ไล่เรียง ข้อกำหนด “ห้ามชุมนุม” ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยอ้างความจำเป็นในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และใช้งานอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่กินระยะเวลายาวนานที่สุด ไม่นับการใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมาด้วยข้อกำหนดห้ามการชุมนุมมากมายที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์โควิด และมีเนื้อหาทับซ้อนกันจนการเอามาใช้ยังสับสน

โควิดระลอก 1 สั่งห้ามชุมนุมทั่วไป ก่อนให้กลับมาใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แทน

เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ออกข้อกำหนตามมา นับถึงเดือนมีนาคม 2565 ได้ถึง 42 ฉบับ แต่ละฉบับวางมาตรการใหม่ๆ สำหรับการควบคุมโรค และแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการเดิม เช่น การประกาศเคอร์ฟิว การสั่งปิดสถานที่ การห้ามทำกิจกรรม และรวมไปถึงการสั่ง “ห้ามชุมนุม” ด้วย ตั้งแต่ข้อกำหนดฉบับที่ 1 ที่ออกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563  ก็สั่งห้ามการชุมนุมเอาไว้ ในข้อ 5 ดังนี้ 

“ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”

โดยผู้ที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขใดๆ ตามข้อกำหนดจะมีโทษตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ จำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ช่วงเวลาภายใต้ข้อกำหนดฉบับที่ 1 ประชาชนไม่ได้จัดกิจกรรมทางการเมือง และแทบไม่ได้มีกิจกรรมใดๆ เกิดขึ้นเพราะทุกคนต่างก็กลัวภัยจากโรคระบาดชนิดใหม่ที่ยังไม่รู้จักดีพอ ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ออกข้อกำหนดฉบับที่ 5 เพิ่มเงื่อนไขการห้ามทำ “กิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” ซึ่งเป็นข้อห้ามที่กว้างขวางกว่าการห้ามการชุมนุม แต่รวมถึงกิจกรรมทุกประเภทด้วย  

ข้อกำหนดทั้งสองฉบับนี้ใช้บังคับอยู่ไม่นาน สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยก็ดีขึ้น จนไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ในช่วงเวลานี้จึงเริ่มมีการชุมนุมขนาดเล็กเกิดขึ้นบ้าง และผู้ชุมนุมก็ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่น คดีรำลึกการเสียชีวิตของเสธ.แดง คดียื่นหนังสือต่อสถานทูตกัมพูชา ซึ่งคดีที่เกิดขึ้นในช่วงนี้บางส่วนอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีเพราะไม่ใช่การมั่วสุมในสถานที่แออัด

เมื่อเข้าสู่เดือนกรกฎาคม 2563 สถานการณ์ติดเชื้อในประเทศไทยไม่น่าเป็นห่วง ประชาชนจึงเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ และเริ่มแสดงออกเพื่อคัดค้านการอยู่ในอำนาจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเริ่มจากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งต่อมาผู้ที่เกี่ยวข้องถูกดำเนินคดี

ภายใต้การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลให้พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ไม่ถูกบังคับใช้ ทำให้ไม่มีกฎหมายที่จะบังคับให้ผู้ชุมนุมต้อง “แจ้ง” การชุมนุมล่วงหน้า รวมทั้งไม่มีกฎหมายจำกัดพื้นที่การชุมนุม เช่น ในพื้นที่ใกล้พระราชวัง การห้ามชุมนุมตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 และฉบับที่ 5 ห้ามเฉพาะกรณีชุมนุมในสถานที่แออัดและเสี่ยงต่อการติดโรคโควิดเท่านั้น เมื่อไม่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคแล้ว ข้อจำกัดเดิมจึงไม่มีนัยยะสำคัญในการควบคุมการชุมนุมอีกต่อไป

ต่อมารัฐบาลเปลี่ยนใจต้องการควบคุมกระแสการชุมนุมที่กำลังพุ่งขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ด้วยพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 จึงออกข้อกำหนดฉบับที่ 13 ยกเลิกข้อกำหนดที่ห้ามการชุมนุมในสถานที่แออัดตามฉบับที่ 1 และฉบับที่ 5 และสั่งให้การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ หรือให้เอาพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กลับมาใช้เป็นกฎหมายหลัก 

โควิดระลอก 2 สั่งห้ามชุมนุมทั่วไป เงื่อนไขกว้างๆ

ปลายปี 2563 ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นระลอกใหญ่ คาดว่าอาจมาจากการเดินทางเข้าประเทศของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ ทำให้สถานการณ์โควิดในประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 2 และวันที่ 23 ธันวาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกข้อกำหนดฉบับที่ 15 สั่งห้ามการชุมนุมเป็นการทั่วไป ถือเป็นการเริ่มต้นการห้ามชุมนุมระลอก 2 ด้วย โดยวางเงื่อนไขเหมือนกันกับข้อกำหนดฉบับที่ 1 ว่า

“ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”

ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกข้อกำหนดฉบับที่ 16 ไม่ได้เขียนว่าห้ามชุมนุมโดยตรง แต่เป็นการ “ห้ามทำกิจกรรมในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย” 

การออกข้อกำหนดฉบับที่ 16 ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกับฉบับที่ 15 น่าจะเข้าลักษณะ “กฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า” มีผลให้ข้อห้ามการชุมนุมตามฉบับที่ 15 สิ้นผลไปและใช้เงื่อนไขของฉบับที่ 16 แทน แต่ในทางปฏิบัติทั้งสองฉบับก็ถูกนำมาใช้ควบคู่กัน หากมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมก็อาจถูกตั้งข้อหาทั้งตามเงื่อนไขของฉบับที่ 15 และฉบับที่ 16 ควบคู่กันไป 

โควิดระลอก 3 เริ่มกำหนดจำนวนคนเข้าร่วมกิจกรรม 50 คน

แม้สถานการณ์โควิดจะดูเหมือนควบคุมได้บ้างในช่วงเดือนมีนาคม 2564 แต่พอเข้าสู่เดือนเมษายน 2564 ภายหลังจากข่าว “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ยอดผู้ติดเชื้อก็พุ่งสูงขึ้นอีกเป็นระลอกที่ 3 ซึ่ง ตามมาด้วยข้อกำหนดฉบับที่ 20 ที่ไม่ได้เพียงแค่สั่งห้ามชุมนุมอย่างกว้างๆ แต่กำหนดข้อห้ามชัดเจนว่า ห้ามทำกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมมากกว่า 50 คน เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดจำนวนคนชัดเจน 

หลังจากนั้นข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังออกมาอีกหลายฉบับ โดยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการห้ามจัดกิจกรรมไปตามสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาด และกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมแตกต่างกันไปตามประเภทของพื้นที่ เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ข้อกำหนดฉบับที่ 22 ลงวันที่ 29 เมษายน 2564 กำหนดห้ามจำนวนมากกว่า 20 คน ข้อกำหนดฉบับที่ 24 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2564 กำหนดห้ามจำนวนมากกว่า 50 คน และฉบับที่เข้มงวดที่สุด คือ ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 กำหนดห้ามจำนวนมากกว่า 5 คน

การกำหนดเงื่อนไขการจัดกิจกรรมโดยขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าร่วมและแบ่งตามประเภทพื้นที่เช่นนี้ควรจะเข้าลักษณะ “กฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า” ทำให้เงื่อนไขการจัดกิจกรรมต้องพิจารณาที่จำนวนคนเป็นหลัก ไม่ต้องพิจารณาด้วยเงื่อนไขสถานที่ว่าแออัดหรือไม่ และเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่ ตามฉบับที่ 15 และไม่ต้องพิจารณาเงื่อนไขว่ามีโอกาสติดต่อสัมผัสกันโดยง่ายหรือไม่ ตามฉบับที่ 16 แต่ในทางปฏิบัติข้อกำหนดทุกฉบับก็ยังถูกนำมาใช้ร่วมกันไปพร้อมๆ กัน ผู้ที่จัดกิจกรรมชุมนุมในแต่ละช่วงเวลาอาจถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลายฉบับ ด้วยเงื่อนไขประการที่แตกต่างกัน

ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่กระแสความไม่พอใจรัฐบาลพุ่งขึ้นสูง ส่วนหนึ่งจากเพราะความล้มเหลวในการแก้ปัญหาโควิด และการจัดการวัคซีน ประกอบกับในสภามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ทำให้กระแสการชุมนุมทางการเมืองพุ่งขึ้นสูง และมีคดีความฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดการชุมนุมในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน จำนวนมาก แม้ผู้ชุมนุมหลายกลุ่มพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อโรคระบาดไปจัดการชุมนุมในลักษณะ Car Mob แต่ก็ยังถูกดำเนินคดี โดยอาศัยเงื่อนไขตามข้อกำหนดที่มีความสับสน และเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างรวดเร็วในช่วงนี้เป็นฐาน

โควิดระลอก 4 กำหนดจำนวนคน และสั่งห้ามชุมนุมทั่วไปด้วยพร้อมกัน

สถานการณ์กลายพันธุ์ของเชื้อโควิดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อง่ายและรวดเร็วขึ้น แม้ประชาชนจะเริ่มทยอยได้รับวัคซีนแล้วแต่ก็ยังมียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2564 แต่การสั่งห้ามทำกิจกรรม หรือการสั่ง “ล็อคดาวน์” อย่างเข้มข้นในช่วงการระบาดระลอกที่ 3 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก ทำให้ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัว และประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงทำให้รัฐบาลไม่อาจสั่ง “ล็อคดาวน์” อีกได้ ต้องยอมให้มีผู้ติดเชื้อและดูแลรักษาไปจนเข้าสู่ช่วงต้นปี 2565

วันที่ 15 ตุลาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 35 และวันที่  31 ตุลาคม 2564 ประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 37 โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปในทางการ “คลายล็อก” เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยเน้นผ่อนคลายข้อห้ามทุกมาตรการ 

แต่ในเรื่องการชุมนุมกลับเขียนเงื่อนไขให้เกิดความสับสนมากขึ้น แม้ว่าข้อกำหนดฉบับที่ 37 ข้อ 2 จะให้จัดกิจกรรมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดได้จำนวนไม่เกิน 50 คน ในพื้นที่ควบคุมได้จำนวนไม่เกิน 1,000 คน และพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ให้จัดกิจกรรมได้โดยไม่ได้จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม แต่ก็กลับเขียนวรรคสอง เอาไว้มีเนื้อความเหมือนกันกับข้อกำหนดฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 15 เป็นการสั่งห้ามการชุมนุมเป็นการทั่วไปว่า

“ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”

จึงทำให้การจัดกิจกรรมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไปอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ทับซ้อนกันทั้งสองประการ คือ ต้องพิจารณาว่าอยู่ในพื้นที่ประเภทใด มีผู้เข้าร่วมจำนวนเท่าใด และยังต้องพิจารณาว่าเป็นกิจกรรมในสถานที่แออัด มีการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่ แสดงให้เห็นถึงเจตนาในการออกข้อกำหนดของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เหมือนจะพยายามผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ แต่ก็ยังต้องการใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน วางข้อกำหนดกว้างๆ เพื่อใช้ควบคุมการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน 

ไล่เรียงข้อกำหนด “ห้ามชุมนุม” ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ข้อกำหนด ฉบับที่ 1 ออกวันที่ 25 มีนาคม 2563 มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2565 

ข้อ 5 การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ประกาศกำหนด

ข้อกำหนดฉบับที่ 5 ออกวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 มีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563

ข้อ 2 การห้ามหรือข้อจำกัดการดำเนินการหรือการทำกิจกรรมบางอย่างตามพระราชกำหนดและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง (2) ห้ามผู้ใดจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของ การจัดเลี้ยง เว้นแต่เป็นการจัดโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และต้องเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างน้อยหนึ่งเมตร สถานที่ทำกิจกรรมต้องโล่งแจ้งหรือไม่แออัด ใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมไม่นาน และมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

ข้อกำหนดฉบับที่ 13 ออกวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563

ข้อ 1 การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย

ข้อกำหนดฉบับที่ 15 ออกวันที่ 25 ธันวาคม 2563 มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2563 

ข้อ 3 การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ข้อกำหนดฉบับที่ 16 ออกวันที่ 3 มกราคม 2564 มีผลตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564 

ข้อ 2 การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการจัดกิจกรรมในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของต่าง ๆ เว้นแต่เป็นการดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นการจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรคโดยมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ

ข้อกำหนดฉบับที่ 20  ออกวันที่ 16 เมษายน 2564 มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2564 

ข้อ 1 การห้ามการดำเนินการหรือจัดกิจกรรมหรือที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค  (2) ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรม และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ 

ข้อกำหนดฉบับที่ 22 ออกวันที่ 29 เมษายน 2564 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 

ข้อ 3 การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่ายี่สิบคนในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยเหตุยกเว้น วิธีการ และหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงาน เจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน (2) ของข้อ 1 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564

ข้อกำหนดฉบับที่ 24 ออกวันที่ 19 มิถุนายน 2564 มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2564 

ข้อ 4 การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคล เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยกำหนดจำนวนบุคคลจำแนก ตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้ 

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคล ที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน 

(2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งร้อยคน

(3) พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบคน 

(4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสองร้อยคน 

(5) พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสามร้อยคน 

ข้อกำหนดฉบับที่ 30 ออกวันที่ 1 สิงหาคม 2564 มีผลตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 

ข้อ 4 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพร่โรคได้ เว้นแต่เป็นกรณีได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่จะพิจารณาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยกำหนดจำนวนบุคคลจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้ 

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน 

(2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกัน มากกว่ายี่สิบคน 

(3) พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน 

(4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งร้อยคน 

(๕) พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบคน

ข้อกำหนดฉบับที่ 32 ออกวันที่ 28 สิงหาคม 2564 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 

ข้อ 2 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้ข้อห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ขั้นตอนการขออนุญาตจัดกิจกรรมการ พิจารณาอนุญาต รวมทั้งกิจกรรมหรือการรวมกลุ่มที่ได้รับยกเว้นที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ตามข้อ 4 และข้อ 5 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ยังคงบังคับใช้ต่อไป โดยปรับมาตรการเฉพาะในเรื่องจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม ดังนี้ 

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่ายี่สิบห้าคน 

(2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน 

(3) พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งร้อยคน 

(4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสองร้อยคน 

(5) พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าร้อยคน

ข้อกำหนดฉบับที่ 35 ออกวันที่ 15 ตุลาคม 2564 มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 

ข้อ 2 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยกำหนดปรับปรุงเฉพาะเรื่องจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้ 

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามกำรจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน 

(2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งร้อยคน 

(3) พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสองร้อยคน 

(4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสามร้อยคน 

(5) พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าร้อยคน

ข้อกำหนดฉบับที่ 37 ออกวันที่ 30 ตุลาคม 2564 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

ข้อ 2 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพร่โรคได้ เว้นแต่เป็นกรณีได้รับอนุญาต จากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่จะพิจารณาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยกำหนดปรับปรุงเฉพาะเรื่องจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้ 

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคล ที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน 

(2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสองร้อยคน 

(3) พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าร้อยคน 

(4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกัน มากกว่าหนึ่งพันคน 

(5) พื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากให้สามารถทำได้ตามความเหมาะสมโดยให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด 

ทั้งนี้ ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนดโดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) พิจารณามาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมของสถานการณ์ ในแต่ละพื้นที่เพื่อการเข้าระงับยับยั้ง การตรวจสอบ การยุติการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมหรือการมั่วสุม ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมและประชาชนอื่นทั่วไป โดยให้เร่งรัดการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจอย่างเข้มข้นเพื่อเกิดผลสัมฤทธิ์ที่รวดเร็ว