เลือกตั้ง 62: บัญชีว่าที่นายกฯ สามรายชื่อ คืออะไร

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นครั้งแรกที่บังคับให้พรรคการเมืองเสนอ "บัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี" ก่อนการเลือกตั้งไม่เกินพรรคละสามรายชื่อ ซึ่งคนที่จะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งต้องอยู่ในรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอไว้ อย่างไรก็ตามประชาชนจะยังไม่ได้เลือกนายกฯ โดยตรง แต่จะเป็นการเลือกผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกวุฒิสภา 250 คน จากการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และในช่วงห้าปีแรกของรัฐธรรมนูญ 2560 นายกฯ อาจไม่จำเป็นต้องมาจากบัญชีที่เสนอไว้ หรือเป็น “นายกฯ คนนอก” ก็ได้
 
 
 
พรรคการเมืองเสนอสามว่าที่นายกฯ ก่อนการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 กำหนดว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส. ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่า จะเสนอให้ ส.ส. เพื่อพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้ กกต. ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ พรรคการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งจะเสนอรายชื่อแค่หนึ่งหรือสองคนก็ได้ และจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลเพื่อเป็นนายกฯ ของพรรคเลยก็ได้ 
 
ทุกคนที่จะอยู่ในบัญชีนายกฯ รัฐมนตรี ต้องให้ความยินยอมเป็นหนังสือแก่พรรคการเมืองนั้นก่อน พรรคการเมืองไม่อาจเสนอชื่อบุคคลมีชื่อเสียงต่างๆ ในสังคมขึ้นมาเองโดยไม่ได้รับความยินยอม และทุกคนจะถูกเสนอได้โดยพรรคการเมืองพรรคเดียวเท่านั้น หากถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองหนึ่งแล้วพรรคอื่นก็จะเสนอด้วยไม่ได้
 
ด้วยเหตุนี้จึงจะเห็นบางพรรคเสนอว่าที่นายกฯ ครบสามคน เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ และพรรคพลังประชารัฐ บางพรรคเสนอว่าที่นายกฯ คนเดียว เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคอนาคตใหม่ และบางพรรคไม่เสนอชื่อว่าที่นายกฯ เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งต้องการเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่่น่าจะถูกพรรคอื่นเสนอไปแล้ว
คุณสมบัตินายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. ก็ได้
ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง” หรือ ต้องเป็น ส.ส. และการเกิดขึ้นของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่ชอบทำให้เป็นธรรมเนียมว่า ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งของพรรคการเมือง คือ "ว่าที่นายกฯ" ของพรรคการเมืองนั้น ซึ่งเราจะเห็นว่า หลังการเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งของพรรคที่ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งจะเป็นนายกฯ ตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย, สมัคร สุนทรเวช พรรคพลังประชาชน และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย
 
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดใหม่ให้แต่ละพรรคเสนอชื่อว่าที่นายกฯ แยกออกมาอีกบัญชีหนึ่ง และที่สำคัญผู้ที่จะถูกเสนอเป็นว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ด้วย หรือไม่ต้องผ่านสนามเลือกตั้ง ส่งผลให้ข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญที่ห้ามบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาล คสช. หรือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ยังสามารถใช้ช่องทางนี้เพื่อกลับมาเป็นนายกฯ ได้ เข้าทางรัฐบาล คสช. ที่ต้องการสืบทอดอำนาจต่อผ่านพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้น จะเห็นผ่านสามรายชื่อว่าที่นายกฯ ของพรรคนี้ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อุตตม สาวนายน และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช.
 
การเพิ่มระบบบัญชีว่าที่นายกฯ เข้ามาใหม่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นการเพิ่มช่องทางในการกลับมาเป็นนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และยังเป็นการเพิ่มความชอบธรรมให้กับข้อกล่าวหา "นายกฯ คนนอก" เพราะรายชื่อว่าที่นายกฯ จะต้องประกาศรายชื่อก่อนการเลือกตั้ง
บัญชีว่าที่นายกฯ จะใช้ได้พรรคนั้นต้องมี ส.ส. 25 คนขึ้นไป
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 กำหนดว่า ส.ส. ต้องพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่สมควรแต่งตั้งเป็นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าบุคคลที่อยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของทุกพรรคการเมืองจะมีสิทธิได้รับการเลือกเป็นนายกฯ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือ จำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 คน พรรคการเมืองนั้นต้องมี ส.ส. อย่างน้อย 25 คน จึงจะเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีของตัวเองได้ นอกจากนี้ การเสนอชื่อนายกฯ ต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ ต้องมี ส.ส. อย่างน้อย 50 คน เป็นผู้รับรอง
นายกฯ คนนอก/ม.44 ทำบัญชีว่าที่นายกฯ ไม่มีความหมาย
ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองต่างๆ ที่เสนอบัญชีว่าที่นายกฯ จึงมีความเสี่ยงเช่นกันว่า บุคคลที่ถูกเสนอชื่ออาจจะไม่ได้รับเลือกหากได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภาไม่ถึง 50 ที่นั่ง อย่างไรก็ดีในช่วงห้าปีแรกรัฐธรรมนูญหาก ส.ส. และ ส.ว. ไม่สามารถเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้ รัฐธรรมนูญก็ยังเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกได้ ซึ่งหากว่าที่นายกฯ ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่มี ส.ส. สนับสนุนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำจะกลับเข้ามาในช่องทางนายกฯ คนนอกก็ไม่ได้มีข้อห้ามไว้
 
ดังนั้นหาก พล.อ.ประยุทธ์ พลาดช่องทางนายกฯ ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ จะด้วยเหตุที่พรรคนี้ได้ที่นั่ง ส.ส. น้อยกว่า 25 ที่นั่ง หรือด้วยเหตุอะไรอื่นอีกก็ตาม แต่ก็อาจกลับมาด้วยช่องทางนายกฯ คนนอกได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องใช้เสียง ส.ส. และ ส.ว. รวมกันมากกว่าสองในสามของสภา หรือ 500 คน เพื่อเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอก ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหาเสียงจาก ส.ส. อีก 250 เสียง เพื่อมารวมกับ ส.ว. อีก 250 เสียง หรือหากช่องทางนี้ยังทำไม่ได้อีกอาจใช้มาตรา 44 ที่มีอยู่ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้