โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “ความหวัง” หรือ “หายนะ”?

Is Nuclear Power Plant Hope or Disaster?

สำหรับประเทศไทย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะเป็น “ความหวัง” หรือ “หายนะ”?

ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานบอกกับเราว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นความหวังให้กับประเทศนี้ เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจุบันแหล่งผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศมาจากก๊าซธรรมชาติถึงกว่าร้อยละ 70 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงาน หากต้นกำเนิดพลังงานในส่วนนี้ขาดแคลน เพื่อเพิ่มความมั่นคง การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงจำเป็น เพราะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ต้นทุนการผลิตต่ำและคงที่ สามารถเดินเครื่องตลอดเวลาเพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าพื้นฐาน ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อีกด้านหนึ่งจำนวนผู้คนที่ต้องอพยพหลายแสนคน เสียชีวิตอีกหลายหมื่นคน และผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่เตือนใจผู้คนว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ไม่ว่าที่ไหนในโลกมันคือหายนะ จากการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย แต่ละพื้นที่ต่างมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และมีชีวิตผู้คนจำนวนมากอยู่ในนั้น ดังนั้นถ้าเดาอนาคตได้ เราแทบจะไม่ต้องถกเถียงกันว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความคุ้มค่ากับการลงทุนจริงหรือไม่ 

กว่าห้าทศวรรษของแนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และก็ไม่ต่ำกว่าห้าทศวรรษของการต่อต้านคัดค้านโครงการเหล่านี้ รัฐบาลไทยทั้งเดินหน้าทั้งหยุดโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สลับไปมา หนึ่งก็ด้วยการต่อต้านในพื้นที่ต่างๆ อีกหนึ่งก็คือการเปลี่ยนทางเลือกใช้พลังงานในระดับโลก ตอนนี้ยุคของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แผนการจัดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ถูกอนุมัติอีกครั้ง

 

แนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย

แนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2509 เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เสนอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อศึกษาความเหมาะสม สถานที่ตั้ง และรูปแบบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บริเวณอ่าวไผ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี หลังการสำรวจและเตรียมการต่างๆ ในปี 2515 มีคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 166 ประกาศให้บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จนกระทั่งในปี 2521 รัฐบาลอนุมัติให้เปิดประมูล แต่สุดท้ายต้องเลื่อนโครงการออกไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากเกิดการคัดค้านจากประชาชน  

แนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2549 รัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2550-2564 (PDP2007) ซึ่งกำหนดให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในปี 2563 และ 2564 จำนวนโรงละ 1,000 เมกกะวัตต์ นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงาน ให้จัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) และเห็นชอบแผนการดำเนินงานและวงเงินงบประมาณในช่วงเตรียมเริ่มโครงการ 3 ปีแรกระหว่างปี 2551-2553

คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการประสานงาน เพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์

คณะอนุกรรมการขอบเขตการดำเนินงาน
ด้านระบบกฎหมาย ระบบกำกับ และข้อผูกพันระหว่างประเทศศึกษาและปรับปรุงกฎหมายด้านความปลอดภัยระดับสากลและพันธกรณีต่างๆ เปรียบเทียบกับกฎหมายไทย ฯลฯ
ด้านโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ การถ่ายทอด พัฒนาเทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์สำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมและมาตรฐานเพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐานนิวเคลียร์, อบรมบุคลากรจากต่างประเทศ ฯลฯ
ด้านความปลอดภัยและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ด้านการสื่อสารและการยอมรับของสาธารณะสำรวจทัศนคติของประชาชน, เผยแพร่ความรู้, จัดกิจกรรมพิเศษพัฒนาชุมชน ฯลฯ
วางแผนการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ศึกษาเทคนิค และความปลอดภัย, สำรวจและเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า, ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ในปี 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (PDP2010) โดยกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 5 โรง ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 1,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งตามแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกตามแผนนี้จะสร้างเสร็จในปี 2563 อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะระเบิดทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องถูกเลื่อนออกไป

สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตามการศึกษาของบริษัทเบิร์นแอนด์โรส์ ถูกกำหนดไว้ 6 จังหวัด รวม 14 จุด ต่อมาราวเดือนกรกฎาคม 2553 กฟผ.ได้รายงานการศึกษาสถานที่ตั้งซึ่งใช้องค์ประกอบพิจารณา 3 ด้าน คือ ด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป้าหมายหลักมี 2 จุดคือ ที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี และ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์

พื้นที่เหมาะกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 อันดับ
1) อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี
2) ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์
3) ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด
4) ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี
5) ปากน้ำละแม อ.ละแม จ.ชุมพร

ปัจจุบัน หลังรัฐประหารปี 2557 ประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP2015) โดยในแผนมีการกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2 โรง ในปี 2569 และ 2570 จำนวนโรงละ 1,000 เมกกะวัตต์

 แผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ปีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP)จำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
2550PDP2007 ต้นฉบับ4 โรง
 PDP2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 22 โรง
2553PDP2010 ต้นฉบับ5 โรง
 PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 24 โรง
 PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 33 โรง
2557PDP2014 ต้นฉบับ2 โรง

 

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สร้างไม่ง่าย จะสร้างต้องเตรียมการมากกว่า 10 ปี

ถ้าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องเตรียมการมากกว่า 10 ปี ต้องปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศ การลงสัตยาบันในกฎหมายระหว่างประเทศ ในประเทศต้องมีหน่วยงานกำกับความปลอดภัยนิวเคลียร์ ในทางสากลต้องเป็นไปตามมาตรฐานของ IAEA (The International Atomic Energy Agency) และที่สำคัญต้องสร้างการยอมรับจากประชาชน สันติ โชคชัยชำนาญกิจ ผู้ประสานงานโครงการจับตาพลังงาน อธิบายปัจจัยในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

สำหรับกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาอยู่ เมื่อดูเนื้อหาอาจกล่าวได้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ทำให้เห็นเค้าลางของการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต เนื่องจากกำหนดให้มีคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งให้คำแนะนำในการออกกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานต่างๆ และให้ความเห็นชอบการตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตามในความเห็นของสันติ ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ ก็เป็นเพียงส่วนเดียว หากจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศไทยยังต้องออกกฎหมายอีกหลายฉบับ โดยปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์ในประเทศไทยยังล้าหลังอยู่มาก  มีเพียง พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 ซึ่งให้เพียงศึกษา และใช้มานาน ยังไม่มีการปรับปรุง

 

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สร้างไม่ง่าย ต้องให้ประชาชนยอมรับ

การอนุมัติแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งใหม่ในปี 2550 ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ต่างๆ สันติเล่าว่า การคัดค้านเริ่มจากเอ็นจีโอด้านพลังงานที่ศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตตั้งขบวนการจับตานิวเคลียร์ โดยมีการศึกษาพื้นที่ต่างๆ จำนวน 17 จุด ใน 8 จังหวัด มีการลงพื้นที่ไปถามชาวบ้านว่ารู้เรื่องการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไหม ก็พบว่าชาวบ้านไม่ทราบว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ จึงนำเอาความรู้ไปเผยแพร่ให้ชาวบ้านเพื่อให้มีข้อมูลขึ้นมาคัดค้าน

กว่า 10 ปี ของการรื้อแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่ จะเห็นชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลุกขึ้นมารวมตัวกันคัดค้านอยู่เป็นระยะๆ เช่น เครือข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี, กลุ่มเครือข่ายรักชุมพร จังหวัดชุมพร, กลุ่มชาวบ้านอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และกลุ่มชาวบ้านตำบลพนมรอก จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น

เหตุผลร่วมในการคัดค้านคือ 1) การให้ข้อมูลด้านดีเพียงด้านเดียวของภาครัฐต่อประชาชน ไม่พูดถึงผลกระทบด้านลบ ดังจะเห็นจากการลงพื้นที่แต่ละจังหวัดของกระทรวงพลังงาน เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้วยการจัดอบรม ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ โดยปัจจุบันมีเป้าหมายจังหวัดยุทธศาสตร์ 9 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ชัยนาท ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี และจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับจังหวัดข้างต้นอีก 20 จังหวัด

2) การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมตัดสินใจสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ที่ผ่านมาการตัดสินใจในโครงการพัฒนาต่างๆ มาจากรัฐ เมื่อตัดสินใจแล้วจึงบอกให้ประชาชนทำตาม ซึ่งหลายโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน ชัดเจนผ่านคำแถลงเครือข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานีว่า

“อุบลราชธานี ยังมีเขื่อนที่ผลิตไฟฟ้าสองแห่ง คือ โรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูล และโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งสร้างผลกระทบแก่ชาวบ้าน…ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพมากพออยู่แล้ว และรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จนถึงทุกวันนี้”

แม้ว่าจะมีความคืบหน้าจากการออกกฎหมายใหม่ และการเดินหน้าประชาสัมพันธ์กับชุมชน แต่สำหรับสันติ ยังคงพูดยากว่าคืบหน้าไหม แผนการพัฒนาพลังงานระบุกำลังสำรองเกินความจำเป็น สถานการณ์ตอนนี้ภาครัฐอยากผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่า ส่วนเรื่องนิวเคลียร์มีแค่ไปประชาสัมพันธ์ บางจังหวัดไม่ใช่พื้นที่ก็มีการไปประชาสัมพันธ์  

 

แนวโน้มโลกต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงใหม่ลด โรงเก่าหาย

หลังเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2554 ส่งผลให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ เริ่มทบทวนนโยบายการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ ขณะเดียวกันหลายประเทศก็เกิดการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนกดดันให้ยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่ประกาศปิดการเดินเครื่อง 9 โรง จากที่มีอยู่ 17 โรง และจะปิดเพิ่มอีกภายในปี 2565 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็มีแผนจะเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในปี 2577 ขณะที่ประเทศอิตาลีและลิธัวเนีย ประชาชนส่วนใหญ่บอกผ่านการประชามติว่า ไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในเอเชียผู้นำของประเทศไต้หวันและญี่ปุ่นต่างเรียกร้องให้ลดการใช้พลังงานจากนิวเคลียร์อย่างเร็วที่สุด

ในทางตรงกันข้าม ประเทศจีนก็กำลังเดินหน้าก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่ถึง 32 แห่ง รวมทั้งในเกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซียเองก็กำลังพิจารณาเพื่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มเติม อย่างไรก็ดีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่กำลังเดินเครื่องอยู่ใน 31 ประเทศขณะนี้ ในอีก 10 -15 ปีข้างหน้าจะมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ประมาณ 100 แห่งที่จะต้องถูกปิด

สำหรับประเทศไทย ประสบการณ์จากต่างประเทศต่างถูกนำมาเป็นข้อสนับสนุนในการเคลื่อนไหวของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ตัวอย่างในด้านความปลอดภัย ภาครัฐได้ให้ข้อมูลว่าอุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะการสร้างต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล ดังตัวเลขโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 400 กว่าโรงที่ยังคงเดินเครื่องอยู่

ขณะอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รุนแรงเกิดขึ้นเพียงสองครั้งคือ ที่เชอร์โนเบิลและฟูกูชิมะ แม้จะเป็นส่วนน้อยแต่ก็ส่งผลกระทบต่อผู้คนมหาศาลที่ต้องอพยพ บาดเจ็บ ล้มตาย รวมทั้งความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่ประเมินค่าไม่ได้ 

ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นความหวังหรือไม่ คงไม่ใช่แค่การสร้างโรงไฟฟ้าสำเร็จและไร้อุบัติเหตุร้ายแรง แต่ต้องเป็นการร่วมกันวางแผนอนาคตด้านพลังงานของประเทศร่วมกันจากทุกภาคส่วน และต้องไม่มีใครได้รับความไม่เป็นธรรมเหมือนดังเช่นโครงการพัฒนาที่ผ่านมา 

 

อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนเบิล ประเทศยูเครน

ในวันที่ 26 เมษายน 2529 เป็นอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก สาเหตุมาจากความผิดพลาดทางเทคโนโลยี และความผิดพลาดของผู้ควบคุมการเดินเครื่อง ทำให้แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดระเบิดอย่างรุนแรง ไฟลุกไหม้อยู่เป็นเวลา 10 วัน สารกัมมันตภาพรังสีในเตาปฏิกรณ์ฟุ้งขึ้นไปในอากาศและถูกพัดพาไปหลายพันกิโลเมตร พื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรถูกประกาศเป็นเขตห้ามอยู่อาศัย โดยมีประชาชน 2-4 แสนคนที่ถูกอพยพออกไป และไม่สามารถกลับมาได้อีกเลยจนถึงปัจจุบัน

เมื่อปี 2549 องค์การอนามัยโลกเปิดเผยข้อมูลว่า มีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเชอร์โนบิลรวมประมาณ 9,000 คน แม้พื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรจะยังคงเป็นเขตหวงห้าม แต่พื้นที่โดยรอบที่ปนเปื้อนด้วยรังสีอันตรายยังมีผู้อยู่อาศัยกว่า 7 ล้านคน และส่วนใหญ่ในจำนวนนี้กำลังทนทุกข์ทรมานกับโรคต่างๆ
อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น

วันที่ 11 มีนาคม 2554 แผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ บริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกของญี่ปุ่น นำพาคลื่นยักษ์สึนามิสูง 14 เมตร ซัดเข้าชายฝั่ง สายไฟฟ้าเสียหายยับเยินทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเกิดขัดข้องที่ระบบหล่อเย็นฉุกเฉิน จนนำมาสู่การระเบิดของอาคารเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ปลดปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีจำนวนมากสู่บรรยากาศ รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศสั่งอพยพประชาชนทั้งหมดในพื้นที่ 20 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า มีประชาชนถึง 116,000 คนที่ถูกอพยพจากพื้นที่ดังกล่าว และอีกกว่า 80,000 คน ตัดสินใจอพยพตาม เนื่องจากพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีมีมากกว่าที่รัฐบาลประกาศ

สารกัมมันตภาพรังสีที่แพร่ออกมา ทำให้ผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์ และการประมงเสียหายจำนวนมาก และมีการตรวจพบสารปนเปื้อนรังสีในผลผลิตทางการเกษตรแพร่กระจายออกไปไกลถึง 400 กิโลเมตร รวมทั้งโคเนื้ออีกหลายแห่ง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล
Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage