เปิด 5 เรื่องเด่น นุรักษ์ มาประณีต อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ องคมนตรีคนล่าสุด

จากที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศแต่งตั้ง นุรักษ์ มาประณีต อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองคมนตรี มาดูกันว่าชีวิตของนุรักษ์ตั้งแต่ก่อนเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งได้เป็นองคมนตรี มีผลงานเด่นๆ อะไรบ้าง 

 

1. รับใช้คณะรัฐประหารมาแล้ว 2 คณะ

นุรักษ์ เกิดเมื่อ 24 เมษายน 2492 อายุ 71 ปี จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต, รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 6, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ภาค 8, ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ ภาค 7 และผู้พิพากษาศาลฎีกา

ในปี 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คปค.) ได้ประกาศยุบองค์กรศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2540 ลง และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 (รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549) และเปลี่ยนสถานะของคณะรัฐประหารจาก คปค. เป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพื่อปกครองประเทศต่อไป

รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 มาตรา 35 กำหนดให้ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นเก้าคน แทนศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 3 โดยให้ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน, ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นรองประธาน, ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวนห้าคน เป็นตุลาการ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวนสองคน เป็นตุลาการ และ นุรักษ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549

ต่อมา หลังมีรัฐธรรมนูญ 2550 ได้มีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ขึ้น นุรักษ์เป็นหนึ่งในผู้ได้รับแต่งตั้งในวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 พร้อมกับ ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล และคนอื่นๆ อีกสี่คน

ต่อมาหลังนุรักษ์อยู่จนครบวาระการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 24/2560 ในวันที่ 20 เมษายน 2560 เพื่อต่อระยะเวลาไว้ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะหมดวาระลงอยู่ในตำแหน่งจนกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะออกมา และเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งคู่ได้ร่วมกันออกกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พบว่าในบทเฉพาะกาล กำหนดให้ตุลาการทั้งชุดไม่ถูก “เซ็ตซีโร่” คนที่อยู่ในตำแหน่งที่ยังไม่หมดวาระสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อได้ ไม่ต้องทำการสรรหาใหม่ทั้งหมด

ส่วนตุลาการที่หมดวาระแล้วแต่ คสช. ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ช่วยยืดอายุไว้ ก็ให้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แล้วเสร็จ ทำให้นุรักษ์ยังคงอยู่ในตำแหน่งมาจนถึงหลังการเลือกตั้งในปี 2562

โดยกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่เริ่มตั้งแต่เปิดประชุมรัฐสภาชุดใหม่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 จนถึงวันที่ 6 เมษายน 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่สี่คน แทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสี่คนเดิมที่หมดวาระลงไปก่อนหน้านี้แล้วหลายปี ทำให้นุรักษ์พ้นจากหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งมีประกาศแต่งตั้งเป็นองคมนตรีในวันที่ 4 พฤษภาคม 2563

สรุปแล้วนุรักษ์เป็นตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญรวมทั้งหมดถึง 13 ปี ทำงานภายใต้คณะรัฐประหารถึง 2 คณะ คือ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คปค.) ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี 

 

2. อยู่ในตำแหน่งมา 13 ปี รับเงินเดือนรวมแล้วกว่า 20 ล้าน 

นุรักษ์ มาประณีต เริ่มเข้าสู่ตำแหน่งตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2549 จนถึง 31 มีนาคม 2563 รวมระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่งเป็นระยะเวลา 13 ปี 4 เดือน หรือนับเป็นเดือนทั้งหมด 160 เดือน อีกทั้งยังอยู่ในตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ 9 กันยายน 2557 – 31 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 6 ปี กับอีกประมาณ 6 เดือน 

การดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลรัฐธรรมนูญจะได้รับค่าตอบแทนแตกต่างกันออกไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอย่างน้อย 2 ฉบับ ฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 กับ พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2555 ซึ่งกำหนดช่วงของเงินเดือนไว้ดังนี้

1) ตั้งแต่ 1 เมษายน 2547 ถึง 30 กันยายน 2548 ได้รับค่าตอบแทนต่อเดือนในอัตรา 115,920 บาท สำหรับประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ 106,360 บาท สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

2) ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2548 ถึง 23 สิงหาคม 2550 ได้รับค่าตอบแทนต่อเดือนในอัตรา 119,220 บาท สำหรับประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ 109,560 บาท สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

3) ตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2550 ถึง 30 กันยายน 2550 ได้รับค่าตอบแทนต่อเดือนเป็นในอัตรา 119,220 บาท สำหรับประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ 109,560 บาท สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

4) ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 ถึง 30 มีนาคม 2554 ได้รับค่าตอบแทนต่อเดือนในอัตรา 121,990 บาท สำหรับประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ 112,250 บาท สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

5) ตั้งแต่ 1 เมษายน 2554 ถึง 30 พฤศจิกายน 2557 ได้รับค่าตอบแทนต่อเดือนในอัตรา 125,590 บาท สำหรับประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ 115,740 บาท สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2555 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 ได้รับเงินเพิ่มในอัตรา 12,500 บาทต่อเดือนสำหรับประธานศาลรัฐธรรมนูญและ 7,300 บาทต่อเดือนสำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

6) ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2557 ถึงปัจจุบัน ได้รับค่าตอบแทนต่อเดือนในอัตรา 115,920 บาท สำหรับประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ 106,360 บาท สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดย นุรักษ์ มาประณีต เริ่มเข้าสู่ตำแหน่งตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2549 จนถึง 31 มีนาคม 2563 จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินรวมถึง 20,379,130 บาท แบ่งเป็น

1) ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2549 ถึง 30 กันยายน 2550 ได้รับค่าตอบแทนต่อเดือนในอัตรา 109,560 บาท เป็นเวลา 24 เดือน รวมเป็นเงิน 2,629,440 บาท

2) ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 ถึง 30 มีนาคม 2554 ได้รับค่าตอบแทนต่อเดือนในอัตรา 112,250 บาท เป็นเวลา 43 เดือน รวมเป็นเงิน 4,826,750 บาท

3) ตั้งแต่ 1 เมษายน 2554 ถึง  30 พฤศจิกายน 2557 ได้รับค่าตอบแทนต่อเดือน 115,740 บาท เป็นเวลา 38 เดือน รวมเป็นเงิน 4,398,120 บาท และได้รับค่าตอบแทนต่อเดือน 125,590 บาท เป็นเวลา 6 เดือน รวมเป็นเงิน 753,540 บาท บวกเงินเพิ่มค่าตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเวลา 38 เดือน 277,400 บาท และเงินเพิ่มค่าตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเวลา 6 เดือน 75,000 บาท รวมเงินทั้งหมดเป็น 5,504,060 บาท

4) ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2557  ถึงปัจจุบัน  ได้รับค่าตอบแทนต่อเดือนในอัตรา 115,920 บาท เป็นเวลา 64 เดือน รวมเป็นเงิน 7,418,880 บาท 

 

3. ยุบพรรคมาแล้ว 29 พรรค

ตั้งแต่นุรักษ์อยู่ในตำแหน่งตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2549 จนถึงออกจากตำแหน่ง 1 เมษายน 2563 นุรักษ์ได้เป็นองค์คณะตุลาการในการยุบพรรคการเมืองไปทั้งหมด 29 พรรคการเมือง ได้แก่ 

  1. พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า
  2. พรรคไทยรักไทย
  3. พรรคพัฒนาชาติไทย
  4. พรรคแผ่นดินไทย
  5. พรรคสันติภาพไทย
  6. พรรครวมพลังไทย
  7. พรรครักษ์แผ่นดินไทย
  8. พรรคธัมมาธิปไตย
  9. พรรคพลังธรรม
  10. พรรคธรรมชาติไทย
  11. พรรคไทยช่วยไทย
  12. พรรคมัฌิมาธิปไตย
  13. พรรคชาติไทย
  14. พรรคพลังประชาชน
  15. พรรคอธิปไตย
  16. พรรคกฤษไทยมั่นคง
  17. พรรคพลังเกษตรกร
  18. พรรคเพื่อนเกษตรกรไทย
  19. พรรคสยาม
  20. พรรคชีวิตที่ดีกว่า
  21. พรรคพลังแผ่นดินไท (พรรคอาสามาตุภูมิ)
  22. พรรคบำรุงเมือง
  23. พรรคไทยพอเพียง
  24. พรรคดำรงไทย
  25. พรรคคนขอปลดหนี้
  26. พรรคชาติสามัคคี
  27. พรรคเพื่อประชาชนไทย
  28. พรรคไทยรักษาชาติ
  29. พรรคอนาคตใหม่

จากพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบจะพบว่า เป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง เป็นพรรครัฐบาลที่ครองเสียงข้างมากในสภาอย่างน้อยถึง 2 พรรค ได้แก่ พรรคไทยรักไทย ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคพลังประชาชน ที่เป็นพรรคใหม่หลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบ ต่อมาตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีการยุบพรรคที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ คสช. ถึงสองพรรค ได้แก่ พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่

 

4. 12 คำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ที่น่าสนใจ

1. ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย และให้ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี 

เมื่อปี 2550 ในคดียุบพรรคไทยรักไทย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญแยกประเด็นในการตัดสินคดีเป็นสองประเด็นคือ 1) ยุบพรรคไทยรักไทยหรือไม่ 2) ตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ 

ในส่วนของประเด็นยุบพรรคไทยรักไทยนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียงให้ยุบพรรคไทยรักไทย

แต่ในประเด็นตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคนั้นตุลาการทั้ง 9 คนลงมติให้ตัดสิทธิ 6 คน ไม่ให้ตัดสิทธิ 3 คน โดยเสียงข้างมากเห็นว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ซึ่งออกในวันที่ 30 กันยายน 2549 ที่กำหนดโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีนั้น มีสถานะเป็นกฎหมายแล้วนำมาบังคับใช้ย้อนหลังได้ และให้ลงโทษกรรมการบริหารพรรคตามที่กฎหมายกำหนด แต่ในเสียงข้างน้อย 3 คน เห็นว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 มาย้อนหลังใช้บังคับเพื่อกำหนดโทษไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายออกหลังจากคดีนี้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

นุรักษ์อยู่ในฝ่ายของตุลาการเสียงข้างมากที่ให้ลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 5 ปี 

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ คดียุบพรรคไทยรักไทย

2. เป็นตุลาการเสียงข้างมาก ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 2 คดี

คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญในปี 2553 และศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ไม่ยุบพรรคจำนวน 2 คดี ได้แก่

(1) คดีระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ คดีนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองร้องขอคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีข้อหาว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมืองไปโดยผิดวัตถุประสงค์

คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 ต่อ 2 เสียง เสียงข้างมาก 4 คน เห็นว่าให้ยกคำร้องขอยุบพรรคในคดีนี้ เนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ต้องพิจารณาประเด็นอื่น

ในส่วนเสียงข้างน้อย 2 คน เห็นว่ายื่นคำร้องได้ และให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์

นุรักษ์อยู่ในฝ่ายของตุลาการเสียงข้างมากที่ให้ยกคำร้องขอยุบพรรคประชาธิปัตย์

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ คดียุบพรรคประชาธิปัตย์คดีที่หนึ่ง

(2) คดีระหว่างอัยการสูงสุดกับพรรคประชาธิปัตย์ คดีนี้อัยการสูงสุดร้องขอคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีข้อหาว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเงินบริจาคจากบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) แล้วไม่แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ

คดีที่สองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 ต่อ 3 เสียง เสียงข้างมาก 4 คน เห็นว่าการยื่นคำร้องของอัยการสูงสุดเป็นการกระทำที่ข้ามขั้นตอนตามกฎหมาย จึงเป็นการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกคำร้อง

ในส่วนเสียงข้างน้อย 3 คน เห็นว่าอัยการสูงสุดสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคได้ แต่ไม่ได้พิจารณาเรื่องการยุบพรรค

นุรักษ์อยู่ในฝ่ายของตุลาการเสียงข้างมากที่ให้ยกคำร้องขอยุบพรรคประชาธิปัตย์

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ คดียุบพรรคประชาธิปัตย์คดีที่สอง

3. ถอดถอนสมัคร สุนทรเวช พ้นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นพิธีกร “ชิมไปบ่นไป”

คดีถอดถอนสมัคร สุนทรเวช ออกจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากรับเป็นพิธีกรรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญในปี 2551

ตุลาการศาลรัฐธรรมูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ตัดสินให้สมัครพ้นจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากการกระทำของสมัครขัดกับรัฐธรรมนูญ 2550 ในเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี

นุรักษ์เป็นหนึ่งในองค์คณะที่ตัดสินคดีนี้ด้วย

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ คดีสมัครพ้นตำแหน่งนายกฯ

4. ยุบพรรคพลังประชาชน

คดียุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้ง ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญในปี 2551 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแยกประเด็นในการตัดสินคดีเป็นสองประเด็นคือ 1) ยุบพรรคพลังประชาชนหรือไม่ 2) ตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ 

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ให้ยุบพรรคพลังประชาชน และลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 5 ปี 

นุรักษ์เป็นหนึ่งในองค์คณะที่ตัดสินคดีนี้ด้วย

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ คดียุบพรรคพลังประชาชน

5. ถอดถอนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นนายกรัฐมนตรี เพราะย้าย “ถวิล เปลี่ยนสี”

คดีถอดถอนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรีเนื่องจากย้ายถวิล เปลี่ยนสี จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในปี 2554 ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญในปี 2557

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ตัดสินให้ยิ่งลักษณ์และคณะรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พ้นตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องจากใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงการโยกย้ายตำแหน่งของ ถวิล เปลี่ยนสี

นุรักษ์เป็นหนึ่งในองค์คณะที่ตัดสินคดีนี้ด้วย

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ คดียิ่งลักษณ์พ้นตำแหน่งนายกฯ

6. รัฐบาลยิ่งลักษณ์กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญ

คดีร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขัดกับรัฐธรรมนูญ ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2557 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแยกประเด็นในการตัดสินคดีเป็นสองประเด็นคือ 1) ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ 2) ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีกระบวนการร่างขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในส่วนของประเด็นเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ขัดกับรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียงเห็นว่าเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญ

แต่ในส่วนของกระบวนการร่างนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นไม่เหมือนกัน ตุลาการเสียงข้างมาก 6 คน เห็นว่ากระบวนการร่างขัดกับรัฐธรรมนูญ

อีก 2 คน เห็นว่ากระบวนการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนอีก 1 คน งดออกเสียง เนื่องจากเห็นว่า ที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ในประเด็นเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไปแล้ว ส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปจากสภา จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงมติในประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายอีก

นุรักษ์อยู่ในฝ่ายของตุลาการเสียงข้างมาก 6 คน ที่มองว่ากระบวนการร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญด้วย

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ คดีร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้าน ขัดรัฐธรรมนูญ

7. เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ

คดีการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2557 โดยมีประเด็นให้ศาลพิจารณาว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น จัดการเลือกตั้งไม่พร้อมกันทุกเขต จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงคะแนนเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 6 ต่อ 3 ตุลาการเสียงข้างมาก 6 คน เห็นว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ขาดอีก 28 เขตเลือกตั้ง จึงถือได้ว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ไม่ได้เกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร โดยหากจัดการเลือกตั้งทั้ง 28 เขตอีกก็ไม่เป็นผลให้การเลือกตั้งเป็นการทั่วกันอีก จึงถือว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ

ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อยอีก 3 คน เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

นุรักษ์อยู่ในฝ่ายของตุลาการเสียงข้างมาก 6 คน ที่มองว่าการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ คดีเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ

8. พ.ร.บ.ประชามติ รธน. 2560 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

คดี พ.ร.บ.ประชามติ ขัดรัฐธรรมนูญ ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 โดยคดีนี้มีประเด็นวินิจฉัยว่าว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง (ห้ามรณรงค์โหวต No) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 หรือไม่ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเกินความจำเป็น และกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ ไม่ขัดหรือหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557

นุรักษ์ เป็นหนึ่งในองค์คณะที่ตัดสินคดีนี้ด้วย

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ คดี พ.ร.บ.ประชามติ ขัดรัฐธรรมนูญ

9. วินิจฉัยให้รัฐมนตรียุค คสช. อยู่ในตำแหน่งต่อได้แม้ถือหุ้นสัมปทานรัฐ

คดีรัฐมนตรียุค คสช. ถือหุ้นสัมปทานรัฐ ขัดรัฐธรรมนูญ ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2562 โดยคดีนี้มีประเด็นพิจารณาคือความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรี 4 คนในรัฐบาล คสช. สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) เนื่องจากมีการกระทำเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และจะเข้าข่ายเป็นการขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) มาตรา 160 (8) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) เนื่องจากตัวเอง คู่สมรส หรือบุตร ถือครองหุ้นบริษัทซึ่งได้รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หรือไม่

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง เห็นว่าการกระทำของรัฐมนตรี 3 ใน 4 คน ไม่เป็นความผิด เพราะได้ถือหุ้นที่มีมาก่อนการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีจึงไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)

นุรักษ์อยู่ในฝ่ายของตุลาการเสียงข้างมาก 6 คน ที่มองการถือหุ้นมาก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่เป็นความผิด

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ คดี รมต. ยุค คสช. ถือหุ้นสัมปทานรัฐขัดรัฐธรรมนูญ

10. ถอดถอนธนาธร พ้น ส.ส. เพราะถือหุ้นสื่อ

คดีธนาธร พ้น ส.ส. เพราะถือหุ้นสื่อ ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2562 คดีนี้มีประเด็นพิจารณาว่า ธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสื่อชื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด หลังการเลือกตั้ง ซึ่งเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง วินิจฉัยให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้นจากการเป็น ส.ส. จากการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ตามที่ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า เป็นการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ ที่ห้าม “เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง

นุรักษ์อยู่ในฝ่ายของตุลาการเสียงข้างมาก 7 คน ที่มองว่าธนาธรยังไม่ได้โอนหุ้น วี-ลัค และให้พ้นจาก ส.ส.

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ คดีธนาธร พ้น ส.ส. เพราะถือหุ้นสื่อ

11. เสียบบัตรแทน ลงคะแนน พ.ร.บ.งบฯ ไม่เป็นโมฆะ

คดีเสียบบัตรแทน ลงคะแนน พ.ร.บ.งบฯ ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2562 คดีนี้มีประเด็นพิจารณาว่า พ.ร.บ.งบฯ ตราขึ้นโดยขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีการลงคะแนนแทนกัน 

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากคะแนน 5 ต่อ 4 เสียง วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่เป็นโมฆะ

นุรักษ์อยู่ในฝ่ายของตุลาการเสียงข้างมาก 5 คน ที่มองว่าการออก พ.ร.บ.งบฯ ไม่เป็นโมฆะ

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ คดีเสียบบัตรแทน ลงคะแนน พ.ร.บ.งบฯ

12. ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ ให้ตัดสิทธิกรรมการฯ ตลอดชีวิต

ในปี 2562 และปี 2563 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินยุบพรรคการเมืองไปสองพรรค คือพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ คดียุบพรรคทั้งสองคดีมีประเด็นที่ศาลพิจารณาที่สำคัญคือ 1) มีความผิดต้องยุบพรรคหรือไม่ 2) กรรมการบริหารพรรคควรถูกตัดสิทธิทางการเมืองกี่ปี

ในประเด็นที่ 1 มีความผิดต้องยุบพรรคหรือไม่

ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ตัดสินให้มีความผิดและยุบพรรคไทยรักษาชาติ

ในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง ตัดสินให้มีความผิดและยุบพรรคอนาคตใหม่

นุรักษ์อยู่ในฝ่ายตุลาการเสียงข้างมาก 1 ใน 7 เสียงนั้น

ในประเด็นที่ 2 ประเด็นการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคกี่ปี จากการตรวจสอบคำวินิจฉัยส่วนตน พบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นไม่เหมือนกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการตัดสิทธิไว้ว่ากี่ปี

ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ตุลาการเสียงข้างมาก 6 คน เห็นว่าเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 10 ปี แต่ตุลาการเสียงข้างน้อย 3 คน เห็นว่าควรเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต

ในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ตุลาการเสียงข้างมาก 8 คน เห็นว่าเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 10 ปี แต่ตุลาการเสียงข้างน้อย 1 คน เห็นว่าควรเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต

ซึ่งตุลาการเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าควรเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต คือ นุรักษ์ มาประณีต เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการเพิกถอนสิทธิไว้ จึงไม่ควรกำหนดระยะเวลา

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของนุรักษ์ คดียุบพรรคอนาคตใหม่

 

5. เป็นองคมนตรีสายศาลคนที่ 3 ขององคมนตรีชุดนี้

ในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 10 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี

คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ”

การแต่งตั้งองคมนตรีนั้นเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

องคมนตรีชุดปัจจุบันมีทั้งหมด 15 คน ก่อนที่นุรักษ์ มาประณีต จะได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นคนที่ 16 โดยมีรายชื่อดังนี้ 

  1. พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก
  2. เกษม วัฒนชัย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  3. พลากร สุวรรณรัฐ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด
  4. อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ อดีตประธานศาลฎีกา
  5. ศุภชัย ภู่งาม อดีตประธานศาลฎีกา
  6. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และอดีตรองหัวหน้า คปค. คนที่ 1 และอดีตรองประธานและอดีตรักษาการประธาน คมช.
  7. พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก และอดีตที่ปรึกษาและอดีตเลขานุการคณะที่ปรึกษา คสช.
  8. พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอดีตสมาชิก คสช. และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. 
  9. จรัลธาดา กรรณสูต อดีตที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ
  10. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และสมาชิก สนช.
  11. พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม
  12. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการพระราชวัง และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
  13. อำพน กิตติอำพน อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี
  14. พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีตผู้บัญชาการทหารบก สมาชิก สนช. และเลขาธิการ คสช. 
  15. พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ สมาชิก สนช. และสมาชิก คสช. 
  16. นุรักษ์ มาประณีต อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดยสัดส่วนของอาชีพที่เข้าไปเป็นองคมนตรีชุดนี้ ประกอบไปด้วย 

  • ทหาร 8 คน 
  • ข้าราชการประจำ 5 คน
  • และผู้พิพากษา 3 คน 

นุรักษ์ถือเป็นบุคคลจากสายตุลาการคนที่ 3 ที่เข้าไปเป็นองคมนตรีในชุดนี้ ซึ่งสองคนก่อนหน้านั้นเป็นอดีตประธานศาลฎีกา 

You May Also Like
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน