เลือกตั้ง’66 : ทะลุขึ้นอันดับสอง “รอรัฐบาลใหม่” 66 วัน ก็ยังตั้งไม่ได้!

ภายหลังรัฐสภาลงมติเห็นชอบพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลด้วยเสียงที่ไม่ถึง 376 ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ ในวันที่ 13 กรกฎาคม และลงมติไม้ยินยอมให้เสนอชื่อซ้ำในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 แม้ว่าจะเป็นพรรคที่รวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงทำให้ประเทศไทยไม่สามารถมีรัฐบาลใหม่แล้วถึง 66 วัน ขึ้นสู่อันดับสองของการเลือกตั้งที่ใช้เวลายาวนานที่สุดเพื่อจะมีรัฐบาลใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
การเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งมีผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งคือพรรคก้าวไกล โดยได้คะแนนระบบบัญชีรายชื่อ 14,438,851 คะแนน ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 151 ที่นั่ง และสามารถรวมเสียงข้างมากกับอีกแปดพรรคได้ถึง 312 เสียง ทว่านับตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 กลับไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เนื่องจากถูกรัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบหนึ่งครั้ง และลงมติไม่ให้มีการเสนอชื่อซ้ำอีกหนึ่งครั้ง จนทำให้ประเทศไทยไม่สามารถมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มยาวนานเข้าสู่วันที่ 66 
ในปี 2566 จึงถือว่ามีจำนวนวันที่คนไทยต้องรอคอยการมีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งยาวนานที่สุดเป็นอันดับสองจากการเลือกตั้งทั้งหมดที่ประเทศไทยเคยมีมา โดยยังไม่ช้ากว่า การเลือกตั้งปี 2562 อีกครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งครั้งนั้นใช้เวลารอคอยทั้งสิ้นถึง 108 วัน และเกิน “ค่าเฉลี่ยวันรอรัฐบาล” ที่มีจำนวนที่ 31 วัน ข้อสังเกตสำคัญคือ การเลือกตั้งทั้งสองครั้งที่ใช้เวลารอคอยรัฐบาลใหม่นานที่สุดต่างเกิดภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งสิ้น

การเลือกตั้งที่รอผลนาน ห้าอันดับการมีรัฐบาลใหม่ช้าที่สุดของประเทศไทย

ขณะที่ “ค่าเฉลี่ยวันรอรัฐบาล” อยู่ที่ 31 วันจากการเลือกตั้งของไทยทั้งหมด 27 ครั้ง แต่จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า การเลือกตั้งที่ใช้เวลายาวนานที่สุดเพื่อให้ได้รัฐบาลชุดใหม่กินระยะเวลาตั้งแต่ 34 วัน จนถึง 107 วัน ดังต่อไปนี้
ลำดับที่ 1: การเลือกตั้งครั้งที่ 26 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ใช้เวลาทั้งสิ้น 107 วันหลังการเลือกตั้ง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 และใช้เวลา 108 วันหลังการเลือกตั้ง จึงจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2562
ลำดับที่ 2: การเลือกตั้งครั้งที่ 27 ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ปัจจุบันนี้ใช้เวลาไปแล้วทั้งสิ้น 66 วันก็ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ และยังไม่มีความแน่นอนว่าจะได้ผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี (ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2566)
ลำดับที่ 3: การเลือกตั้งครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ใช้เวลาทั้งสิ้น 37 วันหลังการเลือกตั้ง จึงจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 29 มกราคม 2551 และใช้เวลาทั้งสิ้น 45 วันหลังการเลือกตั้ง จึงจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551
ลำดับที่ 4: การเลือกตั้งครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 ใช้เวลาทั้งสิ้น 44 วันหลังการเลือกตั้ง จึงจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งทั้งคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 ธันวาคม 2480
ลำดับที่ 5: การเลือกตั้งครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ใช้เวลาทั้งสิ้น 34 วันหลังการเลือกตั้ง จึงจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 และใช้เวลาทั้งสิ้น 42 วันหลังการเลือกตั้ง จึงจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544
ข้อสังเกตสำคัญคือ การเลือกตั้งทั้งสองครั้งที่ใช้เวลารอคอยรัฐบาลใหม่นานที่สุดต่างอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งสิ้น

ต้นเหตุของความล่าช้า รัฐธรรมนูญ 2560 คือปัญหาสำคัญที่สุด

รัฐธรรมนูญ 2560 มีที่มาจากการทำประชามติภายใต้ช่วงระยะเวลาของรัฐบาลจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำ ซึ่งกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดการเลือกตั้งที่ได้รัฐบาลใหม่ช้าที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยถึงสองครั้ง คือ การเลือกตั้งปี 2562 และการเลือกตั้งปี 2566 ด้วยหลายเหตุปัจจัย

ประการแรก ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 กำหนดให้ ก่อนการเลือกตั้งพรรคการเมืองต้องส่งรายชื่อบุคคลที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อ กลไกนี้มีขึ้นเป็นครั้งแรก มีข้อดีทำให้ประชาชนพอคาการณ์ล่วงหน้าได้ว่า เมื่อลงคะแนนให้พรรคการเมืองใดแล้วใครจะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีบ้าง แต่ก็มีข้อเสีย คือ เมื่อตัวเลือกของนายกรัฐมนตรีถูกจำกัดลง การต่อรองและร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองต่างๆ ก็ถูกจำกัดลงด้วย 

ปัญหาใหญ่ของระบบ “บัญชีว่าที่นายกฯ” คือ ถ้าหากบุคคลทั้งสามรายชื่อของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปโดยกลไกต่างๆ เช่น ถูก กกต.แจกใบส้ม การถูกตัดสินว่าขาดคุณสมบัติ และวิธีการทางกฎหมายอื่นๆ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดทางตัน หรือ ‘เด๊ดล็อก’ ทางการเมือง ที่ไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งได้ตามระบบปกติ และอาจจะเป็นการปูทางไปสู่การแต่งตั้ง ‘นายกฯ คนนอก’ ได้
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 สั่งให้พิธาหยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องให้กลไกทางกฎหมายทำงานเพื่อขัดขวางการตั้งรัฐบาลใหม่ได้ง่ายขึ้น และส่งผลให้การได้มาซึ่งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเป็นไปอย่างยากลำบากและยาวนานกว่าในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ 
ประการที่สอง รัฐธรรมนูญ มาตรา 269 กำหนดให้ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแรก จำนวน 250 มาจากระบบสรรหา ระบบการเลือกกันเอง และ ส.ว. ที่มาจากปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ไม่ว่ามาจากระบบไหน การคัดเลือกขั้นสุดท้ายก็จะเป็นอำนาจของ คสช. โดยลำพัง จึงกล่าวได้ว่า ส.ว. ชุดนี้มีที่มาจาก คสช. โดยตรง 
นอกจากนี้ “คำถามพ่วง” ที่ผ่านการทำประชามติในปี 2559 ได้เพิ่มบทบาทให้ ส.ว. ชุดนี้มีอำนาจลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. จึงทำให้ในช่วงห้าปีแรกตามบทเฉพาะกาล คะแนนเสียงของ ส.ว. ถึง 250 เสียงมีผลอย่างมากในการตัดสินได้ว่า ผู้ใดจะได้เป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ความวุ่นวายที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ปรากฎให้เห็นแล้วในการเลือกตั้งปี 2562 ว่า ส่งผลให้การจับขั้วทางการเมืองล่าช้าเป็นอย่างมาก และยังทำให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งและสามารถรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้ก่อนอย่างพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากอำนาจต่อรองของพลพรรค ส.ว. ที่ทำให้พรรคการเมืองอื่นๆ จำต้องทิ้งพรรคที่ชนะการเลือกตั้งแล้วเข้าจับขั้วกับพรรคพลังประชารัฐ

รัฐธรรมนูญ 2560 ยังขาดการระบุเวลาที่รัฐสภาจะมีสำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกด้วย ซึ่งหากนำไปเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 จะพบว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 172 ระบุว่า “ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก” จึงทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 มีความบกพร่องด้านการกวดขันเวลาน้อยกว่าฉบับก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด และอาจจะทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีหรือการได้มาซึ่งรัฐบาลล่าช้าได้มากกว่าที่ควรจะเป็น

การเลือกตั้งในปี 2566 นั้นก็ส่งผลในลักษณะเดียวกัน แม้ว่าการรวมเสียงข้างมากของส.ส. ไม่ได้ใช้เวลามากนัก แต่เมื่อ ส.ว. ส่วนมากไม่ยอมลงคะแนนเสียงให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และกลไกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้รัฐสภาไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ ชี้ชัดแล้วว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นตัวการที่สำคัญมากในการทำให้การตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเป็นไปอย่างยากลำบาก จนทำให้ประเทศไทยต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เพื่อดำเนินงานบริหารประเทศต่อไป
You May Also Like
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย
Phue Thai Needs
อ่าน

รัฐบาลเพื่อไทย ต้องมีอย่างน้อย 13.25 ล้านเสียง เพื่อผ่านประชามติ “คำถามติดล็อก”

รัฐบาลเพื่อไทยให้ทำประชามติรัฐธรรมนูญ โดยคำถามที่มีเงื่อนไข ตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ประชามติ จะผ่านได้ต้องอาศัย “เสียงข้างมากสองชั้น” ซึ่งเป็นงานที่ไม่ง่ายเลย