นักกฎหมายค้่าน พ.ร.บ.ชุมนุม จ่อคิวในสภา

แถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

เผยแพร่ ณ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔

        

                ตามที่สภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…..ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอรวม ๕ ฉบับในวันพุธที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๔ นั้น

                องค์กรสิทธิมนุษยชนดังมีรายชื่อแนบท้าย เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะของรัฐบาล มีสาระสำคัญที่อาจขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ และหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของไทยหลายประการ จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

               ๑. ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือมาตรา ๒๙ ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยกฎหมายเท่าที่จำเป็นและกฎหมายนั้นจะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ  แต่ร่างกฎหมายฉบับคณะรัฐมนตรีบัญญัติให้ประชาชนที่ประสงค์จะชุมนุมสาธารณะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าต่อผู้บัญชาการ ตำรวจนครบาล  หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่จัดการชุมนุม  เพื่อจัดการชุมนุมไม่น้อยกว่า ๗๒ ชั่วโมง ก่อนเริ่มการชุมนุม  หากแจ้งการจัดการชุมนุมน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจากบุคคลดังกล่าวเสียก่อน รวมทั้งการเดินขบวนก็ต้องขออนุญาตด้วยเช่นกัน ย่อมทำให้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่ต้องการแสดงออกเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนจะกระทำไม่ได้ จึงเป็นการออกกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของการใช้เสรีภาพในการชุมนุม และไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ถือว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะการใช้เสรีภาพในการชุมนุมไม่จำเป็นต้องขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้จัดการชุมนุมเพียงแต่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อขอให้อำนวยความสะดวกเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปโดยเรียบร้อย  หากการชุมนุมนั้นจะกระทบต่อความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ รัฐต้องจัดการให้ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ใช้ ที่สาธารณะได้ใช้สิทธินั้นอย่างเสมอภาคกัน

                ๒.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๕๐ มาตรา ๕๗  ซึ่งกำหนดให้การออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ  แต่การออกกฎหมายฉบับนี้ถือว่าส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ในกระบวนการและขั้นตอนการออกกฎหมายดังกล่าวกลับขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน  โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุม  จึงขัดต่อหลักการการมีส่วนร่วมดังกล่าวข้างต้น

                ๓. สำหรับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีการออกกฎหมายฉบับนี้  เพื่อแก้ปัญหาการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ทั้งที่มีกฎหมายอาญาและเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายได้อยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่รัฐละเลยเพิกเฉยไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ  จนก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง  ดังนั้น  การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงควรปรับปรุงประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่อย่างจริงจัง  แทนการออกกฎหมายฉบับนี้  

                ๔.  ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถบรรลุเจตนารมณ์ในการจัดการการใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้  หากนำรูปแบบการชุมนุมทางการเมืองมาเป็นแม่แบบในการร่างกฎหมาย  เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถควบคุมการชุมนุมทางการเมืองได้  แต่จะมีผลบังคับใช้กับการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธของประชาชน  ที่ชุมนุมเพื่อเรียกร้องการเข้าถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการแก้ไขปัญหา ทั้งที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ามีการชุมนุมในลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียหรือความรุนแรงแต่อย่างใด จึงอาจเป็นการใช้กฎหมายที่เป็นการเลือกปฏิปัติที่ไม่เป็นธรรม  ดังนั้น  แทนที่จะออกกฎหมายควบคุมการชุมนุม  รัฐบาลควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุมที่ได้รับการฝึกฝนสำหรับการควบคุมฝูงชน  เข้าใจจิตวิทยามวลชน และสามารถตัดสินใจหรือปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองเสรีภาพของผู้ชุมนุม  และคุ้มครองความสะดวกของประชาชนอื่นที่จะใช้ที่สาธารณะเพื่อไม่ให้มีการกระทบกันของเสรีภาพของทั้งฝ่ายอย่างเกินสมควร 

                ด้วยเหตุดังกล่าว  องค์กรสิทธิมนุษยชนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งและคัดค้านการออกกฎหมายเพื่อควบคุมจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมฉบับนี้ เพราะเชื่อว่าสังคมสามารถเรียนรู้  จัดการและพัฒนาการใช้เสรีภาพในการชุมนุมร่วมกันได้  ผู้ชุมนุมมีหลักการและกฎกติการ่วมกันในการชุมนุม  คือสงบ  ปราศจากอาวุธและไม่กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น  นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าการออกกฎหมายไม่สามารถแก้ปัญหาได้เสมอไป  แต่การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความเป็นจริงน่าจะเป็นทางออกที่สังคมสามารถจัดการและเรียนรู้ร่วมกันได้  เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน  ในทางกลับกันหากกฎหมายออกมาโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงย่อมก่อให้เกิดปัญหาและไม่สามารถบังคับใช้ 

 

ด้วยความเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อิสาน

กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา

โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม