3 เมษายน 2555
คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 ซึ่งมี พล.ต.ต.เอนก สัมพลัง เป็นประธาน มีมติไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) โดยให้เหตุผลว่า ภาพยนตร์มีเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ.2552 ข้อ 7(3) และตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551
ในมติดังกล่าว มีกรรมการที่ลงนามเห็นชอบในมติ 4 ท่าน คือ พล.ต.ต.เอนก สัมพลัง นายเขมชาติ เทพไชย นายวีระชัย ทรัพยวณิช และนายมานิตย์ ชัยมงคล ขณะที่กรรมการอีก 3 ท่านไม่ลงนามในมติด้วย ได้แก่ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ นายอนุชา ทีรคานนท์ และนายสามารถ จันทร์สูรย์
17 เมษายน 2555
ผู้สร้างภาพยนตร์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ที่มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่กำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วันหลังจากมีมติห้ามฉาย
และทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ยังได้รวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 514 ชื่อ ไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนมติห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ และเรียกร้องให้หยุดการแบนภาพยนตร์ไทย พร้อมมีการแสดงละครฉากหนึ่งในภาพยนตร์บริเวณประตูทางเข้าทำเนียบรัฐบาลฝั่งถนนราชดำเนินนอกด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ มีกำหนดประชุมในวันที่ 25 เมษายน 2555 เพื่อพิจารณาคำอุทธรณ์และลงมติว่า จะยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ดังกล่าวในประเทศไทยหรือไม่
11 พฤษภาคม 2555
คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ โดยมี พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นประธานแทนนายกรัฐมนตรี และมีนางสุกุมล คุณปลื้มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธาน มีมติ 18 : 4 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง ให้เรต "ห" ห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย ยืนตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3
ในคำสั่งระบุว่า คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ พิจารณาเห็นว่า เนื่อหาของภาพยนตร์เรื่อง "เชคสเปียร์ต้องตาย" แม้จะดัดแปลงให้เป็นประเทศสมมติก็ตาม แต่ก็มีลักษณะที่สื่อความหมายให้เข้าใจว่าเป็นสังคมไทย และบางฉากยังมีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศ นอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 ได้แจ้งให้ผู้อุทธรณ์แก้ไขเนื้อหาสาระบางส่วนที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติ แต่ผู้อุทธรณ์แจ้งว่าเป็นการนำเสนอความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จึงยืนยันไม่แก้ไข คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ จึงมีมติยกอุทธรณ์ ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551
30 พฤษภาคม 2555
นาย มานิต ศรีวานิชภูมิ และนางสาวสมานรัชฎ์ กาญจนะวาณิชย์ ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ดำเนินการพิจารณาตรวจสิบและให้ความเป็นธรรมในกรณี
1. เนื้อหาฉากใดที่เป็นเหตุให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 เห็นว่ามีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ แล้วมีมติไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” เผยแพร่ในราชอาณาจักร
2. การที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติมีมติห้ามภาพยนตร์ออก ฉายในราชอาณาจักร เป็นการกระทำที่จำกัดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ อย่างไร
9 สิงหาคม 2555
นายมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้าง และน.ส.สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ยื่นฟ้องคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์คณะที่ 3 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ 2 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติและคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ที่ห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ในราชอาณาจักร และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากเงินทุนที่ใช้ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,530,388.55 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
คำฟ้องระบุเหตุแห่งการฟ้องคดีว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” เผยแพร่ในประเทศไทย โดยอ้างว่ามีเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ 2552 ข้อ 7 (3) นั้น ไม่เป็นไปตามข้อจำกัดในหลักการของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 บัญญัติไว้
ข้อเท็จจริงในสังคมไทยมีการเข่นฆ่าประชาชนเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน ทั้งเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และกรณีสงครามยาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 คน ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นความรุนแรงของสังคมไทยที่มิอาจลืมเลือน หรือปกปิดไว้ได้แต่อย่างใด โดยคนไทยสมควรเรียนรู้ร่วมกันเพื่อร่วมมือกันมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ดังนั้นภาพยนตร์ “เชคสเปียร์ต้องตาย” จึงมิได้มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความแตกสามัคคีคนในชาติตามที่อ้าง
เนื้อหาสาระของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีตอนใดตอนหนี่งที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามที่อ้าง เพราะเนื้อหาสาระของภาพยนตร์ดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยอย่างซื่อตรงต่อต้นฉบับละครเรื่อง “โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ” อันเป็นบทประพันธ์ของวิลเลียม เชคสเปียร์ กวีเอกของโลก โดยมีการดัดแปลงเพื่อให้เป็นภาษาของภาพยนตร์และเข้ากับริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยเท่านั้น การที่อ้างว่าไม่ให้ภาพยนตร์นี้ฉายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐนั้น คำว่า “รัฐ” ย่อมหมายถึงรัฐชาติ ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใด ดังนั้น การกระหายเลือด การมักใหญ่ใฝ่สูง การงมงายในไสยศาสตร์ของตัวละครในภาพยนตร์ที่สถาปนาตนเองเป็นราชา ซึ่งเหมือนกับผู้นำประเทศต่างๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงของสังคม ย่อมมิได้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงเกียรติภูมิของประเทศแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใดมิได้หมายถึงประเทศชาติด้วย”
มานิต และสมานรัชฎ์ระบุด้วยว่า ตนต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนตัวในกระบวนการผลิตภาพยนตร์จนเสร็จสิ้นอีก 2,250,000 บาท รวมถึงความเสียหายต่อชื่อเสียงค่าเสียหายจากการขาดโอกาสในการร่วมทุนสร้างภาพยนตร์กับบุคคลอื่น แต่การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งสองไม่ได้มีเจตจำนงแสวงหากำไร จึงไม่ติดใจที่จะเรียค่าเสียหายในส่วนนี้จากผู้ถูกฟ้องคดี
22 พฤศจิกายน 2555
ธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ร่วมกับนายมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้าง และสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ เข้า แจ้งความต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เหตุถูกเว็บไซต์เถื่อนขโมยหนังของตนไปจำหน่ายและเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต ทาง
หลัง จากนั้น ทีมผู้สร้าง-ผู้กำกับและทีมทนายความจากหนังทั้งสองเรื่อง เดินทางต่อไปยัง “ศาลปกครอง” เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลเร่งรัดการพิจารณาคดีของหนังทั้งสองเรื่องโดยเร็ว เพื่อป้องกันความเสียหายและผลกระทบอันจะเกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดี จากการที่มีผู้นำหนังทั้งสองเรื่องไปเผยแพร่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ผลิตหนังได้รับความเสียหาย สูญเสียรายได้ที่อาจจะได้รับจากการจัดฉายหลังศาลมีคำพิพากษา
23 พฤศจิกายน 2555
หลังยื่นหนังสือเร่งรัดคดีหนึ่งวัน ศาลปกครองมีคำสั่งรับคำฟ้องคดีนี้
15 มีนาคม 2556
ผู้รายงานพิเศษในประเด็นสิทธิทางวัฒนธรรมและผู้รายงานพิเศษในการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพทางความคิดและในการแสดงออกแห่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ออกหนังสือถึงรัฐบาลไทยแสดงความกังวล ว่าการแบนภาพยนตร์ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ อาจถือเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพของนายมานิต ศรีวานิชภูมิ และ น.ส.สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ในการแสดงออกในทาางทางศิลปะและสิทธิที่ทั้งสองควรมีในการมีส่วนร่วมในชีวิตทางวัฒนธรรม และเสรีภาพที่ขาดไม่ได้สำหรับกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามขั้นตอนตามที่จำเป็น ที่จะเรียกคืนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามหลักพื้นฐานที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และมาตรา 15 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ในหนังสือยังมีคำถามต่อรัฐบาลไทยว่าการออกคำสั่งห้ามฉายของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และการมีอยู่ของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.25551 มาตรา 23 และ 29 นั้นเป็นการปฏิบัติตามมาตราฐานของสิทธิเสรีภาพหรือไม่อย่างไร และยังถามด้วยว่าศาลปกครองและคณะกรรการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีคำสั่งต่อกรณีนี้อย่างไร
29 เมษายน 2556
หลัง จากที่คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้พิจารณาตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน จึงมีมติให้เสนอมาตรการและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทบทวนคำสั่งห้ามฉายภาพยยนตร์ โดยกำหนดอายุผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ จัดอยู่ในประเภทภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุสิบแปดปีขึ้นไป
2. จัดทำข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายพิจารณาแก้ไขปรับปรุงพระราช บัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการ แสดงออกตามรัฐธรรมนูญ
15 พฤษภาคม 2556
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงมติ เห็นชอบตามตวามเห็นของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ว่า การที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกคำสั่งให้ตัดฉากที่นำไปสู่การห้ามฉาย คือ ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ทุกคนทราบกันดี เพียงฉากเดียวไม่มีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด ดังนั้นการสั่งห้ามฉายโดยไม่สามารถแสดงเหตุผลได้ว่าภาพใดหรือฉากใดที่จำเป็นต้องจำกัดเสรีภาพการแสดงออกเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้อื่น
หรือความมั่นคงของรัฐ เป็นการกระทำที่ละเมิดเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของผู้สร้างภาพยนตร์
ขณะเดียวกันยังมีปัญหาการบังคับใช้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ใช้ดุลพินิจอย่างเต็มที่จนขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการปกป้องเสรีภาพของประชาชน
แต่เนื่องจากนายมานิต ศรีวานิชภูมิ และนางสาวสมานรัชฎ์ กาญจนะวาณิชย์ ผู้ร้อง ได้ฟ้องคดีคณะกรรมการภาพยร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ และ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่สาม ต่อศาลปกครองแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงไม่อาจใช้อำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการแก้ไขต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 22 ประกอบ เห็นควรยุติเรื่อง
18 มิถุนายน 2556
คณะผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทย ในกรุงเจนีวา มีหนังสือตอบกลับไปยังผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ สรุปความได้ว่า กฎหมายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 จำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพบางอย่างทางความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งใช้เฉพาะในกรณีที่คุกคามต่อความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อยของสาธารณชน กฎหมายนี้ไม่กัดกร่อนสิทธิต่อเสรีภาพ และการแสดงออกของสาธารณชนชาวไทยแต่ประการใด สื่อมวลชนไทยเป็นสุขในเสรีภาพที่สูงมาก ความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้รับการเผยแพร่ออกอากาศอย่างกว้างขวาง
การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกนั้น ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบและหน้าที่พิเศษต่างๆ ดังนั้นจึงต้องมีข้อจำกัดบางประการ การคุ้มครองความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อยนั้น เป็นพื้นฐานที่มีน้ำหนักในการกำหนดข้อจำกัดดังกล่าว ข้อยกเว้นนี้คือรากฐานที่มาของมาตรา 26 (7) ของกฎหมายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 คำสั่งแบนนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเนื้อหาของหนังเรื่องนี้อาจก่อให้เกิดการแตกสามัคคีในสังคม จึงเป็นสิ่งที่คุกคามความมั่นคงของชาติ คำสั่งนี้ออกโดยคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชน คำสั่งแบนจึงเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานทั่วไปของสากลโลกแล้ว
5 กรกฎาคม 2560
ผู้ฟ้องคดีเดินทางไปศาลปกครองในนัดพิจารณาคดีครั้งแรก โดยผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลปกครอง และได้อ่านด้วยวาจาต่อศาลด้วย
คำแถลงตามที่
เผยแพร่บนเว็บไซต์ของภาพยนตร์เชคสเปียร์ต้องตาย สรุปความได้ว่า ข้าพเจ้าจำใจต้องต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ทั้งที่ซาบซึ้งดีเป็นอย่างยิ่งว่าการต่อสู้กับผู้มีอำนาจเหนือชะตากรรมของภาพยนตร์ไทยนั้น ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ผู้กำกับภาพยนตร์คนไหนพร้อมจะทำ ในอุตสาหกรรมที่ผู้เปี่ยมอิทธิพลที่มีอยู่ไม่กี่คนนั้นมีอำนาจล้นฟ้า และคนอื่นๆ ที่เหลือล้วนไร้อำนาจในการต่อรองโดยสิ้นเชิง
กระบวนการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ ไม่มีความเที่ยงธรรมและเสมอภาคในทางปฏิบัติ สามารถรวบรัดตัดตอนได้ตามอำเภอใจ กระบวนการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ถูกแทรกแซงทางการเมือง เพราะในขั้นตอนการแถลงข่าวห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมแถลงข่าวด้วยตนเอง การกลับมติคำสั่งห้ามฉายดังกล่าวจะกระทำมิได้ หากมิใช่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าปลัดกระทรวงวัฒนธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย
การอนุญาตให้ภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย ออกฉาย อาจกระทบต่อความรู้สึกของนักการเมือง ณ เวลานั้น เนื่องด้วยเนื้อหาภาพยนตร์ได้สะท้อนชะตากรรมความโลภของผู้นำประเทศ ซึ่งเป็นบทประพันธ์อมตะของกวีของโลกชาวอังกฤษที่เขียนไว้เมื่อกว่าสี่ร้อยปีมาแล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลให้ข้าพเจ้าเชื่อว่า การตรวจพิจารณาภาพยนตร์ถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองผู้มีอำนาจ ณ เวลานั้น อย่างไม่ต้องสงสัย
สิทธิในการประกอบวิชาชีพและสิทธิในการแสดงออกทางความคิด ซึ่งคุ้มครองสื่ออื่นๆ ในประเทศไทย ยกเว้นภาพยนตร์ ซึ่งทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยไร้สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรี และยังมีผลกระทบเชิงลบด้านการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในฐานะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อีกด้วย ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยขาดความมั่นคงในวิชาชีพและการลงทุน ตราบใดที่คนนิรนาม 7 คน ในห้องมืด ยังมีสิทธิตัดสินชะตากรรมของภาพยนตร์ที่ผู้สร้างได้ทุ่มเทเวลา ทรัพย์สินและกำลังใจ มาเป็นเวลาหลายปี ตราบนั้น ความคล่องตัวทางความคิดและความมั่นใจในการลงทุน ย่อมจะเกิดมิได้ ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ขาดหลักประกันและการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เฉกเช่นที่อาชีพอื่นได้รับ
เมื่อเป็นเช่นนี้ นายทุนจึงไม่กล้าเสี่ยงลงทุนกับบทภาพยนตร์ที่ “แตกต่าง” จากที่เคยเห็นมา หรือที่มีความคิดแปลกใหม่ สิ่งนี้ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไม่กล้าคิด ไม่กล้าสร้างสรรค์ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์ไทย “ไม่ไปไหนเสียที” เพราะต้องวนเวียนอยู่กับเรื่องไร้สาระ ไม่สามารถสำรวจปัญหาหรือด้านมืดของสังคมไทย ไม่สามารถแตะต้องเนื้อเรื่องและแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ของตนเอง
ศิลปะ รวมทั้งภาพยนตร์ ที่มีต้นกำเนิดจากโจทย์และขอบเขตข้อจำกัดที่รัฐตั้งธงไว้ให้ล่วงหน้า – คือศิลปะที่ถูกควบคุมนั้น – เป็นศิลปะที่ไร้ชีวิต สัจธรรมนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ ศิลปะที่ไร้ชีวิตนั้นขายไม่ออก เนื่องจากว่ามันไม่สามารถสัมผัสชีวิตจิตใจของผู้ชม ไม่จุดประกายให้เกิดการสนทนาถกความที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดเป็น การรู้จักวิเคราะห์ปัญหา เพราะศิลปะที่ตาย ไม่สามารถให้แรงบันดาลใจและกำลังใจต่อผู้ชม
ศิลปะแท้นั้นอยู่ไม่ได้ และเกิดไม่ได้ หากไม่มีเสรีภาพ และศิลปะที่ถูกควบคุมนั้น เป็นศิลปะที่ไร้ชีวิตและขายไม่ออก
แทนที่จะห้ามฉายภาพยนตร์ที่กรรมการเซ็นเซอร์เห็นว่าเป็นพิษภัยต่อสังคมหรือสร้างความแตกแยก ประเทศไทยควรให้โอกาสทุกฝ่ายสร้างภาพยนตร์ที่สะท้อนความเป็นตัวตนและมุมมองของตน หากว่าประเทศไทยมีศรัทธาในประชาชนและมีความกล้าหาญเช่นนี้ ผู้ชมในประเทศไทยก็จะได้รับชมทุกมุมมองและรสนิยม ซึ่งย่อมเป็นผลดีต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยที่แท้จริงในสังคมไทย หากว่าเรามัวแต่แบนความคิดของกันและกัน เราก็ไม่มีวันเข้าอกเข้าใจกันและกัน
ข้าพเจ้าไม่ได้ทำหนังเชคสเปียร์เพื่อความโก้เก๋ เพราะเห่อฝรั่ง การแปลเชคสเปียร์เป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทายความสามารถถึงที่สุด หาใช่สิ่งที่ใครจะลุกขึ้นมาทำกันง่ายๆ ด้วยคึกคะนอง เพียงเพื่อจะด่านักการเมือง เชคสเปียร์เป็นกวีเอกของโลกคนหนึ่ง ผลงานของเชคสเปียร์คือมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ข้าพเจ้าใคร่ตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใด คนไทยจึงไม่มีสิทธิรับมรดกอันล้ำค่านี้? มรดกที่คนชาติอื่นๆ ทั่วโลกเขาได้รับคุณประโยชน์กันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว จะมีอีกกี่ครั้งที่จะมีคนไทยลุกขึ้นมาสร้างหนังจากละครเชคสเปียร์? เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก และอาจเป็นเรื่องสุดท้าย
รัฐไทยมองสื่อและศิลปะทุกแขนงผ่านแก้วผลึกแห่งโฆษณาชวนเชื่อและการจัดระเบียบสังคม เพราะรัฐเชื่อว่าคนเราสามารถจัดระเบียบสังคมให้ประชาชนเป็นคนดี โดยการให้เลียนแบบตัวอย่างที่ดีงาม และเก็บกดทุกแบบอย่างที่ดูชั่วร้ายอุจาดบาดตา นี่คือเหตุผลที่ทำให้คณะกรรมการภาพยนตร์เห็นว่า ‘แม็คเบ็ธ’ ฉบับของข้าพเจ้า “มีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศ” และ “ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของคนในชาติ” คนเหล่านี้ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าเราสามารถเรียนรู้จากแบบอย่างที่ไม่ดี: ชายที่น่าจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง แต่สูญเสียทุกสิ่งเป็นเครื่องสังเวยความโลภ ความมักใหญ่ใฝ่สูงอันไร้ขอบเขตของตน
เมืองไทยหลงทางเพราะเรากักขังจินตนาการของเราไว้ในคุกใต้ดิน มัดตรึงด้วยโซ่ตรวน แผ่นดินใดที่ไร้ภาพยนตร์แห่งชาติที่เป็นเสรี แผ่นดินนั้นย่อมไม่มีทางและไม่มีวันที่จะเป็นไท
11 สิงหาคม 2560
นัดฟังคำพิพากษาศาลปกครอง โดยศาลปกครองอ่านคำพิพากษายกฟ้อง ยืนยันคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย