เลือกตั้ง66 : กกต. ประกาศผลแล้ว นัดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ภายใน 15 วัน

19 มิถุนายน 2566 มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่าที่ประชุมกกต. มีมติประกาศผลเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน รวม 500 คน

หลัง กกต. ประกาศผลทางการ กระบวนการต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ ต้องเปิดประชุมรัฐสภาภายใน 15 วัน จากนั้นจึงจะตามมาด้วยการเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยรายละเอียดของแต่ละกระบวนการที่จะเกิดขึ้นภายหลัง กกต. ประกาศผล มีดังต่อไปนี้

เปิดประชุมสภาครั้งแรกภายใน 15 วัน หลังกกต. ประกาศผล

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 121 กำหนดให้ ภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก 

โดยวันประชุมครั้งแรก จะถูกนับเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง จะเป็นไปตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด ทั้งนี้ ในปีหนึ่ง จะมีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา สองสมัย สมัยหนึ่งมีเวลา 120 วัน

การเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก จะทำเป็นรัฐพิธี โดยพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้ (มาตรา 122)

ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อนปี 2562 รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ 

เลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกเสียงโดยลับ ใช้เสียงข้างมากธรรมดา

หลังการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก สภาผู้แทนราษฎร จะต้องนัดประชุมเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ ประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมสภา กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสภา ทำหน้าที่ส่งร่างกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีสมาชิกรัฐสภา เห็นว่าข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ฯลฯ

ส.ส. ทุกคนมีคุณสมบัติในการเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น ไม่มีกฎหมายระบุวัยวุฒิ ว่าต้องอายุขั้นต่ำเท่าไร เพียงแต่มีข้อห้ามว่า ส.ส.คนใดที่ดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นกรรมการบริหารหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองในขณะเดียวกันไม่ได้ และยังห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่นด้วย (รัฐธรรมนูญ มาตรา 116 วรรคสอง และมาตรา 118 (3))

สำหรับการเลือกประธานสภา ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 หมวด 1 กำหนดการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา ไว้ว่า

ขั้นที่ 1 การเลือกประธานและรองประธานสภาครั้งแรก ให้ ส.ส.ที่มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราว เพื่อดำเนินการเลือกประธานและรองประธานสภา

ในการเลือกตั้ง 2566 ส.ส. ที่มีอายุมากที่สุด คือ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อายุ  89 ปี 

ขั้นที่ 2 ส.ส.แต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อ ส.ส.ได้หนึ่งชื่อ โดยการเสนอนั้นต้องมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ถ้ามี ส.ส.เสนอชื่อประธานสภาชั่วคราวเป็นชิงตำแหน่งประธานและรองประธานสภา ให้ ส.ส.ที่มีอายุสูงสุดในลำดับถัดไปเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม 

ขั้นที่ 3 ให้ ส.ส.ผู้ถูกเสนอชื่อ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการที่จะดำรงตำแหน่งต่อที่ประชุม โดยไม่มีการเปิดให้ ส.ส.คนอื่นอภิปรายแต่อย่างใด ถ้ามีการเสนอชื่อเพียงคนเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั่นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ เท่ากับว่าในทางสาธารณะ จะไม่สามารถทราบได้ว่า ส.ส. แต่ละคน โหวตใครเป็นประธานสภา

เมื่อเลือกประธานสภาเสร็จ จากนั้นก็ให้การเลือกรองประธานสภาต่อโดยให้ใช้วิธีการเช่นเดียวกันตามลำดับ คือให้เลือกรองประธานคนที่หนึ่งก่อน แล้วจึงเลือกรองประธานสภาคนที่สองต่อ

ขั้นที่ 4 ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงจาก ส.ส. มากที่สุดในแต่ละตำแหน่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานและรองประธานสภา และเมื่อเลือกเสร็จแล้วให้แจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

ในการเลือกตั้ง 2562 สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกประธานสภา เมื่อ 25 พฤษภาคม 2562 ซึ่งก็คือวันถัดจากวันเปิดประชุมรัฐสภาวันแรก และลงเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 26 พฤษภาคม 2562 หรือก็คือสองวันถัดจากวันเปิดประชุมรัฐสภาวันแรก

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่ง ประธานสภา https://ilaw.or.th/node/6541

เลือกนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อของพรรคที่ได้ ส.ส. 25 คนขึ้นไป

หลังจากการเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อมา จะเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี  ซึ่งตามบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ “วุฒิสภาชุดพิเศษ” มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องจัดให้มีประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส. และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมกันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองยื่นต่อกกต. ก่อนวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง (มาตรา 88)

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองจะมีสิทธิได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 159 กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือ จำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 คน พรรคการเมืองนั้นต้องมี ส.ส. อย่างน้อย 25 คน จึงจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีของตัวเองได้ นอกจากนี้ การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ ต้องมี ส.ส. อย่างน้อย 50 คน เป็นผู้รับรอง

ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 กำหนดว่า ในระยะห้าปีแรกของรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ ส.ว. มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. โดยผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน รวม 750 คน หรือคิดเป็น 376 เสียงขึ้นไป ทั้งนี้ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องทำโดยเปิดเผย (มาตรา 159) เท่ากับว่าประชาชนจะรู้ว่า ส.ส. หรือ ส.ว. แต่ละคน โหวตเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี

หากรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากหนึ่งในสามคนของบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอไว้ได้ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่ไม่อยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ได้ หรือ เปิดทางให้มี ‘นายกฯ คนนอก’ ได้ 

โดยมีขั้นตอน ได้แก่ 

1) ส.ส. และ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 375 คน ลงมติขอยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้

2) ส.ส. และ ส.ว. ประชุมร่วมกัน และลงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ 500 คน เสนอชื่อบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ และ

3) ส.ส. และ ส.ว. รวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 คน ลงมติเห็นชอบเลือกให้บุคคลผู้นั้นเป็นนายกรัฐมนตรี

หากรัฐสภาสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะต้องนำรายชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อมหากษัตริย์ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ต่อมาก็จะเป็นการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ชัดเจน เมื่อสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว นายกรัฐมนตรีจะต้องนำรายชื่อรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์

หลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว คณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ (มาตรา 162)

หากย้อนไปดูการเลือกตั้ง 2562 ใช้เวลารอรัฐบาลทั้งสิ้น 108 วันหลังการเลือกตั้ง จึงจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2562

อ่าน “Top 6 การเลือกตั้งไทย” ที่ใช้เวลาจัดตั้งรัฐบาลยาวนานที่สุด https://www.ilaw.or.th/articles/6024

สภาเดินหน้าทำงาน ตรวจสอบ-ถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ออกกฎหมาย สะท้อนเสียงประชาชน

รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 กำหนดว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งส.ส. ที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อฝ่ายบริหาร-ฝ่ายนิติบัญญัติเข้าปฏิบัติหน้าที่แล้ว ก็สามารถเริ่มเดินหน้าทำงานได้ สำหรับสภาผู้แทนราษฎร การประชุมนัดแรกๆ ก็จะเริ่มพิจารณายกร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตั้งกระทู้ถามเพื่อสะท้อนปัญหาประชาชนเพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปแก้ไข และพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ โดยร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้จำเป็นต้องพิจารณาลำดับต้นๆ คือ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567

เลือกตั้งเขตไหนไม่สุจริต กกต. ส่งศาลฎีกาเคาะ เลือกตั้งใหม่ได้

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (กฎหมายเลือกตั้ง) มาตรา 133 ระบุว่า เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม แต่ไม่ได้ความชัดว่าเป็นการกระทำของผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา ในกรณีที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตเลือกตั้งนั้น และให้สมาชิกภาพของส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย และให้กกต. ดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว

ใน มาตรา 138 ยังกำหนดสำหรับกรณีทุจริตเลือกตั้งไว้ด้วยว่า ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ