กางรัฐธรรมนูญดูอนาคตที่ยังไม่แน่นอนของว่าที่ส.ส.ก้าวไกลที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112

ผลการเลือกตั้งในปี 2566 พบว่า นักกิจกรรมหลายคนที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 และช่วงการชุมนุมของกลุ่มราษฎรในปี 2563 – 2564 ลงสมัครรับเลือกตั้งและชนะการเลือกตั้งได้เป็น “ว่าที่ส.ส.” ทั้งที่ยังถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองติดตัวมาด้วย พวกเขาจึงต้องเดินหน้าเข้าผลักดันนโยบายระดับประเทศในฐานะผู้แทนราษฎรและต่อสู้คดีในฐานะจำเลยไปพร้อมๆ กัน
หากต่อสู้คดีแล้วศาลมีคำพิพากษาคดียกฟ้องคดี ก็จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการดำรงตำแหน่ง แต่หากศาลมีคำพิพากษาว่านักกิจกรรมที่ถูกดำเนินมีความผิดและมีโทษจำคุก คำพิพากษาก็อาจส่งผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของตัวผู้ถูกดำเนินคดีเพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนด “ลักษณะต้องห้าม” ไว้สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ไม่ว่าจะเป็นคดีจากการแสดงออกทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม
ขณะที่หลายคดีอยู่ในฐานะที่จำเลยมีโอกาสชนะคดี หรือมีโอกาสสูงที่จะไม่ถูกศาลสั่งลงโทษ แต่คดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังมีแนวโน้มของการตีความกฎหมายที่กว้างขวางและสั่งลงโทษจำคุกในอัตราที่สูง ซึ่งอดีตนักกิจกรรมที่ชนะการเลือกตั้งมีอย่างน้อยสามคนที่ถูกดำเนินคดีในความผิด ได้แก่ ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด, รักชนก ศรีนอก หรือไอซ์ และ ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ ทั้งสามคนเป็นผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตสังกัดพรรคก้าวไกล ในวันที่ชนะการเลือกตั้งคดีของทั้งสามคนเดินไปถึงชั้นศาลในชั้นของการสืบพยานแล้ว จึงมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปว่า หากท้ายที่สุดศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าทั้งสามมีความผิดและต้องรับโทษจำคุก คำพิพากษาของศาลจะส่งผลต่อสมาชิกภาพของตัวผู้ถูกดำเนินคดีอย่างไรและจำต้องมีการดำเนินการในขั้นต่อไปอย่างไร

กางดูรัฐธรรมนูญ หากศาลพิพากษาให้จำคุกแล้วไม่ได้ประกันแม้เพียงวันเดียวก็พ้นตำแหน่ง

ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการพ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 หมวดที่ 7 รัฐสภา โดยลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งจะอยู่ในมาตรา 98 ส่วนเงื่อนไขให้พ้นตำแหน่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถูกดำเนินคดีปรากฎอยู่มาตรา 101 
มาตรา 98 (6) กำหนดห้ามคนที่ต้องคำพิพากษาจำคุกและถูกขังโดยหมายศาลลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วน (7) กำหนดห้ามผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกแล้วพ้นโทษยังไม่ถึงสิบปีนับจากวันพ้นโทษถึงวันเลือกตั้งลงสมัครรับเลือกตั้ง ยกเว้นแต่ถูกพิพากษาจำคุกจากความผิดที่ทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ระยะเวลาต้องห้ามสิบปีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ขยายจากระยะเวลาต้องห้าม 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 
มาตรา 98 (9) (10) และ (11) ยังกำหนดห้ามผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาในความผิดบางประเภทลงสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีการกำหนดระยะเวลานับจากวันพ้นโทษไว้ด้วยซึ่งหมายความว่าคนที่ถูกดำเนินคดีเหล่านั้นจะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเลยตลอดชีวิต (9) กำหนดลักษณะต้องห้ามผู้ที่เคยถูกพิพากษาเป็นที่สุดให้ยึดทรัพย์และผู้ที่เคยถูกพิพากษาจำคุกในกฎหมายป้องกันการทุจริต (10) กำหนดห้ามผู้ที่เคยถูกตัดสินว่าทำความผิดเกี่ยวกับหน้าที่ราชการ หรือความผิดบางประเภท เช่น ความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการฉ้อโกง กฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพพย์ติด (เฉพาะผู้ผลิต นำเข้า และจำหน่าย) และความผิดตามกฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ เป็นต้น 
ความผิดที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมือง รวมทั้งมาตรา 112 ไม่ได้ถูกกำหนดเป็นลักษณะต้องห้าม “ตลอดชีวิต” คนที่ต้องโทษจำคุกในคดีประเภทนี้จะเข้าลักษณะต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งในระยะเวลาสิบปี นับจากวันพ้นโทษถึงวันเลือกตั้งเท่านั้น
ในการเลือกตั้งปี 2566 นักการเมืองอย่างณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งเคยถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี 8 เดือนจากกรณีชุมนุมหน้าบ้านพล.อ.เปรมในปี 2550 และเพิ่งครบกำหนดโทษจำคุกในวันที่ 29 มีนาคม 2564 ก็ยังติดเงื่อนไขไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ จึงช่วยพรรคเพื่อไทยหาเสียงเฉยๆ แต่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเอง
สำหรับคนที่มีคดีติดตัวแต่ขณะเข้าสู่ตำแหน่งส.ส.ศาลยังไม่มีคำพิพากษาออกมา ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ไปได้ตามปกติจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจึงจะต้องพิจารณาว่า คำพิพากษาที่ออกมาทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งพ้นจะตำแหน่งเพราะเข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งหรือไม่ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 101 กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคดีความที่จะส่งผลให้บุคคลพ้นสมาชิกภาพส.ส.ไว้ใน (6) คือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 และ (13) คือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้ศาลจะให้รอลงอาญาโทษจำคุก ยกเว้นคดีที่เป็นการกระทำโดยประมาท เป็นความผิดลหุโทษ หรือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท   
ในทางปฏิบัติ เมื่อผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกระหว่างดำรงตำแหน่ง หากคำพิพากษาที่ออกมายังไม่ถึงที่สุดและตัว ส.ส. ได้รับการประกันตัวในวันที่ศาลมีคำพิพากษาเพื่อจะยื่นอุทธรณ์คดีต่อ ก็จะไม่พ้นจากตำแหน่งเพราะถือว่ายังไม่ถูกออกหมายขังตามมาตรา 98(6) และคดียังไม่ถึงที่สุดตามมาตรา 101(13) แต่หากคำพิพากษาที่ออกมาเป็นที่สุดให้ลงโทษจำคุก ไม่ว่าศาลจะรอการลงโทษจำคุกให้หรือไม่ ตัวผู้ถูกดำเนินคดีก็จะพ้นจากตำแหน่งเพราะเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 101 (13) หรือหากตัวส.ส.ถูกพิพากษาจำคุกและไม่ได้รับการประกันตัว คือ ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ “แม้เพียงวันเดียว” ก็จะพ้นจากตำแหน่งเพราะถือว่าเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 98 (6) แล้ว    
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่อยู่ในสมัยประชุม ส.ส.ก็จะมีเอกสิทธิ์คุ้มครองจากกระบวนการทางคดีอาญาบางประการเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างราบรื่นและเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งฟ้องคดีจนกระทบกับเสียงลงคะแนนในสภา โดยมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ห้ามจับกุม คุมขัง หรือออกหมายเรียกทั้งส.ส.และส.ว. ไปสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่บุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิก ในกรณีที่ตัวสมาชิกสภาถูกจับกุมคุมขังตั้งแต่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุมพนักงานสอบสวนหรือศาลจะต้องปล่อยตัวสมาชิกสภาที่ถูกคุมขังทันทีที่ประธานสภาที่ผู้ถูกจับเป็นสมาชิกร้องขอ นอกจากนั้นในกรณีที่มีการฟ้องร้องคดีต่อสมาชิกรัฐสภา ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดขวางการประชุมสภาของตัวสมาชิกผู้ถูกดำเนินคดี

เปิดแฟ้มคดี นักกิจกรรมว่าที่ส.ส.  

สามคดีของปิยรัฐ ว่าที่ส.ส.กทม.เขต 23

ปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เขาถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองครั้งแรกในปี 2559 เมื่อเขา “ฉีกบัตร” ออกเสียงประชามติเพื่อประท้วงการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าประชามติดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีความชอบธรรม สำหรับคดีฉีกบัตรประชามติในเดือนกรกฎาคม 2563 ศาลฏีกาพิพากษาจำคุกปิยรัฐในความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นเวลาหกเดือนแต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้หนึ่งปี  

ในปี 2561 ปิยรัฐถูกดำเนินคดีในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ จากการเข้าร่วมการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ซึ่งคดีนี้จนถึงเดือนพฤษภาคม 2566 ยังไม่มีคำพิพากษาออกมา ในปีเดียวกันเขายังถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนจากการร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนินเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ด้วย ซึ่งคดีดังกล่าวอัยการถอนฟ้องไปในเดือนกรกฎาคม 2562 หลังคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งเป็นข้อหาเดียวถูกยกเลิกไป


ในการเลือกตั้งปี 2562 ปิยรัฐลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.เขต 1 กาฬสินธุ์ แต่ครั้งนั้นไม่ได้รับเลือก ในปี 2563 ที่มีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ปิยรัฐออกมาร่วมเคลื่อนไหวอีกครั้งและได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มมวลชนอาสา We Volunteer คอยทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในพื้นที่การชุมนุมให้กลุ่มราษฎรด้วย 
ปิยรัฐถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมสองคดี คดีแรกเหตุเกิดในเดือนมกราคม 2564 เขาถูกกล่าวหาว่าจัดทำไวนิลเจ็ดแผ่น ติดตั้งในจังหวัดกาฬสินธุ์ ข้อความบนป้ายเป็นการวิจารณ์การกระจายวัคซีนและกล่าวหาทำนองว่ามีการผูกขาดการกระจายวัคซีนเพื่อสร้างภาพให้ราชสำนักเป็นผู้พระราชทานวัคซีน ในคดีนี้ปิยรัฐเคยถูกฝากขังในเรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน – วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ก่อนได้ประกันตัว คดีนี้ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ให้เลื่อนนัดสืบพยานจำเลยเป็นวันที่ 29 – 30 สิงหาคม 2566  คดีที่สองปิยรัฐถูกกล่าวหาว่าโพสต์ภาพและข้อความวิพากษ์วิจารณ์การสลายการชุมนุม “ขายกุ้ง” ของกลุ่ม We Volunteer ที่สนามหลวงในลักษณะที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยมีภาพการชุมนุมและมีคำบรรยายภาพตอนหนึ่งว่า “ตํารวจชายแดนนี่ก็นะงานตัวเองไม่รู้จักทํา ปล่อยโควิดเข้ามาจนฟาร์มกุ้งเค้าพัง คนเค้าจะมาช่วยขายกุ้งก็มาสลายการขายกุ้ง คนธรรมดาเค้าอดตายได้นะ เพราะเค้าไม่ได้เสวยสุขบนเงินภาษีของประชาชน…” โดยคดีนี้มีนพดล พรหมภาสิตเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ คดีนี้ศาลอาญานัดสืบพยานนัดแรกในเดือนเมษายน 2567  
นอกจากสองคดีข้างต้นปิยรัฐยังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีจากการร่วมปราศรัยในการชุมนุม “เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง” ที่จังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 22 สิงหาคม 2563 โดยปิยรัฐถูกกล่าวหาว่าคำปราศรัยของเขาตอนหนึ่งมีการพาดพิงรัชกาลที่สิบในลักษณะที่ทำให้เกิดความเสียหาย โดยปิยรัฐปราศรัยถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ต่อกองทัพไทย รวมถึงพาดพิงทำนองว่าพระมหากษัตริย์มีบทบาทในการลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหาร โดยคดีนี้อัยการฟ้องต่อศาลแล้ว และมีกำหนดนัดพร้อมประชุมคดีวันที่ 26 มิถุนายน 2566 

สองคดีของชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด ว่าที่ส.ส.ปทุมธานีเขต 3

ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒประสานมิตร ชลธิชาเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในทางสาธารณะในปี 2557 โดยเธอกับเพื่อนนักศึกษาเคยร่วมกันจัดกิจกรรมกินแซนวิชต่อต้านการรัฐประหาร และเคยถูกพาไปปรับทัศนคติที่สโมสรทหารบก ชลธิชาถูกดำเนินคดีครั้งแรกจากการร่วมชุมนุมรำลึกหนึ่งปีการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2558 ต่อมาในเดือนมิถุนายนเธอยังร่วมทำอารยขัดขืนไม่เข้ารายงานตัวกับตำรวจ นอกจากนั้นก็ยังไปร่วมเดินขบวนประท้วงการรัฐประหารจนเธอกับเพื่อนนักศึกษา 14 คนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และถูกฝากขังในเรือนจำเป็นเวลา 12 วัน

หลังได้รับการปล่อยตัว ชลธิชายังคงทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและได้ร่วมกับเพื่อนตั้งองค์กรรณรงค์ชื่อ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยหรือ DRG ด้วย โดยหนึ่งในการรณรงค์ที่สำคัญที่เธอมีส่วนร่วมคือการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 ต่อมาในปี 2561 ชลธิชาก็ร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 จากการเข้าร่วมชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ที่หน้ากองทัพบก และที่หน้าที่ทำการสหประชาชาติ ชลธิชาถูกดำเนินคดีในฐานะผู้เข้าร่วมการชุมนุมทั้งสามคดี ศาลพิพากษายกฟ้องชลธิชากับจำเลยคนอื่นๆในคดีการชุมนุมที่หน้าที่ทำการสหประชาชาติ ส่วนคดีการชุมนุมที่แยกราชดำเนินอัยการถอนฟ้องเพราะกฎหมายถูกยกเลิก มีเพียงคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้ากองทัพบกที่ชลธิชาถูกปรับ 1,000 บาทเพราะศาลเห็นว่าเธอเป็นผู้แจ้งการชุมนุมแต่ไม่สามารถควบคุมผู้ชุมนุมไม่ให้เดินลงมาบนพื้นถนนได้

ในช่วงการชุมนุมของราษฎร ชลธิชามีบทบาทในฐานะผู้แจ้งการชุมนุมและคอยช่วยนักกิจกรรมรุ่นหลังในการเจรจากับตำรวจ ชลธิชาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 สองคดี คดีแรกเกิดจากกรณีที่เธอโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวในช่วงที่มีกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” ส่งจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยอัยการบรรยายฟ้องว่าเนื้อหาในจดหมายของเธอ ทำให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นภาพและข้อความเข้าใจได้ว่า พระมหากษัตริย์เสด็จไปอยู่ต่างประเทศ ไม่ดูแลประชาชน เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้ประชาชนเกิดความกลัวต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังทําให้เข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ใช้ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกพ้องกระทําการรัฐประหาร แล้วสืบทอดอํานาจ คดีนี้ฟ้องต่อศาลแล้ว ศาลอาญานัดสืบพยานในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 2566 และในเดือนมีนาคม 2567 
คดีที่สองชลธิชาถูกกล่าวหาว่าปราศรัยที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรีเพื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ในเดือนกันยายน 2564 โดยเธอกล่าวปราศรัยถึงความสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์และการออก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมระบุว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนสามารถดีขึ้นได้ หากงบประมาณถูกจัดสรรไปอย่างที่ควรจะเป็น เช่น การจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ อาทิ กรมสุขภาพจิต กรมควบคุมมลพิษ หรือการจัดสรรงบในการประกันสุขภาพ คดีนี้ศาลนัดสืบพยานในวันที่ 24-26 และ 31 พฤษภาคม กับวันที่ 8-9 มิถุนายน 2566

คดีของรักชนก ว่าที่ส.ส.กทม.เขต 28

รักชนก ศรีนอก หรือไอซ์ เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงที่มีการรัฐประหารในปี 2557 รักชนกเคยแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการรัฐประหาร 2557 บนโลกออนไลน์ เพราะคิดว่าการรัฐประหารจะทำให้ม็อบและความวุ่นวายยุติลง แต่ต่อมาเธอเริ่มเปลี่ยนความคิดเมื่อมีโอกาสถกเถียงกับเพื่อนในประเด็นการเมืองจนในภายหลังได้ออกมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มราษฎร  นอกจากนั้นรักชนกยังเป็นที่รู้จักในฐานะคนที่มีบทบาทวิจารณ์การเมืองในแอพลิเคชันคลับเฮาส์ด้วย 
รักชนกถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากกรณีที่เธอทวิตข้อความในวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่สิบ โดยเธอเขียนข้อความทำนองว่า ความพยายามของรัฐบาลในการผูกขาดวัคซีนโควิด19 เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และรัฐบาลเล่นการเมืองบนวิกฤตชีวิตประชาชน คดีของรักชนกมีการฟ้องต่อศาลแล้วและศาลอาญานัดสืบพยานในวันที่ 12 มิถุนายน 2566

หากส.ส.พ้นวาระต้องเลือกตั้งซ่อม ถ้าได้ประกันตัวก็ลงสมัครใหม่ได้

สำหรับว่าที่ผู้สมัครส.ส.ทั้งสามคน หากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง หรือให้ลงโทษแต่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการสู้คดีชั้นอุทธรณ์ในวันเดียวกันกับที่มีคำพิพากษา ก็จะยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้เพราะยังไม่ถือว่าเข้าลักษณะต้องห้าม แต่หากศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แลัในวันที่ศาลมีคำพิพากษาศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว หรือสั่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำสั่ง ซึ่งส่งผลให้จำเลยต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ก็จะถือว่าเข้าลักษณะต้องห้ามเป็นบุคคลที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกและถูกคุมขังตามหมายศาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(6) เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งส.ส. ทันที
หาก ส.ส. พ้นตำแหน่งด้วยเหตุนี้ ในกรณีที่เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต รัฐธรรมนูญมาตรา 105 (1) กำหนดให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่างลง (เลือกตั้งซ่อม) ยกเว้นอายุสภาเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน โดยให้จัดการเลือกตั้งซ่อมภายใน 45 วัน นับจากวันที่สมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ (นำมาตรา 102 มาบังคับโดยอนุโลม) สำหรับตัวของอดีต ส.ส. หากพ้นจากตำแหน่งในลักษณะที่คดียังไม่ถึงที่สุดและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็ยังถือว่าไม่เข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง และกลับมาลงสมัครใหม่ได้อีก