ศาลรธน. ไม่รับคำร้องปมสภาห้ามเสนอชื่อโหวต “พิธา” ซ้ำ เหตุผู้ร้องไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิตรง

วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องกรณีสภาไม่ให้เสนอชื่อโหวตพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำเป็นรอบที่สอง ระบุว่า ผู้ที่มีสิทธิยื่นเรื่องได้ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการละเมิดสิทธิโดยตรงเท่านั้น
กรณีนี้สืบเนื่องจาก ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อีกครั้ง สส. รวมไทยสร้างชาติ และ สว. อ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 เสนอญัตติต่อรัฐสภาว่าการเสนอชื่อพิธารอบสองเป็น ‘ญัตติซ้ำ’ ต้องห้ามตามข้อบังคับ ข้อ 41 ท้ายสุดประธานรัฐสภาให้สมาชิกลงมติด้วยเสียง 395 ต่อ 317 เสียง ตีความว่า การเสนอชื่อพิธาอีกครั้งต้องห้ามตามข้อบังคับ ข้อ 41
ต่อมาพรชัย เทพปัญญา ผู้ร้องที่ 1 บุญส่ง ชเลธร ผู้ร้องที่ 2 และปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ และคณะ ผู้ร้องที่ 3 ยื่นร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน จากนั้นผู้ตรวจฯ ยื่นขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า เหตุดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทั้งสามหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจากการกระทำละเมิดโดยใช้อำนาจรัฐ บุคคลที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง สำหรับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีรัฐธรรมนูญ 2560 ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเฉพาะจากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอและเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เท่านั้น ดังนั้นผู้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนออันเป็นสิทธิเฉพาะบุคคล ดังนั้นผู้มีสิทธิจะได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนอตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง อันเป็นสิทธิเฉพาะบุคคลที่รัฐธรรมนูญ 2560  
จากคำร้องดังกล่าวผู้ร้องเรียนทุกคนไม่ใช่บุคคลที่พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อไว้ว่าจะเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อต่อรัฐสภา ผู้ร้องเรียนทุกคนจึงไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ที่ระบุให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ มติศาลรัฐธรรมนูญเป็นเอกฉันท์ว่าไม่รับคำร้อง จึงทำให้คำขออื่นๆ ที่ประกอบมากับคำร้องด้วยตกไปเช่นกัน
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 2560 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จะเห็นว่า การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ญัตติธรรมดาที่จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขต้องห้ามตามข้อบังคับ ข้อ 41  ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา กำหนดการเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภาลงมติไว้แยกเฉพาะจากญัตติทั่วไป ตามหลักการตีความกฎหมาย “กฎหมายเฉพาะยกเว้นกฎหมายทั่วไป” หมายความว่า การปรับใช้กฎหมาย จะต้องใช้กฎหมายที่กำหนดเรื่องนั้นๆ เฉพาะเป็นหลัก ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่จำเป็นต้องดูข้อ 41 การที่มีสส. สว. เสนอญัตตินี้ขึ้นมา ก็สะท้อนให้เห็นว่าตั้งใจจะใช้เสียงข้างมากที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งบิดเบือนหลักกฎหมาย ตีความข้อบังคับโดยไม่สนใจหลักการและรัฐธรรมนูญ  

ข้อมูลจาก https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20230816124045.pdf 

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ