สัปดาห์สุดท้ายปี 2553 : จำคุกผู้ต้องหาจากการชุมนุมเหลืองแดง

จำคุก 7 เสื้อแดงสารคามฐานวางเพลิง-ขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5 ปี 8 เดือน
ศาลจังหวัดมหาสารคามตัดสินจำคุกจำเลยคดีวางเพลิงเผาทรัพย์ ฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินรวม 5 ปี 8 เดือน รวม 7 คน ส่วนส่วนจำเลยที่ 4 รอลงอาญา ด้านทนายเตรียมทำเรื่องขอประกันตัวจำเลยที่เหลือเพื่อสู้คดี

วันที่ 30 ธ.ค.53 เวลา 09.30 ศาลจังหวัดมหาสารคามนัดฟังคำพิพากษาตัดสินคดีร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ โรงเรือน อันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน และร่วมกันชุมนุม หรือมั่วสุม 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนข้อกำหนดพระราชกำหนดการบริหาร ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 บริเวณอำเภอเมือง จ.มหาสารคาม โดยมีจำเลยในคดีทั้งสิ้น 8 คน โดยทั้งหมดถูกจำคุกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 เดือน ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาเป็นเวลา 2 ช.ม. โดยตัดสินจำคุก จำเลยที่ 1-3 และ จำเลยที่ 5-8 เป็นระยะเวลา 5 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในขณะที่จำเลยที่ 4 ได้แก่ นายไข่เขย จันทร์เปล่ง ตัดสินให้รอลงอาญา

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่ระบุในคำฟ้อง ซึ่งอ้างถึงความเสียหายของตัวอาคารอำเภอ และพาหนะ เครื่องใช้สำนักงาน รวมถึงสาธารณะสมบัติรวมแล้ว มีมูลค่า 352,000 บาท

จำคุก "85 นักรบศรีวิชัย" บุกเอ็นบีที ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี 18 เดือน รอลงอาญา 6 คน
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 30 ธันวาคม ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีบุกเอ็นบีที คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธเนศร์ คำชุม กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัย การ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวม 85 คน
 
ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-41 และ 43-85 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210 วรรคแรก 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364,83 ขณะกระทำผิด จำเลยที่ 30,47,81 อายุยังไม่เกิน 20 ปี เห็นสมควรลดโทษมาตราส่วนโทษ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 76 จำเลยที่ 83-85 อายุต่ำกว่า 18 ปี เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 75 ฐานเป็นซ่องโจร จำคุกจำเลยที่ 1-29 ที่ 31-41 ที่ 43-46 ที่ 48-80 ที่ 82 จำคุกคนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 30 ที่ 47 ที่ 81 คนละ 8 เดือน สั่งจำคุกจำเลยที่ 83-85 คนละ 6 เดือน ฐานบุกรุก จำคุกจำเลยที่ 1-29, 31-41, 43-46, 48-80 และที่ 82 คนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 30,47,81 คนละ 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 83-85 คนละ 6 เดือน

จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิวรรคหนึ่ง, 72 วิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี และความผิด พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 และ 23 สั่งจำคุก 1 ปี
 
จำเลยที่ 2 มีความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน มาตรา 7 และ 72 วรรคสอง สั่งปรับ 1 พันบาท ส่วนจำเลยที่ 39 และ 80 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง 76 วรรคสอง สั่งปรับคนละ 1 พันบาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 24 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92 รวมเป็นจำคุกกระทงละ 1 ปี 4 เดือน การกระทำของจำเลยที่ 1-41 และ 43-85 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำเลยรับข้อเท็จจริงว่าได้ร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานีวิทยุโทรทัศน์ แห่งประเทศไทย(เอ็นบีที) และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน

จำเลยที่ 1 และ 2 ให้การรับสารภาพ ความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ จำเลยที่ 39 และ 80 ให้การรับสารภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 18 เดือน และจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และสั่งปรับ 500 บาท ส่วนจำเลยที่ 3-29,31-38 ,40,41,43-46,48-79 และ 82 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 39 และ 80 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ปรับ 500 บาท จำเลยที่ 30,47 และ 81 มีกำหนด 12 เดือน จำเลยที่ 83-85มีกำหนด 9 เดือน จำเลยที่ 24 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 30,47,81,83,85 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน

ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 30, 47 และ 81 อายุยังไม่เกิน 20 ปี จำเลยที่ 83-85 ยังเป็นเยาวชน จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษจำเลยดังกล่าวไว้มีกำหนด 2 ปี ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ที่ 39 และ 80 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และ 30 และให้ริบของกลางโดยให้วิทยุคมนาคมไว้ใช้ในราชการของสำนักงานคณะกรรมการ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ข้อหาและคำร้องอื่นให้ยก

ยื่นฟ้อง“จอน อึ๊งภากรณ์”กับพวก คดีปีนสภา
อัยการฟ้องแล้ว “จอน อึ๊งภากรณ์” กับพวก 10 คน บุกรัฐสภา ศาลนัดตรวจหลักฐาน 28 ก.พ.ปีหน้า

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 .น วันที่ 30 ธ.ค. นายธงชัย รุ่งเจริญวิวัฒนา พนักงานอัยการกองคดีอาญา10 เป็นโจทก์ฟ้องนายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่10คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันทำให้ปรากฏด้วยวาจา อันมิใช่กระทำในความหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นโดยปกติเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า

เมื่อวันที่12 ธ.ค.2550 จำเลยทั้งสิบกับพวกหลายร้อยคน ได้มั่วสุมบริเวณถนนอู่ทองใน หน้าอาคารรัฐสภา แล้วพวกจำเลยในฐานะเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการกลุ่มแนวร่วมภาคประชาชนหรือแกนนำม็อบ ได้ใช้รถบรรทุก 6 ล้อ ติดเครื่องขยายเสียงมาจอดปิดทางเข้าออกรัฐสภา แล้วใช้โซ่ล่ามประตูเข้าออก ไม่ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เข้าไปในที่ทำการรัฐสภา แล้วจำเลยยังได้ยุยงส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในรัฐสภา เพื่อขัดขวางสมาชิกสภานิติบัญญัติไม่ให้พิจารณากฎหมายทุกฉบับ จนต้องงดการประชุม

โจทก์ระบุฟ้องอีกว่า ต่อมาจำเลยกับพวกหลายร้อยคนได้บุกอาคารรัฐสภา แล้วใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยจนบาดเจ็บ จากนั้นได้ไปชุมนุมที่อาคาร1ชั้น2 ทีใช้เป็นที่ประชุมสภานิติบัญญัติแล้วได้ร่วมกันพูดและส่งเสียงกดดันจนสมาชิกรัฐสภาต้องเลิกการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการพิจารณาพิจาณากฎหมายต่าง ๆ เหตุเกิดที่แขวงดุสิต เขตดุสิต กทม. ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายอาญา มาตรา 83,91,116,215,362,364, 365, พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2536 มาตรา 4

ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีดำที่ อ.4383/2553 และสอบคำให้การจำเลยแล้ว ซึ่งแถลงให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 ก.พ. ศกหน้า เวลา 09.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยอีก 9 คนประกอบด้วย นายสาวิทย์ แก้วหวาน อายุ 47 ปี ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) นายศิริชัย ไม้งาม อายุ 49 ปี ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายพิชิต ไชยมงคล อายุ 28 ปี นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท อายุ 43 ปี นายนัสเซอร์ ยีหมะ อายุ 34 ปี นายอำนาจ พละมี อายุ 42 ปี นายไพโรจน์ พลเพชร อายุ 53 ปี นางสาวสารี อ๋องสมหวัง อายุ 44 ปี และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อายุ 35 ปี

ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใน จ.ปัตตานี หลังประกาศใช้มานาน 5 ปี
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ยกเลิกการประกาศใช้พระราช กำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ทางภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 จังหวัดใกล้ชายแดนมาเลเซีย ที่ได้รับการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2005

ครม.เตรียมชงร่าง พ.ร.บ.เท่าเทียมทางเพศ พ.ศ… เข้าสภาฯ
มติ ครม.เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.เท่าเทียมทางเพศ พ.ศ…. เข้าสภาพิจารณา เน้นสาระสำคัญความเท่าเทียมการทำงาน ห้ามกีดกันทางเพศ ละเมิดอาจเจอโทษจำคุกถึง 6 เดือน
 
จากที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เสนอร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ กับครม. และ ครม.ส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ล่าสุด ที่ประชุมครม.มีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขชื่อร่างให้เป็น ร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. …. พร้อม ด้วยข้อสังเกตจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ และมีมติ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) แล้วเพื่อให้พิจารณาส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรบรรจุเข้าวาระการประชุม

ร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. … นั้นประกอบด้วยสาระสำคัญโดยกำหนดมาตรการป้องกันการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ จากกระทำหรือไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิงหรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจาก เพศโดยกำเนิด เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศานา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อคุ้มครองบุคคลไม่ว่าเพศหญิง เพศชายหรือเพศพิเศษ
 
ทั้งนี้บุคคลที่เห็นว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติยื่นคำ ร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.)ที่มาจากการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิของรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องรับการสงเคราะห์ความช่วยเหลือหรือการให้ความช่วยทางการเงิน เช่น ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ค่าสูญเสียโอกาสที่เป็นค่าเสียหายในเชิงพาณิชย์ที่คำนวณเป็นเงินได้ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล หรือค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ
 
อย่างไรก็ตามการยื่นคำร้องดังกล่าวจะไม่ตัดสิทธิการฟ้องร้อง ค่าเสียหายฐานละเมิดต่อศาล หากหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องฝ่าฝืนไม่ยอมระงับและป้องกันไม่ให้มีการ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้มีคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ(สทพ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกำกับนโยบาย

เพื่อไทยร้องกมธ.กฎหมายสอบธาริต
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า ส.ส.เพื่อไทยร้องกมธ.กฎหมายฯ สอบอธิบดีดีเอสไอ ชี้อาจไม่เหมาะสม เพราะเป็นผู้ร่วมสั่งการแต่ทำหน้าที่ตรวจสอบเหตุ6 ศพวัดปทุมฯ

นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือต่อนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบกรณีสำนวนคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรื่องการเสียชีวิตของประชาชนและนักข่าวญี่ปุ่น ในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

นายประเกียรติ กล่าวว่า กรณีที่ดีเอสไอเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนความจริงของคดี โดยเป็นผู้สรุปผลการสอบสวนส่งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตนเห็นว่าน่าจะไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมเมื่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ที่เป็นผู้สั่งการสอบสวน ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอ ฉ.) อยู่ด้วย จึงดูจะไม่เหมาะสมที่ผู้มีส่วนรู้เห็นในการสั่งการจะเป็นผู้ดำเนินการตรวจ สอบเหตุการณ์เสียเองจึงขอเสนอให้กรรมาธิการฯ ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้เพื่อความเป็นธรรม

ด้าน นายประชา กล่าวว่า กรณีดังกล่าวถึอเป็นเรื่องสำคัญคล้ายกับกรณีคดีการหายตัวของนักธุรกิจชาวซา อุดิอาราเบีย เห็นได้จากการแสดงความเป็นห่วงของเอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กรรมาธิการฯ จึงจะดำเนินการตรวจสอบศึกษาเรื่องนี้ในการประชุมครั้งต่อไป โดยจะเชิญตัวแทนญาติผู้เสียชีวิต ตัวแทนจากสถานฑูตญี่ปุ่น ,เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มาชี้แจง นอกจากนี้ในวันที่ 14 มกราคม 54 กรรมาธิการฯจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อศึกษาถึงโครงสร้างการดำเนินการใน กระบวนการยุติธรรมด้วย
 

3 สมาคมขรก.ขอสิทธิรักษาพยาบาล
หนังสือพิมพ์มติชนรายงานว่า นายทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกูล ประธานสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มติ 3 สมาคมประกอบด้วยสมาพันธ์ปลัด อบต. สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทย จะเดินหน้าผลักดันสิทธิสวัสดิการของข้าราชการทั้ง 3 สมาคมซึ่งยังไม่เท่าเทียมกับข้าราชการประเภทอื่น โดยเฉพาะสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลใน อบต.ทั่วประเทศมีปัญหามาก โดยจะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาแก้ไขหลักการในกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.กลาง) เพื่อตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาล

"พนักงานส่วนตำบล จ.ลำพูน ร้องเรียนว่านายกอบต.รายหนึ่งสั่งระงับแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐไม่ให้ฉีดยาพนักงานที่ป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งต้องมีค่ารักษาพยาบาลครั้งละ80,000 บาท โดยอ้างว่าต้องนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาท้องถิ่นหรือบางกรณีมีการเสนอเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล100,000 บาท นายก อบต.ไม่ยอมลงนามเบิกจ่าย ซึ่งสะท้อนว่าต้องปรับปรุงสิทธิสวัสดิการของพนักงานส่วนตำบลทั้งระบบ" นายทวีศักดิ์กล่าว

ย้อนตำนานกฎหมายคุมค้าปลีก! พาณิชย์ยังฝันแม้ 2 ปีรัฐบาล "มาร์ค" ดองจนเค็มปี๋
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ถึงความคืบหน้าการพิจารณา พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ. …ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังคงปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวไม่แล้วเสร็จ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สำนักงานฯ รวมร่างกฎหมายที่เสนอโดยกระทรวงพาณิชย์ และร่างของสำนักงานผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) โดยให้ยึดร่างของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ธ.ค.52 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเสนอกลับมาให้ ครม.เมื่อใด