ทบทวนก่อนก้าวต่อ: ขบวนการเคลื่อนไหวยุคปี 63 สู่บริบทการเมืองหลังการเลือกตั้ง 66

26 พฤษภาคม 2566 ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์สามัญชนจัดงานเสวนา “Flash Back 2020 and look ahead” และ “Artistic in the Resistance สุนทรียรสแห่งการต่อต้าน” ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการวัตถุพยานแห่งการต่อต้าน ชวนนักกิจกรรมที่เคยมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวช่วงปี 2563 – 2564 มาทบทวนประสบการณ์การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาและถอดบทเรียนถึงจุดอ่อนจุดแข็งของการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา 

ในงานเสวนานี้นอกจากจะมีอันนา อันนานนท์ จากกลุ่มนักเรียนเลวและ ณัฐชนน ไพโรจน์ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 – 2564 มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์แล้ว ยังมี ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นการใช้งานศิลปะในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาร่วมพูดคุยถึงปรากฎการณ์การใช้งานศิลปะในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายๆ สมัย เช่นสมัยการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. จนถึงการชุมนุมของกลุ่มราษฎร 

ผู้ร่วมเสวนาทั้งสามคนยังร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความคาดหวังที่มีต่อการเลือกตั้งรวมถึงก้าวต่อไปของขบวนการเคลื่อนไหวหลังการเลือกตั้ง โดยงานเสวนานี้มีอานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชนเป็นผู้ดำเนินรายการ 

 

เป็นทุกอย่างให้นักเรียนแล้ว นักเรียนเลวกับการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธินักเรียน

อันนา อันนานนท์ นักกิจกรรมจากกลุ่มนักเรียนเลวเล่าว่ากลุ่มนักเรียนเลวถูกก่อตั้งโดยกลุ่มนักเรียนที่เป็นเพื่อนกันที่ต่างพบเจอและมีความรู้สึกว่ามีการคุกคามสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนด้วยกฎระเบียบของสถานศึกษา หลังรวมตัวกันทำกิจกรรมในนามกลุ่มนักเรียนเลวทางกลุ่มเริ่มจากการทำงานสื่อสารใรประเด็นเกี่ยวกับสิทธินักเรียนบนโลกออนไลน์ก่อน จากนั้นจึงเริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของนักเรียนในพื้นที่สาธารณะ ก่อนที่ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎรที่เคลื่อนไหวขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงในประเด็นโครงสร้างต่างๆ

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า คิดว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 มีนักเรียนเข้ามาร่วมมากกว่าการเคลื่อนไหวในยุคก่อนหน้านี้ อันนาตอบว่าน่าจะเป็นเพราะนักเรียนเป็นหนึ่งในผู้ประสบปัญหาจากสภาพสังคมการเมืองที่กดทับตลอดเวลาผ่านกฎระเบียบของโรงเรียนหรือตำราเรียน ทำให้เริ่มมองเห็นภาพใหญ่ว่า ปัญหาที่นักเรียนประสบพบเจอเมื่อสืบสาวกลับไปก็จะพบว่ามีรากฐานมาจากโครงสร้างทางการเมืองที่ผู้มีอำนาจไม่ยอมฟังเสียงของประชาชน นักเรียนจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนใหญ่เพราะถือเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง

เมื่อถามว่าการชุมนุมของนักเรียนเลวครั้งไหนคือครั้งที่อันนาประทับใจที่สุด อันนาตอบว่าเป็นการชุมนุม “เลิกเรียนไปกระทรวง” ในเดือนสิงหาคม 2563 ครั้งนั้นมีนักเรียนที่ไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ของการศึกษาไทยไปชุมนุมที่หน้ากระทรวงศึกษาเป็นจำนวนมาก จนสุดท้ายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นยอมออกมาพบกับนักเรียนที่มาชุมนุม และเมื่อณัฐพลจะขอใช้เครื่องเสียงพูดคุยกับนักเรียนที่มาชุมนุมก็ถูกนักเรียนเป่านกหวีดใส่พร้อมทั้งตะโกนว่าให้ไปต่อแถวขึ้นพูดตามลำดับไม่ให้แซงคิวผู้ปราศรัยคนอื่นๆ

นอกจากการชุมนุมครั้งนั้น  การชุมนุมอีกครั้งที่อันนาประทับใจคือการชุมนุมที่กระทรวงศึกษาธิการในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ทางกลุ่มได้นำธงสีรุ้งไปคลุมทับพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่หกซึ่งอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ อันนาระบุว่าการชุมนุมครั้งนั้นทำให้คนในกระทรวงหลายๆ คนรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นทางกลุ่มเคยนำเรื่องการละเมิดสิทธิทางเพศหลายๆ กรณีไปร้องเรียนกับทางกระทรวงแต่กลับไม่ได้รับความสนใจ

สำหรับทิศทางการเคลื่อนไหวของทางกลุ่มในขณะนี้ อันนาระบุว่าการจัดการชุมนุมเป็นเพียงหนึ่งในหน้างานของทางกลุ่มเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วทางกลุ่มนักเรียนเลวยังเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่นๆ ด้วย ทั้งการผลักดันกฎหมายอย่าง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน ผ่านช่องทางการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน การจัดพิมพ์คู่มือการเอาตัวรอดในโรงเรียนเป็นองค์ความรู้ให้นักเรียนที่ถูกละเมิดสิทธินำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้องสิทธิของตัวเอง นอกจากนั้นนักเรียนเลวยังใช้ช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กของทางกลุ่มเป็นช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของนักเรียน

อันนาระบุว่าคนที่ส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่กลุ่มนักเรียนเลวไม่ได้มีเพียงนักเรียนที่ถูกละเมิดสิทธิเท่านั้นหากแต่มีผู้ปกครองรวมถึงครูด้วย นอกจากนั้นก็มีผู้ใหญ่บางคนที่ส่งข้อความเข้ามาแชร์ประสบการณ์ที่ตัวเองเคยถูกละเมิดสมัยเป็นนักเรียนซึ่งเมื่อพิจารณาจากปริมาณเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาและความหลากหลายของผู้ร้องเรียนก็ทำให้เห็นว่านักเรียนเลวได้รับการยอมรับและอาจจะได้รับความไว้วางใจมากกว่ากระทรวงศึกษาเสียอีก นอกจากนั้นการที่มีผู้ใหญ่แชร์ประสบการณ์ในอดีตของตัวเองเข้ามาก็ทำให้เห็นว่ามีคนไม่น้อยที่รับรู้ว่ามีการละเมิดสิทธิในสถาบันการศึกษา เพียงแต่จะทำอะไรกับมันมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น 

 

จากกลุ่มจัด Event สู่ความเป็น Movement ความท้าทายและข้อจำกัดที่ต้องก้าวข้ามของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

ณัฐชนน ไพโรจน์ นักกิจกรรมจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมระบุว่า จุดเริ่มต้นความเป็นองค์กรของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมน่าจะมาจากความบังเอิญ ก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาสมาชิกกลุ่มแต่ละคนต่างเคยทำกิจกรรมเคลื่อนไหวมาก่อนอยู่แล้วในนามขององค์กรอื่นๆ เช่น แนวร่วมนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และพรรคโดมปฏิวัติ เมื่อเกิดกรณียุบพรรคอนาคตใหม่พวกเขาเคยร่วมกันจัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์มาแล้วโดยเบื้องต้นก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีคนมาร่วมกิจกรรมมากแต่ปรากฏว่ามีคนเข้าร่วมเกินคาดหมาย 

ณัฐชนนเล่าต่อว่าหลังจากเริ่มมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 และมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เขากับเพื่อนๆ ก็เคยไปเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เช่น ไปผูกโบที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ยังไม่ได้มีการจัดตั้งกลุ่มแบบเป็นทางการ พอมาถึงช่วงเปิดเทอมในเดือนสิงหาคม 2563 ณัฐชนนกับเพื่อนๆ ก็คิดกันว่าอยากจะจัดการชุมนุมใหญ่ที่ธรรมศาสตร์รังสิตสักครั้งโดยตั้งใจกันว่าพอจัดม็อบเสร็จก็จะต่างคนต่างแยกย้ายกันไป 

สำหรับที่มาที่ไปของการนำเสนอข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์สิบข้อ ณัฐชนนระบุว่าก่อนหน้าการชุมนุมในวันที่ 10 สิงหายังไม่ค่อยมีการโยนข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมมากนักว่าผู้ชุมนุมมีข้อเสนออะไร นอกจากนั้นในการชุมนุมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายๆ ครั้งก็จะพบว่ามีคนถือป้ายวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในประเด็นต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นแล้วว่าสังคมพร้อมที่จะพูดคุยในประเด็นนี้ ทางทีมที่ร่วมจัดการชุมนุมเลยรวบรวมข้อเรียกร้องและคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มาทำเป็นสิบข้อเรียกร้อง 

ณัฐชนนระบุว่าแม้เขากับเพื่อนๆ จะตั้งใจว่าจะจัดการชุมนุมครั้งนี้ให้ลุล่วงแล้วก็จะแยกย้ายกันแต่การชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาประสบผลสำเร็จทะลุความคาดหมายของทางทีมที่จัดการชุมนุมไปมากเช่นเดียวกับสิบข้อเรียกร้องที่ได้รับการตอบรับจากคนในสังคม ทำให้กลุ่มคนที่ร่วมจัดการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทนตัดสินใจจัดตั้งแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมขึ้นมาเพื่อผลักดันข้อเสนอในระยะยาว นอกจากนั้นยังได้จัดการชุมนุมใหญ่อีกหลายครั้ง เช่น การชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งในการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นี้เองที่ผู้ชุมนุมตกผลึกสามข้อเรียกร้อง ได้แก่ ให้ พล.อ.ประยุทธ์และองคาพยพลาออก ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์     

หลังการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 สมาชิกคนสำคัญของแนวร่วมฯ หลายคนถูกจับกุมตัวและถูกฟ้องคดีการเมืองหลายคดี ทำให้สมาชิกในองค์กรที่เหลือต้องปรับยุทธวิธีในการทำงาน ปรับวิธีเคลื่อนไหวไปใช้วิธีการอื่นแทนการจัดการชุมนุมขนาดใหญ่ เช่น ใช้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์หรือการยื่นหนังสือแทนเป็นต้น

เมื่อถามว่าตัวของณัฐชนนเห็นว่าการชุมนุมครั้งไหนของทางกลุ่มที่ประสบความสำเร็จที่สุด ณัฐชนนระบุว่าสำหรับเขาการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ถือเป็นหนึ่งในการชุมนุมที่สร้างคุณูปการมากที่สุด 

แม้จะไม่ใช่การชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดหรือมีผู้เห็นด้วยมากที่สุด แต่ครั้งนั้นถือเป็นการโยนประเด็นที่แหลมคมไปให้สังคมถกเถียงกันต่อ ซึ่งเอาจริงๆ ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันฯ ก็เป็นที่ถกเถียงกันอยู่แล้วเพียงแต่ไม่เคยนำมาถกเถียงในพื้นที่สาธารณะมาก่อน ซึ่งผลของการชุมนุม 10 สิงหาก็ทำให้การชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มีการตกผลึกออกมาเป็นข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อร่วมกัน

 

ศิลปะในม็อบท่ามกลางบริบทการเมืองที่เปลี่ยนแปลง

ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่าการนำศิลปะมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เคยใช้งานศิลปะมาสนับสนุนค่านิยมของรัฐโดยมีการจัดแสดงงานศิลปะแยกเป็นศิลปะแบบดีและเลว แบบดีคืองานศิลปะที่สะท้อนค่านิยมของระบอบนาซี ส่วนศิลปะแบบเลวคืองานศิลปะที่นำเสนอคุณค่าที่อยู่ตรงข้ามกับระบอบนาซีแต่น่าสนใจว่าคนเยอรมันกลับเลือกที่จะชมงานศิลปะแบบเลวมากกว่า

ในบริบทของการเมืองไทย บัณฑิตระบุว่างานศิลปะถูกนำมาใช้ในการชุมนุมตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่มีการใช้งานศิลปะสร้างโปสเตอร์หรือคัตเอาท์เชิญชวนคนมาร่วมชุมนุม หลังจากนั้นก็มีการนำงานศิลปะมาใช้ในการชุมนุมเรื่อยมาทั้งในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเรื่อยมาจนถึงช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรงานศิลปะที่ถูกนำมาใช้ในการชุมนุมมักจะมีแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบคล้ายๆ กันคือการต่อสู้ระหว่างธรรมกับอธรรม 

ต่อมาเมื่อถึงช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.แนวคิดในการออกแบบก็ขยับมาเป็นการต่อสู้ระหว่างคนดีกับนักการเมืองชั่วร้าย บัณฑิตตั้งข้อสังเกตว่าพื้นที่ศิลปะในเมืองไทยมีไม่มากนักและมักเป็นของกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษนิยม ศิลปินบางส่วนจึงเลือกที่จะทำงานในลักษณะที่สอดคล้องไปกับความต้องการของคนกลุ่มดังกล่าว แต่ในช่วงตั้งแต่หลังการเลือกตั้งมีศิลปินรวมถึงคนที่อาจจะไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินสร้างสรรค์ผลงานออกมาท้าทายผู้มีอำนาจมากขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประเด็นทางสังคมหลายๆ ประเด็นก็ไม่สามารถสื่อสารออกมาอย่างตรงไปตรงมาได้ ขณะเดียวกันพื้นที่บนโลกออนไลน์รวมถึงโมเดลธุรกิจใหม่ๆ อย่างเช่น NFT ก็ทำให้ศิลปินรวมถึงผู้สร้างสรรค์งานบางส่วนสามารถสร้างสรรค์งานตามความคิดความเชื่อของตัวเองโดยไม่ต้องกังวลถึงความเสี่ยงในการถูกกีดกันการเข้าถึงพื้นที่แสดงงานด้วยเหตุผลด้านอุดมการณ์ทางการเมือง  

 

หาก “ฝ่ายประชาธิปไตย” เป็นรัฐบาล การต่อต้านยังจำเป็นอยู่หรือไม่?

ในช่วงท้ายของวงเสวนา มีผู้เข้าร่วมเสวนาตั้งคำถามว่า จากผลการเลือกตั้งที่ออกมาอดีตพรรคฝ่ายค้านหรือที่ถูกเรียกว่า “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง ขณะที่อดีตพรรครัฐบาลน่าจะกลายไปเป็นฝ่ายค้าน เมื่อเป็นเช่นนั้นการต่อสู้ เคลื่อนไหว และการต่อต้าน ยังจะมีความจำเป็นอยู่อีกหรือไม่ ผู้ร่วมเสวนาทั้งหมดตอบไปในทางเดียวกันว่าการต่อสู้เคลื่อนไหวเป็นกระบวนการที่จะยังดำเนินต่อไปอย่างไม่รู้จบ 

บัณฑิตระบุว่า การต่อต้านเป็นเรื่องนิรันดร์ โดยยกตัวอย่างว่าหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ที่จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายประชาชน ทหารถูกลดบทบาททางการเมือง กลับเข้ากรมกอง บรรดานายพลถูกถอดออกจากตำแหน่งบอร์ดในรัฐวิสาหกิจจนเกือบหมด ทว่าอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้นประเทศก็กลับสู่วงจรของการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ตัวอย่างที่ยกมาแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้จะไม่มีวันจบ แต่เป็นกระบวนการที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่อันนาเห็นว่า หลังจากนี้จะมีการต่อต้านมากขึ้นเพราะเส้นแบ่งระหว่างแนวคิดกลุ่มเสรีนิยมและแนวคิดกลุ่มอนุรักษนิยมจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ในส่วนของกลุ่มนักเรียนเลวการต่อสู้ยังไม่ถือว่าจบเพราะข้อเรียกร้องของทางกลุ่มหลายข้อที่เคยนำเสนอยังไม่ประสบผลสำเร็จ บางส่วนถูกตีตกไปแล้ว ขณะที่อีกหลายส่วนที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงกลไกในโรงเรียนก็ไม่ได้รับการลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง เป็นแต่การปรับกลไกตามข้อเรียกร้องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

ด้านณัฐชนนกล่าวเสริมว่า การวัดว่าจะมีการต่อต้านต่อไปหรือไม่ต้องกลับไปดูที่ “เราต่อต้านอะไร” และ “เราวัดอย่างไรว่าเราชนะ” ซึ่งเมื่อพิจารณาตามคำถามทั้งสองข้อก็จะสรุปได้ว่า การต่อต้านอำนาจจะยังมีความเคลื่อนไหวต่อไป หากอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จริง ประเทศมีประชาธิปไตยมากขึ้น เมื่อวันเวลาผ่านไปการต่อสู้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องอื่น เช่น ประเด็นเรื่องเพศ หรือประเด็นเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งในอนาคตหลายคนที่เคยถูกมองว่าเป็นพวกหัวก้าวหน้าในยุคสมัยหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจกลายเป็นคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมได้เช่นกัน และก็จะถูกคนรุ่นต่อๆ ไปลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้าน

แม้ผู้ร่วมเสวนาทั้งสามคนจะเห็นตรงกันว่าการต่อสู้เป็นเรื่องระยะยาวที่คงไม่จบในรุ่นใดรุ่นหนึ่งแต่บัณฑิตก็มองเห็นแนวโน้มในทางบวกอยู่บ้าง โดยเขาเห็นว่าในการเลือกตั้งปี 2566 มีจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิสูงเป็นประวัติการณ์ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ชี้ให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นและจับตาการผลักดันประชาธิปไตยด้วยกลไกรัฐสภาอย่างใกล้ชิด ประเทศไทยจึงยังพอมีหวังอยู่บ้างว่าจะไม่ถอยกลับไปสู่ยุคเผด็จการดังเช่นในอดีต ที่สำคัญแม้ในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคฝ่ายค้านเดิมจะต้องเผชิญหน้ากับกติกาที่วิปริต ในระบบที่วิปริต โดยมีคนสร้างระบบที่วิปริต แต่ก็ยังสามารถพลิกกลับมาได้รับชัยชนะจึงชัดเจนมากว่าประเทศไทยยังมีความหวังบนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว