ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่แอบเขียนไว้ก่อนแล้ว ประชาชนขอดูหน่อย

ยุทธศาสตร์ชาติ กำลังจะถูกเขียนขึ้นโดยรัฐบาล คสช. ตามที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดไว้ ในความฝันของ คสช. ยุทธศาสตร์ชาติที่ว่านี้จะถูกบังคับใช้กันไปนาน 20 ปี 
ตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ก่อนที่จะจัดทำตัวยุทธศาสตร์ชาติขึ้น ต้องออกกฎหมายมาก่อนหนึ่งฉบับ เพื่อกำหนดกรอบว่า ขั้นตอนวิธีการจัดทำเป็นอย่างไร ใครจะเป็นคนร่าง และใครมีอำนาจอนุมัติ กฎหมายนี้เรียกว่า ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 
ร่างกฎหมายที่ว่า เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และกำลังจะถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสนช.ในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะผ่านการพิจารณาในวันนั้น
ร่างกฎหมายที่ว่า เตรียมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ พร้อม ผบ.ทุกเหล่าทัพ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการอื่นๆ ให้คสช. แต่งตั้งอีกเพียบ
ร่างกฎหมายที่ว่า เขียนไว้ว่า เมื่อเขียนตัวยุทธศาสตร์ชาติกันเสร็จแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ คนเดิมเป็นผู้พิจารณา และให้ สนช. ที่พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้งลงมติเห็นชอบ
แม้ว่า รัฐธรรมนูญ จะกำหนดชัดให้การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
แต่ร่างกฎหมายที่ว่า เปิดช่องเอาไว้ในมาตรา 28 ว่า การรับฟังความคิดเห็นที่ได้ทำไปแล้วก่อนหน้านี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ให้ถือเป็นการรับฟังที่ทำเสร็จไปแล้ว
และร่างกฎหมายที่ว่า ยังบอกว่า ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่ได้จัดทำเอาไว้ก่อนแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ให้เอามาใช้เป็นหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตัวจริง
แสดงว่า ยุทธศาสตร์ชาติ ที่ คสช. ฝันจะเห็นนั้น แท้จริงก็ "เขียนกันไว้แล้ว" ก่อนที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายจะผ่านด้วยซ้ำ
โดยคณะรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาศัยอำนาจคณะรัฐมนตรีออกมติตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติกันเองล่วงหน้า 
เมื่อสืบค้นข้อมูลพบว่า หลังจากการออกมติคณะรัฐมนตรีฉบับดังกล่าว ปรากฏหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ลงนามโดย อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ระบุว่า ให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมาหนึ่งชุด ให้วิษณุ เครืองาม นำกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไปหารือกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และให้ทุกส่วนราชการศึกษากรอบและแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จัดทำข้อมูลส่งให้คณะกรรมการทำงานต่อไป 
คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี มีอย่างน้อย 22 คน ในวันที่ออกมติคณะรัฐมตรี คณะกรรมการประกอบไปด้วยบุคคล ดังนี้
1. พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานโดยตำแหน่ง
2. อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง 
3. ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง
4. รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
5. สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
6. อนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
7. ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
8. พลเอก ชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์ เป็นกรรมการ
9. พันเอก ณัฐวุฒิ ภาสุวณิชยพงศ์ เป็นกรรมการ
10. พันเอก นิมิตต์ สุวรรณรัฐ เป็นกรรมการ
11. สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
12. อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
13. บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
14. สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นกรรมการ
15. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นกรรมการ
16. ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นกรรมการ
17. พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร เป็นกรรมการ
18. ธีระพงศ์ วงศ์ศิวะวิลาส รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นเลขานุการร่วม
19. รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการร่วม
20. พลเอก สกล ชื่นตระกูล เป็นที่ปรึกษา
21. พลเอก จีระศักดิ์ ชมประสพ เป็นที่ปรึกษา
22. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นที่ปรึกษา
ดังนั้น ถ้อยคำที่เขียนไว้สวยหรูในรัฐธรรมนูญ และในร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่า การร่างยุทธศาสตร์ชาติต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จึงสวนทางกับความเป็นจริงที่ว่า ร่างยุทธศาสตร์ชาติได้ถูกลงมือเขียนไว้แล้ว โดยคณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2558
จนถึงวันนี้ ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่ทำไว้ ก็ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนให้ได้เห็น มีเพียงสรุปย่อ ที่เผยแพร่อยู่บ้างตามเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการหลายแห่ง 
ทั้งที่ ร่างฉบับนี้จะถูกเอามาเป็นหลักสำหรับยุทธศาสตร์ชาติตัวจริง ไอลอว์จึงเห็นความสำคัญและพยายามค้นหาว่า เนื้อหาของร่างฉบับนี้เป็นอย่างไร
ไอลอว์จึงลองติดต่อไปหน่วยงานที่น่าจะมีความเกี่ยวข้างทั้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้รับแจ้งว่าหน่วยงานรับผิดชอบจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติตามมติครม. คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ
หลังจากยื่นหนังสือเพื่อขอข้อมูลไปยังสภาพัฒน์ฯ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 แล้ว ก็ยังไม่ได้รับร่างฉบับดังกล่าว มีเพียงการประสานงานทางโทรศัพท์ว่า ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ฉบับที่ร่างขึ้นไว้แล้วนั้น "ให้ดูไม่ได้" เนื่องจากยังเป็นเพียงร่างอยู่ และยังอาจต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มอีก
จะเห็นได้ว่า ทั้งร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่จัดทำขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2558 และยุทธศาตร์ชาติตัวจริง จะมีต้นทางมาจากรัฐบาล คสช. โดยตรงทั้งสิ้น ประชาชนหรือภาคส่วนอื่นของสังคมแทบไม่มีส่วนร่วมในการจัดทำเลย 
ดังนั้น ข้อเรียกร้องที่ต่ำที่สุดในวันนี้ คือ "ขอดู" เท่านั้น 
ขอสิทธิให้ประชาชนได้ร่วมรับรู้ ว่า อนาคตของชาติอีก 20 ปี ที่ คสช. กำลังคิดฝันนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร?