เจาะผลเลือกตั้ง 66 ตัดคะแนนกันเองมีอยู่จริง แต่ไม่ถึงขนาดพลิกผลเลือกตั้ง

ย้อนกลับไปก่อนการเลือกตั้ง ‘การตัดคะแนนกันเอง’ เป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกนำขึ้นมาถกเถียงอยู่บ่อยครั้งว่าในพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูงระหว่างพรรคที่มีเฉดอุดมการณ์ที่คล้ายคลึงกันจะแย่งคะแนนกันเองจนส่งผลให้ผู้สมัครของพรรคฝั่งอุดมการณ์ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นผู้ชนะเสียแทน
ประเด็นนี้สืบเนื่องมาจากปัญหาของระบบการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต ปี 2566 ซึ่งใช้ระบบเสียงข้างมากอย่างง่าย  (Simple Majority) โดยให้ผู้ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในเขตเป็นผู้ชนะทันที ไม่ต้องคำนึงว่าได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งหรือไม่ จึงเป็นข้อเสียของระบบที่ทำให้บางพื้นที่เกิดปัญหาว่าผู้ชนะในเขตเลือกตั้งนั้นไม่ใช่เสียงข้างมากที่สะท้อนความเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ในความเป็นจริงแม้ผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะพิสูจน์แล้วว่าการตัดคะแนนกันเองระหว่างผู้สมัครจากพรรคร่วมอุดมการณ์เดียวกันไม่ได้มีผลถึงขนาดทำให้ฝั่งเดียวกันต้องแพ้การเลือกตั้งในทุกพื้นที่ แต่ก็ปฏิเสธโดยเด็ดขาดไม่ได้เช่นกันว่า ในบางพื้นที่ที่ผู้ชนะการเลือกตั้งไม่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ถ้ารวมคะแนนผู้สมัครจากพรรคที่อยู่อีกฝั่ง พรรคฝ่ายที่แพ้ก็อาจพลิกกลับมาชนะได้ แต่เพราะลงสมัครแข่งกันจนตัดคะแนนกันเอง ทำให้ ‘ตาอยู่’ เอาไปกินได้
ในการเลือกตั้ง 2566 สามารถจัดกลุ่มพรรคการเมืองอย่างคร่าวๆ ตามประวัติการสนับสนุนหรือยังสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้ดังนี้
พรรคฝั่งประชาธิปไตยไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ (อดีตพรรคฝ่ายค้านเดิม) ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย
พรรคที่เคยสนับสนุนหรือประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ (อดีตพรรคร่วมรัฐบาลเดิม) ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยภักดี
ชวนส่องดูคะแนนรายเขตว่าพื้นที่ใดที่มีการตัดคะแนนกันของพรรคการเมืองฝ่ายเดียวกัน จนทำให้อีกฝ่ายเอาชนะไปได้
หมายเหตุ: งานชิ้นนี้เป็นเพียงการคำนวณตัวเลขคะแนนเสียงตามการจัดกลุ่มตามที่กล่าวด้านบนเท่านั้น ไม่ได้สะท้อนผลการเลือกตั้งที่จะเป็นจริงในกรณีที่พรรคการเมืองฝ่ายเดียวกันร่วมมือกัน พึงตระหนักว่าการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองหนึ่งของผู้ออกเสียงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หากไม่มีพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือกแล้ว ไม่มีอะไรการันตีว่าผู้ออกเสียงจะหันไปเลือกพรรคอื่นที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน และในระบบเลือกตั้งที่ผู้ออกเสียงสามารถเลือกผู้สมัครได้เพียงคนเดียว ก็ยากที่จะทราบลำดับความชอบผู้สมัครของผู้ออกเสียงได้
เพื่อไทยก้าวไกลเฉือนกันเอง ส่งภูมิใจไทยพลังประชารัฐเข้ารอบแทน
ภูมิใจไทย 15 เขต
พรรคภูมิใจไทยก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมาใช้กลยุทธ์พลังดูด ดึงตัวผู้สมัครหลายคนที่เคยเป็นอดีตแชมป์ซึ่งพกพาความมั่นใจมาเต็มร้อยว่าฐานเสียงจะติดมากับตัวและสามารถนำชัยชนะในเขตพื้นที่นั้นมาให้พรรคได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ภูมิใจไทยถูกมองว่าเป็นพรรคที่มีความนิยมสูสีกับพรรคเพื่อไทยที่มีฐานเสียงหนาแน่นมาอย่างยาวนาน
ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าภูมิใจไทยได้ส.ส.เขตทั้งหมด 68 ที่นั่ง เฉพาะพื้นที่อีสานได้จำนวนทั้งสิ้น 35 ที่นั่ง แต่ถ้าเจาะดูผลคะแนนรายเขตของแถบภาคอีสานจะพบว่ามี 12 เขตเลือกตั้งที่ผู้ชนะจากภูมิใจไทยไม่ได้ทิ้งห่างจนขาดลอยจากอันดับสองและสามซึ่งเป็นผู้สมัครจากเพื่อไทยและก้าวไกล นอกจากนี้ในพื้นที่อื่นๆ ก็มีปรากฎอยู่เช่นกัน ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี 1 เขต และจังหวัดอยุธยา 2 เขต ดังตารางต่อไปนี้
จังหวัดที่ภูมิใจไทยได้
ส.ส.เขต
เขตเลือกตั้ง
คะแนนของ
ผู้ชนะ
สัดส่วน
คะแนนรวมพรรคฝั่ง
ประชาธิปไตย
 (ไม่เอาประยุทธ์)
สัดส่วน
คะแนนภูมิใจไทยรวมพรรคที่เคย
สนับสนุนประยุทธ์
สัดส่วน
กาญจนบุรี เขต 3 44,813 39.60% 58,828 51.99% 48,223 42.62%
กาฬสินธุ์ เขต 4 31,536 33.19% 49,680 52.28% 39,989 42.08%
ขอนแก่น เขต 4 33,104 33.53% 54,457 55.15% 36,233 36.70%
ชัยภูมิ เขต 6 38,452 39.50% 49,661 51.02% 41,909 43.06%
นครพนม เขต 3 41,738 42.62% 47,449 48.45% 44,687 45.63%
นครพนม เขต 4 25,253 25.28% 66,365 66.44% 28,078 28.11%
บึงกาฬ เขต 1 25,295 33.42% 44,962
59.41%
27,205 35.95%
บึงกาฬ เขต 2 26,541 34.72% 38,121 49.87% 34,012 44.49%
บุรีรัมย์ เขต 7 28,685 33.02% 48,359 55.67% 31,666 36.45%
อยุธยา เขต 4 50,080 43.95% 54,720 48.02% 54,126 47.50%
อยุธยา เขต 5 37,275 34.76% 52,834 49.27% 48,084 44.84%
ศรีสะเกษ เขต 3 37,934 42.22% 43,276 48.16% 40,574 45.15%
สุรินทร์ เขต 1 36,305 36.18% 50,960 50.79% 42,781 42.64%
สุรินทร์ เขต 6 38,611 43.29% 42,819 48.01% 39,978 44.82%
สุรินทร์ เขต 8 39,558 43.36% 42,224
46.28%
42,093 46.14%
หมายเหตุ : พรรคฝั่งประชาธิปไตยที่นำมารวมคะแนน ได้แก่ ก้าวไกล เพื่อไทย เสรีรวมไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย
พรรคฝั่งสนับสนุนประยุทธ์ที่นำมารวมคะแนน ได้แก่ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ไทยภักดี
จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า 15 เขตเลือกตั้ง มีถึง 8 เขต ที่เป็นการล้มแชมป์เก่าเมื่อปี 62 จากเพื่อไทย โดยผู้ชนะจากภูมิใจไทยชนะด้วยสัดส่วนคะแนนของผู้สมัครไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ยกตัวอย่างเช่น นครพนม เขต 4  จำนวนผู้มาใช้สิทธิ 99,880 คน ชูกัน กุลวงษา ผู้ชนะการเลือกตั้งจากภูมิใจไทยได้คะแนน 25,253 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 25.28 ส่วนอันดับสอง ณพจน์ศกร ทรัพยสิทธิ์ พรรคเพื่อไทยได้คะแนน 21,658 คะแนน อันดับสามถึงอันดับห้าเป็นผู้สมัครจากพรรคฝั่งประชาธิปไตย (เสรีรวมไทย ก้าวไกล ไทยสร้างไทย) ซึ่งถ้ารวมกันแล้วจะได้คะแนนถึง 66,365 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 66.44  ในขณะที่คะแนนของผู้สมัครภูมิใจไทยรวมกับพรรคฝั่งเดียวกันได้คะแนนรวมกันเพียง 28,078 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 28.11 ผลที่ออกมาจึงสะท้อนให้เห็นว่าเสียงข้างมากในพื้นที่นั้นแท้จริงแล้วเอนเอียงไปด้านพรรคฝั่งประชาธิปไตยอย่างชัดเจน แต่สุดท้ายภูมิใจไทยก็เฉือนชนะไปได้
ยิ่งไปกว่านั้นหากดูคะแนนความนิยมพรรค (คะแนนบัญชีรายชื่อ) ของเขตดังกล่าว พบว่าเพื่อไทยได้คะแนนสูงสุด 39,708 คะแนน ตามด้วยก้าวไกลและพรรคฝั่งประชาธิปไตยไล่เรียงกันมาติดกันสี่ลำดับ ส่วนภูมิใจไทยได้อันดับที่ห้า 4,504 คะแนน อีกทั้ง ผลการเลือกตั้งทั่วทั้งประเทศไม่พบว่าภูมิใจไทยได้คะแนนความนิยมสูงสุดในเขตไหนเลยแม้แต่เขตเดียว
พลังประชารัฐ 17 เขต
สำหรับพรรคพลังประชารัฐ อดีตแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งนี้มีอดีตแชมป์เก่าจากพรรคย้ายสังกัดไปอยู่พรรคอื่นไม่น้อยและเผชิญสถานการณ์คล้ายคลึงกันกับพรรคภูมิใจไทย กล่าวคือ แม้จะได้ที่นั่งส.ส.เขต 39 ที่นั่ง แต่ก็มีถึง 17 เขต ที่ผู้สมัครในพื้นที่ชนะด้วยคะแนนที่ไม่ได้ทิ้งห่างจนขาดลอยจากอันดับสองและสามซึ่งเป็นผู้สมัครจากเพื่อไทยและก้าวไกล และเมื่อรวมคะแนนของทั้งตัวผู้สมัครจากพลังประชารัฐและผู้สมัครจากพรรคร่วมฝั่งเดียวกันก็ยังน้อยกว่าคะแนนรวมของผู้สมัครจากพรรคฝั่งประชาธิปไตย
จังหวัดที่พลังประชารัฐได้ส.ส.เขต เขตเลือกตั้ง
คะแนนของ
ผู้ชนะ
สัดส่วน
คะแนนรวมพรรคฝั่ง
ประชาธิปไตย
 (ไม่เอาประยุทธ์)
สัดส่วน
คะแนนพลังประชารัฐรวมพรรคที่เคย
สนับสนุนประยุทธ์
สัดส่วน
กาฬสินธุ์ เขต 3 37,044 43.27% 40,521 47.33% 39,898 46.61%
กำแพงเพชร เขต 1 36,187 34.13% 48,587 45.83% 47,814 45.10%
ฉะเชิงเทรา เขต 2 42,777 35.88% 63,908 53.61% 47,677 39.99%
ชลบุรี เขต 10 27,461 29.45% 53,799 57.69% 33,606 36.04%
ชลบุรี เขต 4 36,128 38.37%
50,019
53.12% 38,082 40.44%
ชัยภูมิ เขต 7 38,498 42.88% 44,018 49.03% 41,151 45.84%
เชียงใหม่ เขต 3 31,107 28.28% 54,580 49.61% 46,482 42.25%
พะเยา เขต 9 32,779 33.04% 56,309 56.76% 35,049 35.33%
เพชรบูรณ์ เขต 1 35,905 37.16% 45,463 47.05% 43,452 44.97%
เพชรบูรณ์ เขต 2 38,352 38.58% 47,753 48.03% 43,711 43.97%
เพชรบูรณ์ เขต 5 34,971 38.46% 45,880 50.45% 38,341 42.16%
มุกดาหาร เขต 1 33,514 31.55% 62,997 59.31% 37,210 35.03%
ร้อยเอ็ด เขต 3 39,181 43.42% 45,016 49.89% 40,739 45.15%
สกลนคร เขต 5 29,085 34.04% 49,632 58.09% 30,682 35.91%
สระบุรี เขต 4 29,676 28.60% 50,354 48.53% 45,571 43.92%
สิงห์บุรี เขต 1 42,292 32.16% 71,962 54.72% 49,333 37.52%
หนองคาย เขต 1 33,078 34.07% 52,079 53.64% 38,878 40.05%
หมายเหตุ : พรรคฝั่งประชาธิปไตยที่นำมารวมคะแนน ได้แก่ ก้าวไกล เพื่อไทย เสรีรวมไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย
พรรคฝั่งสนับสนุนประยุทธ์ที่นำมารวมคะแนน ได้แก่ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ไทยภักดี
จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า 17 เขตเลือกตั้งที่ได้ผู้ชนะจากพรรคพลังประชารัฐสัดส่วนคะแนนของผู้สมัครชนะไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ มุกดาหาร เขต 1 จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 106,225 คน  วิริยะ ทองผา จากพลังประชารัฐ ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 33,514 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 31.55  เอาชนะ สุพจน์ สุอริยพงษ์ จากก้าวไกลที่ได้คะแนน 28,451 คะแนน ตามมาด้วยอันดับสามจากเพื่อไทยที่ได้คะแนนห่างไม่มาก และ อันดับที่สี่ถึงห้าเป็นผู้สมัครจากเสรีรวมไทยและไทยสร้างไทย ซึ่งถ้าหากรวมคะแนนของผู้สมัครที่แยกออกมาสองฝั่งจะพบว่าเทไปให้ฝั่งประชาธิปไตย 62,997 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 59.31 ในขณะที่ถ้ารวมคะแนนผู้ชนะจากพลังประชารัฐกับผู้สมัครจากพรรคฝั่งเดียวกันจะได้คะแนนเพียง 37,210 คิดเป็นร้อยละ 35.03 ซึ่งผลที่ออกมาจึงสะท้อนให้เห็นว่าเสียงข้างมากในพื้นที่นั้นเอนเอียงไปด้านพรรคฝั่งประชาธิปไตยอย่างชัดเจน แม้ผลสุดท้ายผู้ชนะในเขตนี้จะเป็นคนของพลังประชารัฐ
ยิ่งไปกว่านั้นหากดูคะแนนความนิยมพรรค (คะแนนบัญชีรายชื่อ) ของเขตดังกล่าว พบว่าเพื่อไทยได้คะแนน สูงสุด 42,681 คะแนน ตามมาด้วยพรรคก้าวไกล ส่วนพลังประชารัฐได้คะแนนบัญชีรายชื่ออันดับที่แปด 1,315 คะแนน อีกทั้ง ผลการเลือกตั้งทั่วประเทศไม่พบว่าพลังประชารัฐได้คะแนนความนิยมสูงสุดในเขตไหนเลยแม้แต่เขตเดียวเช่นเดียวกับภูมิใจไทย
ผลคะแนนของผู้ชนะจากพรรคฝั่งขั้วรัฐบาลเดิมอื่น ๆ 
จังหวัดและเขตเลือกตั้ง
พรรคการเมือง
ที่ชนะ
คะแนนของผู้ชนะ สัดส่วน
คะแนนรวมพรรคฝั่งประชาธิปไตย
 (ไม่เอาประยุทธ์)
สัดส่วน
คะแนนรวมพรรคที่เคย
สนับสนุนประยุทธ์
สัดส่วน
ชลบุรี เขต 4 รวมไทยสร้างชาติ 36,128 38.37%
50,019
53.12%
38,082
40.44%
ร้อยเอ็ด เขต 1 ชาติไทยพัฒนา
40,436
41.49% 49,545 50.84% 43,790 44.93%
สกลนคร เขต 2 ประชาธิปัตย์ 27,406 30.14% 49,817 54.79% 34,392 37.83%
อุบลราชธานี เขต 2 ประชาธิปัตย์ 38,164 38.22%
50,097
50.17% 41,202 41.26%
หมายเหตุ : พรรคฝั่งประชาธิปไตยที่นำมารวมคะแนน ได้แก่ ก้าวไกล เพื่อไทย เสรีรวมไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย
พรรคฝั่งสนับสนุนประยุทธ์ที่นำมารวมคะแนน ได้แก่ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ไทยภักดี
จากตารางข้างต้นเป็นอีกตัวอย่างที่ปรากฎว่าบางเขตเลือกตั้งผู้ชนะจากพรรคฝั่งขั้วรัฐบาลเดิมไม่ได้ทิ้งห่างจนขาดลอยจากอันดับสองและสามที่เป็นผู้สมัครของเพื่อไทยและก้าวไกล อีกทั้ง ผลรวมคะแนนจากผู้สมัครพรรคฝั่งประชาธิปไตยมากกว่าผลรวมคะแนนจากผู้สมัครพรรคฝั่งขั้วรัฐบาลเดิม ทั้งนี้ สกลนคร เขต 2 ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมีจำนวน 90,918 คน ผู้ชนะคือ ชาตรี หล้าพรหม จากประชาธิปัตย์ด้วยคะแนน 27,406 คะแนน  คิดเป็นร้อยละ 30.14 เอาชนะ นิยม เวชกามา อดีตแชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทยตามมาเป็นอันดับสองด้วยคะแนน 26,700 คะแนน ซึ่งกรณีนี้ภายหลังพบพิรุธ ในการนับคะแนนที่ล่าช้าประกอบกับคะแนนที่ห่างกันเพียง 706 คะแนนจึงมีการร้องเรียนเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเขตดังกล่าวหากรวมผลคะแนนผู้สมัครจากพรรคฝั่งประชาธิปไตยพบว่ามีคะแนนถึง 49,817 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 54.79 และชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อดูผลคะแนนบัญชีรายชื่อซึ่งเพื่อไทยได้คะแนนสูงสุดถึง 40,630 คะแนน ในขณะที่ฝั่งผู้ชนะจากประชาธิปัตย์รวมกับผู้สมัครจากฝั่งเดียวกันได้คะแนนเพียง 34,392 คิดเป็นร้อยละ 37.83
ประชาธิปไตยก็ ‘ส้มหล่น’ ก้าวไกลเฉือน 7 เขต
ไม่ใช่แค่พรรคฝั่งประชาธิปไตยที่ผู้สมัครตัดคะแนนกันเองในพื้นที่ที่มีฐานเสียงเดียวกัน เพราะในบางพื้นที่ที่คะแนนฝั่งรัฐบาลเดิมเคยเป็นเจ้าของฐานเสียงหลักก็มีปรากฎการณ์ตัดคะแนนกันเองเช่นเดียวกัน
พรรคก้าวไกลสร้างอีกหนึ่งปรากฎการณ์ส้มทั้งเกาะภูเก็ตและเป็นเพียงจังหวัดเดียวในพื้นที่โซนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม มีหลายปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ก้าวไกลสามารถปักธงในพื้นที่ภาคใต้ได้สำเร็จเป็นจังหวัดแรก รวมไปถึงจำนวนผู้สมัครจากพรรคฝั่งขั้วรัฐบาลเดิมที่ลงแข่งขันตัดกันเอง ผลจึงออกมา ดังตารางต่อไปนี้
จังหวัดที่ก้าวไกล
ได้ส.ส.เขต
เขตเลือกตั้ง
คะแนนของ
ผู้ชนะ
สัดส่วน
คะแนนรวมก้าวไกล
กับพรรคฝั่ง
ประชาธิปไตย
 (ไม่เอาประยุทธ์)
สัดส่วน
คะแนนรวมพรรคที่เคย
สนับสนุนประยุทธ์
สัดส่วน
นครปฐม
เขต 4
24,898 23.24% 41,328 38.57% 60,363 56.33%
อยุธยา
เขต 2
27,467 25.68% 42,598 39.83%
57,096
53.39%
ภูเก็ต
เขต 1
21,252 27.90% 26,046 34.19% 44,185 58.00%
ภูเก็ต
เขต 2
21,913
29.19% 28,557 38.04%
41,451
55.21%
ภูเก็ต
เขต 3
20,421 24.36% 25,376 30.27%
52,496
62.62%
ระยอง
เขต 3
29,034 30.40% 43,928 45.99%
45,384
47.51%
สมุทรสาคร
เขต 3
37,511
31.34%
52,896
44.19%
59,727
49.90%
หมายเหตุ : พรรคฝั่งประชาธิปไตยที่นำมารวมคะแนน ได้แก่ ก้าวไกล เพื่อไทย เสรีรวมไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย
พรรคฝั่งสนับสนุนประยุทธ์ที่นำมารวมคะแนน ได้แก่ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ไทยภักดี
จากตารางข้างต้น เฉพาะในจังหวัดภูเก็ตจะพบว่าแม้ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลจะได้คะแนนสูงสุดทั้งสามเขต แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนแล้วคะแนนที่ได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากดูผลคะแนนของอันดับถัดๆ ลงมาจะพบว่าเป็นคะแนนของผู้สมัครจากรวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์และชาติพัฒนากล้า ที่พอรวมกันแล้วกลับกลายเป็นว่าคะแนนเสียงข้างมากจริงๆ ตกไปอยู่ที่ฝั่งพรรคฝั่งขั้วรัฐบาลเดิม ยกตัวอย่างเช่น ภูเก็ต เขต 3 จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 83,826 คน ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล จากก้าวไกลชนะด้วยคะแนน 20,421 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 24.36 แต่อันดับที่สองถึงหกล้วนเป็นผู้สมัครจากฝั่งขั้วรัฐบาลเดิม ซึ่งเมื่อรวมคะแนนของผู้สมัครฝั่งขั้วรัฐบาลเดิมจะพบว่าสูงถึง 52,496 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 62.62 ในขณะที่คะแนนรวมของผู้สมัครพรรคฝั่งประชาธิปไตยรวมกันแล้วได้คะแนนเพียง 25,376 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 30.27 อย่างไรก็ตาม หากดูคะแนนความนิยมพรรค (คะแนนบัญชีรายชื่อ) ของเขตดังกล่าว ก้าวไกลก็ยังได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง
นอกจากนี้ยังปรากฎผลคะแนนที่คล้ายๆ กันแบบนี้อีก 4 จังหวัด ซึ่งหากรวมคะแนนของผู้สมัครพรรคฝั่งประชาธิปไตยจะพบว่าน้อยกว่าคะแนนรวมของผู้สมัครพรรคฝั่งขั้วรัฐบาลเดิม แต่ผลปรากฎว่าผู้สมัครของก้าวไกลเป็นผู้ชนะไปในเขตเลือกตั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น อยุธยา เขต 2 ชริน วงศ์พันธ์เที่ยง จากก้าวไกลชนะด้วยคะแนน 27,467 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 25.68 เอาชนะอันดับสอง นพ ชีวานันท์ จากภูมิใจไทยที่ได้คะแนน 26,804 คะแนน และอันดับสามผู้สมัครจากพลังประชารัฐซึ่งคะแนนห่างกันไม่มาก เมื่อรวมคะแนนของผู้สมัครฝั่งขั้วรัฐบาลเดิมจะพบว่าสูงถึง 57,096 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 53.39 ในขณะที่คะแนนรวมของผู้สมัครพรรคฝั่งประชาธิปไตยรวมกันแล้วได้คะแนนเพียง 42,598 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 39.83 อย่างไรก็ตาม หากดูคะแนนความนิยมพรรค (คะแนนบัญชีรายชื่อ) ของเขตดังกล่าว ก้าวไกลก็ยังได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง
ผลคะแนนของผู้ชนะจากพรรคฝั่งประชาธิปไตยอื่น ๆ
จังหวัดและเขตเลือกตั้ง
พรรคการเมือง
ที่ชนะ
คะแนนของผู้ชนะ สัดส่วน
คะแนนรวมพรรคฝั่งประชาธิปไตย
 (ไม่เอาประยุทธ์)
สัดส่วน
คะแนนรวมพรรคที่เคย
สนับสนุนประยุทธ์
สัดส่วน
กาญจนบุรี เขต2 เพื่อไทย 23,278 21.61% 41,468 38.50%
60,104
55.80%
นราธิวาส เขต 5 ประชาชาติ 31,457 32.84%
36,674
38.28% 51,724 53.99%
ปัตตานี เขต 1 ประชาชาติ 14,452 19.21% 27,170 36.11% 42,791 56.87%
ปัตตานี เขต 3
ประชาชาติ 23,636 33.02%
30,210
42.20% 34,607
48.35%
ยะลา เขต 1
ประชาชาติ
23,682 23.87% 44,215 44.56% 45,933 46.29%
หมายเหตุ : พรรคฝั่งประชาธิปไตยที่นำมารวมคะแนน ได้แก่ ก้าวไกล เพื่อไทย เสรีรวมไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย
พรรคฝั่งสนับสนุนประยุทธ์ที่นำมารวมคะแนน ได้แก่ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ไทยภักดี
จากตางรางข้างต้นเป็นอีกตัวอย่างจากพรรคฝั่งประชาธิปไตยพรรคอื่นที่พบว่าผู้สมัครชนะไม่ทิ้งห่างจนขาดลอยจากอันดับสองและสามซึ่งเป็นผู้สมัครจากพรรคขั้วตรงข้าม ยกตัวอย่างเช่น กาญจนบุรี เขต 2 จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 107,722 คน ชูศักดิ์ แม้นทิม จากเพื่อไทยได้คะแนนสูงสุด 23,278 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 21.61 เอาชนะ ชูเกียรติ จีนาภักดิ์ จากพลังประชารัฐ อันดับสองได้คะแนนรองลงมา 20,165 คะแนน ตามมาด้วยอันดับสามและสี่ซึ่งเป็นผู้สมัครจากพรรคฝั่งเดียวกัน (ภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์) ส่วนผู้สมัครจากก้าวไกลได้อันดับที่ห้า จึงทำให้ผลรวมคะแนนจะพบว่าคะแนนรวมพรรคฝั่งขั้วรัฐบาลเดิมได้คะแนนสูงถึง 60,104 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 55.8 ในขณะที่คะแนนรวมพรรคฝั่งประชาธิปไตยได้คะแนนรวม 41,468 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 38.5 อย่างไรก็ตาม หากดูผลคะแนนความนิยมพรรค (คะแนนบัญชีรายชื่อ) ผลกลับเป็นก้าวไกลที่ได้คะแนนสูงสุด
ตัดคะแนนกันเองเกิดขึ้นได้ทั้งสองฝั่ง 
จากผลคะแนนดังกล่าวที่ยกขึ้นมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ‘การตัดคะแนนกันเอง’ ของพรรคร่วมอุดมการณ์เกิดขึ้นได้กับทุกฝั่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาของระบบเลือกตั้ง เสริมด้วยปัจจัยที่ว่าการเลือกตั้งปี 2566 มีนักการเมืองหน้าเก่าก่อตั้งพรรคใหม่หลายพรรคแต่ไม่ได้มีอุดมการณ์ที่ฉีกออกไปจากพรรคการเมืองเดิมที่เป็นตัวหลักอยู่แล้วในสนามเลือกตั้ง แถมยังใช้ยุทธวิธี ‘พลังดูด’ ผู้เล่นหน้าเดิมเพื่อมาลงแข่งขันแย่งชิงฐานเสียงเดียวกันก็ยิ่งทำให้คะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งกระจายไปให้ผู้สมัครต่าง ๆ
อีกทั้ง ตามวิถีทางปกติในระบอบประชาธิปไตยการเลือกตั้งคือการแข่งขันนำเสนอแนวคิดอุดมการณ์และนโยบายระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่แตกต่างกันอยู่แล้ว ซึ่งประชาชนมีเจตจำนงเสรี (Free will) ที่จะเลือกผู้สมัครและพรรคการเมืองตามใจปราถนาหรือตามเหตุผลและตรรกะที่ตนมี แต่เมื่อมองประกอบกับสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันที่มีความผิดปกติ ด้วยเหตุที่ ‘ระบอบประยุทธ์’ ทิ้งมรดกที่มาในรูปแบบของ 250 ส.ว.มีสิทธิร่วมโหวตนายก ฯ จึงทำให้เกิดกระแสถกเถียงกันถึงการโหวตยุทธศาสตร์ (Strategic Voting) เทคะแนนให้พรรคการเมืองที่มีแนวโน้มสูงสุดว่าจะชนะในเขตเลือกตั้งนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการตัดคะแนนกันเอง แต่ถึงกระนั้นในความเป็นจริงก็เป็นไปได้ยาก ที่จะเกิดขึ้นเพราะต้องอาศัยข้อมูลรอบด้านว่าคนอื่นในพื้นที่จะตัดสินใจลงคะแนนให้ใคร อีกทั้ง การเลือกตั้งปี 2566 มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ยิ่งทำให้ยากที่จะคาดเดาว่าผู้สมัครคนไหนมีคะแนนนำอยู่