ต้นปี 2563 รัฐบาล คสช.2 เริ่มอยู่ในภาวะขาดเสถียรภาพ แม้เสียงของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลนับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้นเพราะได้มาจากการดูด (ส.ส.ให้ย้ายข้างมาจากฝ่ายค้าน) แต่สถานการณ์นอกสภากลับกำลังดิ่งเหว โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ หลังถูกฝ่ายค้านเปิดโปงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้ง #รู้ทันio #ป่ารอยต่อ และความไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา #ฝุ่นPM25 และ #โควิด19
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีกิจกรรมชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาลและระบอบ คสช. รวมอย่างน้อย 72 ครั้ง เมื่อกระแสโจมตีรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง #รัฐบาลเฮงซวย ติดเทรนด์บนทวิตเตอร์กินเวลาเป็นเดือน
คำถามถึงอนาคตของรัฐบาลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในรั้วสถานศึกษา แต่รวมทั้งใน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเอง แม้กระทั่งสื่อ หรือสังคมออนไลน์ที่เคยเชียร์รัฐบาลก็เริ่มกลับลำ หลายเสียงเริ่มประสานดังขึ้น เรียกร้องให้ยุบสภา หรือ นายกฯ ลาออก
อย่างไรก็ดี หลายคนยังไม่ตระหนักว่าแม้ พล.อ.ประยุทธ์ถอดใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ใช่ว่าอนาคตการเมืองของไทยจะสดใสขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ คสช.ร่างขึ้นนั้นได้วางกลไกเอาไว้ ไม่ให้ประเทศเดินหน้าตามระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งได้โดยง่าย
เพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช.กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้เป็นพิเศษ
ชั้นที่ 1
ยังจำบัญชีว่าที่นายกฯ ได้ไหม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 กำหนดว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส. ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคมีมติว่าจะเสนอให้ ส.ส. เพื่อพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้ กกต.ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ
ชั้นที่ 2
มาตรา 159 ยังกำหนดว่า ส.ส.ต้องพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่สมควรแต่งตั้งเป็นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอไว้เท่านั้น ไม่สามารถพิจารณาจาก ส.ส. คนอื่นที่ไม่เคยถูกเสนอชื่อไว้ได้
ชั้นที่ 3
กระนั้นก็ไม่ใช่ว่าบุคคลที่อยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของทุกพรรคการเมืองจะมีสิทธิได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมาตรา 159 กำหนดไว้อีกชั้นว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 นั่นคือ จากจำนวน ส.ส. เต็มสภา 500 คน พรรคการเมืองที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ต้องมี ส.ส. อย่างน้อย 25 คน นอกจากนี้การเสนอชื่อนายกฯ ต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ ส.ส. อย่างน้อย 50 คน ส่วนการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด
ถามว่าจากหลักเกณฑ์นี้พรรคไหนมี ส.ส.เกิน 25 คนบ้าง คำตอบมีอยู่เพียง 5 พรรคการเมือง ได้แก่
พรรค | ก่อนเลือกตั้ง เสนอว่าที่นายกฯ |
พรรคพลังประชารัฐ | พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา |
พรรคเพื่อไทย | สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ชัยเกษม นิติสิริ |
พรรคอนาคตใหม่ | ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ |
พรรคภูมิใจไทย | อนุทิน ชาญวีรกูล |
พรรคประชาธิปัตย์ | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ |
พรรคอนาคตใหม่ แน่นอน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่สามารถถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้แล้ว เพราะ 1) พรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ทำให้บัญชีว่าที่นายกฯ ที่พรรคเคยเสนอไว้ก็หายไปด้วย 2) ธนาธรถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี จึงขาดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พรรคพลังประชารัฐ พรรคที่มี ส.ส. มากที่สุดในฝั่งรัฐบาล เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้คนเดียว ดังนั้น หากพล.อ.ประยุทธ์ ลาออก พรรคพลังประชารัฐก็ไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลอื่นขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อยู่ในตอนนี้ อย่างสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือหัวหน้าพรรคอย่างอุตตม สาวนายน หรือกระทั่ง ส.ส. ที่มีบทบาทสูงอย่างสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร, วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฯ รัฐบาล
พรรคภูมิใจไทย พรรคที่มี ส.ส. มากเป็นอันดับที่ 2 ในฝั่งรัฐบาล ซึ่งก่อนเลือกตั้งถูกมองว่าอาจจะเป็น “ม้ามืด” ได้ แม้ตามกฎหมายยังสามารถเสนอชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่กระแสโจมตีจากความล้มเหลวในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ที่ถาโถมเข้าใส่ก็รุนแรงไม่แพ้ตัว พล.อ.ประยุทธ์เอง
พรรคเพื่อไทย ยังมีสิทธิเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะเสนอแคนดิเดตของพรรคขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ความสง่างามจะไม่เต็มที่ เพราะทั้ง 3 คนไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่น่าจะลงมติเพื่อส่งคนจากฟากเพื่อไทยให้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงยากที่จะหาเสียง ส.ส. ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภา
พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงเหลือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีสิทธิถูกเสนอชื่อ แต่ความสง่างามก็จะไม่เต็มที่เช่นกันเพราะลาออกจาก ส.ส. ไปแล้ว และยังสูญเสียการสนับสนุนจาก ส.ส. ในพรรคของตัวเองไปมาก โอกาสที่อภิสิทธิ์จะถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. กลุ่มใหญ่ ถ้าไม่ใช่จากพรรคพลังประชารัฐ ก็ต้องเป็น ส.ส. ฝ่ายค้าน ซึ่งทั้งสองกลุ่มเรียกได้ว่าเป็น “ขั้วตรงข้าม” ที่อภิสิทธิ์เคยกล่าวโจมตีไว้อย่างหนักหน่วงมาก่อนหน้านี้ กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัย “ซูเปอร์ดีล” จากข้างใดข้างหนึ่งที่ยังมองไม่เห็นแนวโน้มความเป็นไปได้
โดยสรุป ระบบบัญชีว่าที่นายกฯ ตามมาตรา 88 และ 159 จึงเป็นกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนไว้ให้เกิดทางตันทางการเมือง ทำให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีมีเงื่อนไขและอุปสรรคมากมาย
กระนั้นก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้สร้างเงื่อนไขไปสู่ทางตันโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย เพราะมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลก็ได้เตรียมการเอาไว้แล้วสำหรับ “กรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด ก็ให้มี ‘นายกฯ คนนอก’ ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้
ขั้นตอนการได้มาซึ่งนายกฯ คนนอก ตามมาตรา 272 อาศัยเงื่อนไข ดังนี้
1) ส.ส. + ส.ว. ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 คน เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองได้
2) ส.ส. + ส.ว. ประชุมร่วมกัน และลงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ 500 คน เพื่ออนุมัติการเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีของพรรคการเมือง
3) ส.ส. + ส.ว. มากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภาลงมติเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ
ต้องไม่ลืมว่า เมื่อครั้งลงมติเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เขาได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวมกันถึง 500 เสียง จำนวน 500 เสียงนี้เพียงพอแล้วต่อการเปิดช่องทางตามมาตรา 272 ช่องทางพิเศษที่เขียนไว้ตั้งแต่ครั้งร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้เขียนไว้ลอยๆ แบบไม่มีที่มาที่ไป หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลาออก รัฐธรรมนูญก็ได้ออกแบบ “ทางออก” เอาไว้ล่วงหน้าแล้วเพื่อให้นำมาซึ่งการอยู่ในอำนาจต่อของคนกลุ่มเดิม