นักวิชาการจี้กรรมการสิทธิฯ หาทางออกมาตรา 112

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้จัดวงพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหา กรณีการบังคับใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ภายใต้ชื่อ "การจัดการความรุนแรงในสังคมไทย : กรณีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
สุลักษณ์ ศิวลักษณ์
สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ นักเขียนชื่อดัง กล่าวถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญว่า ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นมีความละเอียดอ่อน คนจะต้องเข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีไว้ทำไมในระบอบประชาธิปไตย เรื่องนี้คนไทยไม่เคยพูดกันเลย และถ้ามีไว้จะอนุรักษ์สถาบันดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของราษฎรส่วนใหญ่อย่างไร ตอนนี้กลายเป็นว่าสถาบันกษัตริย์มีไว้เพื่อประโยชน์ของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์  อันนี้ผิดเป้าหมายเด็ดขาดเลย เพราะต้องมีไว้เพื่อประโยชน์สุขของราษฎร

การจะรักษาสถาบันนี้ไว้ จะต้องมีผู้ซึ่งกล้าหาญทางจริยธรรม โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบต่อบ้านเมือง ตัวอย่าง เช่น ในอังกฤษมีหน่วยที่่มองไม่เห็น คือ ข้าราชการประจำที่มองว่ามีสถาบันกษัตริย์ดีกว่าไม่มี และทำงานนอกเหนือจากนักการเมือง

“มาตรา 112 นั้นเป็นมาตราซึ่งทำร้ายสถาบันยิ่งกว่าอุดหนุนสถาบัน ทุกคนที่เอามาใช้อ้างในหลวง แต่ทำไมไม่ฟังพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน เพราะใครฟ้องร้องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นการทำร้ายพระองค์ท่าน และทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์คลอนแคลน ถ้าเรานับถือในหลวง ถือว่าพระราชดำรัสเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเรารักษาสถาบัน ต้องอย่าจับ คนที่ถูกจับมักเป็นผู้ที่หวังดีต่อพระมหากษัตริย์” สุลักษณ์กล่าว

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ถูกตั้งข้อหาในความผิดตามมาตรา 112 กล่าวว่า นักวิชาการ สื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชน ต้องออกมาพูดให้สังคมไทยรู้ว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ที่แตกต่างจากเวอร์ชั่นที่ได้รับมา ไม่ใช่เป็นการหมิ่นสถาบันไปเสียหมด อย่างในเฟซบุ๊คก็เช่นกันเมื่อมีการพูดอะไรไปคนที่เป็นรอยัลลิสก็จะมาแทรกแซงทันที  ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับสังคมทั่วไปว่าการแสดงออกบางอย่างที่ไม่ตรงกับความเข้าใจไม่ใช่เป็นการหมิ่นสถาบัน  อย่างน้อยก็คือสร้างกระแสสังคมไทยให้กล้าพูดต่างจากเวอร์ชั่นเดิมๆ  
 
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า  ในที่นี้เราจะต้องดูก่อนว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นปัญหาการบังคับใช้ หรือตัวบท ถ้าเป็นการบังคับใช้ แสดงว่า ตัวบทกฎหมายดีแล้ว แต่ถ้าปัญหาที่มีอยู่ที่ตัวบทกฎหมาย จะแก้ที่การบังคับใช้ก็คงไม่ได้ ต้องเข้าไปแก้ที่ตัวบทด้วย

เท่าที่ตนดูกรณีที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาอาจารย์สมศักดิ์ แล้วเห็นได้ว่ามาตรา 112 เป็นปัญหาการบังคับใช้อย่างแน่นอน รวมถึงเป็นปัญหาในระดับตัวบทด้วย หลายคนบอกว่าถ้าไม่ทำความผิดก็ไม่ต้องกลัว แต่กรณีอาจารย์สมศักดิ์ เรื่องนี้ก็ได้รับผลกระทบ มากกว่าผลในทางกฎหมาย
 
วรเจตน์ เสนอว่า ทางออกที่ดีที่สุดที่จะคงมาตรา 112 นี้คือต้องมีโทษปรับที่เหมาะสม และไม่ควรปล่อยให้ใครก็ได้ดำเนินคดีร้องทุกข์กล่าวโทษ การที่ไม่ปล่อยให้ใครก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจะเป็นการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดี  ซึ่งทางนิติราษฎร์เคยเสนอให้ราชเลขาธิการเป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องคดี  เรื่องนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วกรณีที่มีคนเอาตราของสถาบันมาทำพระเครื่องและสำนักราชเลขาธิการแจ้งให้สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินคดี

ในทางกฎหมายต้องทำสองเรื่องเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยธำรงไว้ คือ เหตุยกเว้นความผิด เหมือนกรณีหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ที่ทำได้ และต้องมีเหตุยกเว้นโทษ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง

                                

 

                                

“คนที่อยู่ในคุก ถามว่าเขาผิดจริงไหม บางทีก็ผิดจริง แต่รัฐควรต้องมองเขาอย่างเป็นมนุษย์ เดี๋ยวนี้การวิพากษ์วิจารณ์เข้าสู่พื้นที่สาธารณะมากขึ้น แม้ว่าทำไม่ผิดเลย แต่ก็ถูกตีความว่าผิดมาตรา 112 หมด ทางแก้คือต้องปฏิรูป จะยกเลิกไปเลย หรือประนีประนอมก็ว่ากัน ภาคเอกชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีส่วนสำคัญที่จะเสนอเรื่องให้รัฐบาลเข้ามาจัดการ ตัวโทษมาตรา 112 ไม่เคยมีการยกให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเลย ถ้าดูจากที่ผ่านมา ผมคิดว่า ในเชิงกลไกต้องทำให้เป็นประเด็นตามกฎหมาย โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาให้เหตุผลในเรื่องนี้” วรเจตน์กล่าว
 
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 257 เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีการตีความมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาว่ามีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

และระหว่างนี้ควรให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาตามมาตรา 112 ให้หมดเสียก่อน รวมถึงอยากให้กรรมการสิทธิฯ ประกันตัวคนที่เป็นผู้ต้องหาตามมาตรา 112 ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังสาธารณะให้ได้รับรู้ยิ่งขึ้น

ส่วนในระยะยาว นี่เป็นครั้งแรกที่ภาครัฐยกเรื่องนี้ขึ้นมา เราต้องจะทำห้เรื่องมาตรา 112 ขึ้นมาอยู่บนโต๊ะสาธารณะ ทำให้ไม่เกิดความกลัวและถ้าเราจะพูดถึงมาตรา 112 มากขึ้นก็จะก่อให้เกิดประเด็นการถกเถียงได้

“กรณีแก้ไขมาตรา 112 ผมเห็นว่าภาคประชาชนสามารถเข้าชื่อแก้ไขได้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะบอกว่าการเสนอกฎหมายจะต้องเป็นไปตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ตามมาตรา 112 ก็เป็นเรื่องการละเมิดสิทธิของประชาชนที่จะเสนอกฎหมายได้” ปิยบุตรกล่าว
 
อธิกกิต  แสวงสุข
อธิกกิต  แสวงสุข เจ้าของนามปากกาใบตองแห้ง กล่าวว่า  การใช้มาตรา 112 มากๆ ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันเลย เราต้องสร้างกระแสว่าการที่มีมาตรา 112 ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันอย่างไร เพราะอย่างเช่นกรณีที่อาจารย์สมศักดิ์ กล่าววิจารณ์ฟ้าหญิง ในทางสาธารณะถ้าเราไม่อธิบายให้ดีจะทำให้ต่างชาติเห็นว่าคุณวิพากษ์วิจารณ์ฟ้าหญิงก็เป็นความผิด และทำให้เสี่อมเสียแก่สถาบัน

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนควรเข้าไปตรวจสอบดูแล กับตำรวจ ดีเอสไอ ว่าแจ้งจับและควรออกหมายเรียกหรือไม่ มีการหมกเม็ดอยู่หรือไม่ มีหมายจับที่เขายังไม่รู้ตัวหรือไม่ ไม่ใช่บุกจับอย่างกรณีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข
 
มารค ตามไท
มารค ตามไท กล่าวว่า ผมรู้สึกว่าที่ท่านอื่นพูดมาถูกต้องสำหรับกาลเวลานี้ ในการบังคับใช้มาตรา 112 แต่รู้สึกว่ามันยังไม่ใช่เป็นประเด็นหลักแต่เป็นการพูดรอบๆประเด็นหลักเท่านั้น ประเด็นหลักของสังคมคือคนที่ไม่ต้องการปกป้องสถาบันกษัตริย์มีพื้นที่ในสังคมหรือไม่

“สิ่งหนึ่ง คือ ความจริงต้องออกมา ทุกคนเห็นว่าจะมาถึง ถ้าเราคิดในกรอบที่อาจารย์สุลักษณ์พูดจะถึงแก่นมากกว่า แต่การปกป้องสถาบันด้วยกฎหมาย ให้ระมัดระวังว่าเป็นการปกป้องหรือไม่ วิธีปกป้องดีที่สุดคือให้คนพูด มันจะดีกว่าให้วกวนอยู่ นี่เป็นเรื่องว่าอะไรดีกับสังคม วิธีอยู่ร่วมกันในสังคมจะเป็นวิธีการแก้ มาตรา 112 ไปได้เอง” มารค กล่าว
 
จิตรา คชเดช
จิตรา คชเดช หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีในฐานความผิดตามาตรา 112 กล่าวว่า ดิฉันเคยเป็นคนงานตัดเย็บชุดชั้นในไทรอัมพ์ และเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน และกรรมการสหพันธ์สิ่งทอไทย ซึ่งช่วงรัฐประหาร ปี2549 ก็ถูกส่งมาเป็นตัวแทนต้านรัฐประหาร

ก่อนหน้านั้น ดิฉันก็เอาเสื้อ "ไม่ยืน ไม่ใช่อาชญากร" ที่นักศึกษาคนหนึ่งได้ทำ เอาไปใส่ในรายการกรองสถานการณ์ และมีส.ว.ท่านหนึ่งได้เอาเรื่องนี้มากล่าวในสภาว่าไม่ใช่เรื่องจงใจ เป็นเรื่องเจตนาล้มล้างสถาบันด้วยเรื่องเพียงแค่นี้ และในเว็บผู้จัดการมีคนเขียนคอมเม้นต์ว่า ให้ฆ่าดิฉัน หรือถุยน้ำลายใส่ เป็นเหตุให้นายจ้างนำสิ่งที่ส.ว.ท่านนั้น ที่ไปกล่าวในสภา ยื่นต่อศาล ศาลก็อนุญาตให้เลิกจ้างดิฉัน เพราะเป็นเรื่องเสื่อมเสียกับนายจ้าง โดยศาลให้เหตุผลว่าดิฉันไม่มีจิตวิญญาณชาติไทย ทำให้ดิฉันตกงาน และไม่ได้รับค่าทดแทนอย่างใดๆ

“ดิฉันอยากพูดถึงเรื่องนายสมยศ  คือการใช้เครื่องมือของรัฐ นายสมยศ ถูกคุกคามมาโดยตลอด ที่สุดเมื่อรัฐไม่มีเครื่องมืออะไรก็ตั้งข้อหามาตรา 112 หมายจับก็ออกมาขณะที่นายสมยศไปเขมร ซึ่งหมายจับออกมาแล้วและนายสมยศก็เคยไปเขมรมารอบหนึ่งแล้วแต่ตำรวจก็ไม่ได้จับแต่อย่างใด” จิตตรา กล่าว

จิตรา กล่าวต่อว่า รัฐใช้ม.112 เล่นงานคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เราควรเรียกร้องให้ยกเลิก เพราะเก็บเอาไว้ คนที่เรียกว่าอำมาตย์ก็ได้ประกันตัว แต่คนอื่นก็ถูกเข้าคุกหรือถูกคุกคามต่างๆนาๆ อย่างนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ตอนนี้ดิฉันก็ไม่รู้เป็นอย่างไรบ้างแล้ว
ทั้งนี้ จิตรา เรียกร้องให้ คณะกรรมการสิทธิควรเสนอขอประกันตัวให้พวกที่ถูกตั้งข้องหามาตรา 112 ได้ออกมารับอิสรภาพด้วย
 
จีรนุช เปรมชัยพร
จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า กรณีของตนโดนแจ้งข้อหล่าวหาตามมาตรา 112 กับ ความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นภาคขยายของมาตรา 112 บางรายก็ไม่ใช่ผิดมาตรา 112 โดยตรง มีอีกหลายกรณีที่ไม่เป็นข่าว และบางคนเลือกที่จะต่อสู้เงียบๆเพราะกลัวผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นคนชั้นกลางฐานะดี แต่ไม่นำเรื่องราวมาต่อสู้ในทางสาธารณะเพราะกลัวจะกระทบต่อครอบครัว

ผลกระทบที่เกิดขึ้นมันมากกว่าที่จะทนไหว การที่ต่อสู้เงียบๆโดยไม่ข้องเกี่ยวกับรัฐ เป็นประเด็นสะท้อนการบังคับใช้กฎหมายที่สำคัญว่าความรู้สึกของคนในประเทศ ไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม เป็นปัญหาเรื่องหัวใจหลักกระบวนการยุติธรรม นี่เป็นวิกฤตของสังคม
 
“เรามีสิ่งที่เป็นนักโทษความคิด ความคิดต่างที่ไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ที่มีอำนาจในสังคม สังคมไทยไม่ยอมรับ เรามีนักโทษทางการเมือง ไม่มีกระบวนการดูแลคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรทางความคิด คณะกรรมการสิทธิควรจะดูว่ามีหลักเกณฑ์ไหนที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้บ้าง” จีรนุช กล่าว
 
เดวิด สเตร็กฟัส
เดวิด สเตร็กฟัส  นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า หากเราดูจำนวนคดี ในสมัย 2535 – 2547 มี 5 ถึง 10 คดีที่อยู่ศาลชั้นต้น 2548 มี 30 คดี หลังรัฐประหารมี 126 คดีที่อยู่ศาลชั้นต้น ปีต่อมามี 77 คดี 2552 มี 164 คดี สูงที่สุดที่ประเทศไทยเคยมี ซึ่งคนส่วนมากรับสารภาพเพื่อให้คดีสิ้นสุดลงเพื่ออภัยโทษ  ที่จริงแล้วมีรุ่นใหม่ในคดีหมิ่นที่ไม่รับสารภาพ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มี 40 คดีที่อยู่ศาลอุทธรณ์ และ 9 คดีอยู่ที่ศาลฎีกา แต่ยังไม่ตัดสินคดี ถ้าหากจะเอาผิดคดีหมิ่นก่อน 2547 มี 94 เปอร์เซ็นต์ มี หกเปอร์เซ็นต์ที่รอด มีกว่าสองร้อยกว่าคนที่อยู่ในคุก  

ช่วงท้าย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า คณะกรรมการสิทธิฯได้ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเช่นในกรณีล่าสุดคือของอาจารย์สมศักดิ์ และคุณสมยศ ซึ่งทางคณะกรรมการสิทธิฯมีอำนาจในการเรียกหน่วยงานรัฐ เช่น ดีเอสไอ ตำรวจ หรือราชทัณฑ์ มาให้ข้อมูลต่างๆได้ รวมถึงตรวจสอบหามาตรการที่ไม่ให้ใช้มาตรา 112 มาละเมิดสิทธิประชาชน และต้องไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐแจ้งข้อหาเกินความเป็นจริง

“ในฐานะประชาชนที่เสียภาษี เราให้อำนาจรัฐไปแล้ว เงินที่เราได้ให้ไปไม่ควรนำมาทำร้ายกับประชาชน” นพ.นิรันดร์ กล่าว

 

ที่มาภาพ : Jinx!