ก็เสนอร่าง พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉบับประชาชน ล่ารายชื่อครบหนึ่งหมื่นชื่อแล้ว เสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้พิจารณาควบคู่กับร่างของรัฐ โดยเนื้อหาของภาคประชาชน กำหนดนิยามความหมายของคำว่าสื่อไว้อย่างกว้าง และกำหนดองค์ประกอบของกรรมการกองทุนให้จำนวนครึ่งหนึ่งมาจากภาคประชาชน (อ้าง 1, 2, 3)
ความมั่นคงของชาติ vs เสรีภาพในการแสดงออก
คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นคดีพิเศษของดีเอสไอแล้ว
สถานะ: มีผลแล้ว
เมษายน 2555 กระทรวงยุติธรรมออก “กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555” กำหนดให้ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นคดีพิเศษในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ส่งผลให้ดีเอสไอสามารถดักฟัง ปลอมตัว แฝงตัวเข้าไปในองค์กร ปลอมเอกสาร ครอบครองอาวุธปืนโดยไม่มีกฎหมายกำกับ เพื่อทำคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ได้
(ที่มา 1, 2, 3)
ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่
สถานะ : อยู่ระหว่างการศึกษา
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีแผนจะเสนอร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใหม่ โดยแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาจากร่างปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ร่างล่าสุด ยังคงความผิดของตัวกลางผู้ให้บริการ ที่ปล่อยให้มีข้อความผิดกฎหมายที่ผู้อื่นโพสต์ปรากฏในระบบของตัวเอง ซึ่งย่อมส่งผลต่อการเซ็นเซอร์ตัวเอง มีการตัดมาตรา 14 (1) เดิมออก ซึ่งเป็นมาตราที่มีการฟ้องคดีสูงที่สุดในปัจจุบัน เพราะถูกตีความเป็นการเอาผิดต่อการโพสต์ข้อมูลเท็จ และกลายเป็นคดีหมิ่นประมาทจำนวนมหาศาล ส่วนมาตราที่กำหนดความผิดต่อเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ยังคงเป็นความผิดทางอาญาตามร่างนี้ เพิ่มความผิดฐานครอบครองภาพลามกเด็ก และขยายอำนาจการบล็อคเว็บ ให้ไม่จำกัดประเภทเนื้อหาที่สามารถขอหมายศาลเพื่อบล็อคเว็บไซต์ได้
ลิขสิทธิ์ VS เสรีภาพ
ร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ เพิ่มมาตรการป้องกันการก๊อปไฟล์
สถานะ: อยู่ระหว่างการพิจารณา
ตุลาคม 2555 คณะรัฐมนตรีรับร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับแก้ไข โดยเพิ่มนิยามของคำว่า “มาตรการทางเทคโนโลยี” ซึ่งกล่าวถึงเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการทำซ้ำ การควบคุมการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ ผู้ที่ใช้วิธีการใดๆ หลบเลี่ยงหรือทำให้มาตรการทางเทคโนโลยีไม่เกิดผลจะมีความผิดตามร่างกฎหมายนี้
ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่
สถานะ : อยู่ระหว่างการศึกษา
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีแผนจะเสนอร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใหม่ โดยแก้ไขจากร่างเดิม โดยอาจเพิ่มมาตราหนึ่ง เป็นความผิดเกี่ยวกับการทำซ้ำว่า “การทำซ้ำหรือทำโดยวิธีการอื่นใดคล้ายคลึงกันต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น เพื่อให้ได้ไปซึ่งสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ไปเปิดเผยหรือใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น” มีความผิดทางอาญา ปัจจุบันร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการทำสัมมนากลุ่มย่อย
อุดมการณ์รัฐ vs เสรีภาพ
สภาปัดตก ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
สถานะ: มีผลแล้ว
หลังจากในเดือนพฤษภาคม 2555 คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ระดมรายชื่อประชาชนกว่าสามหมื่นชื่อเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยให้ลดอัตราโทษ เพิ่มข้อยกเว้นกรณีการแสดงความเห็นโดยสุจริตใจ แต่หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม 2555 รัฐสภามีคำสั่งไม่รับร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นเนื้อหาในหมวดพระมหากษัตริย์ซึ่งประชาชนไม่มีสิทธิเสนอแก้
ศาลรธน.ฟันธง การแบนหนัง การใช้เหตุความมั่นคงลิดรอนเสรีภาพ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
สถานะ: มีผลแล้ว
ตลอดปี 2555 ผู้เสียหายในหลายคดียื่นกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวกับสื่อ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า เนื้อหาในกฎหมายฉบับนั้นๆ ขัดรัฐธรรมนูญในส่วนที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ โดยกฎหมายที่ถูกยื่นให้ตีความได้แก่
- มาตรา 14(2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยื่นโดยนายคธา ป. จำเลยในคดีโพสต์ข่าวลือหุ้นตก ระบุว่ามาตราดังกล่าวมีความกำกวม เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้เกินขอบเขต ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า กฎหมายนี้มุ่งคุ้มครองความมั่นคงประเทศ และความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม และการกำหนดความผิดทางอาญาแก่บุคคล ถูกต้องและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายแล้ว ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องของจำเลยไว้วินิจฉัย (อ้าง 1 )
- มาตรา 26(7) และ 29 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ยื่นโดยผู้กำกับภาพยนตร์ Insects in the Backyard ซึ่งถูกสั่งไม่อนุญาตให้ฉาย ระบุว่ามาตราดังกล่าวเปิดช่องให้ปิดกั้นสื่อได้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายนี้ให้อำนาจหน่วยงานรัฐพิจารณาความเหมาะสมของภาพยนตร์ก่อนนำออกสู่สาธารณะ เพื่อมิให้ผู้สร้างภาพยนตร์ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจนอาจกระทบต่อสิทธิของผู้อื่น แม้จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปตามเงื่อนไขเพียงเท่าที่จำเป็นและมิได้กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (ที่มา 1 )
- มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ยื่นโดยนายเอกชัย ห. จำเลยในคดีขายซีดีและเอกสารวิกิลีกส์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยในคดีบรรณาธิการวอยซ์ออฟทักษิณ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า หลักการตามมาตรา 112 คุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันและประมุขของประเทศไทย การกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรมที่เป็นศีลธรรมหรือจริยธรรมของกฎหมาย กฎหมายนี้บัญญัติขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นเงื่อนไขแห่งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลได้ ไม่ถึงขนาดกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (ที่มา 1, 2)
อื่นๆ
กสทช. ออกใบอนุญาตทดลองออกอากาศ 3 เดือน
ตลอดปี 2555 อันเป็นปีแรกของการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้มีการแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555) แผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 – 2559) และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 – 2559)
ต่อมา กสทช.วางแนวทางและให้ใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง เป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้แก่ 515 สถานี แก่กิจการประเภท บริการธุรกิจ 404 สถานี บริการสาธารณะ 67 สถานี และประเภทบริการชุมชน 44 สถานี เริ่มทดลองออกอากาศเดือนมกราคม 2556
ทั้งนี้ เงื่อนไขของการได้ใบอนุญาตและการต่อใบอนุญาต คือต้องเป็นสื่อที่ผลิตเนื้อหาที่ไม่ขัดต่อประกาศที่กำหนดไว้ (ที่มา: 1,2)
(คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
รายงาน: ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ, iLaw
แปล: พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ และ ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
กราฟิกดีไซน์: Wrong Design
สนับสนุนโดย: มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
RELATED POSTS
No related posts