ประธานชิงปิดประชุม 272 หลังเสนอให้ทบทวนเสนอชื่อนายกซ้ำ

วันที่ 4 สิงหาคม 2566 เวลา 9.30 น. ที่ประชุมรัฐสภามีการนัดประชุมร่วมรัฐสภาครั้งที่ 3 เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีของวุฒิสภาที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล ในขณะที่การลงมติให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีนั้น วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา สั่งให้มีการเลื่อนวาระการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนเป็นครั้งที่สองเพื่อรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม มีการเสนอญัตติด่วนให้สภาทบทวนมติเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำ แต่หลังจากการอภิปรายของสมาชิก ประธานก็สั่งให้มีการปิดประชุมก่อนการลงมติ
นับจากเวลานัดหมายประชุมเป็นระยะเวลากว่า 1 ชั่วโมง ที่รัฐสภาไม่สามารถเปิดประชุมได้เนื่องจากองค์ประชุมยังไม่ครบ โดยเฉพาะ สว. ที่มีผู้มารายงานตัวหลักสิบคนเท่านั้น ในช่วงแรกจึงเป็นการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับปัญหาทั่วไปที่สมาชิกพบเจอจากการปฏิบัติงาน จนกระทั่ง รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนก่อนเข้าระเบียบวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สภาพิจารณาทบทวนและลงมติเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อที่ 41 ให้เสนอชื่อซ้ำได้หรือไม่ ซึ่งประธานรัฐสภาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับผู้เสนอดังกล่าวแม้มีผู้รับรองครบถ้วนแล้วก็ตาม โดยประธานรัฐสภาให้ความเห็นว่าที่ประชุมได้มีการลงมติไปแล้ว และในขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาอยู่ จึงอยากให้รอไปก่อน
ญัตติของพรรคก้าวไกลได้รับการสนับสนุนจากการอภิปรายของสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่ลุกขึ้นอภิปราย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กล่าวว่ามีการรับรองถูกต้องแล้ว จึงต้องมีการเดินหน้าให้สภาพิจารณาตามข้อบังคับประชุมสภา เช่นเดียวกับชลน่าน ศรีแก้ว อภิปรายว่าหากสภามีมติเห็นต่างจากการลงมติในครั้งก่อน ก็ต้องย่อมยึดตามมติล่าสุด จึงอยากให้มีการพิจารณาญัตติด่วนนี้ ผลที่ออกมาอาจจะไม่เห็นด้วยก็เป็นได้ แต่ต้องตัดสินด้วยมติสภาเป็นหลัก
ในอีกด้านหนึ่ง ก็มี สว. ลุกขึ้นอภิปรายไม่เห็นด้วยให้พิจารณาญัตติด่วนนี้ สมชาย แสวงการ สว. กล่าวว่าวันนี้มีสมาชิกเข้าใจผิดว่าประธานได้สั่งงดการประชุมแล้วหลังศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีมติรับคำร้องเรื่องการให้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกซ้ำได้หรือไม่ จึงไม่ได้เข้าร่วม ในอีกประเด็นหนึ่ง สมชายเสนออีกญัตติหนึ่งว่าการเสนอญัตติด่วนนั้นไม่สามารถทำได้ แต่ก็ถูกท้วงว่าไม่ครบ
หลังจากที่มีการโต้เถียงกันระหว่าง สส. ที่สนับสนุนให้พิจารณาญัตติด่วนและ สว. ที่ไม่เห็นด้วย ในเวลา 11.30 น. วันมูหะมัดนอร์ ได้ใช้อำนาจประธานรัฐสภาสั่งปิดประชุมอย่างไม่คาดคิด ทำให้ในการประชุมรัฐสภานัดนี้ ยังไม่ได้อภิปรายและลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ สว. และต้องเลื่อนออกไป
ทั้งนี้ ในคราวแรกที่มี สว. จำนวนไม่มากมารายงานตัวเป็นองค์ประชุม หลังจากที่มีการเสนอญัตติด่วนโดยรังสิมันต์ ก็มี สว. เข้ามารายงานตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จาก 63 คนเพิ่มเป็น 130 คนภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที และเมื่อประธานสั่งปิดประชุม พบว่ามี สว. มารายงานตัวเป็นองค์ประชุมถึง 191 คน โดยหากมีการลงมติ จะต้องใช้เสียงข้างมากจากจำนวนผู้ที่มาลงมติเท่านั้น และ สส. ที่อยู่ในที่ประชุมมากกว่า สว. ก็อาจจะเปลี่ยนผลลัพธ์จากที่เคยลงมติไว้ได้ แต่ก็ไปไม่ถึงปลายทางเพราะประธานสั่งปิดประชุมเสียก่อน