เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ สภาร่างต้องยึดโยงประชาชน

10 ธันวาคม 2566 วันรัฐธรรมนูญ เวลา 14.00 – 17.00 น. สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนา PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อประชาชน ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมองไปข้างหน้าถึงการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 
ร่วมพูดคุยโดย
๐ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล 
๐ นิกร จำนง : โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติ
๐ รศ. นันทนา นันทวโรภาส : คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก
๐ รศ. มุนินทร์ พงศาปาน : อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๐ ผศ. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย : อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รัฐธรรมนูญ 60 เครื่องมือสืบทอดอำนาจรัฐประหาร

รศ.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นผลมาจากการศึกษาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญหลายประเทศ ศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรปอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส หรือประเทศในเอเชีย รวมถึงบทเรียนในอดีต จนก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ทางรัฐธรรมนูญ เช่น การให้อำนาจ สว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ ความแปลกประหลาดของประเทศไทย คือ การมีผู้เชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าตั้งคำถามว่าบุคคลเหล่านี้ต้องร่างรัฐธรรมนูญบ่อยขนาดไหนถึงจะมีความเชี่ยวชาญในการเขียนรัฐธรรมนูญ
มุนินทร์ระบุว่า รัฐธรรมนูญหลายประเทศทั่วโลกสามารถแบ่งได้เป็นสองลักษณะ
1. รัฐธรรมนูญที่รับรอง ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2. รัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือในการจำกัดบทบาทของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยสามารถใช้อำนาจได้อย่างบริบูรณ์ ผ่านการวางกลไกต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 เข้าข่ายจะเป็นแบบนี้ รวมถึงรัฐธรรมนูญไทยในอดีตหลายๆ ฉบับก็เข้าข่ายเป็นกรณีนี้ 
หากดูแนวคิดในการออกแบบผู้ร่างรัฐธรรมนูญของไทย จะมีมุมองที่มองประชาชนเสมือนเป็นผู้เยาว์ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังไม่มีวุฒิภาวะ ต้องมีผู้แทนโดยชอบธรรมมาทำการแทนหรือสามารถยกเลิกเพิกถอนการกระทำได้ องค์กรรวมถึงกลไกต่างๆ ก็เปรียบเสมือนผู้แทนโดยชอบธรรม  นี่คือแนวคิดที่พอเห็นได้จากเบื้องหลังรัฐธรรมนูญ 2560
ในความเห็นของมุนินทร์ การที่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีความชอบธรรม ทั้งในแง่กระบวนการ และในแง่ของเนื้อหา ความบกพร่องร้ายแรงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้หากเปรียบเทียบในทางกฎหมายเอกชน ก็จะตกเป็นโมฆะได้
ด้านผศ. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ (Constitutional Coup) ที่รัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นเครื่องมือขยายอำนาจหลังมีการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 2560 ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของกรณีนี้ 
วัตถุประสงค์ของการรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ พรสันต์อธิบายว่ามีสี่ข้อด้วยกัน
1. พยายามเข้าไปลดทอนความเป็นประชาธิปไตย
2.พยายามครอบงำ ควบคุมการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ
3. กำจัดศัตรูทางการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ
4. คงสถานะและอำนาจของคณะรัฐประหารของรัฐธรรมนูญ
ตัวอย่างของการใช้กลไกเหล่านี้ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น การออกแบบระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม การกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมือง ซ้ำยังดึงเอาองค์กรตุลาการอย่างศาลฎีกาเข้ามาของเกี่ยวกับการเมืองผ่านการพิจารณาคดีจริยธรรมนักการเมือง การกำหนดให้มี 250 สว. ชุดพิเศษ ที่มีอำนาจมาก เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรี การเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ  รวมถึงการกำหนดกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่สร้างเงื่อนไขให้แก้ไขได้ยาก
นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างการทำประชามติ ก็ไม่ชอบธรรม เพราะประชาชนไม่ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ 
ภาพรวม เราจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือใช้เพื่อประโยชน์อะไรบางอย่าง
การทำรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ ส่งผลกระทบสามประการ
1. เป็นบ่อนทำลายให้ประชาธิปไตยในประเทศลดน้อยถอยลง
2. กระทบกับหลักนิติธรรมในประเทศ
3. กระทบต่อสังคม ก่อให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งในสังคม ซึ่งรัฐธรรมนูญแบบนี้อาจขัดต่อแนวคิดรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ที่มีเนื้อหามุ่งลดความขัดแย้งในสังคม 

สภาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องยึดโยงกับประชาชน

ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล  ระบุว่าเราควรใช้โอกาสในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นี้ สร้างฉันทามติใหม่ของสังคมไทย ที่ประชาชนที่มีความแตกต่าง มีความหลากหลาย ดังนั้น การออกแบบคำถามประชามติรัฐธรรมนูญใหม่เอง ก็ไม่ควรมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไข 
หากเรามองว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ การออกแบบสสร. ก็ควรจะมีความยึดโยงกับประชาชน พรรคก้าวไกลเห็นว่าควรมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยที่มีประเด็นห่วงกังวล เช่น การให้ สสร. เลือกตั้งทั้งหมดอาจจะทำให้กลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณะเฉพาะไม่ได้มีโอกาสเข้าไปในสภา เป็นปัญหาเชิงเทคนิคปลีกย่อยซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเอามาใส่ไว้ในคำถามประชามติ แต่สามารถออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสำคัญที่ควรยึดถือได้ ชัยธวัชเห็นว่าสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ คือการยึดโยงกับประชาชน
พรรคก้าวไกล มีจุดยืนว่า สสร. ซึ่งเป็นผู้แทนประชาชน ควรเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ โดยไม่เป็นแปลงระบอบการปกครองและรูปแบบของรัฐ 
รศ. นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวถึงการออกแบบการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 
1. สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องยึดโยงกับประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้บังคับกับประชาชนทั้งประเทศ คนที่ไปเขียนรัฐธรรมนูญจะต้องสามารถสะท้อนปัญหาประชาชนได้
2. สสร. ต้องเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำจากอำนาจใดๆ เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกร่างออกมาตามใบสั่งของผู้มีอำนาจผู้ใดผู้หนึ่ง
3. สสร. ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้มากที่สุด เช่น การรับฟังความคิดเห็นประชาชน
4. จะต้องมีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล เช่น ตรงตามกรอบเวลาไม่ยืดเยื้อยาวนาน 
คุณลักษณะของ สสร.
1. ควรจะมีความหลากหลาย เพราะรัฐธรรมนูญใช้บังคับกับทุกคน
2. อายุของ สสร. ภาพรวมส่วนใหญ่จะกำหนดว่า สสร. ต้องมีอายุในช่วง 35 ปี แต่นันทนาเห็นว่าแค่มีสิทธิเลือกตั้ง อายุ 18 ปีก็ควรจะมาเป็น สสร. ได้แล้ว
3. ควรเปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ ผู้ที่เคยเป็น สสร. สส. สว. ไม่ควรเข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้คนที่ไม่เข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยรู้สึกว่าต้องตอบแทนใคร
นันทนา แสดงความเห็นว่า สสร. ควรมีประมาณ 150-200 คน สมมุติมี 200 คน จำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ขณะที่จำนวนที่เหลืออีก 50 คนมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ให้ สส. เลือกนักวิชาการ ภาคประชาสังคม 

คณะกรรมการศึกษาประชามติเดินหน้ารับฟังความเห็น สรุปปลายปี 66

นิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติ เล่าถึงมุมมองส่วนตัวที่มีต่อรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นนักรัฐศาสตร์ มองว่ารัฐธรรมนูญเปรียบเสมือน ระบบปฏิบัติการ (operating system : os) ซึ่งมีความสำคัญมาก ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2560 และไปโหวตเห็นชอบในการทำประชามติปี 2559 แต่เมื่อประชามติผ่านก็ต้องยอมรับในผล และก็ตั้งใจที่จะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญ
นิกรเล่าถึงภาพรวมจากการไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนมาว่า เท่าที่สอบถามประชาชนส่วนใหญ่ประชาชนเห็นด้วยให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ คนที่ไม่เห็นด้วยเป็นส่วนน้อย และส่วนใหญ่เห็นด้วยให้มี สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญ และตอนนี้กำลังเดินหน้าฟังเสียงสมาชิกรัฐสภา ทั้ง สส. และ สว. ในฐานะผู้ที่จะต้องลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มี สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
ในฐานะที่ตนเป็นโฆษกคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติ ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี วันที่ 22 ธันวาคม 2566 จะสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และวันที่ 25 จะประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ นิกรประเมินว่ากระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เฉพาะตัวรัฐธรรมนูญเองจะใช้เวลาประมาณสามปี ยังไม่รวมการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีก 11 ฉบับ
รับชมไลฟ์ย้อนหลัง https://www.facebook.com/pridibanomyonginstitute/videos/1510264486484212