เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 เนื่องในวันครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 92 ศพ กลุ่มคนเสื้อแดงจึงจัดงานรำลึกถึงผู้เสียชีวิตบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ขณะที่เครือข่ายประชาธิปไตยก็จัดกิจกรรมบริเวณลานลานพระบรมรูป ร.6 สวนลุมพินี และในกิจกรรมมีการตั้งโต๊ะให้ประชาชนมาลงชื่อเพื่อยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย
เครือข่ายประชาธิปไตย หรือ คปต. เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักกิจกรรมกว่า 30 กลุ่ม อาทิเช่น กลุ่ม 24 มิถุนา, สนนท., แดงสยาม, สมัชชาสังคมก้าวหน้า, องค์กรครู, นักวิชาการ, เสื้อแดงภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ ฯลฯ ซึ่งมีเลขธิการคือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข แต่หลังจากสมยศถูกจับเข้าเรือนจำด้วยข้อหามาตรา 112 ทางกลุ่มก็ดำเนินกิจกรรมเรื่องการล่ารายชื่อกันต่อมา
การล่ารายชื่อครั้งนี้ เป็นการล่ารายชื่อประชาชนให้ครบ 10,000 ชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณา ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา163 ซึ่งกฎหมายที่จะเสนอนั้น เป็นการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มีเพียงสามมาตรา สาระสำคัญหลักๆ มีเพียงประการเดียวคือให้ยกเลิกมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเดิม (ดูร่างกฎหมายได้ตามไฟล์แนบ)
เยี่ยมยอด ศรีมันตะ กรรมการเครือข่ายประชาธิปไตย กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นมติของเครือข่ายประชาธิปไตยทำมาต่อเนื่องจากคุณสมยศ ทำมาได้ประมาณหนึ่งเดือนแล้ว กิจกรรมนี้เกิดจากคนเสื้อแดงที่มีจุดยืนเดียวกันไม่เอามาตรา 112 ต้องการเรียกร้องสิทธิให้กับนักโทษการเมือง
เยี่ยมยอด กล่าวต่อว่า การล่ารายชื่อนี้เริ่มมาได้สักพักแล้ว ไปหลายจุด หลายภาค ตัวแทนแต่ละกลุ่มในเครือข่ายก็ไปรวบรวมมา ใครไปทำกิจกรรมที่ไหนก็จะเอาเรื่องนี้ไปด้วย เอาแบบฟอร์มไปด้วย เข้าใจว่าตอนนี้น่าจะได้ครบหนึ่งหมื่นชื่อแล้ว พร้อมหลักฐานคือสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านครบถูกต้องตามหลักการ
เยี่ยมยอด กล่าวอีกว่า กิจกรรมนี้ถือเป็นยุทธิวิธีในการเคลื่อนไหว สุดท้ายเมื่อยื่นเข้าสภาแล้วจะยกเลิกได้หรือไม่ได้ ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เราคาดหวังการให้สังคมตระหนักรับรู้และได้มีส่วนร่วมมากกว่า เพราะเมื่อก่อนเรื่องนี้ไม่มีใครกล้าพูดถึง อย่าว่าแต่ลงชื่อเลย เราจะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ รัฐบาลข้างหน้าไม่แก้ไม่เป็นไร แต่ที่สังคมต้องรับทราบคือมีคนมาร่วมมากขึ้นๆ และต่อไปจะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแน่นอน
สำหรับเรื่องงบประมาณในการดำเนินการรวบรวมรายชื่อ เยี่ยมยอดยืนยันว่า มาจากชาวบ้านในเครือข่ายลงขันกันเองทั้งหมด
บริบูรณ์ เกรียงวรางกูล หนึ่งในรองเลขาธิการเครือข่ายประชาธิปไตย ที่รักษาการแทนสมยศ กล่าว่า เราไม่ได้จำกัดไว้ที่หนึ่งหมื่นชื่อที่เป็นจำนวนขั้นต่ำตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเกิดได้ยิ่งมากยิ่งดี เมื่อรัฐบาลใหม่จัดตั้งสำเร็จเราก็จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาทันที
บริบูรณ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีประชาชนบางรายอาจจะไม่กล้าลงชื่อ เพราะกลัวจะถูกกลั่นแกล้งตามหลัง แต่เราพยายามอธิบายว่านี่เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนสามารถลงชื่อเพื่อขอแก้ไขกฎหมายได้ และเมื่ออธิบายว่านี่เป็นเรื่องของคนเรือนหมื่นเรือนแสน ถ้าโดนก็ต้องโดนกันหมดทุกคน จึงเข้าใจว่าเป็นไปได้ยาก และนี่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตยซึ่งไม่กลัวอะไรอยู่แล้ว
สำหรับกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท นั้น เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากช่วง 2-3 ปีมานี้ เพราะมีคนถูกจับด้วยข้อหานี้เป็นจำนวนมาก และความผิดตามมาตรานี้มีอัตราโทษที่ค่อนข้างสูง คือ จำคุกตั้งแต่สามถึงสิบห้าปี ส่งผลให้เกิดบรรยากาศความกลัวขึ้นในสังคมและส่งผลกระทบต่อเสรีภาพการ แสดงออกอย่างมาก
ก่อนหน้านี้กลุ่มนิติราษฎร์เคยเสนอแนวทางการปรับปรุงกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ 7 ประการ ดูรายละเอียดคลิ๊กที่นี่ และยังมีนักวิชาการ นักกิจกรรมกลุ่มอื่นๆ มีข้อเสนอต่อกฎหมายมาตรานี้จำนวนมากแตกต่างกันไป แต่เครือข่ายประชาธิปไตยเป็นกลุ่มแรกที่ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 รวมรวบรายชื่อประชาชนให้ครบหนึ่งหมื่นชื่อเพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมลงชื่อยกเลิกมาตรา 112 มีขั้นตอนดังนี้
1. ดาวน์โหลดแบบฟอร์มตามไฟล์แนบ กรอกข้อมูลให้เรียบร้อย เซ็นต์ชื่อให้ถูกต้อง
2. แนบสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง
3. ส่งเอกสารทั้งหมดไปที่ สำนักงานนิตยสาร Red Power อิมพีเรียลลาดพร้าว ห้องAI 28-29 ชั้น 5 เลขที่2539 ลาดพร้าว81-83 แขวงวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0895007232 หรือ 0896663401
ไฟล์แนบ
- 1-ยกเลิก112 (38 kB)
- pdf_2 (70 kB)