ยกเลิกโทษประหาร? เราอยู่ตรงไหนในกระแสโลก

คำถามที่ว่า "ควรมีโทษประหารชีวิตหรือไม่?” ค้างคาอยู่กับวงการกฎหมายทั่วโลกและวงการกฎหมายไทยมาเป็นเวลานาน ต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังรู้สึกว่าโทษประหารชีวิตจำเป็นต่อการรักษาความสงบในสังคม ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนตอบคำถามที่ว่าอย่างเสียงดังฟังชัดมาเสมอว่า 'ไม่ควรมี' และเรียกร้องเรื่องนี้สวนกระแสสังคมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศยอมยกเลิกโทษประหารชีวิต เหลือเพียง58 ประเทศทั่วโลกที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่มีเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่นำโทษประหารชีวิตมาใช้จริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบเอเชียและตะวันออกกลาง และหนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทย
    
ส่วนวิธีการที่ใช้เพื่อปลิดชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ การตัดศีรษะ การแขวนคอ การยิงเป้า การฉีดยา การใช้กระแสไฟฟ้า การรมแก๊ส แตกต่างกันไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังมี 'โทษประหารชีวิต' เป็นโทษขั้นสูงสุดบัญญัติในกฎหมายอาญา ซึ่งได้แก้ไขกฎหมายเมื่อปีพ.ศ.2546 จากวิธีการ 'ยิงเป้าให้ตาย' เป็น 'ฉีดยาให้ตาย' และใช้มาจนถึงปัจจุบัน ความผิดในกฎหมายไทยที่มีโทษถึงประหารชีวิต เช่น ค้ายาเสพติด ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดฐานกบฏ ฆ่าคนตายโดยเจตนา เป็นต้น และ ล่าสุด เมื่อปีพ.ศ.2552 มีการรื้อฟื้นโทษประหารชีวิตมาใช้กับนักโทษคดียาเสพติดสองราย หลังจากประเทศไทยเว้นจากการประหารชีวิตมาเป็นเวลา 6 ปี ซึ่งถือเป็นความถดถอยของแนวคิดสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

กิจกรรมต่อต้านโทษประหารชีวิตในประเทศไทยก็ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่เรื่อย ๆ ล่าสุด Amnesty International (AI) หรือ องค์กรนิรโทษกรรมสากล ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในระดับสากลที่เรียกร้องในประเด็นนี้อย่างเข้มข้นมาโดยตลอด ได้จัดงาน Light Up Night: "ชีวิตติดใบสั่ง: A Ticket to Kill" ขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 ที่ ร้านชา ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เผื่อเป็นกระตุ้นเตือนสังคมถึงประเด็นเรื่องการประหารชีวิตอีกครั้ง

Amnesty เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถิติของโทษประหารชีวิตทั่วโลก
    
"ในระยะเวลา10ปีที่ผ่านมา31ประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติ แต่ประเทศ จีน อิหร่าน ซาอุดิอาราเบีย สหรัฐอเมริกาและเยเมนยังคงเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในโลกโดยที่หลายกรณีมีความขัดแย้งโดยตรงกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ"

"จำนวนการประหารชีวิตได้ลดลง ในปี 2553มีบุคคลถูกประหารชีวิตทั้งหมด527คนในขณะที่ในปี 2552มีคนถูกประหารชีวิตทั้งหมด714คน แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่ามีประชาชนจีนหลายพันคนถูก ประหารชีวิตในปี 2553ในขณะที่ประเทศจีนได้ปิดบังข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิตต่อสาธารณะ"

“ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็ นประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ยงมีการประหารชีวิต ในปี 2553 สหรัฐอเมริกามีคำพิพากษาประหารชีวิตทังหมด 110 คดี ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเพียงหนึ่งในสามของคาพิพากษาที่เกิดขึ้นกลางทศวรรษ 2530 ในเดือนมีนาคม 2554 มลรัฐอิลลินอยส์กลายเป็นมลรัฐที่ 16 ในสหรัฐอเมริกาที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต"

“ในปี 2553 คำพิพากษาประหารชีวิตและการประหารชีวิตลดน้อยลงในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในปี 2552 แต่อย่างไรก็ตามโทษประหารชีวิตที่ถูกบังคับใช้มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หลังจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมและกับข้อหาที่ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “อาชญากรรมที่รุนแรงที่สุด” เช่น การค้ายาเสพติดหรือการคบชู้ คำพิพากษาเหล่านั้นจึงขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ”

"อัตราส่วนจำนวนมากของการประหารชีวิตและการพิพากษาโทษประหารชีวิตในปี 2553 ในประเทศจีน อียิปต์ อินโดนีเซีย อิหร่าน ลาว ลิเบีย มาเลเซีย ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาราเบีย และเยเมนมีความเกี่ยวโยงกับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด"

ความเชื่อพื้นฐานทางอาชญาวิทยาให้เหตุผลหลักๆ ของโทษประหารชีวิตไว้ 3 ประการ คือ หลักการตอบแทน เป็นบทลงโทษที่สมน้ำสมเนื้อ หลักการแก้แค้นแทนผู้ถูกกระทำความผิดและญาติ และหลักการเป็นเยี่ยงอย่าง คือ เป็นตัวอย่างให้สังคมและคนในสังคมไม่กระทำความผิดในแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หลักอาชญาวิทยายังมีเหตุผลเบื้องหลังอันสำคัญของการลงโทษสำหรับโทษจำคุกหรือปรับว่า เป็นการลงโทษเพื่อให้หลาบจำและสำนึกผิดได้ ซึ่งหลักการดังกล่าวไม่สอดคล้องโทษประหารชีวิตอย่างแน่นอน ยังไม่นับหลักการการให้ 'โอกาสที่สอง' ให้ผู้กระทำความผิดกลับตัวกลับใจและกลับคืนสู่สังคม นักโทษประหารชีวิตที่ต้องรับโทษจริง คงไม่มีโอกาสเลยที่จะสำนึกถึงความผิดที่ทำและแก้ตัวใหม่อีกครั้ง

ในบรรดาผู้ที่เชื่อถือหลักการสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมกันของมนุษย์ นอกจากจะมองการประหารชีวิตเป็นอาชญากรรมที่ไม่ต่างจากการฆาตรกรรมที่กระทำโดยรัฐแล้ว ยังมีเหตุผลหลักๆ ที่จะต้องได้ยินเสมอเมื่อพูดถึงการไม่เอาโทษประหารชีวิต เช่น กระบวนการยุติธรรมยังคงมีการจับผิดตัว หรือ จับ "แพะ" และมีผู้บริสุทธิ์จำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตไปด้วยความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ งานวิจัยจากหลายประเทศชี้ให้เห็นว่าโทษตามกฎหมายที่สูงไม่มีผลให้อาชญากรรมลดลง เพราะขณะกระทำความผิดอาชญากรจะเชื่อเสมอว่าจะหลบหนีการจับกุมได้

ก่อนหน้าปี 2552 ประเทศไทยเว้นการประหารชีวิตเป็นเวลาต่อเนื่องกันถึง 6 ปี เป็นสัญญาณที่ดีของการเรียกร้องอันยาวนานของบรรดานักสิทธิมนุษยชนผู้ยืนกรานถึงคุณค่าสูงสุดของมนุษย์ในการมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2552 มีการรื้อฟื้นโทษประหารขึ้นอีกครั้ง นักโทษชายสองคนถูกประหารชีวิตด้วยวิธีการฉีดยาที่เรือนจำกลางบางขวางด้วยข้อหาค้ายาเสพติดหลังจากถูกตัดสินตั้งแต่ปี 2544

ขณะที่สถิติแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะยกเลิกโทษประหารชีวิตออกจากกฎหมายกันมากขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนกำลังเติบโตขึ้นอยู่เหนือแนวคิดเรื่องการลงโทษให้รุนแรงในสังคมแบบเก่า ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในกระแสโลกาภิวัตน์ของยุคสมัยนี้ จะยังคงฝืนเชื่อมั่นกับจารีตประเพณีการลงโทษที่ตกทอดกันมาแต่สมัยโบราณ หรือจะก้าวเดินตามแบบฝรั่งไปให้เห็นกันว่าสังคมจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร

ยังคงเป็นโจทย์ที่ค้างคาไว้ให้ถกเถียงกันไปอีกนาน