จับตา! รัฐสภานัดถกแก้รัฐธรรมนูญ ม. 272 ปิดสวิตช์ ส.ว. ตัดอำนาจร่วมโหวตนายกฯ

หลังจาก วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เลื่อนวันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปจากวันที่ 4 สิงหาคม 2566 หลังการเลือกตั้ง 2566 ทว่าหนึ่งในระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาที่ยังเหลืออยู่บรรจุวาระที่ระบุว่า รัฐสภาจะถกเถียงกันเพื่อลงมติเรื่องการ “ปิดสวิทช์ ส.ว.” หรือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อยกเลิกมาตรา 272 ที่เปิดช่องให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.  อยู่เช่นเดิม
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกมาตรา 272 ครั้งนี้ถูกเสนอโดย ชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.พรรคก้าวไกล และสมาชิกพรรคอีกกว่า 50 คน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 จากแนวคิดว่า อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีควรเป็นของ ส.ส. เท่านั้น เนื่องจากมีความยึดโยงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง รวมถึงเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ ส.ว. ขัดขวางกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรด้วยวิธีการงดออกเสียงได้อีก ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ซึ่งมี ส.ว. งดออกเสียงมากถึง 159 คน ไม่เห็นชอบ 34 คน และขาดการประชุมอีก 43 คน
อย่างไรก็ตาม การ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” เช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งมีครั้งแรก แต่เคยถูกพยายามมาแล้วถึงหกครั้งหลังมีรัฐธรรมนูญ 2560 โดยที่ผ่านมามีทั้งความพยายามจากภาคประชาชน จากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน รวมไปถึงพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยิ่งชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และยังแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่หลายฝ่ายยังพยายามอย่างไม่จบสิ้นที่จะนำ ส.ว. ออกจากสมการการเลือกนายกรัฐมนตรี

ปิดสวิทช์ไม่ลงถึงหกครั้ง ย้อนดูความพยายามยกเลิกมาตรา 272 ในอดีต

การปิดสวิทช์ ส.ว. เคยถูกเสนอมาแล้วหกครั้ง โดยมีทั้งหมดสามครั้งที่มาจากภาคประชาชนและมีอีกสามครั้งที่มาจากภาคการเมือง ซึ่งข้อเสนอของพรรคการเมืองมีทั้งข้อเสนอจากพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล ณ ขณะนั้น จึงยิ่งชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันนั้น มาตรา 272 ยังเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายในสังคมเห็นพ้องต้องกันว่าควรได้รับการแก้ไข
1. ความพยายามแก้ไขมาตรา 272 ครั้งแรกถูกเสนอจากภาคประชาสังคม โดย iLaw ได้รวบรวมรายชื่อของประชาชนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อตามรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอให้มีการยกเลิกมาตรา 272 กับรัฐสภา ซึ่งนอกจากจะเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรานี้แล้ว ยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. อีกด้วย โดยวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมรัฐสภา ได้มีมติเห็นชอบจากรัฐสภาเพียง 212 เสียง ซึ่งมี ส.ว. ลงคะแนนเสียงให้เพียงสามเสียงเท่านั้น ข้อเสนอนี้จึงตกไป
2. ในวันเดียวกันกับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของ iLaw ก็มีพิจารณาร่างแก้ไขมาตรา 272 ของพรรคฝ่ายค้าน ณ ขณะนั้น โดยนอกจากการยกเลิกมาตรานี้แล้ว ยังพยายามแก้ไขคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีในมาตรา 159 ด้วยว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ที่มีชื่อในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือ เป็น ส.ส. เท่านั้น แต่ข้อเสนอนี้ถูกรัฐสภาลงมติไม่รับหลักการด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบเพียง 268 เสียง โดยเป็นเสียงจาก ส.ว. เพียง 56 เสียง
3. พรรคฝ่ายค้านรวบรวมเสียงเพื่อขอยื่นแก้ไขและยกเลิกมาตรา 272 อีกครั้ง โดยมีเนื้อหาระบุให้ตัดมาตรา 272 ทั้งมาตรา และกำหนดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีในมาตรา 159 เช่นที่เคยเสนอไว้ในปี 2563 ผลการลงมติในวันที่ 23 มิถุนายน 2564 มีเสียงเห็นชอบจากรัฐสภามากขึ้นกว่าครั้งก่อน โดยมีเสียงเห็นชอบถึง 455 เสียง ซึ่งถือว่าเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาแล้ว ทว่ากลับไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. โดยมี ส.ว. เพียง 15 เสียงเท่านั้นที่เห็นชอบ ซึ่งน้อยกว่าหนึ่งในสามของเสียง ส.ว. ที่ต้องใช้ ความพยายามยกเลิกมาตรานี้จึงล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง
4. ในวันเดียวกับพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้น ก็ได้เสนอให้มีการตัดมาตรา 272 ด้วยเช่นกัน และยังเสนอให้นายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 ต้องมีรายชื่ออยู่ในรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือ เป็น ส.ส. เท่านั้น ความพยายามครั้งนี้มีเสียงเห็นชอบจากรัฐสภามากถึง 461 เสียง ถือว่าเกินกึ่งหนึ่ง แต่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เพียง 21 เสียง จึงส่งผลให้รัฐสภามีมติไม่รับหลักการการแก้ไขครั้งนี้ไปเช่นกัน
5. กลุ่ม Resolution ได้ยื่นขอการแก้ไขมาตรา 272 โดยมีข้อเสนอให้ตัดมาตรา 272 ทั้งมาตราออกไป และเสนอให้มีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว และให้นายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 ต้องมีที่มาจากรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และต้องเป็น ส.ส. ด้วย อย่างไรก็ตามมติของรัฐสภาในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ถูกปัดตกด้วยเสียงเห็นชอบจากรัฐสภาเพียง 206 เสียง โดยมี ส.ว. เห็นชอบด้วยเพียงสามเสียงเท่านั้น
6. กลุ่ม No 272 ได้ยื่นข้อยกเลิกมาตรา 272 โดยมีข้อเสนอให้ตัดมาตรา 27 วรรคแรกออกไป หรือก็คือการไม่ให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้เท่านั้น แต่ไม่ได้มีข้อเสนออื่น อย่างไรก็ตามมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ก็ถูกรัฐสภาตีตกไปด้วยเสียงเห็นชอบ 356 เสียง โดยมี ส.ว. ลงคะแนนเห็นชอบเพียง 23 เสียงเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการยื่นแก้ไขมาตรา 272 โดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ณ ขณะนั้น อีกครั้ง โดยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นปลายสมัยของ ส.ส. มีการนัดประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณา แต่สุดท้ายไม่สามารถประชุมได้ เนื่องจาก ส.ว. ไม่เข้าประชุมเป็นจำนวนมากถึง 95 คน จนส่งผลให้องค์ประชุมล่ม และทำให้ไม่เกิดการลงคะแนนเสียงขึ้น

ปิดสวิทช์ ส.ว. ไม่ง่าย ร่วมดูเหตุผลว่าทำไมการแก้ไขมาตรา 272 จึงยาก

มาตรา 272 เป็นหนึ่งในผลพวงของการประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 ที่มีการกำหนดให้ในห้าปีแรกหลังจากมีรัฐสภาชุดแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 รัฐสภาจะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกันได้ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นประชามติที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีความพยายามชี้นำในคำถามอย่างชัดเจน รวมถึงไม่ได้ระบุให้ละเอียดว่า ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ของพลเอกประยุทธ์ จะมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้เท่ากับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนั้นได้เกิดวาทกรรม “รับไปก่อน แก้ทีหลัง” จากผู้มีอำนาจซึ่งภายหลังสังคมไทยพบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กระทำได้ง่ายนัก เนื่องจากต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. ด้วยเช่นกันหากต้องการจะแก้ไขอะไรก็ตามในรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกแบ่งออกเป็นสามวาระ โดยวาระแรกในขั้น “รับหลักการ” ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภาทั้งหมด หรือใช้ทั้งสิ้น 375 เสียง ซึ่งในจำนวนเสียงนี้ต้องมีเสียงจาก ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน ส.ว. ทั้งหมด หรือคิดเป็นเสียงของ ส.ว. ทั้งสิ้น 84 เสียง
วาระที่สอง คือ ขั้นตอนการพิจารณารายมาตรา ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ หรือ 376 เสียง แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระสาม
วาระที่สาม ซึ่งเป็นวาระสุดท้าย นอกจากต้องใช้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 376 เสียง และในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน ส.ว. หรือ 84 คนแล้ว ยังต้องมีเสียง ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี  ประธานสภาหรือรองประธานผู้แทนฯ หรือ “ส.ส. ฝ่ายค้าน” เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วันและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
จากขั้นตอนที่ยุ่งยากและต้องการเสียงเป็นจำนวนมากในรัฐสภาเช่นนี้ จะเห็นได้ว่าจำเป็นต้องใช้เสียงของ ส.ว. เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นความพยายามที่จะปิดสวิทช์ ส.ว. จึงเป็นไปได้ยากเนื่องจากต้องให้พวกเขาออกเสียงตัดอำนาจของตนเอง ขณะเดียวกันที่มาของ ส.ว. ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนตั้งแต่แรกยิ่งทำให้การกดดัน ส.ว. ยากยิ่งขึ้นไปกว่าการกดดัน ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง
ความพยายามในการยกเลิกมาตรา 272 จึงยิ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเอา ส.ว. ออกจากสมการการเลือกนายกรัฐมนตรี หลังความพยามยามถึงหกครั้งที่ผ่านมาไม่เคยได้เสียง ส.ว. เกินหนึ่งในสามตามรัฐธรรมนูญที่ คสช. ออกแบบไว้เลยแม้แต่ครั้งเดียว