สีสันของการเลือกตั้งแต่ละครั้ง คือ การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ๆ ซึ่งจะมาเป็นทางเลือกให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในต้นปี 2562 มีพรรคการเมืองใหม่อย่างน้อย 25 พรรคเสนอตัวชิงชัย แต่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นเลยตลอดสี่ปี และเพิ่งประกาศให้เริ่มจดจัดตั้งพรรคได้ ทำให้พรรคใหม่มีระยะเวลาเตรียมตัวที่สั้นเกินไปบวกกับเงื่อนไขในการจัดตั้งพรรคที่ยากอาจจะทำให้พรรคหน้าใหม่จำนวนมากจัดตั้งไม่เสร็จสมบูรณ์ทันตามกรอบเวลาเพื่อที่จะลงเลือกตั้ง
การเลือกตั้งคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ผู้ที่ต้องการสมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้อาจทำให้พรรคการเมืองใหม่หลายพรรคอาจเตรียมความพร้อมไม่ทันและหมดสิทธิลงเลือกตั้ง ทั้งนี้มีสิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำให้เสร็จเพื่อจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ดังนี้
ทุนประเดิมหนึ่งล้านบาท-ประชุมใหญ่พรรค สองเงื่อนไขตั้งพรรคการเมืองใหม่
การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่มีเงื่อนสำคัญสามประการ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ได้แก่ หนึ่ง ทุนประเดิมหนึ่งล้านบาท การตั้งพรรคการเมืองใหม่ต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โดยมีผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 500 คน ซึ่งต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 50,000 บาท
สอง การจัดประชุมใหญ่ การตั้งพรรคการเมืองใหม่ต้องมีการประชุมใหญ่และมีสมาชิกพรรคซึ่งรวมกันแล้วมีจำนวนไม่น้อยกว่า 250 คน เข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขข้อบังคับและจัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรคการเมือง และเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
ขณะที่พรรคการเมืองเดิม คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ข้อ 1 ซึ่งไปแก้ไข พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ กำหนดว่า พรรคการเมืองต้องให้สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน จ่ายค่าบำรุงพรรคการเมือง ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงเลือกตั้งได้ โดยการจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมือง หรือ “ค่าสมาชิกพรรค” แต่ละพรรคสามารถเรียกเก็บจากสมาชิกได้สองแบบ ได้แก่ แบบรายปี ไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาท หรือ แบบตลอดชีพ ไม่น้อยกว่าปีละ 2,000 บาท และยังต้องจัดหาทุนประเดิมพรรคจำนวนหนึ่งล้านบาท แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง และนโยบายของพรรค และเลือกกรรมการบริหารเช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่
ภายใน 1 ปี ต้องตั้งสาขาพรรคภาคละ 1 สาขาและเพิ่มสมาชิกเป็น 5,000 คน
การตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่ายากแล้ว การรักษาพรรคการเมืองให้คงอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะ พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ ได้กำหนดการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองไว้ว่า ภายในหนึ่งปีหลังพรรคการเมืองได้รับการจดทะเบียนแล้วพรรคการเมืองต้องหาสมาชิกพรรคเพิ่มให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีไม่น้อยกว่า 10,000 คน ภายในสี่ปี อีกทั้ง พรรคการเมืองยังต้องจัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคและจังหวัดที่ กกต. กำหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
พรรคการเมืองใหม่ต้องได้รับรองจาก กกต. ก่อน 26 พ.ย. 2561
พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ซึ่งมาตรา 41 (3) กำหนดว่า ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวหรือ ‘สังกัดพรรค’ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง นั้นหมายความว่า พรรคการเมืองใหม่ต้องได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองหรือได้ ‘รับรอง’ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็น ‘พรรคการเมืองอย่างสมบูรณ์’ ก่อน 90 วันนับถึงการเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้ต้องการลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคเป็นสมาชิกพรรคและรักษาสิทธิในการลงเลือกตั้ง
ถ้าวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามที่ คสช. ได้ประกาศไว้จริง กรอบเวลาอย่างเร็วที่สุดที่พรรคการเมืองใหม่ต้องได้รับรองการจัดตั้งพรรคจากกกต. คือ ก่อนวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 (90 วันก่อนการเลือกตั้ง) ส่วนกรอบเวลาอย่างช้าที่สุดในกรณีที่วันเลือกตั้งคือวันที่ 9 พฤษาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่สุดท้ายที่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามโรดแมปรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองใหม่ต้องได้รับรองการจัดตั้งพรรคจาก กกต. ก่อนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับวันเลือกตั้งซึ่งวันเวลาที่แน่นอนจะประกาศในพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยปฏิทินการเลือกตั้งของ คสช. ระบุว่า พ.ร.ฎ. ดังกล่าวจะประกาศในวันที่ 16-27 ธันวาคม 2561
พรรคการเมืองใหม่จดจองชื่อไป 123 พรรค แต่ได้รับรองจาก กกต. 25 พรรรค
หลังจากหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 53/2560 ‘คลายล็อก’ พรรคการเมืองครั้งแรก ในวันที่ 22 ธันวาคม 2560 อนุญาตให้การจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่สามารถดําเนินการทางธุรการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไปทำให้มีการยื่นคำขอการแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองหรือ “จดจองชื่อพรรค” ซึ่งในวันแรก (2 มีนาคม 2561) ที่เปิดให้มีการจดจองชื่อพรรคมีถึง 42 พรรค และเมื่อนับถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2561 มีผู้มาจดจองชื่อพรรคการเมืองถึง 123 พรรค
อย่างไรก็ดี คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ตั้งเงื่อนไขสำหรับการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ไว้ว่าการประชุมเพื่อยื่นคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. และให้ดําเนินกิจกรรมได้เท่าที่ได้รับอนุญาตหรือตามเงื่อนไขที่ คสช. กําหนดเท่านั้น ทำให้กระบวนการตั้งพรรคการเมืองใหม่ให้สมบูรณ์ยังค้างอยู่ที่การจดจองชื่อพรรค จนกระทั้ง หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 คลายล็อกพรรคการเมืองครั้งที่สอง ในวันที่ 14 กันยายน 2561 อนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม อาทิ การประชุมใหญ่ และการหาสมาชิกพรรรค โดยให้แจ้ง กกต. ก่อนห้าวัน ทั้งนี้ จนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 กกต. รับรองการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ให้เป็น
พรรคการเมืองอย่างสมบูรณ์ไปแล้วเพียง 25 พรรค
ลำดับ | ชื่อพรรคการเมือง | ชื่อย่อ | วันที่จัดตั้ง | หัวหน้าพรรค | เลขาธิการพรรค |
1 |
พรรคทางเลือกใหม่
New Alternative Party
|
(ทลม.)
(NEWA)
|
2 ส.ค. 61 | ราเชน ตระกูลเวียง | ไพโรจน์ กระทุ่มทองเลิศ |
2 |
พรรคมติประชา
People Vote Party
|
มปช.
PVP
|
3 ส.ค. 61 | อนุชิต งามพัฒนพงศ์ชัย | อรอุสา เกษรสังข์ |
3 |
พรรคประชาภิวัฒน์
People Progressive Party
|
ปชภ.
PRA
|
10 ส.ค. 61 | สมเกียรติ ศรลัมพ์ | นันทนา สงฆ์ประชา |
4 |
พรรคพลังพลเมืองไทย
Thai Citizen Power Party
|
พพพ.
TCPP
|
10 ส.ค. 61 | สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ | เอกพร รักความสุข |
5 |
พรรครวมใจไทย
Ruam Jai Thai Party
|
รจท.
RJP
|
31 ส.ค. 61 | นพดล อมรเวช | คำนึง อิสโร |
6 |
พรรคพลังธรรมใหม่
New Palangdharma Party
|
พธม.
NPD
|
14 ก.ย. 61 | ระวี มาศฉมาดล | นิทัศน์ รายยวา |
7 |
พรรคประชาชนปฏิรูป
People Reform Party
|
ปชช.
PPR
|
3 ต.ค. 61 | ไพบูลย์ นิติตะวัน | มโน เมตตานันโท เลาหวณิช |
8 |
พรรคอนาคตใหม่
Future Forward Party
|
อนค.
FWP.
|
3 ต.ค. 61 | ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ | ปิยบุตร แสงกนกกุล |
9 |
พรรคไทยธรรม
Thai Friend Party
|
ทธม.
THMP.
|
24 ต.ค. 61 | อโณทัย ดวงดารา | สมคิด กรุดเพชร |
10 |
พรรคเพื่อนไทย
Thai Friend Party
|
พ.
T.F.
|
24 ต.ค. 61 | สิระ พิมพ์กลาง | อนุวัฒน์ วิกัยพัฒน์ |
11 |
พรรคไทยศรีวิไลย์
Thai Civilized Party
|
ทศล.
TCL
|
24 ต.ค. 61 | มงคลกิตต์ สุขสินธารานนท์ | วิวัฒน์ เจริญพาณิชย์ศิริ |
12 |
พรรครวมพลังประชาชาติไทย
Action Coalition for Thailand
|
รปช.
ACT
|
26 ต.ค. 61 | ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล | ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง |
13 |
พรรคสยามพัฒนา
Siam Development Party
|
สพน.
SD.
|
26 ต.ค. 61 | บุญส่ง เกิดหลำ | นัธทวัฒน์ โสดานิล |
14 |
พรรคเพื่อคนไทย
Pheu Khon Thai Party
|
พคท.
PKTP.
|
29 ต.ค. 61 | วิทยา อินาลา | ณพจน์ศกร ทรัพยสิทธิ์ |
15 |
พรรคพลังปวงชนไทย
Thai People Power Party
|
พลท.
PLPT
|
29 ต.ค. 61 | นิคม บุญวิเศษ | ศักดา จิตต์ระเบียบ |
16 |
พรรคพลังไทยรักไทย
Phalang Thai Rak Thai Party
|
พ.ท.ร.ท.
P.T.R.T
|
30 ต.ค. 61 | คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล | วินัย ไชยบุตร |
17 |
พรรคพลังชาติไทย
Thai Nation Power Party
|
พพชท
TNPP
|
31 ต.ค. 61 | พล.ต. ทรงกลด ทิพย์รัตน์ | โชติวุฒิ เขียนนิลศิริ |
18 |
พรรคประชาชาชาติ
Prachachat Party
|
ปช.
PCC.
|
31 ต.ค. 61 | วันมูหะมัดนอร์ มะทา | พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง |
19 |
พรรคแผ่นดินธรรม
The Land of Dharma Party
|
ผธ.
LDHP
|
2 พ.ย. 61 | กรณ์ มีดี | พลากร เทศนำ |
20 |
พรรคคลองไทย
Klong Thai Party
|
คล.ท.
KTP
|
2 พ.ย. 61 | สายัณห์ อินทรภักดิ์ | สุทิน ช่วยธานี |
21 |
พรรคประชาธรรมไทย
Thai People Justice Party
|
ปธท.
T.P.J
|
2 พ.ย. 61 | พิเชษฐ สถิรชวาล | พล.อ.อ.คะเชนทร์ วิเศษรจนา |
22 | พรรคเศรษฐกิจใหม่ | 6 พ.ย. 61 | สุภดิช อากาศฤกษ์ | ||
23 | พรรคประชานิยม | 6 พ.ย. 61 | พล.ต.อ. ยงยุทธ เทพจำนงค์ | ||
24 |
พรรคพลังประชารัฐ
Phalangpracharat Party
|
พปชร.
PPRP
|
6 พ.ย. 61 | อุตตม สาวนายน | สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ |
25 | พรรคไทยรุ่งเรือง | 6 พ.ย. 61 | ฉัตรชัย แนวพญา |
พรรคการเมืองใหม่กว่าร้อยพรรคยังตั้งไม่สำเร็จ
พรรคการเมืองใหม่อีกประมาณ 100 พรรค อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองเท่านั้น โดยพรรคเหล่านี้ถ้าต้องการลงเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ต้องได้รับการรับรองจาก กกต. เพื่อให้เป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์ก่อนวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ซึ่ง กตต. มีหลักเกณฑ์ว่าจะใช้เวลาพิจารณารับรองพรรคการใหม่ไม่เกิน 45 วัน ตัวอย่างพรรคการเมืองที่กำลังดำเนินการจัดตั้งพรรคอยู่ เช่น
พรรคเกียน หรือ พรรคเกรียน สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” ยื่นขอจัดตั้ง ‘พรรคเกรียน’ ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2561 แต่ก็ถูกกกต. ปฏิเสธเพราะชื่ออาจทำให้สังคมสับสนและมีความหมายไม่เหมาะสม ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงาม ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อพรรคเป็น ‘พรรคเกียน’ จนสุดท้าย กกต.รับรองการจดจัดตั้งพรรคเกียนในวันที่ 30 กันยายน ซึ่งรวมแล้วใช้เวลานาน 192 วัน กว่าจะจดจองชื่อพรรคเสร็จ จากนี้ พรรคเกียนยังต้องดำเนินการหาทุนประเดิมพรรค หาสมาชิกพรรคและจัดประชุมใหญ่ เพื่อจัดตั้งพรรคให้เสร็จภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ถ้าต้องการลงเลือกตั้งในต้นปี 2562
พรรคกลาง ชุมพล ครุฑแก้ว นักวิ่งมาราธอนชื่อดัง และอดีตผู้บริหารของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.หรือ NECTEC) และสุขทวี สุวรรณชัยรบ ที่ผ่านงานในองค์กรพัฒนานานาชาติหลายแห่ง สองผู้ก่อตั้งพรรคได้ยื่นขอจัดตั้งในวันที่ 29 มีนาคม 2561 และมีการจัดประชุมใหญ่ของพรรคในวันที่ 21 ตุลาคม 2561 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเพทฯ โดยเปิดรับผู้สนใจสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2561 หรืออย่างเร็วที่สุดก่อนพรรคจะยื่นเอกสารให้ กกต.รับรองในต้นเดือนพฤศจิกายน
พรรคสามัญชน นักกิจกรรมและเอ็นจีโอหลายกลุ่มได้ร่วมตัวกันก่อตั้งพรรคนี้ขึ้น และได้ไปยื่นขอจัดตั้งพรรคตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2561 และต่อมามีการจัดประชุมใหญ่ในวันที่ 22 กันยายน 2561 ที่อำเภอ วังสะพุง จังหวัดเลย โดยเลิศศักดิ์ คําคงศักดิ์ ว่าที่หัวหน้าพรรค กล่าวว่าพรรคสามัญชนจะทำกิจกรรมในขั้นตอนสุดท้ายของการจัดตั้งพรรคด้วยการนัดรวมตัวสมาชิกพรรคที่สถานีรถไฟหลักสี่ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 เพื่อเดินไปยื่นเอกสารสมาชิกพรรค 500 คน และทุนประเดิมตั้งพรรค 1 ล้านบาท ที่สำนักงาน กกต.