เปิดค่าตอบแทน สส.ผู้ทรงเกียรติ เงินเดือนหลักแสน ผู้ช่วยพร้อม สวัสดิการครบ

แม้จะได้ยินอยู่บ่อยครั้งในช่วงหาเสียงของเหล่านักการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ในทำนองว่า ‘อาสารับใช้ประชาชน’ แต่อย่างไรเสีย การเข้าสภาไปทำหน้าที่ สส.ไม่ใช่งานจิตอาสา ค่าตอบแทนน้ำพักน้ำแรงของคนเหล่านี้ล้วนมาจากภาษีของประชาชนทั่วประเทศที่ฝากความหวังให้เป็นปากเป็นเสียงและเลือกพวกเขาเพื่อให้เข้าไปทำหน้าที่ตามคำมั่นที่เคยได้ให้ไว้ในตอนหาเสียง

ดังนั้น รายได้ของ สส. จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่เป็นข้อมูลเพื่อเอาไว้ตรวจสอบความโปร่งใสในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่ยังสามารถใช้เป็นมาตรวัดผลงานและคุณภาพของผู้แทนเหล่านี้ได้ด้วยว่าพวกเขาทำหน้าที่คุ้มค่ากับภาษีของประชาชนที่จ่ายไปหรือไม่  

เงินประจำตำแหน่ง องคมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องตราเป็นกฎหมาย 

รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดให้ ค่าตอบแทนขององคมนตรี ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านฯ ประธานและรองประธานวุฒิสภา สส. สว .รวมถึงกรรมาธิการ ต้องกำหนดเป็นกฎหมายมีแนวทางชัดเจนในการจ่ายเงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนเพิ่ม โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา คือ  พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ. 2555 (พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและสิทธิประโยชน์ ฯ ปี 2555 ) และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2563 (ฉบับที่ 2)   ซึ่งอัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มจะไม่เท่ากันตามแต่ละตำแหน่งและแยกออกจากกัน หาก สส.คนใดไปดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ประธานและรองประธานสภาฯ หรือผู้นำฝ่ายค้านก็จะไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งของสส.อีกต่อไป  

ถึงยังไม่เรียกเปิดสภา แต่ สส.ก็ได้รับเงินเดือนตั้งแต่วันเลือกตั้ง    

สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จะได้รับเงินเป็นรายเดือนตั้งแต่วันเริ่มต้นมีสมาชิกภาพ  โดยมีค่าตอบแทนเป็นเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท อย่างไรก็ตาม หาก สส.ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยจะต้องรับเงินประจำตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีอย่างเดียว ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งสส.

ความเป็นสมาชิกภาพ (Membership) หรือสถานะของ สส.ทางกฎหมายที่จะเป็นตัวชี้ว่าอำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ รวมถึงค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ สส.พึงได้รับนั้น ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2517 จนถึงปัจจุบันรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 100  กำหนดให้ สมาชิกภาพของ สส.เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง หมายความว่า ในกรณีของ สส.ชุดใหม่ (ชุดที่ 26​) จะได้รับค่าตอบแทนย้อนหลังไปจนถึงวันเลือกตั้ง (14 พ.ค. 2566)  แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดรัฐสภาแต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สถานภาพของความเป็น สส.เริ่มขึ้นแล้วและส่งผลให้ได้รับเงินเดือนย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่ได้รับเลือกตั้ง  

อย่างไรก็ตาม การให้ สส.รวมถึง สว.ได้รับค่าตอบแทนย้อนหลังมาจนถึงวันเลือกตั้งพึ่งเกิดขึ้นในสภาชุดที่แล้ว (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปี 2562) โดยแก้ไขเนื้อหาตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ เป็นผู้เสนอ 
เนื่องด้วย พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและสิทธิประโยชน์ฯ ปี 2555 มาตรา 5 กำหนดช่วงเวลาการรับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มให้รับได้นับแต่วันเข้ารับหน้าที่ กล่าวคือ จะเริ่มได้รับเงินเดือนตั้งแต่ในวันที่ สส. และ สว. ได้ปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาซึ่งตนเป็นสมาชิก ซึ่งถือเป็นวันที่ สส.ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการจึงแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่กำหนดวันเริ่มสมาชิกภาพของ สส. ให้นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง อีกทั้ง ความเห็นของ มีชัย ฤชุพันธ์ เห็นว่ากรณีดังกล่าวถือเป็นสิทธิที่ควรได้ ตั้งแต่เข้าสู่ตำแหน่ง เมื่อ ครม.อนุมัติ การแก้ไขจึงทำให้ สส.ชุดที่แล้วก็ได้รับเงินย้อนหลังเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ กรณี สส.ที่เข้ารับตำแหน่งเป็นประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ หรือผู้นำฝ่ายค้าน จะได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มในอีกอัตรา ดังนั้นเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ก็จะหมดสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนของการเป็นสส.และได้รับเป็นเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มตามตำแหน่งของตน ดังนี้ 
  • ประธานสภาฯ รับค่าตอบแทนเป็นเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 75,590 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 50,000 บาท รวมเป็นเดือนละ 125,590 บาท 
  • รองประธานสภาฯ รับค่าตอบแทนเป็นเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท 
  • ผู้นำฝ่ายค้านฯ  รับค่าตอบแทนเป็นเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท

สิทธิประโยชน์จัดเต็ม เบิกได้ทั้งค่าเดินทาง-ค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประชุมรับรายวัน

นอกจากเงินเดือนที่มีทั้งเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มแล้ว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเผยแพร่เอกสารรวมสิทธิประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งระบุกรณีต่าง ๆ ที่ สส.สามารถเบิกเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เรื่องการรับเบี้ยประชุม รวมถึงการได้รับสิทธิประโยชน์อันเป็นสวัสดิการต่าง ๆ 

ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 

สส. มีสิทธิเบิกค่าโดยสารหรือรับค่าพาหนะในการเดินทางในการมาประชุมและการไปปฏิบัติหน้าที่ อ้างอิงอัตราค่าใช้จ่ายกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการที่ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยสิทธิที่ได้รับอยู่ในขั้นเดียวกับข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง แบ่งออกเป็นสามกรณี ดังนี้

1. เดินทางมาประชุมรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการ หรือเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่

สำหรับ สส. ที่มีถิ่นที่อยู่คนละจังหวัดกับที่ตั้งของรัฐสภา (นอกกรุงเทพฯ) จะได้รับค่าเดินทางเฉพาะครั้งแรกที่เข้ามารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ (วันปฏิญาณตน) และอีกครั้งเป็นค่าเดินทางกลับเมื่อสิ้นสุดความเป็นสส. อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางมาประชุมในวาระต่างๆ สส.ก็มีสิทธิได้รับค่าเดินทางด้วย 

  • เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ได้แก่ เครื่องบิน รถไฟ รถยนต์ประจำทาง สำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะเป็นผู้จัดใบเบิกค่าโดยสารให้ มีสิทธิเบิกตามที่จ่ายจริง โดยกรณีเดินทางด้วยรถไฟหรือรถยนต์ประจำทางสามารถเบิกให้ผู้ติดตามได้อีกหนึ่งคนในชั้นเดียวกัน 
  • เดินทางด้วยพาหนะส่วนตัว มีสิทธิได้รับเงินชดเชยเป็นค่าพาหนะในลักษณะเหมาจ่าย โดยจะได้รับเงินชดเชยเป็นค่าพาหนะในการเดินทางจากอำเภอในจังหวัดอันเป็นถิ่นที่อยู่มายังรัฐสภา (กรุงเทพฯ) คิดจากระยะทางที่สส.ได้แจ้งไว้ครั้งแรกต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะคำนวณระยะทางตามเส้นทางที่สั้นและตรงของกรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบทแล้วแต่กรณี ในอัตรารถยนต์ส่วนบุคคล กิโลเมตรละ 4 บาท  รถจักรยานยนต์ กิโลเมตรละ 2 บาท อีกทั้ง หากเป็นกรณีการเดินทางไปสถานที่ที่ขึ้นขนส่งสาธารณะหรือที่เป็นค่าเดินทางจากสถานที่ขนส่งมายังรัฐสภาก็สามารถเบิกตามอัตรานี้เช่นเดียวกัน

2. เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ

กรณีที่ สส.ในฐานะกรรมาธิการที่มีความจำเป็นต้องไปปฏิบัติหน้าที่นอกจังหวัดที่ตั้งรัฐสภา (นอกกรุงเทพฯ) ก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยใช้อัตราเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น

3. เดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว

กรณีนี้จะเบิกค่าใช้จ่ายได้จะต้องได้รับการอนุมัติเป็นหนังสือจากประธานรัฐสภาหรือรองประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี โดยได้รับสิทธิในอัตราเทียบเคียงในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราวได้ ดังนี้

  • ประธานสภาฯ ได้รับสิทธิเดินทางโดยสารชั้นหนึ่ง (อัตราเดียวกับนายกรัฐมนตรี )
  • รองประธานสภาฯ และผู้นำฝ่ายค้าน ได้รับสิทธิเดินทางโดยสารชั้นหนึ่ง (อัตราเดียวกันกับรองนายกรัฐมนตรี)
  • สส. หากบินเก้าชั่วโมงขึ้นไปได้รับสิทธิเดินทางโดยสารชั้นหนึ่ง หากต่ำกว่าเก้าชั่วโมงให้รับสิทธิเดินทางชั้นธุรกิจ (อัตราเดียวกันกับข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง)

งบค่าอาหารในวันประชุมมื้อละ 861 บาทต่อ ส.ส.หนึ่งคน 

สำหรับการประชุมในแต่ละวันค่าอาหารของ ส.ส. นั้นถูกจัดสรรมาจากส่วนของงบประมาณรัฐสภา โดยในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.พรรคก้าวไกล เคยอภิปรายในประเด็นดังกล่าวว่า งบประมาณในส่วนของรัฐสภา มีการจัดสรรงบที่เป็นค่าอาหารของสมาชิกรัฐสภาและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ รวมกันทั้งสิ้น 152,914,500 บาท แบ่งเป็นของค่าอาหาร สส.ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร 87,880,000 บาท เมื่อคิดจำนวนวันที่มาประชุมประกอบจำนวนมื้อจึงคำนวณออกมาตกมื้อละ 861 บาทต่อ สส. หนึ่งคน ยังไม่รวมค่าอาหารประชุมกรรมาธิการอีก 34,846,100 บาท ตนจึงขอตัดลดค่าอาหารส่วนนี้ลงครึ่งหนึ่ง 

นอกจากนี้ ยุทธนา สำเภาเงิน โฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ออกมาให้ข้อมูลยืนยันว่า การเบิกจ่ายค่าอาหารของ สส. ในวันประชุมสภาฯ เป็นไปตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา​ พ.ศ. 2557 ปัจจุบันเบิกจ่ายในอัตราไม่เกิน 1,000 บาทต่อคนซึ่งจำนวนเงิน

ดังกล่าวครอบคลุมถึงค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มตลอดทั้งวัน ค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารเย็น ตลอดจนภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าบริการต่างๆ 

สวัสดิการรักษาพยาบาล 

สส.มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลในระหว่างดำรงตำแหน่ง ได้แก่  เงินชดเชยค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล อุบัติเหตุฉุกเฉิน รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งสส.สามารถนำใบเสร็จรับเงินค่าพยาบาลมาเบิกได้ภายในหนึ่งปีนับจากวันที่ออกใบเสร็จรับเงิน โดยจะได้รับตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกินอัตราที่กำหนด ดังต่อไปนี้ 

การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการและเอกชน

กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน 

  • ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง)  จำนวนเงินไม่เกิน 4,000 บาท (รวมค่าบริการการพยาบาล) 
  • ค่าห้อง ไอ.ซี.ยู/ซี.ซี.ยู/วัน (สูงสุด 7 วัน/ครั้ง) จำนวนเงินไม่เกิน 10,000 บาท (ไม่รวมค่าผ่าตัด) 
  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง จำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท
  • ค่ารถพยาบาล จำนวนเงิน 1,000 บาท 
  • ค่าแพทย์ผ่าตัด/ครั้ง 120,000 บาท (ให้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่าย ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องผ่าตัด เช่น ค่าแพทย์ผ่าตัด ค่าวิสัญญีแพทย์ ค่าใช้อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในห้องผ่าตัดค่าเครื่องมือดมยา ค่าผ่าตัดด้วยกล้องเป็นต้น)
  • ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) จำนวนเงินไม่เกิน 1,000 บาท 
  • ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง   จำนวนเงินไม่เกิน 4,000 บาท
  • การคลอดบุตร (1) คลอดธรรมชาติ จำนวนเงินไม่เกิน 20,000 บาท  (2) คลอดโดยการผ่าตัด จำนวนเงินไม่เกิน 40,000 บาท  
  • การรักษาทันตกรรม/ปี   จำนวนเงินไม่เกิน 5,000 บาท

กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก

  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ปี  จำนวนเงินไม่เกิน 90,000 บาท
  • อุบัติเหตุฉุกเฉิน/ครั้ง จำนวนเงินไม่เกิน 20,000 บาท (รวมถึงการรักษาภายใน 15 วัน โดยไม่รวมกับค่าใช้จ่ายทั่วไป)

การตรวจสุขภาพประจำปี จำนวนเงินไม่เกิน 7,000 บาท

เบี้ยประชุมกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการ 

อย่างที่ทราบกันดีว่านอกจากหน้าที่หลักในการผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ในที่ประชุมสภาแล้ว หน้าที่ย่อยอีกอย่างของ สส.คือการอยู่ในคณะกรรมมาธิการต่างๆ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายรายมาตราหรือพิจารณา ศึกษา หรือสอบสวนเรื่องใดๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจของสภาแล้วรายงานต่อสภา ส่วนอนุกรรมาธิการคือการพิจารณาในประเด็นรายย่อยอีกที ดังนั้น เมื่อมีการประชุม สส.จะได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งต่อวัน เฉพาะครั้งที่มาประชุมอีกด้วย

  • ประชุมคณะกรรมาธิการ ได้รับเบี้ยอัตราครั้งละ 1,500 บาท
  • ประชุมคณะอนุกรรมาธิการ ได้รับเบี้ยอัตราครั้งละ 800 บาท

อย่างไรก็ดี หาก สส.มีการประชุมในคณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการ คณะอื่นด้วยในวันเดียวกัน จะมีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมในวันนั้นไม่เกินสองครั้ง 

สส.หนึ่งคนมีผู้ช่วยประจำตัวสูงสุด 8 คน  

ด้วยเหตุที่ภารกิจของ สส.มีมากมาย ไม่ได้มีแค่การทำหน้าที่ออกกฎหมายในสภาเพียงอย่างเดียวแต่การลงพื้นที่พบปะประชาชนเพื่อรับทราบปัญหาต่างๆ ที่เกิดก็เป็นส่วนหนึ่งของงานหน้าที่ สส. จึงทำให้ สส.จะต้องมีผู้ช่วยดำเนินงานต่าง ๆ ประจำตัว สส.แต่ละคนที่เข้ามาแบ่งเบาภาระหน้าที่ โดยมีความรับผิดชอบและคุณสมบัติที่ต่างกันออกไปตามภาระที่ต้องช่วย สส.แบ่งเบา ซึ่ง สส.จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกและต้องให้คำรับรองคุณสมบัติก่อนแล้วจึงเสนอให้สำนักเลขาธิการสภาฯ ออกคำสั่งแต่งตั้งบุคคลเหล่านี้ เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยก็จะสามารถดำรงตำแหน่งหน้าที่นั้นเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น ห้ามทำหลายตำแหน่ง รวมถึงจะเข้าไปเป็นผู้ช่วยให้ สส.คนอื่นควบคู่กันไม่ได้  

ผู้ช่วยประจำตัว สส. มีวาระดำรงตำแหน่งถึงวันสิ้นปีงบประมาณของปีที่แต่งตั้ง ต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัว เช่น วัยวุฒิขั้นต่ำ ประสบการณ์ทางด้านการเมืองซึ่งจะกำหนดกี่ปีขึ้นอยู่กับเกณฑ์ขั้นต่ำต่างกันไปในแต่ละตำแหน่ง โดยรวม สส.หนึ่งคนสามารถมีผู้ช่วยได้สูงสุดแปดคน ดังนี้

  • ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน รับเงินเดือน เดือนละ 24,000 บาท มีหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษาทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์ให้แก่ สส. 
  • ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน รับเงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท เป็นผู้ช่วยดำเนินงานภายในสภา มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้า หาข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย รวมทั้งรวมรวมปัญหาและข้อร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อจัดทำญัตติ กระทู้ถาม ข้อหารือหรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่ สส.
  • ผู้ช่วยดำเนินงาน 5 คน รับเงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท เป็นผู้ช่วยดำเนินงานที่นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายและรับผิดชอบตามที่ สส.กำหนด กล่าวคือ มาช่วยแบ่งเบาภาระ สส.ในการลงพื้นที่บรรเทาความเดือดร้องของประชาชน เช่น การพูดคุยรับฟังปัญหาประชาชน ติดต่อประสานกับหน่วยราชการ  เข้าร่วมสัมมนาหรืองานประเพณีต่างๆ  
สำหรับประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ และผู้นำฝ่ายค้าน จะมีสิทธิเสนอแต่งตั้งคณะทำงานทางการเมือง เข้ามาช่วยทำหน้าที่ตามความประสงค์แล้วแต่กรณีประกอบไปด้วย 
  1. ที่ปรึกษา รับเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท
  2. นักวิชาการ รับเงินเดือน เดือนละ 18,000 บาท
  3. เลขานุการ รับเงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท
  • ประธานสภาฯ มีสิทธิเสนอแต่งตั้งคณะทำงานทางการเมือง 12 คน ประกอบด้วย ที่ปรึกษา 5 คน นักวิชาการ 4 คน เลขานุการ 3 คน
  • รองประธานสภาฯ 1 คน มีสิทธิเสนอแต่งตั้งคณะทำงานทางการเมือง 10 คน ประกอบด้วย ที่ปรึกษา 4 คน นักวิชาการ 4 คน เลขานุการ 2 คน
  • ผู้นำฝ่ายค้าน  มีคณะทำงานทางการเมืองสิทธิเสนอแต่งตั้ง 10 คน ประกอบด้วย ที่ปรึกษา 4 คน นักวิชาการ 4 คน เลขานุการ 2 คน

ศาลสั่งคืนเงิน-สิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้ หาก สส.รู้ตัวว่าขาดคุณสมบัติแต่ยังลงเลือกตั้ง 

กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 151 วรรคสอง กำหนดให้ความผิดในกรณีที่ผู้ได้รับเลือกให้เป็น สส. รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาแก่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ  

ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเป็นกรณีตัวอย่าง คือ กรณีของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ สิระ เจนจาคะ อดีต สส.เขต กทม. พรรคพลังประชารัฐ มีลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผลให้สมาชิกสภาพ สส.สิ้นสุดลง และต้องคืนค่าตอบแทนเงินเดือน สิทธิประโยชน์ต่างๆ ต่อมา สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ  ได้ออกมาชี้แจงในส่วนที่สิระต้องคืนให้แก่สภา ได้แก่

  1. เงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่ม โดยคิดตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่ง คือ วันที่ 24 มีนาคม 2562 ถึงวันที่ศาลสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง คือ วันที่ 22 ธันวาคม 2564 
  2. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาประชุม 
  3. ค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมาธิการ
  4. ค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานให้สมาชิก 
  5. ค่าโดยสารเครื่องบินโดยใช้ใบเบิกทาง
  6. ค่ารักษาพยาบาล 
  7. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการ 
ทั้งหมดนี้สิระจะต้องคืนเงินภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

บำนาญ สส.ในรูปแบบกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา

แม้ สส.ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญเหมือนข้าราชการแต่ สส.เองก็มีทุนเลี้ยงชีพภายหลังจากที่ไม่ได้เป็น สส.แล้วจาก “กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและเป็นทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (สส. และ สว.) 

กองทุนดังกล่าวจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 โดยตามหมายเหตุของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เขียนวัตถุประสงค์ของกองทุนด้วยว่าเกิดขึ้นเพื่อตอบแทนคุณงามความดีและความเสียสละจากการที่เคยทำหน้าที่ในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติอันถือเป็นภารกิจสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อชาติ

ตามระเบียบของคณะกรรมกองทุนกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายสิทธิประโยชน์ สำหรับผู้เคยเป็น สส. หรือ สว. ซึ่งสิ้นสุดสมาชิกชิกภาพที่ได้ส่งเงินเข้ากองทุนและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ระบุไว้  จะได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือนโดยคำนวณเวลาจากการรวมระยะเวลาการมีสมาชิกภาพ ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตามและให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ดังนี้

  • การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล 
  • การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ 
  • การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่กรรม
  • การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร
  • สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ทั้งนี้ สิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพอดีตสมาชิกไม่ได้รับตลอดชีพแต่ให้ได้รับเป็นระยะเวลาสองเท่าของเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ และจะมีการระงับสิทธิชั่วคราวในกรณีที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้กลับเข้าไปเป็นสมาชิกรัฐสภาอีกครั้งด้วย