กฎหมายฮาเฮ : จะโดนโทษละเมิดอำนาจศาลได้ที่ไหนบ้าง

ศาลยุติธรรม เป็นสถานที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากเข้าไปใช้บริการมากนัก แต่หากเข้าไปในศาลแล้วสิ่งที่เราทุกคนต้องทำ คือ ต้องให้ความเคารพยำเกรงศาล หากเราปฏิบัติตัวไม่เรียบร้อย ก่อความวุ่นวายภายในศาล เราอาจมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้

กฎหมายฮาเฮในตอนนี้ จึงนำเสนอเรื่อง ละเมิดอำนาจศาล คำๆ นี้อาจจะได้ยินผ่านหูกันมาบ้างใช่ไหม จริงๆ แล้วคำนี้เขียนชัดเจนอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา30 ซึ่งบัญญัติให้ศาลออกข้อกำหนดใดๆ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเที่ยงธรรมและรวดเร็ว

นั่นหมายความว่า หากใครก็ตามกระทำความผิดในบริเวณศาล หรือแสดงอาการไม่เรียบร้อย ไม่เคารพศาล ศาลสามารถจะสั่งลงโทษผู้นั้นได้ทันทีเลยโดยไม่ต้องไปแจ้งความกับตำรวจ ไม่ต้องสืบสวนสอบสวน ไม่ต้องมาฟ้องกันใหม่ ตามมาตรา33 นั้นกำหนดบท ลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท

กฎหมายนี้จึงเหมือนให้อำนาจเผด็จการแก่ศาล และปิดปากไม่ให้พูดวิจารณ์ศาลในทางเสียๆ หายๆ ซึ่งในแง่หนึ่งก็จำเป็นสำหรับกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองให้ศาลมีอิสระจากแรงกดดันของกระแสสังคม และพิจารณาคดีไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ อย่างเที่ยงธรรม

แต่น่าสงสัยอยู่ว่า กฎหมายที่ให้อำนาจศาลมากมายเช่นนี้ควรจะมีขอบเขตการนำมาใช้มากแค่ไหน

คำพิพากษาฎีกาที่ 3227/2542 บอกว่า การเรียกเงินเพื่อไปวิ่งเต้นพนักงานอัยการและเจ้าพนักงานตำรวจ แม้จะทำให้เกิดผลแก่คดีในศาล แต่เมื่อไม่ได้กระทำในบริเวณศาลแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล

เท่ากับว่า กฎหมายนี้ มีอำนาจอยู่แค่ในบริเวณรั้วของศาลเท่านั้น

แต่คำพิพากษาฎีกาอีกคดีคือ ฎีกาที่ 5462/2539 บอกว่า มีบุคคลหนึ่งเรียกเงินโดยอ้างว่าจะเอาไปให้ผู้พิพากษาเพื่อช่วยเหลือคดี แม้กระทำนอกบริเวณศาล แต่เป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้มีผลในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ถือว่า เป็นการละเมิดอำนาจศาล

อ้าว! แต่พอเป็นการเรียกเิงินไปให้ผู้พิพากษา แม้่จะอยู่นอกศาล แต่ก็ถูกลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลได้เช่นกันนะครับ อย่างนี้ขอบเขตกฎหมายก็เลยขยายได้ ขึ้นอยู่กับการกระทำด้วย!

รู้อย่างนี้เราจะเอาเงินไปให้ใครดีครับ เอ้ย! ไม่ใช่ อย่านะครับ การให้สินบนหรืออามิสสินจ้างเป็นสิ่งที่ไม่ดีอย่างยิ่งนะครับ ถึงไม่ผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ก็ผิดฐานอื่นได้นะครับ

 

…….กฎหมายอย่างนี้ มีด้วยหรือนี่

 

ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย วันที่ 10 มีนาคม 2554