ประมวลกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายหลักที่ระบุว่า การกระทำอะไรบ้างที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย และผู้ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษอย่างไร ประมวลกฎหมายอาญา ยังทำหน้าที่กำหนดหลักการพื้นฐานสำคัญๆ ของการกระทำที่เป็นความผิด เช่น หลักเจตนา หรือเหตุลดโทษต่างๆ ซึ่งใช้เป็นหลักของกฎหมายอื่นๆ ทั้งประเทศด้วย
ประมวลกฎหมายอาญา ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2499 นับถึงปัจจุบัน มีอายุได้ 60 ปี ตลอดอายุไขที่ผ่านมา ประมวลกฎหมายอาญาถูกแก้ไขมาแล้ว 27 ครั้ง โดยวิธีการออกเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม 24 ฉบับ ออกเป็นประกาศคณะปฏิวัติ 2 ครั้ง และ ออกเป็นพระราชกำหนด 1 ครั้ง ซึ่งในยุคของรัฐบาลคสช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้ว 4 ครั้ง และมีร่างอีกหลายฉบับที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
เมื่อย้อนไปดูการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาทั้ง 27 ครั้งพบว่า การแก้ไข 16 ครั้ง ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโดยนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งสภาที่ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนการแก้ไขอีก 11 ครั้งลงนามโดยนายกรัฐมนตรีที่ขึ้นสู่ตำแหน่งในยุคที่รัฐสภาซึ่งทำหน้าที่พิจารณากฎหมายมาจากการเลือกตั้ง เช่น ในยุคของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาไป 5 ครั้ง ในยุคของทักษิณ ชินวัตร แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาไป 4 ครั้ง
กฎหมายอาญา บางครั้งถูกแก้ไขเพื่อตอบรับกับสถานการณ์บ้านเมือง
ข้อน่าสนใจคือ การแก้ไขกฎหมายอาญาโดยอำนาจของคณะรัฐประหารหลายครั้งมีเจตนารมณ์เฉพาะเพื่อตอบสนองสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้น เช่น การออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อปี 2514 กำหนดให้ความผิดฐานวางเพลิงมีโทษประหารชีวิต หรือการออกคําสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 โดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เมื่อปี 2519 เพิ่มโทษฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นศาสนา ฯลฯ ตามที่คณะรัฐประหารในยุคนั้นมุ่งปราบปรามการเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ เป็นต้น แต่เมื่อถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายมาเรื่อยๆ เป็นเวลานานเข้า นักกฎหมายรุ่นหลังก็จะไม่ใส่ใจที่มาของการแก้ไขกฎหมายในอดีต และยอมรับเอาหลักการนั้นๆ ว่าเป็นหลักของกฎหมายอาญาที่ชอบธรรม
ขณะเดียวกัน ในยุคที่มีรัฐบาลและรัฐสภามาจากการเลือกตั้ง อย่างยุคของทักษิณ ชินวัตร ก็มีการแก้ไขกฎหมายอาญาตามกระแสสังคมการเมืองเช่นกัน โดยคณะรัฐมนตรี ในปีพ.ศ.2546 เคยแก้ไขกฎหมายอาญาโดยการออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อบัญญัติความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ให้สอดรับกับกระแสโลกหลังเหตุการณ์ 9-11 ที่สหรัฐอเมริกา
ในยุครัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งอาศัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งเป็นผู้พิจารณากฎหมาย ก็เคยแก้ไขกฎหมายอาญาสองครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน แก้ไขในเรื่องความผิดทางเพศ นิยามการข่มขืนใหม่ให้ครอบคลุมทุกเพศ การกระทำทุกลักษณะ และเพิ่มโทษให้หนักขึ้น ตามกระแสเรียกร้องของสังคมในขณะนั้น
สนช.ยุคประยุทธ์ แก้ไขกฎหมายอาญาแล้ว 4 ครั้ง ความผิดเกี่ยวกับเพศ – เพิ่มเงื่อนไขรอลงอาญา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุครัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีผลงานไม่น้อยหน้ารัฐบาลอื่น โดยผ่านพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลอาญาไปแล้ว 3 ฉบับ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับความผิดเกี่ยวกับเพศทั้งสิ้น ได้แก่
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 22 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 กำหนดนิยามของคำว่า “เจ้าพนักงาน” เป็นครั้งแรกในกฎหมายอาญา และเพิ่มความผิดลักษณะใหม่ คือ “ความผิดเกี่ยวกับศพ” กำหนดโทษสำหรับการข่มขืนศพ ทำอนาจารศพ ทำลายศพ ดูหมิ่นศพ ให้มีโทษจำคุก และเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 23 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 เพิ่มโทษปรับในความผิดฐานข่มขืนเด็กขึ้นอีก 10 เท่า และกำหนดให้ชัดเจนว่า หากผู้เสียหายเป็นเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ผู้กระทำความผิดจะอ้างว่าไม่รู้อายุของเด็ก เพื่อให้พ้นจากความผิดไม่ได้ ซึ่งก็เป็นการออกกฎหมายหลังกระแสคดีฆ่าข่มขืน “น้องแก้ม” บนรถไฟ ในปี 2557
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 24 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 เพิ่มคำนิยามศัพท์ของคำว่า “สื่อลามกอนาจารเด็ก” กำหนดให้การครอบครองและส่งต่อสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นความผิด มีโทษหนัก
นอกจากนี้ยังมี ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาอีกฉบับที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. แล้ว เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2559 แต่อยู่ระหว่างรอประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การกักขังแทนการจ่ายค่าปรับ จากเดิมคิดวันละ 200 บาท ปรับเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท เพิ่มโอกาสการรอการลงโทษหรือรอลงอาญา ในคดีที่ศาลสั่งปรับไม่เกิน 20,000 บาท ให้ศาลมีอำนาจสั่งรอการลงโทษได้ และเพิ่มตัวเลือกการคุมประพฤติ แทนการกักขัง เช่น การให้ใส่อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิคส์ ทั้งนี้เพื่อมุ่งลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ
ยังจ่อแก้อีกหนึ่ง เพิ่มความผิดคุกคามทางเพศ
ในยุครัฐบาล คสช. ยังมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาอีกหนึ่งฉบับ ที่ร่างโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งยังอยู่ในชั้นของคณะรัฐมนตรียังไม่ถูกส่งเข้าสนช. ร่างฉบับนี้จะกำหนดนิยามความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราใหม่ หลังเพิ่งแก้ไขมาครั้งหนึ่งในยุคของรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ และจะเพิ่มความผิดฐานคุกคามทางเพศ รวมการกระทำไม่ว่าจะเป็นด้วยวาจา ท่าทาง เสียง ภาพ เอกสาร ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ หวาดกลัว เกิดความอับอาย
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยออกมาเปิดเผยผ่านคมชัดลึกว่า สาระสำคัญของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. นี้ ทางกระทรวงยุติธรรม ระบุคำนิยามเกี่ยวกับ “กระทำชำเรา” ให้ครอบคลุมกับพฤติกรรมของสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อให้เป็นกฎหมายที่มีความทันสมัย สามารถปกป้องระงับยับยั้งภัยคุกคามทางเพศให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง ขณะที่ความผิดฐาน “คุกคามทางเพศ” ที่ปัจจุบันเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงเห็นควรให้แก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมการกระทำต่อผู้อื่น ด้วยวาจา ท่าทาง เสียง ภาพ เอกสาร ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสิ่งของในลักษณะลามกที่จะทำให้ผู้อื่น เกิดความเดือดร้อนรำคาญ หวาดกลัว เกิดความอับอายหรือรู้สึกว่าถูกเหยียดหยาม