ทีม #CONFORALL ยื่นหนังสือต่อพรรคเพื่อไทยให้รับคำถามประชาชนสู่ครม.

วันที่ 28 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 น. กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญที่นำรายชื่อเสนอคำถามประชามติ #CONFORALL จำนวน 205,739 รายชื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อพรรคเพื่อไทยให้รับคำถามประชามติจากประชาชนโดยไม่ต้องคำนึงถึงขั้นตอนทางธุรการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล จากไอลอว์กล่าวว่า วันนี้เราไม่ได้มากันง่าย สัปดาห์ที่แล้วเราได้รับการแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ไม่สามารถรับรายชื่อออนไลน์ได้ ซึ่งขณะนั้นเรามีรายชื่อออนไลน์ 53,000 รายชื่อ มีกระดาษอยู่ที่ประมาณ 10,000 กว่ารายชื่อ เราจึงออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประชาชนลงชื่อด้วยกระดาษไม่ว่าจะลงชื่อด้วยตนเอง หรือส่งมาที่เรา ภายในสามวันมี 205,739 รายชื่อเข้ามาจากประชาชนทุกช่องทาง เรามีประชาชนที่ล่ารายชื่อจากคนในออฟฟิศ ประชาชนที่ล่ารายชื่อจากคนในหมู่บ้าน คนที่ใช้บ้านตัวเองเปิดเป็นจุดรับรายชื่อ หรือแม้กระทั่งคนที่ไปยืนคนเดียวกลางสายฝน ยืนตามรถไฟฟ้าเพื่อล่ารายชื่อ ทั้งสองแสนกว่ารายชื่อนี้คือความพยายามของประชาชนและจริงๆแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากอะไรของพรรคเพื่อไทยเองเพราะว่าก็มีจุดยืนสม่ำเสมอในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยจุดยืนแบบนี้เราจึงอยากนำเสนอคำถามจากประชาชนว่า ประชามติควรมีคำถามอย่างไร  เรามีบทเรียนมาแล้วในปี 2559 ที่คำถามที่ไม่ดีจะเกิดอะไรขึ้นและผลของมันยังอยู่ทุกวันนี้อย่างการที่สว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้

เน้นย้ำว่า ด้วยรายชื่อที่มากขนาดนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งถ้าเกิดอ้างเรื่องทางธุรการตรวจสอบรายชื่อไม่ทัน พรรคการเมืองหรือรัฐบาลเองมีทางเลือกในการรับคำถามจากประชาชนไปได้เลย ไม่มีความจำเป็นต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้งเพราะวันนี้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงมาแล้ว หวังว่า ทางพรรคเพื่อไทยจะรับคำถามประชาชนไปพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกไม่ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะตรวจสอบรายชื่อได้ทันหรือไม่ทัน 

จีรนุช เปรมชัยพร จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญกล่าวว่า เรารู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากพอมันถึงห้าหมื่นรายชื่อ ตอนนั้นเราคิดว่า มันอาจจะถึงแสนเพราะมันยังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เราก็เริ่มตกใจแล้วว่า มันจะถึงสองแสนรายชื่อที่บอกว่า ตกใจนี่ไม่ใช่ว่าเราได้รายชื่อมาแล้วเราจะยื่นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง มันยังมีกระบวนการที่เราต้องนำรายชื่อไปสร้างเป็นไฟล์เอ็กเซล ตอนนี้เราระดมอาสาสมัครที่เป็นประชาชนคนหนุ่มสาวจำนวนมากแสดงเจตจำนงเข้ามาช่วย หิ้วคอมพิวเตอร์ของตัวเองที่ออฟฟิศไอลอว์ จำนวนเหล่านี้มันบอกชัดถึงความต้องการของประชาชนและโดยส่วนตัวก็เชื่อมั่นว่า เจตจำนงของประชาชนนี้สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทยเพราะว่า ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยแสดงการสนับสนุนมาตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา ในคำถามประชามติและสิ่งที่สำคัญที่พวกเรามีเจตจำนงร่วมกันมาตลอดคือ การมีสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งและคิดว่า ความตื่นตัวของประชาชนในช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้มันสะท้อนชัดเจนว่า ประชาชนพร้อมที่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งที่ให้มีคนจากภาคส่วนต่างๆมามันสอดคล้องกับบริบทของยุคสมัยและเราคิดว่า มันสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพรรคเพื่อไทยเช่นกัน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในนามพรรคเพื่อไทยและในนามนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เมื่อสักครู่จดหมายของพวกเราได้เขียนถึงท่านนายกรัฐมนตรีด้วย ต้องขอขอบคุณกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญที่ได้นำหนังสือ นำสารมาส่งต่อมายังพรรคเพื่อไทยและท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งแสดงเจตจำนงเพียงขออาศัยช่องทางทางกฎหมายประชามติ ซึ่งวันนี้ชูศักดิ์ ศิรินิลซึ่งเคยทำผลงานเรื่องนี้ไว้ในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา เสนอมาตรา 9 ให้มีโอกาสได้เสนอประชามติผ่านกระบวนการสภาได้ แต่พวกเราใช้เงื่อนไขนั้นมาเพื่อเสนอข้อคำถามที่จะให้คณะรัฐมนตรีมีคำถามในการประชามติครั้งแรกก่อนที่เราจะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หนึ่งประชามติถ้าผ่านได้ เราก็ไปใช้มาตรา 256 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ฉะนั้นข้อคำถามที่เสนอมาถือว่าเป็นประโยชน์กับทางคณะรัฐมนตรีมาก เพราะขั้นตอนนี้ทางคณะรัฐมนตรีต้องกำหนดเป็นนโยบายร่วมของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะทำเป็นนโยบายรัฐบาลและเสนอต่อรัฐสภาในการแถลงนโยบาย ถ้ามีข้อคำถามชัดเจนอย่างนี้มันก็ทำให้คณะรัฐมนตรีทำงานได้สะดวกขึ้น ส่วนจะเป็นไปตามที่พวกเราเสนอทั้งหมดหรือไม่ก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณา ซึ่งนโยบายของพรรคเพื่อไทยกับนโยบายรัฐบาลอาจจะเป็นหนึ่งเดียวกันก็ได้หรืออาจจะไม่เป็นทั้งหมดก็ได้เพราะเราต้องพูดคุยกับพรรคร่วม แต่อย่างไรก็แล้วแต่ในฐานะพรรคแกนนำเราพยายามบอกกับพรรคร่วมแล้วว่า เราขอใช้นโยบายเราเป็นหลักในการดำเนินการของรัฐบาล

ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ริเริ่มที่จะขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มานานแล้ว ปี 2563 เราเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ให้มีสสร. การพิจารณาของรัฐสภาขณะนั้นผ่านไปจนจบวาระที่สอง กำลังจะขึ้นวาระที่สามและมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญของให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า จะสามารถแก้ไขจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญตอบมาแต่ว่า คำตอบนั้นค่อนข้างจะยังสับสน แต่รัฐสภาก็ตีความไปว่า ถ้อยคำที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ เขาอ้างว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติแล้วถ้าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ให้ประชามติถามประชาชนเสียก่อนว่า จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไหม นี่คือความคิดเห็นของรัฐสภาส่วนใหญ่ในขณะนั้น ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนั้นเป็นอันว่าตกไป ครั้งนี้ฝ่ายเพื่อไทยก็มาคิดกันหนักแต่ยังคงยืนยันว่า เราต้องการให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมเองจึงเสนอพรรคไปว่า ก่อนอื่นเราควรจะต้องทำประชามติเสียก่อนว่า ประสงค์จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพื่อเป็นหลักประกันว่า เราถามประชาชนแล้ว ประชาชนเขาต้องการให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ขณะเดียวกันทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำอย่างไร เราก็เชื่อว่า คราวที่แล้วเราเสนอกระบวนการสสร. ให้ประชาชนเลือกตั้งสสร.มาทำหน้าที่ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ครั้งนี้เราก็คิดว่า น่าจะถามไปเสียเลย เพราะฉะนั้นคำถามจะทำนองเดียวกับไอลอว์ที่ทำอยู่ในขณะนี้คือ หนึ่งประสงค์จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไหม สอง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีโดยวิธีการเลือกตั้งสสร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าถามได้สะเด็ดน้ำครั้งนี้ผมคิดว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะได้เดินไปได้ด้วยความราบรื่น แน่นอนว่า คงไม่ใช่สั้นๆ คงจะต้องเสนอร่างแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วก็ต้องไปจัดทำประชามติเพราะแก้ไข 256 หลังจากนั้นเลือกตั้งสสร. และยกร่างรัฐธรรมนูญจนเสร็จสิ้นและถามอีก…สิ้นเปลืองงบประมาณมากไปไหม ผมเองพรรคเพื่อไทยคิดว่า ถ้าเราเพื่อประชาชน เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยเงินประมาณนี้ก็อย่าไปเสียดายสิ่งที่เราจะได้มาคือ รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ผมว่า นั่นคือสุดยอดปรารถนาของประชาชนคนไทย

รายละเอียดหนังสือที่ยื่นต่อพรรคเพื่อไทย

ตามที่พรรคเพื่อไทยเคยออกแถลงการณ์ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 และครั้งที่สองร่วมกับพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 เรื่องการประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญตรงกันที่จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะมีมติให้ทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเห็นเป็นนิมิตรหมายอันดีและเห็นความตั้งใจดีของพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำของรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ยังคงมีความกังวลว่า หากในการทำประชามตินั้น คณะรัฐมนตรีออกแบบคำถามการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีเงื่อนไข หรือให้บุคคลที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากกระบวนการที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม จะทำให้ประชาชนที่ไปออกเสียงประชามติไม่มีทางเลือกหรือผลการทำประชามติไม่มีความหมาย ไม่นำไปสู่กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจของนักกิจกรรมทางสังคมและองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 30 แห่ง เห็นความสำคัญของการตั้งคำถามในการทำประชามติตั้งแต่เริ่มต้น จึงประสงค์ที่จะเสนอคำถามที่ครอบคลุมชัดเจนว่า การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับ และหากจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยได้ใช้สิทธิตามมาตรา 9(5) ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 รวบรวมรายชื่อประชาชนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอคำถามดังกล่าว โดยกิจกรรมนี้มีประชาชนที่เห็นด้วยจำนวนมาก และช่วยกันรวบรวมรายชื่อได้มากกว่า 205,739 รายชื่อ ด้วยการลงชื่อบนกระดาษภายในเวลาเพียงสั้นๆ และอยู่ระหว่างการจัดระเบียบเอกสารเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
 

ด้วยจำนวนรายชื่อของประชาชนที่มากเช่นนี้ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญมีความไม่มั่นใจว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะตรวจสอบรายชื่อด้วยความรวดเร็วและเสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ทันการประชุมเริ่มคณะรัฐมนตรีใหม่นัดแรก จึงนำคำถามประชามติที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอนี้มายื่นให้กับพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้นำคำถามนี้เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกและตัดสินใจให้มีการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีสาระสำคัญและมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่ประชาชนต้องการจะเห็น โดยไม่ต้องรอขั้นตอนการเสนอเรื่องของหน่วยงานราชการ