ชายลึกลับควักกระเป๋าซื้อโฆษณานสพ.ให้ข้อมูลสำคัญ ดึงสังคมอย่าลงประชามติด้วยความกลัว

สำหรับคนนับล้าน การลงประชามติ Brexit (มาจากคำว่า British + Exit) วันนี้ (23 มิ.ย.) อาจจะเป็นการชี้ชะตาอนาคต หนึ่งในประเด็นหลักที่เป็นข้อถกเถียงสำคัญ คือเรื่องผู้อพยพและแรงงานต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าไปทำงานในประเทศ 
การต้องลงคะแนนโหวตเพื่อรื้อการตัดสินใจเดิมว่าสหราชอาณาจักรจะยังคงอยู่ต่อ (Remain) หรือ ออก (Leave) จากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ดูจะเป็นการตัดสินใจที่ยากและซับซ้อนกว่าการคิดว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ตั้งแต่แรก เพราะมาในวันนี้ ก็มีพลเมืองจากประเทศสมาชิกอียูที่อาศัยและทำงานในสหราชอาณาจักรอยู่ราว 2 ล้านคน หากการประชามติออกมาว่าชาวอังกฤษต้องการออกจากสหภาพยุโรป ย่อมมีผลต่อชีวิตของเพื่อนร่วมทวีปจำนวนมาก
ในช่วงวันสุดท้ายก่อนวันลงคะแนน ปรากฏว่า มีชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า ลอว์เรนซ์ เทยเลอร์ (Laurence Taylor) ที่รู้สึกอึดอัดกลัดกลุ้มกับการที่คนต้องมาถกเถียงเรื่องคนเข้าเมืองที่มาทำงานในประเทศ เขาจึงตัดสินใจควักกระเป๋าซื้อโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ 
โฆษณาดังกล่าวกินพื้นที่เต็มหน้าของหนังสือพิมพ์ Metro เป็นภาพพายกราฟอันใหญ่ที่แสดงเสี้ยวผอมๆ ของสัดส่วน 0.5% จากพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งบอกจำนวนของผู้อพยพจำนวน 330,000 คนต่อปี หรือคิดเป็นเพียงจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของสหราชอาณาจักรจำนวนทั้งสิ้น 64.6 ล้านคน ภายใต้กราฟเขียนข้อความว่า "Why can't we cope with a 0.5%/yr rise in population? Too many migrants or failure of government?" หรือหมายความว่า "ทำไมเราไม่สามารถรับมือกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นแค่ปีละร้อยละ 0.5? ผู้อพยพเยอะเกินไป หรือรัฐบาลล้มเหลว?" พร้อมทั้งมีตัวหนังสือเล็กๆ ข้างท้ายว่า จะโหวต 'อยู่ต่อ' หรือ 'ออกไป' มันขึ้นอยู่กับคุณ แต่ขอให้ตัดสินใจจากข้อมูล ไม่ใช่ความหวาดกลัว
เทยเลอร์ ผู้ซึ่งเลือกจะไม่บอกอัตลักษณ์ตัวเองมากไปกว่านี้ ให้สัมภาษณ์สื่อว่า เขาใช้ข้อมูลขององค์กรการโยกย้ายถิ่นฐาน (Migration Watch) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งกลายเป็นข้อมูลที่ชี้ชัดว่า สัดส่วนเรื่องตัวเลขที่กำลังกังวลกันทั่วประเทศนั้นมันเล็กน้อยเพียงไร
การลงประชามติครั้งนี้ ทำให้ชาวยุโรปจำนวนหนึ่งที่ใช้ในสหราชอาณาจักรมายาวนานรู้สึกว่าชีวิตตัวเองเดินมาถึงทางแยกแห่งความไม่มั่นคง ที่ไม่รู้ว่าชีวิตจะไปต่ออย่างไร ชายชาวดัชท์คนหนึ่งมาใช้ชีวิตในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 1973 หรือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เขามีบุคลิกและสำเนียงภาษาที่กลมกลืนกับชาวบริติชเต็มที่ เว้นเสียแต่ในเอกสารของเขาที่ระบุว่าเป็นคนต่างชาติ 
ก่อนหน้านี้ ประชาชนจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรนาน 5 ปี จะได้รับสถานะผู้อยู่อาศัยถาวร และหลังจากนั้น 12 เดือนก็สามารถเดินเรื่องเพื่อขอสถานะเป็นพลเมืองได้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ สหราชอาณาจักรเพิ่งแก้ไขกฎว่าด้วยคนเข้าเมืองซึ่งเริ่มมีผลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 กำหนดขั้นตอนทางเอกสารที่ซับซ้อนกว่าเดิม ทำให้ประชาชนจากเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area – EEA) ที่อาศัยในสหราชอาณาจักรนาน 5 ปี จะต้องยื่นใบสมัครขอเป็นผู้อยู่อาศัย หรือเรียกได้ว่าต้องผ่านการทำเอกสารเข้าระบบราชการที่ซับซ้อน ซึ่งหากผ่านเกณฑ์จึงจะได้รับสถานะผู้อยู่อาศัย
ความรู้สึกของชาวยุโรปที่มีต่อการลงประชามติ Brexit คือความกังวลว่า จะมีความเป็นไปได้ไหมที่พวกเขาจะถูกส่งตัวกลับประเทศ ปัจจุบัน มีชาวยุโรปกว่าสองล้านคนที่ทำงานอยู่ในสหราชอาณาจักร ซึ่งในจำนวนนี้ เกือบร้อยละ 40 มาจากประเทศที่มีค่าจ้างเฉลี่ยที่ต่ำกว่ามาก เช่น ประเทศโปแลนด์และโรมาเนีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือที่อายุน้อย
ที่มา: DW Independent