เศรษฐาคว้าเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ด้วยมติรัฐสภา 482 เสียง

คลิกที่ไฟล์แนบด้านบนเพื่อโหลด Excel ผลการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีรายบุคคล
________________________________

22 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมรัฐสภา มีนัดหมายลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 (ครั้งที่สาม) หลังจากที่แกนนำรัฐบาลชุดใหม่นำโดยพรรคเพื่อไทย รวบรวมเสียงข้างมากจากสส.ทั้งหมด 314 เสียง จาก 11 พรรค พร้อมส่งแคนดิเดต “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์

ผลการลงมติก่อนหน้านี้ที่ประชุมรัฐสภามีการลงมติพิจารณาบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงสองรอบ รอบแรกคือ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 พิจารณา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากพิธาไม่ได้รับเสียงเห็นชอบจากรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง โดย พิธา ได้รับเสียงเห็นชอบ 324 เสียง ซึ่งมาจากเสียงพรรคร่วม 8 พรรคทั้งหมด รวมกับเสียงของ สว. อีก 13 เสียง ทำให้พิธาขาดอีก 51 เสียงเท่านั้น จึงทำให้ไม่ได้รับการแต่งตั้ง ต่อมารอบที่สองในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 พิธา ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และในวันเดียวกันรัฐสภามีมติการเสนอชื่อพิธาเป็นญัตติต้องห้ามตามข้อ 41 จึงไม่สามารถเสนอชื่อพิธาซ้ำได้  

โดยองค์ประชุมสมาชิกรัฐสภาวันนี้ (22 สิงหาคม 2566) มีจำนวน 747 คน เนื่องจาก เรณู ตังคจิวางกูร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หนึ่งคนลาออก และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลที่หายไปสองคน ได้แก่ นครชัย ขุนณรงค์  สส.จังหวัดระยองลาออก และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 

ก่อนเริ่มโหวต พรรคร่วมเสียงข้างมาก 11 พรรค ที่สนับสนุนเศรษฐา เป็นนายกฯ มี 313 เสียง (ไม่นับประธานรัฐสภา) ขณะที่พรรคฝ่ายเสียงข้างน้อยอย่างไม่เป็นทางการ 157 เสียง (พรรคก้าวไกล พรรคเป็นธรรม พรรคไทยสร้างไทย) ส่วน สว.มี 248 เสียง (ไม่นับรองประธานรัฐสภา) ดังนั้นในการโหวตครั้งนี้ เศรษฐา ต้องการ 61 เสียง เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

ผลการลงมติอย่างเป็นทางการเพื่อเลือก เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย สรุปได้ดังนี้

  • เห็นชอบ 482  เสียง
  • ไม่เห็นชอบ 165  เสียง
  • งดออกเสียง 81  เสียง
  • ขาดประชุม 19 คน
ผลการลงมติเสียงเห็นชอบเศรษฐา คือ 482 เสียง ซึ่งมาจากเสียงพรรคร่วม 11 พรรค 311 เสียง และได้เสียงสนับสนุนเพิ่มจากพรรคเล็กที่มีอยู่พรรคละหนึ่งเสียงอีกสามพรรค คือพรรคใหม่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ และพรรคครูไทยประชาชน  อีกทั้งยังได้เสียงจากสส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งถึง 16 เสียง รวมกับเสียงของสว. อีก 152 เสียง  

อย่างไรก็ตามมีเสียงจากพรรคร่วมที่หายไปสองเสียง ได้แก่ เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ไม่เข้าประชุมรัฐสภา

โดยเหตุที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ผู้ที่จะเป็นนายกฯ ต้องมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา ทำให้การงดออกเสียงหรือไม่มาประชุมจึงเท่ากับไม่เห็นชอบ

เมื่อรวมเสียง ไม่เห็นชอบ / งดออกเสียง / ขาดประชุม จะพบว่ามีสมาชิกรัฐสภาที่ไม่โหวตให้เศรษฐา 265 เสียง โดยผู้ลงคะแนนไม่เห็นชอบส่วนใหญ่ เป็น สส. จากพรรคก้าวไกล ที่มีจำนวนสส.มากที่สุดในสภาล่าง รวมถึงพรรคเป็นธรรมที่ประกาศชัดเจนตั้งแต่แรกว่าจะโหวตไม่เห็นชอบ นอกจากนี้มีสว.แค่ 13 คนเท่านั้นที่ลงมติไม่เห็นชอบ  

ในขณะที่พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง และ สว. อีกจำนวน 68 คนงดออกเสียง ส่วนสว.จำนวนหนึ่งไม่เข้ามาในที่ประชุมรัฐสภา ขณะที่ ส.ว.เหล่าทัพ 6 เสียง ลงคะแนนงดออกเสียง 4 คน และไม่มีลงคะแนน 2 คน

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ การลงคะแนนเสียงในรอบนี้เสียงแตก แม้มติพรรคจะออกมาว่าให้ “งดออกเสียง” แต่กลับมี สส.ที่ทำตามมติพรรคเพียงแค่ 6 เสียง ส่วนสส.บางกลุ่มในช่วงแรกไม่แสดงตนในที่ประชุมแต่หลังจากนั้นกลับเข้ามาลงมติ “เห็นชอบ” รวมแล้วถึง 16 เสียง และมี สส.ลงมติ “ไม่เห็นชอบ” 2 เสียง ได้แก่ ชวน หลีกภัย และ บัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อทั้งสองคน ส่วน ราชิต สุดพุ่ม สส.จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่เข้าประชุมรัฐสภา 

ไฟล์แนบ
You May Also Like
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน