ชวนดูนิทรรศการ 3 ปี 112 “ผู้ใด หมิ่นประมาท”

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ระหว่างที่กระแสการชุมนุมของกลุ่มราษฎรกำลังเข้มข้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นออกแถลงการณ์ว่าจะบังคับใช้กฎหมาย ทุกฉบับ ทุกมาตรา กับผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นเสมือนการส่งสัญญาณว่าจะบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเข้มข้นอีกครั้ง หลังจากที่ได้มีการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2561 

ในโอกาสครบรอบ 3 ปี ที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำกลับมาบังคับใช้อย่างเข้มข้นจนส่งผลให้ในช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมาผู้จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สะสมสูงถึง 262 คน (นับถึง 10 พฤศจิกายน 2566) ไอลอว์ถือโอกาสประมวลเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดสามปีนี้เป็นนิทรรศการ “ผู้ใดหมิ่นประมาท” ที่จะพาผู้ชมย้อนทบทวนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดสามปีที่ผ่านมา ทั้งใบหน้าและเรื่องราวของผู้ถูกดำเนินคดี คำพิพากษาที่ออกมา รวมถึงข้อความที่ผู้ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 ส่งออกมาจากเรือนจำถึงครอบครัวและเพื่อนๆ ของพวกเขา 

นอกจากนั้น เรายังจะชวนดูด้วยว่าเพื่อให้ผู้ที่กำลังถูกคุมขังมีโอกาสออกมาสัมผัสอิสรภาพและให้คนที่กำลังรอการพิจารณาคดีหรือรอฟังคำพิพากษาไม่ต้องถูกคุมขังเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น พอจะมีวิธีการหรือทางออกอย่างไรบ้าง และการจะไปถึงทางออกนั้นจะมีอะไรรออยู่บ้าง 

นิทรรศการ “ผู้ใดหมิ่นประมาท” แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็นเจ็ดส่วน

“ผู้ใดหมิ่นประมาท” ประมวลชื่อและภาพถ่ายเท่าที่มีข้อมูลของคนที่เคยถูกตั้งข้อหาด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นับตั้งแต่ช่วงปี 2549 โดยในส่วนนี้ ผู้ชมสามารถหยิบหนังสือ “Never Stop คนและคดียังไปต่อ” หนังสือรวบรวมบทสัมภาษณ์จำเลยคดีมาตรา 112 ยุคการชุมนุมของราษฎร ที่เรานำมาตัดเป็นแผ่นๆ ติดมือกลับบ้านไปอ่านได้ และใครที่อยากจะอ่านหนังสือแบบเต็มๆ ก็สามารถแวะซื้อได้ที่ iLaw Shop บริเวณชั้นสองของนิทรรศการ 

“ผู้ใดตัดสิน” จัดแสดงสถิติและตัวอย่างคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในยุคการชุมนุมของกลุ่มราษฎร โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็นสามประเภท ได้แก่ คำพิพากษาที่ศาลตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเคร่งครัด คำพิพากษาที่ศาลตีความขยายความคุ้มครองของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่น ตีความให้คุ้มครองอดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว และ คำพิพากษาคดีมาตรา 112 ที่มีมูลเหตุจากการแสดงศิลปะ

“ผู้ใด(ยัง)สนใจ” ชวนย้อนดู Engagement ของผู้ชมที่มีต่อการรายงานข่าวหรือเนื้อหาอิ่นๆ เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บนช่องทางต่างๆ ของ iLaw ทั้ง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ระหว่างปี 2564 – 2566 ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของผู้ชมต่อเรื่องราวแวดล้อมมาตรา 112 ที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา

“ผู้ใดอยู่ในเรือนจำ” ประมวลภาพและเรื่องราวของประชาชนที่กำลังถูกคุมขังด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นิทรรศการในส่วนยังนี้ยังรวบรวมจดหมายและความในใจของผู้ถูกคุมขังที่ส่งออกมาถึงคนในครอบครัวและเพื่อนๆ ระหว่างถูกคุมขังด้วย 

“ผู้ใดห่วงใย” รวบรวมจดหมายที่ประชาชนและเพื่อนร่วมอุดมการณ์เขียนและส่งเข้าไปในเรือนจำ เพื่อส่งความในใจและความห่วงใยให้คนที่ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 รู้ว่าพวกเขาไม่ได้ต่อสู้อย่างเดียวดาย นิทรรศการในส่วนนี้ยังมีป้ายที่เคยถูกใช้งานในกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” กิจกรรมยืนให้กำลังใจผู้ถูกคุมขังมาจัดแสดงไว้ด้วย นอกจากนั้นเราก็อยากชวนผู้ชมนิทรรศการเขียนข้อความให้กำลังใจผู้ถูกคุมขังในนิทรรศการส่วนนี้ด้วย

“ผู้ใดเสนอ” ประมวลเรื่องราวการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการ “เข้าชื่อเสนอกฎหมาย” เพื่อให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปี 2555 และเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปี 2564 โดยนิทรรศการนี้พิพิธภัณฑ์สามัญชนได้รวบรวมหนังสือพิมพ์ เอกสาร และเสื้อรณรงค์ที่เกี่ยวข้องมาร่วมจัดแสดงด้วย 

“ผู้ใดสนับสนุน” ชวนผู้ชมนิทรรศการทำความรู้จักกับการ “นิรโทษกรรม” ให้มากขึ้น นิรโทษกรรมกลายเป็น “ของแสลง” สำหรับการเมืองไทยเพราะสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2556 ทั้งที่ในอดีต การนิรโทษกรรมก็เคยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย ในนิทรรศการส่วนนี้เราอยากชวนผู้เข้าชมนิทรรศการทุกคนออกแบบการนิรโทษกรรมของตัวเองด้วย

นิทรรศการ 3 ปี 112 “ผู้ใด หมิ่นประมาท” เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 12 – 19 พฤศจิกายน 2566 ที่อาคาร All Rise (สำนักงาน iLaw) บ้านกลางเมืองรัชดาลาดพร้าว ตั้งแต่ 11.00 – 20.00 น. และติดตามรายละเอียดกิจกรรม side event ที่จะจัดระหว่างนิทรรศการนี้ได้ทางเพจ iLaw

การเดินทาง

  • รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สถานีลาดพร้าว
  • รถไฟฟ้า Mono Rail สายสีเหลือง สถานีลาดพร้าว
  • รถเมล์ สาย 8, 27, 44, 73, 137, 514
  • ดูเส้นทางและที่ตั้ง