“ไม่ได้ดึงเวลา” ย้อนฟังคำโฆษกสำนักนายก ทำไมต้องตั้งคณะกรรมการฯ ประเด็น รธน. ซ้ำซ้อน

การประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้ง “คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ” โดยยึดตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ โดยจะใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน
ทั้งนี้ในวันดังกล่าว ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามนักข่าวถามว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลจึงเลือกที่จะตั้ง “คณะกรรมการศึกษาการทำประชามติ” หลังจาก “กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ” ส่งการเข้าชื่อแคมเปญ #conforall จำนวน 200,000 กว่ารายชื่อได้ตามกระบวนการแล้ว ทั้งยังเคยมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ ลักษณะเดียวกันมาแล้วบ่อยครั้งจากหลายฝ่ายในอดีต
“ข้อเสนอจาก iLaw จากคณะทำงานต่างๆ เราจะเอามารับฟังแน่นอน ข้อเสนอที่มีมาแล้วเอาเข้ามาพิจารณา ถ้าไม่มีความเห็นอื่นเราก็จะพิจารณาจากสองแหล่งเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วมีประชาชนกลุ่มอื่นอีกเยอะที่เขาอาจมีความเห็นแตกต่าง เรารอให้แน่ใจว่าประชาชนทุกกลุ่มจริงๆ ที่อยากจะแสดงความเห็นได้มีส่วนร่วม”
ประเด็นนี้ถูกนักข่าวถามเพิ่มว่า การตั้งคณะกรรมการซ้ำกับในอดีตจะทำให้ดูเหมือนเป็นการถ่วงเวลาเพิ่มโดยรัฐบาลหรือไม่ ชัยจึงขยายความเพิ่มเติมว่า
“หากเรายึดถือ iLaw หรือยึดถือที่ใครเคยเสนอมาเลย คนที่เขายังไม่ได้ความเห็นผ่าน iLaw ก็จะบอกได้ว่า ทำไมคุณจึงไปฟังที่เดียว จะดีกว่าไหมว่าเราฟังให้รอบด้าน” ซึ่งชัยยังย้ำว่าไม่อยากให้มองว่ารัฐบาลกำลังถ่วงเวลาหรือไม่อีกด้วย 
“อย่ามองว่ารัฐบาลดึงเวลา เราตระหนักว่า iLaw เป็นองค์กรที่มีคุณภาพ หวังดีกับประเทศชาติ แต่อย่าลืมว่าประเทศนี้มีความหลากหลาย คนกลุ่มที่เขาเห็นต่างก็มี ขอเวลารัฐบาลนิดเดียวในการทำความเข้าใจกับทุกกลุ่ม จะได้ออกมาแล้วไม่ต้องไปเถียงกันทีหลัง”