ประสานเสียงค้านร่างความเท่าเทียมระหว่างเพศ ฉบับ พม. คุ้มครอง ย้ำต้องไม่มีข้อยกเว้น

เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ และเครือข่ายภาคประชาชน จัดแถลงข่าวคัดค้านร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ที่เสนอโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาในการประชุมสมัยหน้านี้ ขณะที่กลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพ (We Peace) ก็ออกแถลงการณ์ค้านในทำนองเดียวกัน

ร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. …. ที่เสนอโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น มีประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย คือ การกำหนดคำนิยามคำว่า "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ" ให้มีข้อยกเว้นได้ในกรณีที่ "มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ"

ซึ่งเครือข่ายองค์ที่ทำงานด้านผู้หญิง เห็นว่า การส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างเพศตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ไม่ควรมีข้อยกเว้นใดๆ

พร้อมกันนี้เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิง ยังเสนอ ร่างกฎหมายฉบับประชาชนประกบคู่กับร่างกฎหมายของรัฐ โดยมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน ใช้ชื่อว่า ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ….. โดยกำหนดคำนิยามคำว่า "การเลือกปฏิบัติ" โดยไม่มีข้อยกเว้น เพิ่มคำนิยามคำว่า "เพศ" "เพศภาวะ" ให้ชัดเจน ตลอดจนเปิดพื้นที่ให้เอกชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติการ

ด้านกลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพ (We Peace) องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านผู้หญิงมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลทบทวนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยขอให้กำหนดคำนิยามเรื่อง"การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ" โดยไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน

 

 

 

แถลงการณ์ กลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพ  We Peace คัดค้าน
ร่าง พรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ฉบับของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

               ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2553 เตรียมส่งร่าง พรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ฉบับของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าสู่สภาในสมัยประชุมต่อไปนั้น ปรากฎว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดคำนิยามการเลือกปฏิบัติโดยมีข้อยกเว้นให้สามารถเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ  ทางศาสนา  หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเท่ากับเปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ  

               กลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพ(We Peace)เป็นองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิด้านต่างๆ เพื่อร่วมกันนำเสนอปัญหาของผู้หญิงมุสลิมที่ต้องเผชิญสู่สาธารณะ ช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่พลัดพรากจากครอบครัวให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรณรงค์ให้มีการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็ก โดยมีพื้นที่ทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง กลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ด้วยความห่วงใยอย่างยิ่งว่าร่างพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับนี้ ยังขาดการกำหนดมาตรการที่จำเป็นด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างแท้จริง เพียงแต่ได้กำหนดให้เป็นภารกิจของ คณะกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมระหว่างเพศ   ร่างพระราชบัญญัติฯฉบับนี้ จึงยังขาดหลักประกันว่า จะมีการดำเนินงานส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคทางเพศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

              We Peace จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังนี้

              1.ขอให้ทบทวน ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยกำหนดคำนิยามการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในทุกรูปแบบที่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล โดยไม่มีเงื่อนไขข้อยกเว้น และกำหนดให้มีหลักประกันสิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยมีมาตรการส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างแท้จริงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้  

              2.กำหนดให้มีสำนักงานส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศที่จะเป็นกลไกระดับชาติที่สามารถประสานการทำงานกับกระทรวงต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ากลไกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

               3.ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา ขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้และขอให้มีการแต่งตั้งตัวแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงสัดส่วนของสตรี รวมถึงสตรีมุสลิมด้วย

               กลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพเชื่อมั่นว่า ศาสนาทุกศาสนาโดยเฉพาะศาสนาอิสลามให้การรับรองสิทธิความเสมอภาคของผู้หญิงให้เท่าเทียมกับชาย อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อการดูแลผู้หญิงและเด็กหญิง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

………………

ติดต่อ นางปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ
เบอร์โทร 087-2939556
ผู้อำนวยการกลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพ