ด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช่ ‘ศิโรราบ’ เพราะหวาดกลัว

ไม่จำเป็นต้องนั่งฟังเดอะช็อคคนเดียวหรือเดินเปลี่ยวแถววัดเสมียนฯ กลางดึก เพียงผู้เขียนนึกสำรวจบรรยากาศรอบกายก่อนลง ‘ประชามติ’ ไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ก็รู้สึกได้ว่า ‘กลัว’

แน่นอนว่า ‘ความกลัว’ ที่ว่าถูกแซมแทรกในแทบทุกครัวเรือนไทยไม่แพ้จำนวนศาลพระภูมิเจ้าสีสดใส นอกจากจะกุมมือเราแน่นไปตามทางเดินมืดๆ ของบ้านผีสิง หรือไม่ยอมทิ้งให้ดูหนังผีแบบไม่คุ้มค่าตั๋ว ‘ความกลัว’ ในสถานการณ์อื่นนั้นแทบไม่เป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ แต่เช่นเดียวกับอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานตามสัญชาตญาณอื่นๆ ความกลัวนั้นอยู่คู่กับมนุษย์เพื่อเหตุผลบางประการ

 

‘แต่ในครั้งนี้..โปรดตัดสินใจ’

หนึ่งวันก่อนการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร การตัดสินใจว่ารัฐบาลลอนดอนจะอยู่หรือออกจากการเป็นสมาชิกของอียูหรือสหภาพยุโรป ‘เมโทร’ หนังสือพิมพ์แจกฟรีที่มียอดการแจกจ่ายราว 1.3 ล้านฉบับต่อวันปรากฏพายกราฟหรือแผนภูมิรูปวงกลมสีส้มอยู่กลางหน้าเพื่อให้เห็นภาพว่าจำนวนผู้อพยพในอังกฤษแต่ละปีคิดเป็นสัดส่วนเล็กน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับประชากรอังกฤษทั้งหมด ด้วยหวังจะชวนให้ผู้อ่านซึ่งอาจมีมากถึงสามล้านคน (หรือมากกว่านั้นสำหรับฉบับของวันนี้) ตัดสินใจเกี่ยวกับการโหวตที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าด้วยการพิจารณาอย่างมีเหตุผล

“แล้วแต่คุณ แต่ขอให้โหวตจากข้อเท็จจริง ไม่ใช่เพราะกลัว”

ข้อความนี้พิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดเล็กที่มุมหนึ่งของโฆษณาขนาดเต็มหน้าดังกล่าว แต่เป็นใจความสำคัญที่ลอว์เรนซ์ เทย์เลอร์ (Lawrence Taylor) ผู้มีสิทธิลงประชามติรายหนึ่งตัดสินใจใช้เงินส่วนตัวซื้อพื้นที่เพื่อเผยแพร่โฆษณานี้

เมื่อข่าวนี้ถูกเผยแพร่ในภาษาไทย ชาวเน็ตในเครือข่ายสังคมออนไลน์ไทยจำนวนมากอดไม่ได้ที่จะย้อนกลับมามองบรรยากาศก่อนการลงประชามติในบ้านเรา ซึ่งการพูดถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญถูกจำกัดไว้อย่างน่ากลัว

หลังประกาศผลการลงประชามติครั้งสำคัญซึ่งยุติด้วยชัยชนะของฝ่ายโหวตให้อังกฤษ ‘ออกจากอียู’ พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของไทยแสดงความเห็นต่อเรื่องราวใหม่ใต้ทิวธงยูเนียนแจ๊คว่า 

“สิ่งที่น่าชื่นชมและนำมาเป็นแบบอย่างคือการลงประชามติผ่านไปได้ด้วยความเรียบร้อย แม้ความเห็นจะแตกต่างแต่ไม่สร้างความแตกแยก หรือความวุ่นวายในสังคม ซึ่งอยากเห็นการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญในประเทศมีความสงบเรียบร้อยราบรื่นเช่นกัน” แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่าพลตรีสรรเสริญจะเห็นด้วยกับเทย์เลอร์หรือไม่ อีกนัยหนึ่ง ท่านจะชื่นชมอยู่หรือเปล่า หากการลงประชามติในบ้านเราจะเต็มไปด้วยการรณรงค์และถกเถียงอย่างเสรีโดยไม่มีพื้นที่ให้กับความกลัวใดๆ

ก่อนสายตาของคุณร่ำลาจากย่อหน้านี้ไป เพราะกลัวผู้อ่านจะสับสน เลยขอนำนิยามของความกลัวมาเสนอเพื่อให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าเรากำลังพูดถึง ‘ความรู้สึกวิตกกังวลที่เกิดจากการคาดเดาเกี่ยวกับเหตุการณ์ (ในอนาคต-ผู้เขียน) หรือประสบการณ์ (ในอดีต-ผู้เขียน)’ ซึ่งเป็นการให้ความหมายอย่างเรียบง่ายโดยคาร์ล อัลเบรตช์ เจ้าของหนังสือ เบรน สแน็คส์ (Brain Snacks) ในสหรัฐฯ

นิยามที่กล่าวถึงไปนั้นขอชวนคุณมาทบทวนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความกลัวที่กระจายตัวทั่วทุกตารางกิโลเมตรในไทยก่อนการลงประชามติที่จะมาถึงในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ว่า มีสภาพความหวาดกลัวอยู่ในเกณฑ์น่าวิตกกังวลหรือไม่ อย่างไร

 

‘กลัว(ไม่)เป็นเหมือนวันก่อน’ สำรวจ ‘อดีตที่หลอกหลอน’ ก่อนลงประชามติ

คนไทยนับล้านย่อมจำได้แน่ว่าโดยปราศจากการตรวจสอบที่เข้มข้นและบทลงโทษที่เข้มแข็ง นักการเมืองไทยที่ไม่ใช่ ‘คนดี’ ได้แผลงฤทธิ์แสวงประโยชน์โดยทุจริตเป็นมูลค่ามหาศาลมายาวนานหลายทศวรรษ จนประเทศไม่อาจมีถนนที่ปูด้วยทองคำเสียที 

เมื่อนึกได้เช่นนี้จึงเกิดความกลัวและจะไปโหวต ‘รับ’ เพราะเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอำนาจปราบโกงได้ดีนักแล แม้จะอ่านแค่คำปรารภของร่างฯ อย่างเช่น แกนนำมวลมหาประชาชนกลุ่มหนึ่ง และยิ่งเมื่อนักการเมืองจากทั้งสองพรรคใหญ่พร้อมใจออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย คนเหล่านี้ต่างเชื่อว่าเป็นสัญญาณของนักโกงเมืองที่กลัวถูกปราบให้สิ้นซากไปด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้

ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็จำได้ไม่ผิดเพี้ยนทีเดียวว่าศาสนาพุทธนั้นเคยประดิษฐานอย่างรุ่งเรืองในชมพูทวีปก่อนอันตรธานไป และเมื่อนึกย้อนไปในหลายปีที่ผ่านมาเขาเหล่านั้นก็ตระหนกไปเสียหนักหนาว่าการก่อการร้ายและบรรดาความรุนแรงทั้งหลายในโลกเป็นการลงมือก่อเหตุโดยพี่น้องที่นับถือศาสนาอื่นๆ เมื่อกลัวแล้วอย่างนี้ต่างยินดีที่จะไปโหวต ‘รับ’ เพราะเชื่อว่าการบัญญัติให้รัฐบาลสนับสนุนการเผยแพร่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพิ่มมาตรการป้องกันการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา จะทำให้ประเทศไทยมีพระธรรมค้ำจุนหนุนสันติภาพไปตลอดกาล

มวลมหาประชาชนนับล้านก็คงจำได้อีกเช่นกันว่าต้องเสียสละหยาดเหงื่อแรงกายตลอดจนเวลาและทุนทรัพย์มากมายเพียงใดเพื่อฝ่าฟันสู้ทนชุมนุมปิดถนนใจกลางกรุงหลายเดือนช่วงปลายปี 2556-2557 เพื่อเรียกกร้องปฏิรูปประเทศที่ถูกรุมเร้าด้วยโรคซ้ำซ้อนและเรื้อรังมายาวนาน กระทั่งมีฝ่ายทหารคือกองทัพซึ่งนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวเข้ามารัฐประหารด้วยไม่อาจรั้งรอให้สายไป แกนนำคนสำคัญ สุเทพ เทือกสุบรรณบอกกับสื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้หาทางออกให้กับวิกฤตซ้ำซากของประเทศโดยไม่จำเป็นต้องทำการรัฐประหารอีก เพราะผู้คนบางส่วนกลัวการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีกซึ่งมักลงเอยด้วยการเลือกตั้งที่พานักการเมืองโกงหรือเผด็จการโดยเสียงข้างมากที่ไม่ทำตามข้อเรียกร้องของเสียงส่วนน้อยแต่เป็นเสียงที่มีคุณภาพ พวกเขาจึงจะไปโหวต ‘รับ’

ด้วยเชื่อว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญและผู้มีอำนาจในบ้านเมืองกลุ่มหนึ่งจะสามารถหาทางออกที่ดีแทนคนอีก 67 ล้านคนได้ เช่นเดียวกับในบางสถานการณ์ นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่เป็นคนดีถือว่ามีความจำเป็นเมื่อบ้านเมืองเผชิญวิกฤตอีก

 

มองไปในความสะพรึงซึ่งรออยู่เบื้องหน้า

ประชาชนชาวไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้ามายึดอำนาจของ คสช. ตั้งแต่แรกก็ดีหรือที่เพิ่งได้รับผลกระทบจากการบริหารประเทศภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ก็ดี ทั้งในด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลจากการตอบโต้และกดดันทางการค้าจากประชาคมระหว่างประเทศกระทั่งแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรที่ไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดจนการจำกัดสิทธิเสรีภาพและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สอดรับกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล คนเหล่านี้กลัวที่จะต้องทนอยู่กับผลกระทบนานัปการที่พวกเขาเผชิญมากว่าสองปีจึงตั้งใจจะไปโหวต ‘รับ’ เพราะเห็นว่าหากรัฐธรรมนูญนี้ผ่านการลงประชามติและประกาศใช้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะคืนอำนาจให้ปวงชนชาวไทยและจัดให้มีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเสียที

แทนที่จะต้องมีอนาคตซึ่งถูกกดทับด้วยการบริหารงานของกองทัพอย่างที่เป็นมา ขณะเดียวกัน บางส่วนของผู้คนกลุ่มเดียวกันนี้แม้ไม่ยอมรับอำนาจที่มาจากการรัฐประหารตั้งแต่ต้นและไม่อยากทนอีกต่อไปกับรัฐบาลที่ไม่ฟังเสียงของประชาชน แต่เมื่อมีพระสติมาโปรด พวกเขาก็พลันนึกขึ้นได้ว่าว่า ‘รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ทีหลัง’ เป็นเพียงคำหลอกลวง ผู้คนกลุ่มนี้จึงต่างกลัวว่ารัฐธรรมนูญที่ไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ควรทั้งที่มาและเนื้อหาจะอยู่ยั้งยืนยงชั่วดินฟ้า ไม่สามารถแก้ไขได้ หากรับให้ผ่านไปก่อน จึงจะไปโหวต ‘ไม่รับ’ เพื่อแสดงการปฏิเสธความชอบธรรมของ คสช. โดยพร้อมเพรียงทั้งแผ่นดิน

แต่ก็มีไม่น้อยที่ยังฝากความหวังไว้ที่นักการเมืองซึ่งพวกเขาจะเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในสภาว่าจะสามารถหาทางแก้ไขได้อยู่ดี แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการเสียงจาก สว.มากถึงหนึ่งในสามเพื่อการดังกล่าวก็ตาม คนกลุ่มนี้แม้กลัวอยู่ทีเดียวว่า ข้อเสียของรัฐธรรมนูญใหม่จะมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่ยังยืนยันที่จะไปโหวตรับด้วยเชื่อในธรรมชาติของนักการเมืองที่ย่อมดิ้นรนแก้ไขรัฐธรรมนูญจนได้ และเพราะกลัวแบบเดียวกับกลุ่มก่อนหน้านี้อีกเช่นกัน

ประชาชนผู้มีสิทธิลงประชามติครั้งนี้บางส่วนต่างชักชวนกันไม่ไปใช้สิทธิ เพื่อเหตุผลเดียวกันคือ การแสดงความไม่ยอมรับทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และอำนาจของ คสช. เพราะกลัวกันว่าการไปใช้สิทธิแม้จะโหวตไม่รับก็ตามเป็นการร่วมสังฆกรรมหรือให้การรับรองรัฐบาลทหารซึ่งพวกเขาไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม ใช่หรือไม่ว่าทุกคนต่างกลัวกันถ้วนหน้าด้วยกังวลว่า หากตัดสินใจโหวตไปในทางหนึ่งทางใดแล้วจะนำภัยมาสู่ชาติบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นภัยจากนักการเมืองทุจริต ความขัดแย้งทางการเมืองที่เรื้อรัง การปกครองประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือการรักษาความมั่นคงของชาติที่เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

พักความกลัวไว้ เพื่อใช้เหตุผลบนข้อเท็จจริง

ผู้คนอีกจำนวนหนึ่งพยายามนำสังคมออกจากความกลัวสารพัดที่หลอมรวมเป็นบรรยากาศ ‘อึมครึม’ ก่อนการลงประชามติด้วยการยืนยันกับสังคมว่า การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเสรีและรอบด้านเป็นสิ่งที่พึงได้รับความคุ้มครองและสนับสนุน เพราะการถูกจำกัดให้ประชาชนคร่ำครวญถึงอดีตที่ขมขื่นและการคาดเดาอนาคตชวนฟุ้งซ่านเพียงลำพัง ย่อมไม่นำไปสู่การวิเคราะห์และตัดสินใจที่มีเหตุผลเพียงพอได้ เพราะปุถุชนย่อมไม่สมบูรณ์แบบในการใช้วิจารณญาณ การถกเถียงอย่างอิสระ ย่อมไม่ใช่การถูกชี้นำแต่ฝ่ายเดียว แต่หมายถึงการมีโอกาสตอบโต้หรือแสดงความเห็นแย้งอย่างสร้างสรรค์ด้วย

โชคร้ายอยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองไม่เห็นคุณความดีของการขจัดความกลัวด้วยสันติวิธีเช่นว่านี้ แต่กลับเพาะเลี้ยงความกลัวให้เติบโตออกดอกผลเป็นรสฝาดเฝื่อนหล่นเกลื่อนแผ่นดิน ด้วยเชื่อว่าการให้ข้อเท็จจริงเพียงด้านเดียวโดยรัฐบาลเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในชาติบ้านเมือง หรืออีกอย่างหนึ่ง พวกเขาคงไม่เชื่อว่าประชาชาชนมีดุลพินิจมากพอในการเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อตามที่เขารณรงค์กัน เพราะเขากลัวอีกเช่นกัน เขาจึงจับคนเข้าคุกเนืองๆ เพียงเพราะออกมาให้เหตุผลเกี่ยวกับการลงประชามติแตกต่างไปจากที่รัฐบาลกำลังระดมทั้งคนและงบประมาณเพื่อให้ข้อมูลอยู่ฝ่ายเดียวในขณะนี้

ในทางวิทยาศาสตร์ ความกลัวเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ กล่าวคือมนุษย์ทุกคนมีความรู้สึกนี้ทั้งสิ้น แม้นักจิตวิทยาบางคนจะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่เมื่อความกลัวเป็นอารมณ์อย่างหนึ่งที่เป็นผลจากการทำงานของสมองส่วนที่เรียกว่า ‘ลิมบิก’ ซึ่งเจริญเติบโตเต็มที่ก่อนสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับเหตุผล ‘นีโอคอร์เท็กซ์’ นักวิทยาศาสตร์จึงเห็นว่าอารมณ์ รวมถึงความกลัวน่าจะมีประโยชน์ต่อมนุษย์ในทางหนึ่งใด ซึ่งได้ข้อสรุปกันว่าเป็นกลไก ‘เพื่อความอยู่รอด’ ของมนุษย์เพราะเห็นว่าหากมัวรอการทำงานของสมองส่วนเหตุผลอาจสายเกินไป ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ความกลัวที่จะเดินตัดหน้ารถ ปีนหลังคาหรือจับงูพิษมาเลื้อยเล่นในบ้าน

ความกลัวจึงมีประโยชน์ในบริบทที่มีเวลาจำกัด แต่เรายังมีเวลาอีกถึงห้าสัปดาห์ก่อนการลงประชามติ ที่จะให้โอกาสสมองส่วนเหตุผลได้ทำงานกันเต็มที่ แทนการโยนภาระไปที่สมองส่วนอารมณ์ของเราซึ่งขณะนี้กำลังผลิตความกลัวเกินความจำเป็น

ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจไปโหวตรับหรือไม่ก็ตาม แต่ขอให้แน่ใจว่าการตัดสินใจนั้นมาจากการพิจารณาด้วยเหตุผลตามข้อเท็จจริง แม้ไม่มีเวลานั่งอ่านร่างฯ ทั้งฉบับแต่ก็ควรหาโอกาสฟังและแลกเปลี่ยนอภิปรายกับผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่เห็นต่างและไม่ลืมที่จะนำไปบอกต่อเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรอบตัวเพื่อยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสร้างบรรยากาศที่พร้อมรับกับการตัดสินใจครั้งสำคัญของประเทศ

แม้ผู้คนกว่าเจ็ดพันล้านบนโลกยังไม้ได้ข้อสรุปตรงกันว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นจะยั่งยืนยาวนานด้วยการใช้เหตุผลหรือความรู้สึก แต่หลายคนคงเคยได้ยินมาว่า อย่าตัดสินใจคบใครเพียงเพราะรู้สึกเหงาหรือกลัวจะไม่มีใคร ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับคำกล่าวนี้ แต่สำหรับประชามติที่กำลังมาถึง เราไม่ควรตัดสินใจเพียงเพราะรู้สึกกลัวอะไรก็ตาม แต่เพราะมั่นใจแล้วว่าเราเลือกรับ/ไม่รับ ด้วยเหตุผลตามข้อเท็จจริง และเก็บอารมณ์ความรู้สึกไว้ใช้กับเรื่องหัวใจก็พอ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage