แก้กฎหมายอาญา “ชำเราศพมีความผิด-เพิ่มโทษข่มขืนเด็ก”

ในช่วงปี 2557 คดีฆ่าข่มขืน "น้องแก้ม" บนรถไฟ เป็นข่าวอาชญากรรมที่สร้างความสะเทือนใจอย่างมาก จนเกิดกระแสเรียกร้องให้เพิ่มโทษสูงสุดคดีข่มขืนถึงขั้นประหารชีวิต ล่าสุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 22 และ 23  ประกาศใช้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ เช่น การเพิ่มความความผิดเกี่ยวกับศพ การปรับอัตราโทษของความผิดลหุโทษ การนิยามคำว่า “เจ้าพนักงาน” เป็นครั้งแรก และการเพิ่มโทษปรับคดีข่มขืนเด็ก 
เพิ่ม "ความผิดเกี่ยวกับศพ" ข่มขืน-อนาจาร-ทำลาย-ดูหมิ่นศพ มีโทษจำคุก ยอมความไม่ได้
เดิมทีลักษณะความผิดในกฎหมายอาญามีเพียง 12 ลักษณะ แต่ในการแก้ไขครั้งนี้ได้เพิ่ม “ความผิดเกี่ยวกับศพ” เข้ามาเป็นลักษณะที่ 13 เนื่องจากการกระทำชำเราศพเป็นการละเมิดต่อสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ และชื่อเสียง ซึ่งก่อนหน้านี้การกระทำชำเราศพเข้าข่ายความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น เนื่องจากผู้ที่ถูกกระทำชำเราตายไปแล้วจึงขาดสภาพบุคคล ไม่ถือว่าเป็นคนตามกฎหมายแล้ว  
สำหรับโทษของผู้ที่กระทำชำเราโดยใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของศพ หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของศพเพื่่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่การกระทำอนาจารแก่ศพ เช่น กอด จูบ ลูบ คลำ หรือทำให้ศพเป็นวัตถุทางเพศ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนการเคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้เสียหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งศพ ส่วนของศพ อัฐิ หรือเถ้าของศพ โดยไม่มีเหตุอันสมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อีกทั้งได้เพิ่มความผิดฐานดูหมิ่่นเหยียดหยามศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมมีเพียงความผิดฐานหมิ่นประมาทคนตายเท่านั้น และเป็นที่น่าสังเกตว่าโทษการดูหมิ่นเหยียดหยามศพสูงกว่าโทษหมิ่่นประมาทบุคคลธรรมดาซึ่งหน้า มาตรา 393 ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ความผิดเกี่ยวกับศพเป็นความผิดที่ยอมความได้ เท่ากับมองว่าความผิดเกี่ยวกับศพนั้นเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ซึ่งมีรัฐเป็นผู้เสียหาย ใครก็ตามที่พบเห็นการกระทำผิดเกี่ยวกับศพก็สามารถแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนได้ และแม้ญาติของผู้ตายจะไม่ติดใจเอาเรื่อง ตำรวจก็มีหน้าที่ต้องสอบสวนและดำเนินคดีต่อไป

การกระทำชำเราศพ มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคๆ หนึ่ง คือ Necrophilia ทางการแพทย์ถือว่าเป็นความผิดปกติทางเพศอย่างหนึ่ง คนที่เป็นโรคนี้จะมีความสุขทางเพศเมื่อได้มีการกระทำทางเพศหรือกระทำการอื่นๆ กับศพ

โดย Necrophilia แบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น พวกที่ชอบสัมผัสศพหรือหั่นทำลายศพเพื่อความสุขทางเพศ พวกที่ชอบมีเพศสัมพันธ์กับศพ พวกที่มีเพศสัมพันธ์กับศพที่เป็นคนรักเพราะเชื่อว่าศพของคนรักยังเป็นคนรักของตนอยู่ และพวกที่ฆ่าเพื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์กับศพนั้น ซึ่งประเภทหลังสุดเป็นส่วนน้อยของโรคนี้และต้องมีอาการทางจิตควบคู่ด้วย

นอกจากนี้ผลการวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่ของ Necrophilia ชอบคู่นอนที่ไม่ขัดขืนเมื่อมีเพศสัมพันธ์ด้วย และกลัวการถูกปฎิเสธจากคู่นอน

 
ขยายอัตราโทษปรับ ของความผิดลหุโทษอีก 10 เท่า
ประเด็นต่อมาที่มีการแก้ไขคือ การเพิ่มอัตราโทษปรับของความผิดลหุโทษประมาณ 10 เท่า จากเดิมความผิดลหุโทษ หมายถึง ความผิดที่มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เปลี่ยนเป็น จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  
ซึ่งความผิดลหุโทษในประมวลกฎหมายอาญานั้น หมายถึง ความผิดเล็กๆน้อยๆที่มีโทษไม่สูง ซึ่งถูกจัดแยกไว้ต่างหากจากความผิดทั่วไป โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่พยายามกระทำความผิดลหุโทษ หรือสนับสนุนการกระทำความผิดลหุโทษ ไม่ต้องรับโทษ  
กำหนดนิยามคำว่า "เจ้าพนักงาน"
ในกฎหมายฉบับเดียวกันยังได้กำหนดนิยามของคำว่า “เจ้าพนักงาน” เป็นครั้งแรก ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ 
ประเด็นนี้สาวตรี สุขศรี อาจารย์ภาควิชากฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า เมื่อก่อนคำว่า “เจ้าพนักงาน” ไม่มีบทนิยามไว้เฉพาะ เพราะกฎหมายจะไปเขียนรายละเอียดลงลึกหมดทุกเรื่องไม่ได้ บางเรื่องจึงต้องให้ศาลตีความเอา ซึ่งศาลฎีกาเคยตีความคำว่า “เจ้าพนักงาน” ไว้ว่า หมายถึง ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และต้องได้รับเงินเดือนจากหมวดงบประมาณเงินเดือนของแผ่นดิน
ซึ่ง การกำหนดนิยามคำว่า "เจ้าพนักงาน" ให้ชัดเจน ย่อมมีผลต่อความผิดฐานฆ่าเจ้าพนักงาน ทำร้ายเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ฯลฯ และความผิดอื่นๆ ต่อเจ้าพนักงานและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136-205 
ข่มขืนเด็ก เพิ่มโทษปรับ 10 เท่า และจะอ้างไม่รู้ว่าเป็นเด็กไม่ได้
ส่วนประเด็นสุดท้ายที่มีการแก้ไขคือ ความผิดเกี่ยวกับเพศ โดยเพิ่มโทษปรับ 10 เท่า สำหรับความผิดฐานข่มขืนเด็ก ที่ไม่ใช่สามีหรือภรรยาของตน ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม เช่น ข้อหาข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี โทษปรับเดิม 14,000-40,000 บาท เพิ่มเป็น 140,000-400,000 บาท, ข้อหากระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เดิมปรับ 8,000-40,000 บาท ปัจจุบันเพิ่มโทษปรับเป็น 80,000-400,000 บาท 
ทั้งนี้ หากผู้เสียหายเป็นเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ผู้กระทำความผิดจะอ้างว่าไม่รู้อายุของเด็ก เพื่อให้พ้นจากความผิดไม่ได้ แม้ว่าตามหลักทั่วไปจะระบุว่า ถ้าผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดถือว่าขาดเจตนาในการกระทำผิด ดังนั้น กฎหมายข้อนี้จึงถือเป็นการคุ้มครองเด็ดขาดให้เหยื่อที่เป็นเยาวชน
นอกจากนี้ ยังเพิ่มอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวในการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก ในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี อีกฝ่ายอายุระหว่าง 13-15 ปี มีเพศสัมพันธ์ด้วยความสมัครใจทั้งคู่ แต่เดิมถ้าทั้งสองยินยอมแต่งงานกัน ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับโทษ ทำให้เกิดปัญหาการบังคับแต่งงานตามมา  ซึ่งศาลตรวจสอบไม่ได้ กฎหมายฉบับนี้จึงแก้ไขเพิ่มเติมให้ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขให้ดำเนินการหลังแต่งงานได้ เพื่อตรวจสอบว่าการแต่งงานนั้นเป็นไปด้วยความยินยอมหรือไม่ 
ไฟล์แนบ