ร่างพ.ร.บ.นิวเคลียร์ฯ เข้าสนช. เปิดช่องตั้งโรงงานนิวเคลียร์ได้ แต่หลักเกณฑ์ความปลอดภัยยังไม่ชัด

ร่างพ.ร.บ.นิวเคลียร์ ที่สนช.กำลังพิจารณา ชัดเจนว่าเปิดช่องตั้งสถานประกอบการฯ ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ได้ แต่หลักเกณฑ์การควบคุมหลายเรื่อง เช่น การทิ้งกากกัมมันตภาพรังสี ยังไม่ชัดต้องรอดูกฎกระทรวง แม้กำหนดให้ต้องทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังไม่ใช่ EIA ยังมีข้อสังเกตอีกหลายประการที่ต้องจับตาดูในระยะยาว
ภาพประกอบจาก rodrigomezs
ในประเทศไทย ปฏิกิริยานิวเคลียร์และรังสีถูกพัฒนามาใช้ประโยชน์หลายทศวรรษแล้วในหลายด้าน เช่น การสร้างพันธุ์พืชที่มีลักษณะดีตามความต้องการ การสร้างผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ การฉายรังสีเพื่อปรับปรุงคุณภาพของวัสดุ การกำจัดจุลินทรีย์บางชนิด หรือแม้กระทั่งบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ที่ผ่านมาการใช้ประโยชน์เหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมของพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 ที่มีทั้งหมด 24 มาตรา โดยมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติดูแล
กฎหมายฉบับนี้ ใช้กันมากว่า 50 ปีแล้วโดยไม่ได้แก้ไขกันเลย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงต้องการผ่านร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.นิวเคลียร์ฯ) เพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์และบทบัญญัติที่ล้าสมัย ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ในทางสากล รวมถึงการปรับปรุงอัตราโทษและบทระวางโทษให้สอดคล้องกับปัจจุบัน
หลายภาคส่วนกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.นิวเคลียร์ฯ ฉบับนี้ จะนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ ไอลอว์จึงชวนให้ศึกษาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และข้อกังวลที่ยังต้องช่วยกันจับตาดูต่อไปในอนาคต
ชัดเจนเปิดช่องตั้งสถานประกอบการฯ เพื่อผลิตพลังงานนิวเคลียร์ได้ หลักเกณฑ์การควบคุมยังไม่กำหนด
ร่างพ.ร.บ.นิวเคลียร์ฯ ฉบับนี้ กำหนดขอบเขตการบังคับใช้เพื่อการดำเนินการเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และรังสีในทางสันติเท่านั้น ไม่ใช้บังคับแก่ยานพาหนะทางทหารของต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ (คณะกรรมการฯ) ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ ให้คำแนะนำในการออกกฎกระทรวง วางหลักเกณฑ์ ระเบียบควบคุมและดำเนินกิจการให้เป็นไปตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในใบอนุญาต ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยจากพลังงานนิวเคลียร์ กำหนดมาตรฐานต่างๆ รวมทั้งกำหนดแผนฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (ร่างมาตรา 9 ถึง 17)
การผลิต มีไว้ในครอบครอง ใช้ นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านวัสดุกัมมันตรังสีและวัสดุนิวเคลียร์จะต้องได้รับใบอนุญาตจากเลขาธิการของคณะกรรมการฯ รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของผู้ขอรับใบอนุญาต หลักเกณฑ์ในการจัดตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ การเดินเครื่องและการดำเนินการ ตลอดจนการเลิกดำเนินการ และการกำหนดบทลงโทษในกรณีต่างๆ
สำหรับรายละเอียดของการตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ (สถานประกอบการฯ) นั้น ผู้ประกอบการจะต้องได้รับใบอนุญาต 3 ใบ คือ ใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการฯ ใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการฯ และใบอนุญาตดำเนินการสถานประกอบการฯ จากเลขาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ (ร่างมาตรา 45)
และด้วยเหตุที่การก่อสร้างสถานประกอบการฯ เป็นเรื่องทางเทคนิค จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบและกำกับดูแลจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ หากเป็นสถานประกอบการฯ เพื่อการผลิตพลังงาน ร่าง พ.ร.บ.นิวเคลียร์ฯ กำหนดให้คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงานตกลงร่วมกันในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการควบคุมดูแลการประกอบกิจการสถานประกอบการฯ ร่วมกัน
ทำให้เห็นว่า ร่างพ.ร.บ. นี้ เปิดช่องให้มีการก่อตั้งสถานประกอบการฯ เพื่อผลิตพลังงานนิวเคลียร์ได้ หากแต่หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการควบคุม ยังต้องไปพิจารณากันอีกในส่วนของข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการสองชุดดังกล่าว
ใบอนุญาตตั้งสถานประกอบการ อายุไม่เกิน 10 ปี เขียนไม่ชัดว่าต้องทำ EIA หรือไม่
สำหรับเรื่องพื้นที่ในการตั้งสถานประกอบการฯ ผู้ที่ประสงค์จะก่อตั้งสถานประกอบการฯ จะต้องขอรับใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อน โดยยื่นคำขอรับใบอนุญาตพร้อมด้วยรายงานวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งสถานประกอบการฯ ซึ่งต้องประกอบไปด้วยรายละเอียดที่กำหนด (ร่างมาตรา 51)  เช่น
          1) ผลกระทบจากเหตุการณ์ภายนอกต่อพื้นที่ตั้งสถานประกอบการฯ ทั้งในส่วนที่เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์
          2) ลักษณะของพื้นที่ตั้งสถานประกอบการฯ
          3) รายงานด้านสิ่งแวดล้อม
          4) การกระจายตัวของประชากรบริเวณโดยรอบพื้นที่ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์
          5) เส้นทางการอพยพประชาชนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
          6) การป้องกันและระงับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม
กรณีที่ออกใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการฯ แล้ว ต่อมาพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ อันอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อม เลขาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะมีคำสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นรายงานวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ฉบับใหม่ ภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้
นอกจากนั้นจะต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบพื้นที่ตั้ง เพื่อประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตด้วย (ร่างมาตรา 52) โดยใบอนุญาตจะมีอายุตามที่กำหนด แต่ไม่เกิน 10 ปี และขอต่ออายุได้ครั้งละไม่เกิน 10 ปี (ร่างมาตรา 53)
ข้อน่าสังเกต คือ ในส่วนที่ร่างพ.ร.บ.นิวเคลียร์ฯ กำหนดให้ทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้ระบุเจาะจงว่าต้องเป็นการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เหมือนที่ต้องทำในการโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ และไม่ได้กำหนดให้คณะกรรมการฯ ต้องนำรายงานการรับฟังความเห็นของประชาชนมาพิจารณาประกอบการให้ใบอนุญาตด้วย เพียงแค่กำหนดให้จัดการรับฟังความเห็นเท่านั้น
ภาพประกอบจาก foilfx
รายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยให้ผู้ก่อสร้างจัดทำเอง หลักเกณฑ์การทิ้งกากกัมมันตภาพรังสีต้องรอดูกฎกระทรวง
ส่วนการก่อสร้างสถานประกอบการ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ต้องยื่นขอใบอนุญาตตั้งสถานประกอบการ พร้อมหลักฐานทางการเงิน รายงานวิเคราะห์ความปลอดภัย ซึ่งต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยและข้อมูลอื่นๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 56) ซึ่งยังต้องรอดูกฎกระทรวงต่อไป ว่าข้อมูลที่กำหนดดังกล่าวได้มาตรฐานสากลหรือไม่
ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ มีข้อสังเกตว่า รายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยนั้น ผู้ขอใบอนุญาตสามารถจัดทำขึ้นได้เอง โดยร่างพ.ร.บ.นิวเคลียร์ฯ ไม่ได้กำหนดกลไกตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของรายงานนั้นไว้ด้วย
ร่างพ.ร.บ.นิวเคลียร์ฯ ยังกำหนดว่า หากการก่อสร้างสถานประกอบการนิวเคลียร์ผิดไปจากแบบที่ได้รับใบอนุญาต แต่ยังอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ความปลอดภัยที่ยอมรับได้ เลขาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างได้ แต่หากการก่อสร้างก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เลขาธิการสามารถสั่งให้ระงับและรื้อถอนได้ (ร่างมาตรา 60) ซึ่งความหมายของ “หลักเกณฑ์ความปลอดภัยที่ยอมรับได้” นั้น ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นไปตามมาตรฐานอะไร จึงเป็นช่องว่างที่คณะกรรมการมีดุลพินิจของ ที่อาจทำให้เปิดช่องทางให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างคณะกรรมการและผู้ขอรับใบอนุญาตได้
ส่วนบทบัญญัติส่วนที่เกี่ยวกับการกำจัดกากกัมมันตภาพรังสีระบุว่า ห้ามทิ้งกากกัมมันตภาพรังสีสู่สิ่งแวดล้อม เว้นแต่เป็นกากที่มีระดับค่ากัมมันตภาพและค่าครึ่งชีวิตตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และทิ้งตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และปริมาณในการปล่อยทิ้งที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 78 -79) ซึ่งยังต้องรอดูกฎกระทรวงต่อไป
สนช.เริ่มพิจารณาแล้ว จับตาอนาคตไทยเตรียมพร้อมผลิตพลังงานิวเคลียร์ 
4 สิงหาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ และในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 สภานิติบัญญัติก็มีมติ 189 เสียง เห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิวเคลียร์ฯ ไว้พิจารณา พร้อมมอบหมายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญไปพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ต่อไป ภายใต้กรอบระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน
พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวว่า เป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 ที่ใช้บังคับมานานแล้ว ซึ่งบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทางรังสีและนิวเคลียร์ และความสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ในทางสากลที่เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์
ด้านสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับหลักการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เช่น คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ สมาชิก สนช. ที่อภิปรายว่า อะไรที่มีประโยชน์มาก ก็อาจจะมีโทษมหันต์เช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายและองค์กรระหว่างประเทศ ควบคุมอย่างใกล้ชิด.. และ ตามที่หลายคนกลัวว่าจะเป็นกฎหมายที่จะหมกเม็ดสร้างโรงไฟฟ้าหรือไม่ เท่าที่ดูมาตรา 51 กำหนดไว้มากว่าต้องรับฟังความเห็นของประชาชน ศึกษาผลกระทบ ถ้าจะสร้างก็ต้องผ่านด่านสำคัญมากมาย
บทบัญญัติหลายข้อที่เสนอเพิ่มเข้ามาในร่าง พ.ร.บ.นิวเคลียร์ฯ ฉบับนี้ น่าจะเตรียมพร้อมให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ได้ในอนาคต เพียงแต่ต้องจับตาดูหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบคุมที่จะระบุอยู่ในกฎกระทรวง กันต่อไป ว่าอย่างน้อยจะได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (The International Atomic Energy Agency) หรือ IAEA หรือไม่
เมื่อแอบดูกฎหมายของประเทศอื่นที่เป็นผู้ผลิตและใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์อย่าง ฝรั่งเศส หรือ เกาหลีใต้ ล้วนมีมาตรฐานการควบคุมดูแล และรองรับเรื่องความปลอดภัยที่สูงกว่ามาตรฐานของ IAEA ทั้งสิ้น เช่น ในเกาหลีใต้จะกำหนดชัดเจนให้องค์กรที่ใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ และองค์กรที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยมีอำนาจหน้าที่แยกกันอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ประเทศไทย ยังคงให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติทำหน้าที่ทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน
ยังมีเรื่องที่ต้องจับดูกันต่อไปยาวๆ อีกว่าในรายละเอียดของกฎกระทรวงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก 9 ฉบับนั้นจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติปราบปรามการก่อการร้ายโดยใช้นิวเคลียร์ พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์และคณะกรรมาธิการสำหรับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ พ.ศ. …