เพราะทำ “ผิดซ้ำผิดซ้อน” จึงเลือกนายกฯ ไม่ได้สักที

วันที่ 4 สิงหาคม 2566 เดิมเป็นวันกำหนดนัดหมายประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สาม แต่ก่อนถึงวันนัดประธานรัฐสภาก็สั่งเลื่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ยังไม่มีกำหนดวันนัดประชุมวาระนี้ใหม่ โดยอธิบายเหตุผลว่า ต้องรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก่อน ทำให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปอีก และอาจไม่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาครั้งถัดไปของศาลรัฐธรรมนูญ

แม้ว่าความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเกิดจากสององค์กรหลัก คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ประกาศผลอย่างเป็นทางการล่าช้า และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ไม่ลงคะแนนให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งและรวมเสียงข้างมากได้ แต่หลังผ่านการเลือกตั้งมาเกือบสามเดือนแล้วก็พบว่า กระบวนการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่ไม่น่าเป็นประเด็นปัญหาตั้งแต่แรก บวกกับกลไกศาลรัฐธรรมนูญ กำลังกลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ชะลอให้การตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นไม่ได้เสียที

กว่าจะเดินทางมาถึงวันที่ติดขัดยาวนานขนาดนี้ได้ เป็นเพราะเกิดเหตุการณ์ที่มีผู้ใช้อำนาจผิดหลักการของกฎหมาย เมื่อผิดไปแล้วหนึ่งครั้ง ก็ทำให้กระบวนการต่อๆ มามีเหตุต้องอ้างอิงเพื่อยันการใช้อำนาจที่ผิดทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนี้

ผิดครั้งที่หนึ่ง : เมื่อใช้เสียงสว. ลงมติห้ามเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ

การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่สองในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ต้องเจออุปสรรคที่อยู่นอกเหนือตำรากฎหมาย เมื่อพรรคก้าวไกลยืนยันเสนอพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นครั้งที่สอง แต่ถูก สว. และฝ่ายพรรคเสียงข้างน้อยส่วนหนึ่งตั้งประเด็นว่า การเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ซึ่งขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ทั้งที่ในข้อบังคับกำหนดชัดเจนแล้วว่า สิ่งที่ห้ามเสนอซ้ำนั้นคือญัตติซึ่งขั้นตอนและหลักเกณฑ์การเสนอญัตติมีเขียนชัดอยู่แล้วในหมวด 1 ส่วนที่ 2 ข้อ 29-41 แต่การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้น มีขั้นตอนและหลักเกณฑ์เฉพาะต่างหากอยู่ในหมวด 9 ข้อ 138 ซึ่งอ้างอิงมาจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ดังนั้น การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจึงไม่ใช่ญัตติทั่วไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา หมวด 1 และไม่อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ห้ามเสนอซ้ำตามข้อ 41

ในทางกฎหมายการทำความเข้าใจว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้นเสนอซ้ำได้โดยไม่มีกฎหมายข้อใดห้ามเอาไว้นั้น สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก แต่เหล่า สว. ต่างก็ยืนยันว่า การเสนอชื่อเดิมนั้นขัดต่อข้อบังคับข้อ 41 การตีความข้อบังคับนั้นเป็นอำนาจของรัฐสภา ซึ่งเท่ากับต้องใช้วิธีการลงคะแนนเสียง โดยสว. ที่มีอยู่ 250 เสียง เมื่อรวมกับ สส.จากขั้วรัฐบาลเดิมที่เป็นเสียงข้างน้อยจากการเลือกตั้ง ก็เอาชนะไปด้วยคะแนน 395 ต่อ 317 เสียง 

เท่ากับเป็นการเล่นเกมการเมืองที่จะใช้เสียงข้างมาก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อลงมติตัดสินในสิ่งที่ผิดต่อหลักกฎหมาย เริ่มปมปัญหาของความยุ่งเหยิงในขั้นตอนต่อๆ ไป

ผิดครั้งที่สอง : เมื่อโยนลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมติของรัฐสภา

 หลังจากรัฐสภาลงมติตีความข้อบังคับการประชุมในทางที่ผิดแล้ว วิธีการแก้ไขที่ง่ายที่สุดและถูกต้องตามระบบมากที่สุด คือ การลงมติใหม่โดยรัฐสภาเองกลับมติเดิม เนื่องจากการลงมติที่เกิดขึ้นไปแล้วมีสถานะเป็นเพียงความเห็นในการตีความข้อบังคับเท่านั้นไม่ได้มีสถานะเป็นการลงมติเพื่อออกกฎหมาย จึงสามารถเปลี่ยนใจลงมติใหม่ได้ทุกเมื่อ ซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดที่ตรงไปตรงมาตามระบบของรัฐสภา และไม่ได้ยากจนเกินไป

 แต่เนื่องจากการลงมติที่ผิดครั้งที่หนึ่งนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชน จึงมีประชาชนยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างน้อย 17 คำร้อง และผู้ตรวจการแผ่นดินก็รับลูกอย่างรวดเร็ว โดยมีคำสั่งในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมติของรัฐสภาครั้งนี้ต่อ https://www.ombudsman.go.th/new/news660724/ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีอำนาจโดยตรงที่จะเข้าแทรกแซงว่า การตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภานั้นต้องตีความอย่างไร เพราะเป็นการกระทำภายในของฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่ออำนาจตามปกติของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่มีอยู่ คดีนี้จึงตั้งประเด็นโดยการพลิกเนื้อหาเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติของรัฐสภาเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เป็นผู้ร้องในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เรื่องขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการตั้งประเด็นในคดีที่ไกลออกไปกว่ามูลเหตุของคดีเพื่อจะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ได้

 พนัส ทัศนียานนท์ นักกฎหมายที่ไม่เห็นด้วยกับมติของรัฐสภา ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรมีอำนาจวินิฉัยคดีนี้ เพราะผิดหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย และหลักอำนาจรัฐสภาธิปัตย์ (Parliamentary Sovereignty) กลายเป็นตุลาการธิปัตย์ (Judicial Sovereignty) โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรมีอำนาจวินิจฉัยสวนทางกับการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติของรัฐสภา แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งรับไว้ในสำนวน เป็นการเดินทางผิดครั้งที่สอง

ผิดครั้งที่สาม : เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรีบรับ แต่ไม่รีบสั่ง

 หลังผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งรีบแถลงการณ์ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ก็เป็นเหตุให้วันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะประธานรัฐสภาสั่งเลื่อนวันนัดหมายประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สาม จากที่เดิมกำหนดไว้เป็นวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ออกไปก่อน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ทราบดีอยู่แล้วถึงผลของคดีนี้ว่าจะกระทบกรอบเวลาการเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลได้จึงควรรีบมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งให้เร็วที่สุด แต่ในวันที่ 4 สิงหาคม 2566 หลังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วก็สั่งเพียงรับคำร้องแต่ไม่ได้สั่งเรื่องวิธีการชั่วคราวให้เกิดความชัดเจน 

 คดีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินยังยื่นคำร้องโดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนวินิจฉัยด้วย เท่ากับศาลอาจสั่งให้รอการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไว้ก่อนก็ได้ หรือจะสั่งว่า ไม่กำหนดวิธีการชั่วคราวใดๆ และให้เลือกนายกรัฐมนตรีไปก่อนเลยก็ได้ แต่ศาลกลับใช้วิธีการไม่สั่งอย่างใดอย่างหนึ่งในเรื่องวิธีการชั่วคราวมาโดยเร็ว หากเทียบกับคดีคำร้องเรื่องคุณสมบัติของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 หลังการยื่นคำร้องเพียงเจ็ดวัน โดยสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาพร้อมกับคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่สส. ไปพร้อมกันด้วย จะเห็นได้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญและตั้งใจที่จะรีบออกคำสั่ง กำหนดมาตรการการชั่วคราวอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจน ก็สามารถทำได้ แต่คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญเลือกที่จะยังไม่ทำและปล่อยให้เกิดช่องว่างเอาไว้ก่อน

 นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังกำหนดวันพิจารณาครั้งต่อไปเป็นวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ถัดไปอีกสองสัปดาห์ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าคดีนี้จะกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ก็ยังไม่ได้พยายามนัดหมายให้เร็วที่สุด ดังเช่นที่เคยทำได้ในคดีอื่นๆ เพื่อให้กระบวนการที่รออยู่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ผิดครั้งที่สี่ : เมื่อรอแล้ว จึงต้องรอต่อไปเรื่อยๆ

 การที่วันมูหะมัดนอร์ มะทา ตัดสินใจครั้งแรกในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ให้เลื่อนการนัดประชุมรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปเพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน เป็นการตัดสินใจที่ผิดไปจากสถานการณ์ความเป็นจริง เพราะในขณะนั้นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลแถลงต่อสาธารณะแล้วว่า จะขอเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนและพรรคก้าวไกลไม่ได้จะเสนอชื่อของพิธาซ้ำอีก ส่วนทางพรรคเพื่อไทยก็ประกาศพร้อมเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีสถานการณ์ที่จะต้องเสนอชื่อบุคคลเดิมซ้ำ และไม่มีเหตุผลที่จะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญ

 ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะออกคำวินิจฉัยหรือคำสั่งมาอย่างไร ก็ไม่กระทบกับการที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ใช่การเสนอชื่อซ้ำและไม่อาจขัดต่อข้อบังคับข้อ 41 ได้อย่างแน่นอน การเลื่อนการนัดประชุมจึงไม่ได้เป็นเหตุผลที่ถูกต้องในทางกฎหมาย แต่ส่งผลเพียงในทางการเมืองเพื่อขยายเวลาให้แกนนำการจัดตั้งรัฐบาลมีเวลามากขึ้นในการไปเจรจาต่อรองกับทั้ง สว. และสว. เพื่อหาเสียงสนับสนุนเท่านั้น

 เมื่อประธานรัฐสภาตัดสินใจเลื่อนโดยอ้างเหตุนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็มาผิดที่ไม่รีบสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชัดเจน ประธานรัฐสภาจึงมีคำพูดและเหตุผลที่ผิดของตัวเองค้ำคออยู่และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเลื่อนการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปอีกเป็นครั้งที่สอง และต้องเลื่อนไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเพื่อให้สอดคล้องกับเหตุผลที่ผิดของตัวเองที่ได้ให้ไว้ในครั้งแรก และการกระทำเช่นนี้ก็จะส่งผลกระทบให้กำหนดการเลือกนายกรัฐมนตรีอาจต้องเลื่อนออกไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด หากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่รีบวินิจฉัย ประธานรัฐสภาก็จะเรียกประชุมไม่ได้ไปเรื่อยๆ 

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ