มาแล้ว! ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ที่ใช้เวลาสรรหาตั้งแต่ประกาศใช้ รธน.60

 
 
6 เมษายน 2563 เว็ปไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ 4 คน แทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสี่คนเดิมที่หมดวาระลงไปก่อนหน้านี้แล้วหลายปี
ประกาศดังกล่าวได้แต่งตั้งให้ วรวิทย์ กังศศิเทียม ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ แทน นุรักษ์ มาประณีต ที่ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ 11 กันยายน 2557
ในส่วนที่สองแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 4 คน แทนที่คนเดิมที่หมดวาระลง ได้แก่
ตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน
1. อุดม สิทธิวิรัชธรรม ผู้พิพากษาศาลฎีกา
2. วิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาศาลฎีกา
3. จิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา
ผู้ทรงคุณวุฒิสายข้าราชการ 1 คน
1. นภดล เทพพิทักษ์ อดีตอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงต่างประเทศ
ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนที่พ้นจากหน้าที่ตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, จรัญ ภักดีธนากุล, บุญส่ง กุลบุปผา และอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
+++ ส.ว. เลื่อนการพิจารณาคุณสมบัติตุลาการชุดนี้มากถึง 4 ครั้ง เป็นระยะเวลากว่า 162 วัน
ในขั้นตอนการลงมติเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ของวุฒิสภา คณะกรรมมาธิการตรวจสอบประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับเสนอตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ) ได้ขอเลื่อนการพิจารณาคุณสมบัติมากถึง 4 ครั้ง เป็นระยะเวลากว่า 162 วัน
– เริ่มจาก 2 กันยายน 2562 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ขึ้นจํานวน 15 คน โดยกําหนดระยะเวลาการดําเนินการของคณะกรรมาธิการ ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภา มีมติแต่งตั้ง จึงควรจะทำงานเสร็จช่วงกลางเดือนตุลาคม
– 16 กันยายน 2562 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติให้ขยายเวลาการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสามัญออกไปอีก 30 วัน เป็นการเลื่อนครั้งที่หนึ่ง
– 20 ตุลาคม 2562 ที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติให้ขยายเวลาการพิจารณา ออกไปอีก 30 วัน ซึ่งถือเป็นการเลื่อนครั้งที่สอง
– 3 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติให้ขยายเวลาการพิจารณา ออกไปอีก 30 วัน ซึ่งถือเป็นครั้งที่สาม โดยหลักจึงควรจะทำงานเสร็จในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2562
– 6 มกราคม 2563 ประธาน กมธ.ตรวจสอบประวัติ แจ้งว่า ยังมีประเด็นสําคัญที่ทาง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ จําเป็นต้อง ตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานที่สําคัญบางประการเพิ่มเติม จึงขอขยายเวลาการพิจารณาออกไป อีก 15 วัน ถือเป็นการขอขยายเวลาครั้งที่สี่ ซึ่งเกินกว่าที่ข้อบังคับกำหนดไว้ 
– จนกระทั่ง 11 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 จาก 5 คน ตามที่ประกาศแต่งตั้ง ส่วนคนที่ไม่ได้รับการเห็นชอบ คือ ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตัวแทนจากศาลปกครองสูงสุด
+++ ตุลาการ 5 คน อยู่ในตำแหน่งนานกว่า 11 ปี มากที่สุดอยู่ถึง 13 ปี
 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญห้าคนดำรงตำแหน่งมาจนครบวาระตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม 2560 ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล เนื่องจากทั้งห้าคนอยู่ในตำแหน่งมาจนครบ 9 ปีแล้วตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งทั้งห้าคนถูกแต่งตั้งมาตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2551 มีส่วนในการตัดสินคดีทั้งยุบพรรคพลังประชาชน ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งการสั่งให้การเลือกตั้งปี 2557 เป็นโมฆะ
แต่ก่อนหมดวาระลง วันที่ 20 เมษายน 2562 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจ "มาตรา 44" ออกคำสั่งฉบับที่ 24/2560 ให้งดเว้นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และยืดอายุให้ตุลาการทั้งห้าคนทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีการประกาศใช้ พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และเมื่อพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้ ในบทเฉพาะกาลกำหนดว่าตุลาการที่หมดวาระแล้วให้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แล้วเสร็จ
ซึ่งทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งห้าคนได้ดำรงตำแหน่งทั้งหมดตั้งแต่เริ่มได้รับการแต่งตั้ง จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งเป็นระยะเวลากว่า 11 ปี โดยที่นุรักษ์ มาประณีต เคยดำรงตำแหน่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ที่แต่งตั้งโคยคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549  และดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วย ก่อนที่จะเข้าดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้รวมแล้วนุรักษ์เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญยาวนานถึง 13 ปี ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ศาลรัฐธรรมนูญของไทย