เลือกตั้ง 66: “ขอลงคะแนนใหม่” เกิดอะไรขึ้นในจังหวัดชลบุรี เขต 10 หลังการเลือกตั้ง 66

การเลือกตั้ง 2566 ที่เพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้เว็บไซต์ของคณะกรรมการการเลือก หรือ กกต. แต่ละจังหวัดเริ่มนำผลการเลือกตั้งจากใบ ส.ส.5/18 ขึ้นบนเว็บไซต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามหลายจังหวัดและหลายเขตการเลือกตั้งยังไม่สามารถสรุปผลคะแนนอย่างแน่นอน เนื่องจาก กกต. ยังไม่สามารถคลี่คลายข้อครหาและเรื่องร้องเรียนทั้งหมดได้

จังหวัดชลบุรี เขตเลือกตั้งที่ 10 มีผู้ชนะตามการประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการบน ETC Report ของ กกต. คือ สะถิระ เผือกประพันธุ์ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ด้วยคะแนน 27,461 คะแนน ตามมาด้วย พนธกร ใคร่ครวญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนน 27,382 คะแนน และ นิชนันท์ วังคะฮาต ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ด้วยคะแนน 25,957 คะแนน

ลักษณะนี้ทำให้ผู้ชนะเป็นอันดับหนึ่งและสองมีคะแนนห่างกันเพียง 79 คะแนนเท่านั้น เมื่อเกิดข้อครหาขึ้นโดยเฉพาะเรื่อง ‘บัตรเขย่ง’ ที่อาจจะทำให้ส่งผลต่อการแพ้ชนะขึ้น ข้อเรียกร้องให้การเลือกตั้งของจังหวัดชลบุรี เขต 10 เป็นโมฆะ และควรจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็กลายเป็นเรื่องที่ กกต. ควรรีบจัดการในทันที

เกิดอะไรขึ้นที่จังหวัดชลบุรี เขต 10

election in Chonburi

ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งของจังหวัดชลบุรี เขต 10 เริ่มต้นในคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 หลังการนับคะแนนบน ETC Report ของ กกต. หยุดชะงักบ่อยครั้ง จนหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไปก็ยังไม่สามารถหาผู้ชนะได้ ขณะที่จังหวัดชลบุรีเขตอื่นสามารถบอกผู้ชนะได้เรียบร้อยแล้ว และไม่สามารถสรุปผลทั้งหมดได้จนข้ามไปถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

ต่อมาเมื่อเวลา 7.00 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 มีประชาชนเดินทางไปพบป้ายไวนิลสรุปผลคะแนนการเลือกตั้งของจังหวัดชลบุรี เขต 10 ที่หน้าที่ว่าการอำเภอสัตหีบ พบว่าบนป้ายระบุตัวเลขไม่สมเหตุสมผล คือ คะแนนรวมจากทุกผู้สมัครมีมากกว่าจำนวนผู้ที่มาใช้สิทธิ และทำให้มี ‘บัตรเขย่ง’ จำนวนมากถึง 4,995 ใบ

หลังประชาชนนำรูปถ่ายป้ายรวมคะแนนดังกล่าวขึ้นไปวิพากษ์วิจารณ์บนอินเทอร์เน็ต พนธกร ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ได้ทักท้วงไปยัง กกต.ชลบุรีทันที จนทำให้ กกต.ชลบุรีตรวจสอบกระบวนการนับคะแนนอีกครั้ง ก่อนจะประกาศว่า “ข่าวเรื่องเกิดบัตรเขย่งไม่เป็นความจริง” เนื่องจากเป็นเพียงความผิดพลาดในการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ โดยจำนวนบัตรเสียที่ตอนแรกระบุบนป้ายว่ามีถึง 7,229 ใบ แท้จริงแล้วมีเพียง 2,234 ใบ และระบุว่าเป็นเพียงความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ประมวลผลข้อมูลเพียงคนเดียว

อย่างไรก็ตามคำตอบของ กกต. ว่า บัตรเขย่งเกิดขึ้นถึง 4,995 ใบเป็นเพียงการประมวลผลผิดพลาด เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้โดยพรรคก้าวไกล ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 เบญจา แสงจันทร์ ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนิชนันท์ ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้การเลือกตั้งของจังหวัดชลบุรี เขต 10 เป็นโมฆะ และให้มีการลงคะแนนใหม่ทันที

สาเหตุที่ต้องการให้มีการลงคะแนนใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่การนับคะแนนใหม่เหมือนในหลายเขตที่เกิดการร้องเรียน เป็นเพราะนิชนันท์ไม่มั่นใจว่า บัตรลงคะแนนที่อยู่ในหีบตอนนี้จะยังเป็นบัตรลงคะแนนของผู้มาใช้สิทธิอยู่หรือไม่

ขณะนี้พรรคก้าวไกล ชลบุรี จึงยังพยายามผลักดันให้เกิดความโปร่งใสขึ้นในจังหวัดชลบุรี เขต 10 ในเร็ววัน

เกิดอะไรขึ้นหลังการเรียกร้องให้ลงคะแนนใหม่

วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปของ ‘เอกสารผลคะแนนเลือกตั้ง’ ที่มีลักษณะถูกขีดทับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ จำนวนบัตรเลือกตั้ง ไปจนถึงทับเลขคะแนน แล้วเขียนจำนวนตัวเลขใหม่ลงไปแทน จนทำให้กระแสความไม่ไว้ผลการเลือกตั้งของจังหวัดชลบุรี เขต 10 มีมากขึ้น

พิเชฐ ธรรมโหร ปลัดอำเภอสัตหีบ ตัวแทน กกต.สัตหีบ จึงเดินทางไปยัง สภ.สัตหีบ เพื่อแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เป็นหลักฐาน โดยระบุว่า เอกสารดังกล่าเป็นเพียงการตรวจทานคะแนนของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ไม่ได้มีความต้องการจะเผยแพร่อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด จึงมีความต้องการที่จะสืบหาผู้ปล่อยเอกสารดังกล่าวไปบนอินเตอร์เน็ตเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายอีกด้วย

ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 พนธกร นิชนันท์ และสุรี แก้วกัณหา ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย เดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอสัตหีบพร้อมประชาชนเป็นจำนวนมาก เป้าหมายเพื่อคัดค้านการย้ายหีบบัตรลงคะแนนไปเก็บไว้ยัง กกต.ชลบุรี เนื่องจากหลายกลุ่มยังมองว่าผลการเลือกตั้งยังไม่โปร่งใส และ กกต.ชลบุรี ควรดำเนินการแก้ไขให้ชัดเจนก่อนที่จะเคลื่อนย้ายหีบออกจากพื้นที่

สุดท้าย วิชชุดา เมฆานุวงศ์ ผอ.กกต.ชลบุรี ได้ประชุมหารือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน รวมไปถึงผู้สมัครจากพรรคต่างๆ และมีความเห็นร่วมกันว่า จะเก็บหีบลงคะแนนไว้ที่ห้องประชุมข้างศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอสัตหีบ ขณะที่วัสดุอุปกรณ์ ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งที่เหลือใช้ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง จะถูกนำไปเก็บไว้ยังสำนักงาน กกต.ชลบุรี และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ชุดหมายเหตุการลงคะแนน (แบบ ส.ส.⅓) คืนสำนักทะเบียนอำเภอสัตหีบ โดยมี สภ.สัตหีบลงบันทึกประจำวันและลายมือกำกับไว้เป็นหลักฐาน

อย่างไรก็ตาม การเก็บรักษาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไว้ก่อนเพื่อยุติความขัดแย้งในพื้นที่จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาจาก กกต. ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ทว่าในวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 กกต. กลับถูกตั้งข้อครหาว่า จะแอบนำบัตรเลือกตั้งบางส่วนไปทิ้งหรือไม่

เหตุการณ์ชุลมุนหน้าที่เก็บหีบ ข้อครหาว่าบัตรลงคะแนนบางส่วนไปปนอยู่ในกองขยะ

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่ประชาชนบางส่วนได้มาเดินตรวจสอบรอบๆ อาคารเก็บหีบเลือกตั้ง เพื่อดูให้แน่ใจว่าหีบบัตรและบัตรลงคะแนนยังถูกรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอสัตหีบ ดังที่ กกต. ได้กล่าวไว้แต่แรกหรือไม่ ทว่าประชาชนพบว่า มีหน้าต่างบางบานเปิดอยู่ และพบถุงใส่บัตรลักษณะคล้ายบัตรเลือกตั้งหลายใบวางอยู่ จึงไปเรียกเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบเนื่องจากอยู่ข้างนอกอาคาร

กกต.ชลบุรี เขต 10 แจ้งว่า ไม่มีการเคลื่อนย้ายบัตรลงคะแนน เมื่อเปิดประตูเข้าไปจะพบบัตรต้นขั้วอยู่ในถุงพลาสติกเท่านั้น ช่วงนี้ได้มีผู้แทนจากหลายพรรคการเมืองมาร่วมกับชาวบ้านด้วยในการสอบถามเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในประเด็นที่พบว่าบัตรบางใบไม่ถูกเจาะรู แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะยืนยันว่าเจาะรูแล้วทุกใบก็ตาม

ต่อมาประชาชนยังพบว่า มีเอกสารสรุปคะแนนถูกวางกองไว้ที่พื้นเหมือนถุงขยะ และมีเจ้าหน้าที่มาแจ้งอีกครั้งว่าในถุงพลาสติกเป็นบัตรเลือกตั้งที่ถูกฉีกแล้วไม่ใช่บัตรต้นขั้ว อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่พยายามกีดกันไม่ให้มีการถ่ายภาพ ขณะที่สำนักข่าวคมชัดลึกรายงานว่า พบบัตรลงคะแนนทั้งสีเขียวและสีม่วงและหีบเลือกตั้งจำนวน 1 หีบอยู่ภายในกองขยะของห้องเก็บหีบบัตรลงคะแนน

เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเพจ กกต. กลางระบุว่า เป็นความเท็จทั้งสิ้น โดยในวันที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้มี “กลุ่มบุคคลที่สร้างความวุ่นวาย” จำนวนหนึ่ง บุกเข้าไปยังศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอสัตหีบ ซึ่งใช้เก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้ง ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังนำบัตรลงคะแนนที่เหลือจากการเลือกตั้งมากองรวมไว้ที่พื้นห้องเพื่อจัดหมวดหมู่ของบัตรและเอกสาร

กกต. อธิบายต่อไปว่า กลุ่มผู้ไม่หวังดีในข่าวได้เข้าไปแย่งชิงถุงบรรจุบัตรลงคะแนนออกไปชูให้ประชาชนนอกอาคารดู ก่อนจะกล่าวหาว่า พบบัตรลงคะแนนเหล่านี้ในกองขยะที่กำลังจะถูกนำไปทิ้ง

อย่างไรก็ตาม นิชนันท์ได้โต้ตอบด้วยการแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ดังกล่าวของเพจ กกต. ทันทีว่า บัตรที่ประชาชนเข้าไปพบกองอยู่ในกองเอกสารที่จะถูกเจ้าหน้าที่นำไปทิ้งขยะจริง เนื่องจากได้สอบถามเจ้าหน้าที่แล้วว่ากองเอกสารที่พื้นนี้คืออะไร

นิชนันท์ยืนยันว่า ประชาชนกลุ่มที่เข้าไปเจอบัตรลงคะแนนกองผสมอยู่ในกองขยะนั้น เข้าไปพร้อมกับ กกต.ชลบุรี ปลัดอำเภอสัตหีบ และตัวแทนจากพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ พรรคละสองคน

เหตุการณ์นี้นิชนันท์ยังได้โพสต์วิดีโอขณะเกิดเหตุ พร้อมอธิบายไว้ว่า บัตรที่พบเจออยู่ในถุงที่จะถูกนำไปทิ้งขยะขณะทำความสะอาดอาคาร คือ บัตรดี ทั้งบัตรลงคะแนนสีม่วงและสีเขียว ซึ่งถูกเขียนว่าเป็นของตำบลแสมสาร และตำบลเกล็ดแก้ว พร้อมมีลายเซ็นกำกับเรียบร้อย

ดังนั้น กกต.ชลบุรี จึงต้องรีบคลี่คลายข้อครหาผลการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยความโปร่งใสโดยเร็ว โดยเฉพาะเมื่อมีหลักฐานจำนวนมากกำลังบ่งชี้ว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ของจังหวัดชลบุรี เขต 10 มีปัญหา ซึ่งอาจจะนำไปสู่การนับคะแนนใหม่ไปจนถึงการลงคะแนนใหม่ก็เป็นได้