วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และนำประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการทหาร การรัฐประหารครั้งนี้นอกจากเปลี่ยนระบอบการปกครองไปสู่ผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนแล้ว ยังเป็นจุดพลิกผันให้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของชาวไทย ถอยหลังสวนกระแสโลก รัฐใช้นโยบายที่จริงจังในการปราบปรามการแสดงออกของประชาชนอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนเป็นเวลาครบแปดปี
ตลอดแปดปีที่ผ่านมา คสช. ใช้อำนาจปราบปรามประชาชนด้วยวิธีการทั้งในและนอกกฎหมาย รวมทั้งการใช้อำนาจออกกฎหมายใหม่ๆ มาสั่งห้ามการรวมตัว หากมีการรวมตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล คสช. ก็มักตามมาด้วยคดีความ ผู้ชุมนุมต้องเผชิญการคุกคามด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะแบบดั้งเดิมของในยุค คสช. อย่าง การสร้างอุปสรรคทางกายภาพไม่ให้กิจกรรมเกิดขึ้น, การไปเยี่ยมบ้าน, การไปกดดันในที่ทำงาน หรือออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา วิธีการดังกล่าวจึงเป็นการตัดตอนการรวมกลุ่มของประชาชนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบตลอดมา
คสช. 1 : วางคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเพื่อรักษาอำนาจ
การก้าวเข้าสู่อำนาจของรัฐบาล คสช. มาพร้อมกับประกาศคสช.ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง หากฝ่าฝืนจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การประกาศห้ามชุมนุมรวมทั้งการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืน เป็นเครื่องมือที่คณะรัฐประหารใช้ควบคุมสถานการณ์และป้องกันการต่อต้านของประชาชน ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2557 คสช. อ้างข้อห้ามนี้และส่งกำลังทหารในเครื่องแบบพร้อมอาวุธเข้ายึดพื้นที่ใจกลางเมืองทุกครั้งที่มีการประกาศนัดหมายชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร
ระหว่างที่การปราบปรามเดินไปอย่างเข้มข้นด้วยประกาศฉบับที่ 7/2557 มีประชาชนที่แสดงออกต่อต้านการรัฐประหารถูกจับกุมหลายร้อยคน และถูกทหารของ คสช. “เลือกสรร” ดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ไปอย่างน้อย 52 คน ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. ก็ใช้อำนาจพิเศษตาม “มาตรา 44″ ออกคำสั่ง ที่ 3/2558 ข้อ 12. มีข้อความห้ามมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ลดโทษจำคุกเหลือไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และมีข้อยกเว้นว่าหากคสช.อนุญาตให้ชุมนุมก็สามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีช่องทางในการขออนุญาตให้การชุมนุมเกิดขึ้นได้จริง
คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ถูกใช้ในการปราบปรามประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนต่อต้าน คงไว้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองของ คสช. อย่างชัดเจนในช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กิจกรรมทางการเมืองก่อนการทำประชามติถูกปราบปราม ประชาชนที่คัดค้านไม่สามารถรณรงค์ได้อย่างอิสระ มีการปิดกั้นการจัดเสวนาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยการอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 มีคนอย่างน้อย 115 คนถูกดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เหตุจากการรวมตัวกันเปิด “ศูนย์ปราบโกง” การออกเสียงประชามติ จนท้ายที่สุดร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่าเสียงคัดค้าน
ความผิดตามประกาศ และคำสั่งของ คสช. นี้ยังถูกกำหนดให้ต้องขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลทหารด้วย
นอกจากประกาศและคำสั่งของคสช.แล้ว รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยกษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกตามที่คสช.ถวายคำแนะนำ ต่อมาสมาชิกสนช. ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นทหาร ได้ทำตัวเป็น “ตรายาง” และพิจารณาผ่านกฎหมายจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558
แม้จะออกพ.ร.บ.มาควบคุมการชุมนุมโดยตรงแล้ว แต่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองกลับถูกใช้ควบคู่ไปพร้อมกันกับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็น “อาวุธ” สำคัญในการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกควบคู่ไปกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อย่างเป็นระบบตลอดมา แม้จะสร้างความสับสนให้ผู้ถูกบังคับใช้จนไม่รู้ว่าจะจัดชุมนุมได้อย่างไร แต่ก็ยังไม่เคยมีศาลใดอธิบายความชอบธรรมของการใช้กฎหมายทั้งสองฉบับนี้ไปพร้อมกันได้
ปี 2561 เป็นปีที่ถึงกำหนดให้ต้องจัดการเลือกตั้งตามารัฐธรรมนูญ 2560 แต่ คสช. ก็หาเหตุมาเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหลายครั้ง ไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้ประชาชนรวมตัวกันในนาม “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งหลายครั้ง เช่น สกายวอล์ค ปทุมวัน, ราชดำเนิน, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่หน้ากองทัพบกและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การชุมนุมจบลงด้วยการดำเนินคดีแบ่งเป็นกลุ่มผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุม เฉพาะกรณีของผู้จัดการชุมนุมจะเห็นได้ว่า รัฐนำกฎหมายเท่าที่จะหาได้มาใช้ปราบปรามผู้เรียกร้องการเลือกตั้ง เช่น ข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และข้อหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
คดีการเมืองเหล่านี้กลายเป็นภาระให้แก่ประชาชนในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์และท้ายที่สุดศาลเริ่มทยอยยกฟ้อง เช่น คดีชุมนุมที่ราชดำเนิน ศาลอาญายกฟ้องเมื่อปี 2562 และคดีชุมนุมที่สกายวอล์ค ปทุมวัน ศาลอาญากรุงเทพใต้ยกฟ้องเมื่อปี 2563
วันที่ 11 ธันวาคม 2561 คสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 22/2561 ยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. 9 เรื่องสำคัญ รวมทั้ง ข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ปลดล็อคให้ประชาชนทำกิจกรรมสาธารณะได้อย่างสะดวกมากขึ้น และให้พรรคการเมืองเริ่มหาเสียงได้ แต่การยกเลิกดังกล่าวอาจเป็นเพียงฉากการเมืองฉากหนึ่งเท่านั้น เพราะ คสช. ยังคงไว้ซึ่งอำนาจบุกค้น เยี่ยมบ้านและเรียกบุคคลไปปรับทัศนติในค่ายทหาร 7 วัน ไม่นับรวมการเข้ากดดันเจ้าของสถานที่ที่ คสช. ทำมาตลอดกว่าสี่ปีที่ผ่านมา
คสช. 2 : อ้างเหตุโควิด ห้ามชุมนุมปฏิรูปสถาบันฯ
หลังการเลือกตั้งในปี 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายังได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ หลังจากนั้นก็เริ่มมีการจุดประกายการรวมตัวในที่สาธารณะ เริ่มจากเดือนธันวาคม 2562 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่จัดแฟลชม็อบไม่ถอยไม่ทนที่มาบุญครอง ตามมาด้วยคดีตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และเดือนมกราคม 2563 ก็เกิดกิจกรรม “ม็อบไล่ลุง” ดาวกระจายไล่ลุงในหลายจังหวัด และตามมาด้วยคดีความโดยมีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นเครื่องมือหลัก
ในช่วงต้นปี 2563 “แฟลชม็อบ” เกิดขึ้นในสถานศึกษาทั้งระดับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยม แต่พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่สามารถใช้กับกิจกรรมในสถานศึกษาได้ ทำให้รัฐไม่มีเครื่องมือที่จะเข้าปิดกั้นได้อย่างทันท่วงที บรรยากาศการชุมนุมจึงเดินไปได้โดยตามมาด้วยการคุกคาม เช่น การออกกฎระเบียบของสถานศึกษา, การไปเยี่ยมที่บ้าน, การเรียกนักกิจกรรมไปพบและพูดคุย ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2563 ประเทศไทยเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกที่หนึ่ง พลเอกประยุทธ์อาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายซ้ำซ้อนเพื่อควบคุมการชุมนุมก็กลับมาอีกครั้ง
ตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เว้นการใช้บังคับพ.ร.บ.ในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ดังนั้น ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ยุคพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การควบคุมการชุมนุมจึงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ออกมาหลายฉบับ รวมทั้งประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ทับซ้อนกับข้อกำหนดอีกชั้นหนึ่ง อย่างไรก็ตามในช่วงเวลากว่าสองปีภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีจังหวะที่การแพร่ระบาดของโรคไม่มากนัก ทำให้มีการนำพ.ร.บ.ชุมนุมฯถูกมาใช้บังคับควบคู่กับพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ให้ใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน
ระหว่างนี้เองที่จุดการชุมนุมกลับมางอกงามอีกครั้ง เช่น การชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ที่ผู้เข้าร่วมเต็มถนนราชดำเนินกลาง และการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวงคาดกันว่า มีผู้เข้าร่วมเฉียดแสนคน ความงอกงามไม่ได้มีเพียงแค่จำนวนที่นักกิจกรรมหรือผู้ติดตามการเมืองมาตลอดพูดกันว่า เป็นภาพที่ไม่คิดฝันมาก่อน แต่ยังมีการขยายตัวเรื่องประเด็นข้อเรียกร้อง แหลมคมที่สุด คือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และการรณรงค์ให้แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ตราขึ้นระหว่างการรัฐประหาร
เดือนธันวาคม 2563 เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกที่สองพลเอกประยุทธ์ออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด” มีผลให้ยกเลิกการใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้องค์ประกอบของการห้ามการชุมนุม คือ ห้ามการชุมนุมในที่แออัด แต่รัฐยังคงฉวยโอกาสนี้ในการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยอ้างข้อกำหนดที่ออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง และแม้ว่า การแพร่ระบาดจะมีช่วงที่ทุเลาลง ข้อห้ามนี่ก็ยังคงอยู่
แม้ผู้ชุมนุมจะพยายามที่จะปรับรูปแบบในการรวมตัวไม่ให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคก็ตาม เช่น การจัด “คาร์ม็อบ” หรือ การจัด “ยืนหยุดขัง” และการรวมตัวในที่โล่ง เว้นระยะห่าง ไม่แออัด แต่การชุมนุมในปี 2564 ผู้ชุมนุมก็ได้รับคดีความกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อการชุมนุมมีรูปแบบที่มุ่งตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตำรวจต้องการ “หยุด” การเดินขบวนหรือสลายการชุมนุมก็จะอ้างอำนาจตามข้อกำหนดของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง โดยใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ที่ขัดต่อหลักสากล ตำรวจก็อ้างเพียงเหตุว่า การชุมนุมนั้น “เสี่ยงต่อการแพร่โรค” จึงต้องยุติตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
จากสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่น้อยกว่า 1,445 คน วัตถุประสงค์แรกเริ่มของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และบรรดาข้อกำหนดต่างๆ เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ท้ายสุดผู้ชุมนุมทางการเมืองตกเป็นเป้าเฝ้าระวังการใช้มาตรการตามกฎหมายและถูกดำเนินคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยที่ยังไม่มีรายงานว่า จุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโรคเกิดจากการมารวมตัวกันเพื่อแสดงออกทางการเมืองในครั้งใด ปัจจุบันคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลเริ่มทยอยยกฟ้องอย่างน้อยเก้าคดี ขณะที่อัยการสั่งไม่ฟ้องอย่างน้อยแปดคดี