เชคสเปียร์ต้องไม่ตาย! เดินหน้ายื่นหนังสือนายกฯ-ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง

วันที่ 17 เมษายน 2555 เวลา 10.00 ทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) ได้แก่ นาย มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้าง น.ส.สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับ ทีมงาน และนักแสดงจำนวนหนึ่ง พร้อมด้วยผู้มาให้ร่วมให้กำลังใจ เช่น ธัญญ์วารินทร์ สุขะพิสิษฐ์ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เดินทางมายังประตูทำเนียบรัฐบาลฝั่งถนนราชดำเนินนอก เพื่อยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนมติห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย และขอให้หยุดการแบนภาพยนตร์ไทย

หนังสือเปิดผนึกที่ตัวแทนผู้สร้างภาพยนตร์ นำไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีนั้น ทางผู้สร้างภาพยนตร์ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปที่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องดังกล่าวร่วมลงชื่อท้ายจดหมายด้วย ซึ่งสามารถรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนได้ทั้งหมด 514 ชื่อ และเชื่อว่าจะมีรายชื่อผู้สนับสนุนเข้ามาเพิ่มเติมอีก
เวลาประมาณ 10.30 น. นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายสาทิตย์ สุทธิเสริม รองผู้อำนวยการฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนออกมารับหนังสือ และรายชื่อทั้งหมด
นอกจากกิจกรรมการยื่นหนังสือแล้ว ทีมนักแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ยังนำฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งจากภาพยนตร์มาแสดงเป็นละครให้กับผู้มาร่วมให้กำลังใจและสื่อมวลชนชม โดยบทละครฉากนั้น กล่าวว่า 
“อนิจจา บ้านเมืองน่าเวทนา 
Alas, poor country.
เจ้าแทบไม่กล้ารู้จักตัวเอง มิอาจเรียกได้ 
Almost afraid to know itself. It cannot
ว่าแผ่นดินแม่ แต่เป็นหลุมศพของเรา 
Be called our mother, but our grave, where nothing
ที่ซึ่งปราศจากรอยยิ้ม ยกเว้นแต่บนใบหน้า 
But who knows nothing is once seen to smile;
ผู้คนที่ไม่รับรู้สิ่งใดเลย ที่ซึ่งเสียงทอดถอนลมหายใจ 
where sighs and groans and shrieks that rent the air
เสียงครวญคราง เสียงกรีดร้องดังอื้ออึงอยู่ทั่วหล้า 
Are made, not marked… The dead man’s knell
แต่ไม่มีใครเห็นแปลกหรือผิดสังเกต…และเมื่อระฆังประหารกังวาน
Is there scarce asked for who, and good men’s lives
ไม่มีใครถามว่าเป็นเวลาของใคร 
Expire before the flowers in their caps,
และคนดีอายุสั้นยิ่งกว่าดอกไม้แซมผม คอขาดล้มตาย 
Dying or ere they sicken.
ก่อนมันเริ่มเฉาบนหัวของเขาด้วยซ้ำ”
นายมานิต กล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับทุนสร้างจากโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นของกระทรวงวัฒนธรรม เป็นเงินของภาษีประชาชนจำนวนสามล้านบาท แต่เมื่อสร้างเสร็จประชาชนกลับไม่ได้ดูเพราะกระทรวงวัฒนธรรมเอง เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน การเรียกร้องความเป็นธรรมครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงทำเพื่อภาพยนตร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย" เท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้และเรียกร้องสิทธิให้กับวงการภาพยนตร์ไทย และหวังว่าในอนาคตจะไม่มีภาพยนตร์ถูกแบนเช่นนี้อีก  
หลังจากยื่นหนังสือที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเสร็จแล้ว ในวันเดียวกันทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ยังเดินทางต่อไปที่กระทรวงวัฒนธรรมเพื่อยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งที่จัดให้ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตายเป็นภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในราชอาณาจักร ต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติจะมีกำหนดประชุมพิจารณาอุทธรณ์เรื่องนี้ในวันที่ 25 เมษายน 2555
สามารถดูรายละเอียดของภาพยนตร์เรื่องนี้ และการอุทธรณ์คำสั่งได้ที่ เว็บไซต์เชคสเปียร์ต้องตาย