ประเทศไทยกำลังจะมี “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” แผนฉบับนี้เริ่มต้นกระบวนการร่างมาตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2558 โดย “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” ที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งขึ้น แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครเห็นร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะกรรมการชุดนี้ร่างขึ้นเลย ทั้งที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติของคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นพิมพ์เขียวในการร่างยุทธศาสตร์ชาติอีกฉบับที่รัฐต้องจัดให้มีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
แม้จะยังไม่เห็นเนื้อหนังของร่างยุทธศาสตร์ชาติ แต่ที่เป็นรูปธรรมแน่นอนแล้วคือ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ซึ่งต่อจากนี้ไปคณะกรรมการชุดนี้จะเข้ามาทำหน้าที่ร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับจริง และเมื่อร่างเสร็จก็จะมีบทบาทในการควบคุมและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลชุดต่อๆ ไป
ตัวจริง คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ เต็มไปด้วย ‘ข้าราชการ-ทหาร-คสช.’
วันที่ 22 มิถุนายน 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังจะผ่านความเห็นชอบ “ร่างพ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ….” ซึ่งกำหนดให้มี “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” เข้ามาทำหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่เกิดขึ้นจะทำหน้าที่กำหนดและตัดสินใจวางแผนยุทธศาสตร์ชาติให้เห็นไปไกลถึงระยะเวลา 20 ปี พร้อมกล่าวว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเลือกตั้งเข้ามา ไม่ต้องกลัวว่า วันนี้ พลเอกประยุทธ์ วางแผนไว้ 20 ปี ทำให้รัฐบาล 20 ชุดต้องจำนนอยู่ในภายใต้อำนาจ ทุกวันนี้ยุทธศาสตร์ชาติต้องฟังเสียงจากประชาชน โดยที่ใครจะเปลี่ยนก็จะต้องไปฟังเสียงจากประชาชน
แต่ในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. …. กลับระบุถึงข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ควรเพิ่มเติมให้มีกรรมการโดยตำแหน่งซึ่งมาจากข้าราชการที่มาจากหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
อีกทั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 34 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน เช่น นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นอกจากนั้นประกอบด้วยข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพ และตำรวจ รวมทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง จำนวนถึง 7 คน ส่วนที่เหลืออีก 6 คน มาจากหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 17 คน มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.
ด้วยสัดส่วนและที่มาของคณะกรรมการในลักษณะนี้ ก็อาจจะพอใช้เป็นตัวชี้วัดได้ว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่ออกมาจะมีพื้นที่ให้กับเสียงของประชาชนมากน้อยขนาดไหน
จาก คปป. ถึง คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ อำนาจในฝันของ คสช.
รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า จะต้องมีการจัดทำยุทธศาสต์ชาติเพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ แม้จะไม่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าจะต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นที่รู้กันว่าถ้าไม่มีกลไกในการควบคุมรัฐบาลชุดหน้าการรัฐประหารของคสช.ก็อาจจะ “เสียของ” เพราะหากย้อนกลับไปช่วงปี 2558 ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกในยุคคสช. ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ก็เคยมีการบัญญัติให้มี “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ” ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อกันการเสียของไว้แล้ว
โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือเรียกันอย่างย่อว่า “คปป.” มีอำนาจหน้าที่พิเศษ คือ หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายในช่วงเวลา 5 ปี หากเกิดปัญหาความขัดแย้งในประเทศโดยไม่สามารถควบคุมได้ คณะกรรมการชุดนี้สามารถมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม เพื่อใช้มาตรการที่จำเป็นในการจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ โดยประธานกรรมการชุดนี้ มีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร และให้ถือว่าคำสั่ง การกระทำ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด
โดยคณะกรรมการชุดนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 23 คน โดยมีที่มา 3 ส่วน ได้แก่
1. กรรมการโดยตำแหน่งมาจากประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ผู้บัญชาการกองทัพไทย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองแต่ละประเภท ประเภทละหนึ่งคน
3. กรรมาการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 11 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญการปฏิรูปด้านต่างๆ และการสร้างความปรองดอง ซึ่งแต่งตั้งจากมติรัฐสภา
สำหรับการเลือกประธาน ให้กรรมการเลือกผู้ซึ่งมีความเหมาะสมคนหนึ่งให้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ถูกสอดไส้ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ในช่วงสุดท้าย เพราะขณะที่กรธ.เปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญเลย
บวรศักดิ์ ประธาน กมธ. ชี้แจงว่า“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทย เมื่อพ้น 5 ปีไปแล้ว ที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. แต่ในระหว่างนี้ต้องสร้างประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่านจากระบอบรัฏฐาธิปัตย์ ไปสู่ประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่าน โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติมาทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปและกำกับการปฏิรูปไปได้ รวมทั้งสร้างความปรองดองคู่ขนานไปกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หากรัฐบาลปกติคุมสถานการณ์ไม่อยู่ ก็สามารถใช้อำนาจพิเศษนั้นได้ โดยไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญครั้งที่สาม ภายใน10 ปี”
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (คนกลาง) อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558
ข้อเสนอนี้นับว่ามีความสุดโต่งอย่างมาก จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่คือความพยายามสืบทอดอำนาจของคสช. เพราะคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยผู้นำจากทุกเหล่ากองทัพและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของสนช. โดยเฉพาะในสถานการณ์พิเศษ คปป.สามารถทำหน้าที่แทนรัฐสภาและรัฐบาล ซึ่งเท่ากับรัฐธรรมนูญรับรองความชอบธรรมในการรัฐประหาร ให้ คปป. เพื่อลดการพึ่งพากองทัพให้ออกมารัฐประหารในอนาคต
น่าเสียดายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกคว่ำไปซึ่งไม่แน่ชัดว่าด้วยเนื้อหาสืบทอดอำนาจที่สุดโต่ง หรือ เพราะคสช.อยากอยู่ตามความเห็นของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
รากเหง้าแนวคิด คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ มาจากสภาปฏิรูป
หากจะมองหารากเหง้าที่มาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมาจากไหน อาจจะกล่าวได้ว่ามาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) ในรายงานเกี่ยวการยุทธศาสตร์ชาติที่สภาปฎิรูปที่ถูกคสช.แต่งตั้งขึ้นทั้งสองชุด ต่างเสนอให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รายงานทั้งสองฉบับแม้เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระกัน แต่เนื้อหารายงานทั้งสองฉบับเรียกว่าคัดลอกกันมาอย่างไม่ต้องสงสัย
สภาปฏิรูปแห่งชาติ จากการแต่งตั้งของคสช.
ไล่ดูตั้งแต่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบหรือไต่สวนการไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งการกำหนดให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินนโยบายหรือแผนหรือแผนงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
ขณะที่บทเฉพาะกาลก็เหมือนกันมาก จะต่างก็เพียงจำนวนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่สปช.เสนอให้มีจำนวน 23 คน ส่วน สปท.เสนอให้มีจำนวน 25 คน โดยวาระเริ่มแรกการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้นายกรัฐมนตรี, ประธาน สนช. และประธานสภาปฏิรูป เป็นกรรมโดยตำแหน่ง สำหรับที่เหลือคือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งสนช.ทำหน้าที่ในการสรรหาและคัดเลือก
เป้าหมายคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติคืออะไร?
ไม่เกินเลยถ้าจะกล่าวว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คือ การพยายามสืบทอดอำนาจของคสช. ดังจะเห็นได้ว่าคณะกรรมการโดยตำแหน่งส่วนใหญ่มีที่มาจากกองทัพ ภาคราชการและตัวแทนภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิก็มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ หน้าที่ของพวกเขาคือการออกแบบยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อบีบให้รัฐบาลและรัฐสภาที่ต้องมาจากการเลือกตั้งต้องเดินตามความฝันของคสช.
ดังจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 บังคับให้รัฐบาลสมัยหน้าว่า การแถลงนโยบายและการเสนองบประมาณของรัฐบาลชุดต่อๆ ไปจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เท่ากับว่า คสช. สามารถเขียนนโยบายหรือแผนการบริหารประเทศที่เป็นวิสัยทัศน์ของคสช. ไว้ในยุทธศาสตร์ชาติเพื่อบังคับให้รัฐบาลชุดต่อไปที่มาจากการเลือกตั้งต้องเดินตามได้ โดยมี ส.ว.ที่ คสช. แต่งตั้งคอยช่วยติดตามเร่งรัดอีกแรง นอกจากนี้หากหน่วยงานรัฐใดไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติสามารถแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้
แม้การเกิดขึ้นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติของคสช. อาจจะไม่ได้บรรลุความฝันอันสูงสุดในการสร้างกลไกขั้นสุดท้ายที่จะมอบอำนาจให้กับชนชั้นนำในการตัดสินใจแก้วิกฤตชาติแทนอำนาจประชาชนผ่านการเลือกตั้ง แต่กลไกทุกอย่างที่คสช.วางไว้แล้วก็ยากเหลือเกินที่จะให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ หรือถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้ก็อยู่ยาก เพราะคสช.ขออยู่ยาว
ตารางเปรียบเทียบข้อเสนอองค์ประกอบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
ร่างพ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ | ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับบวรศักดิ์ | สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) | สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) | หมายเหตุ |
นายกรัฐมนตรี | นายกรัฐมนตรี | นายกรัฐมนตรี | นายกรัฐมนตรี | สีแดงคือผู้แทน ฝ่ายการเมือง |
ประธาน สภาผู้แทนราษฎร | ประธาน สภาผู้แทนราษฎร | ประธาน สภาผู้แทนราษฎร | ประธาน สภาผู้แทนราษฎร | |
ประธานวุฒิสภา | ประธานวุฒิสภา | ประธานวุฒิสภา | ประธานวุฒิสภา | ประธานวุฒิสภา มีที่มาจากการแต่งตั้ง |
รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย | ||||
ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา เลือกกันเองให้เหลือ 1 คน | ||||
ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เลือกกันเองให้เหลือ 1 คน | ||||
ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา เลือกกันเองให้เหลือ 1 คน | สีม่วงคือตัวแทน ฝ่ายตุลาการ | |||
ประธานศาลฎีกา | ||||
ปลัดกระทรวงกลาโหม | สีเขียวเข้มคือ ตัวแทนข้าราชการ ฝ่ายความมั่นคง | |||
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด | ผู้บัญชาการทหารสูงสุด | |||
ผู้บัญชาการทหารบก | ผู้บัญชาการทหารบก | |||
ผู้บัญชาการทหารเรือ | ผู้บัญชาการทหารเรือ | |||
ผู้บัญชาการทหารอากาศ | ผู้บัญชาการทหารอากาศ | |||
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ | ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ | |||
เลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ | ||||
ประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ | สีเหลืองคือตัวแทนภาครัฐด้านเศรษฐกิจ | |||
ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ | สีฟ้าคือตัวแทน ภาคเอกชน | |||
ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ | ||||
ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย | ||||
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย | ||||
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย | ||||
ประธานสมาคมธนาคารไทย | ||||
17 คน (ครม.) | 11 คน (สนช.) | 20 คน (สนช.) | 22 คน (สนช.) | สีเขียวคือกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ แต่งตั้งจาก “สนช.ที่คสช.แต่งตั้ง” หรือ “ครม.ของคสช.เอง” |
34 คน | 23 คน | 23 คน | 25 คน | รวม |
*11 พฤศจิกายน 2560 บทความมีการแก้ไขจำนวนตัวเลขกรรมการยุทธศาสตร์จากเดิม 34 เป็น 35 คน และแก้ไขจำนวนกรรมการยุทธศาสตร์ชาติปัจจุบัน จากเดิม 28 เป็น 29 คน