เศรษฐา ทวีสิน: ประธานยุทธศาสตร์ชาติคนใหม่

การได้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังการเลือกตั้งปี 2566 ส่งผลให้กลไกสืบทอดอำนาจในรัฐธรรมนูญ 2560 อย่าง “คณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์ชาติ” เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญอย่าง “ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ที่เดิมคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตลอด

ที่ผ่านมากลไกลยุทธ์ศาสตร์ชาติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ได้ส่งผลทางการเมืองใดๆ เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเครือข่าย ยังสามารถควบคุมกลไกดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ที่แม้จะยังผสมกับขั้วอำนาจเดิมแต่ตัวแกนนำก็เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องติดตามว่า ในอนาคตกลไกดังกล่าวจะส่งผลทางการเมืองหรือไม่

ทหาร+นายทุน เสียงส่วนใหญ่ในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

ถ้าเรามองภาพรวมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด 35 คน จะพบว่าแบ่งเป็นสองประเภทคือ ประเภทที่หนึ่ง กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 18 คน และประเภทที่สอง กรรมการจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี 17 คน

กรรมการยุทธศาสตร์ชาติประเภทที่หนึ่ง จะพบว่าสัดส่วนกรรมการจะแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม

กลุ่มที่หนึ่ง ตัวแทนฝ่ายความมั่นคง จำนวนเจ็ดที่นั่ง

กลุ่มที่สอง ตัวแทนจากกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำ จำนวนห้าที่นั่ง

กลุ่มที่สาม ตัวแทนจากฝ่ายการเมือง จำนวนสามที่นั่ง

กลุ่มที่สี่ ตัวแทนจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวนสองที่นั่ง

ดังนั้นแม้ตำแหน่งประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะเปลี่ยนมือจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย และมีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคประชาชาติ เป็นรองประธานยุทธศาสตร์ชาติคนที่หนึ่ง แต่ก็นับว่าฝ่ายการเมืองเป็นเสียงส่วนน้อยในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายชนชั้นนำทางเศรษฐกิจคือเสียงข้างมาก

ครม. เศรษฐา แต่งตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพิ่มได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีกรรมการยุทธศาสตร์ชาติประเภทที่สอง คือ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี จำนวน 17 คน โดยปัจจุบันมีการแต่งตั้งโดย ครม. ของพลเอกประยุทธ์ จำนวนห้าคน มีตัวแทนชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ จำนวนสามคน และตัวแทนจากอดีตรัฐบาล คสช. จำนวนสองคน คือ วิษณุ เครืองาม และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา โดยทั้งห้าคนจะมีวาระถึงปี 2570 ทั้งนี้จะเห็นว่า ยังมีตำแหน่งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติผู้ทรงคุณวุฒิยังเหลือให้ ครม.ชุดใหม่สามารถแต่งตั้งเพิ่มได้อีกถึง 12 คน

บทบาทกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

บทบาทสำคัญของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เช่น การเสนอความเห็นต่อรัฐสภา ครม. หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ การกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีหน้าที่ร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ยื่นวินิจฉัยการทำงานของ ครม. หากไม่เป็นไปได้ยุทธศาสตร์ชาติได้ ซึ่งผลที่ร้ายแรงในกรณีก็คือ การสั่งให้ ครม.พ้นจากตำแหน่งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และจำคุกไม่เกิน 10 ปี

 

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติปี 2566

กรรมการโดยตำแหน่ง

ตำแหน่งหลัก

ชื่อ

ตำแหน่งใน คกก.ยุทธฯ

1.นายกรัฐมนตรี

เศรษฐา ทวีสิน

ประธาน

2.ประธานสภาผู้แทนราษฎร

วัน มูฮัมหมัด นอร์มะทา

รองประธานคนที่ 1

3.ประธานวุฒิสภา

พรเพชร วิชิตชลชัย

รองประธานคนที่ 2

4.รองนายกฯ ที่นายกฯ มอบหมาย

 

กรรมการ

5.ปลัดกระทรวงกลาโหม

พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์

กรรมการ

6.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์

กรรมการ

7.ผู้บัญชาการทหารบก

พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้

กรรมการ

8.ผู้บัญชาการทหารเรือ

พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์

กรรมการ

9.ผู้บัญชาการทหารอากาศ

พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ

กรรมการ

10.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์

กรรมการ

11.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

พลเอก สุพจน์ มาลานิยม

กรรมการ

12.ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สนิท อักษรแก้ว

 

กรรมการ

13.ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

นัยฤทธิ์ จำเล

กรรมการ

14.ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

สนั่น อังอุบลกุล

กรรมการ

15.ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เกรียงไกร เธียรนุกุล

กรรมการ

16.ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์

กรรมการ

17.ประธานสมาคมธนาคารไทย

ผยง ศรีวณิช

กรรมการ

18.เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติ

ดนุชา พิชยนันท์

กรรมการ

 

กรรมการโดยการแต่งตั้ง

วาระห้าปี (2565-2570)

 

ตำแหน่ง (ชื่อ-สกุล)

ภูมิหลัง

ตำแหน่งใน คกก.ยุทธฯ

1.กานต์ ตระกูลฮุน

ประธานกรรมการบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS)

 

กรรมการอิสระ ประธานกรรมการสรรหาค่าตอบแทนและบรรษัทภิบาล และกรรมการบริหาร

กรรมการ

2.ชาติศิริ โสภณพนิช

กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ

กรรมการ

3.บัณฑูร ล่ำซำ

อดีตประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

กรรมการ

4.วิษณุ เครืองาม

อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

กรรมการ

5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

กรรมการ

6-17 ยังไม่ได้แต่งตั้ง

 

กรรมการ