จับตา! ประชุมวุฒิสภา เคาะ ป.ป.ช. – คตง. คนใหม่ ตั้ง กมธ.สอบประวัติฯ ผู้ได้เสนอชื่อเป็น กกต. – ป.ป.ช.

23 พฤษภาคม 2566 วุฒิสภามีนัดประชุมพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และมีนัดพิจารณา ตั้งกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (กมธ.สอบประวัติฯ) ดังนี้

พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.): เนื่องจาก ณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระดำรงตำแหน่งเก้าปีแล้ว คณะกรรมการสรรหาฯ จึงเปิดรับสมัครและดำเนินการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. คนใหม่จากผู้ที่สมัครเข้ามาและมีคุณสมบัติตามกฎหมาย โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาฯ และได้รับการเสนอชื่อให้วุฒิสภาพิจารณา คือ สมบัติ ธรธรรม รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.): เนื่องจาก วีระยุทธ์ ปั้นน่วม กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ด้านการเงินการคลัง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 คณะกรรมการสรรหาฯ จึงเปิดรับสมัครและดำเนินการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งกรรมการใหม่ คนใหม่ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสรรหาฯ ได้เสนอชื่อ พัลลภ ศักดิ์โสภณกุล เพื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ แต่เมื่อ 12 กันยายน 2565 ที่ประชุมวุฒิสภาไม่เห็นชอบบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จึงต้องดำเนินการสรรหาใหม่ โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ได้มีมติเสนอชื่อให้ ศิลักษณ์ ปั้นน่วม อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรรมการในองค์กรอิสระ รวมถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา หากเสียงลงมติเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อรายนั้นๆ ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เท่ากับที่ประชุมวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ

ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกรายใด จะต้องดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลใหม่ แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ ในมาตรา 120 วรรคท้าย กำหนดให้การออกเสียงลงคะแนนเลือกหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งใด ให้กระทำเป็นการลับ ดังนั้น ประชาชนจะไม่สามารถทราบได้ว่า ส.ว. แต่ละคนให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

ตั้ง กมธ. สอบประวัติฯ ผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต. และ ป.ป.ช.

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.): เนื่องจากธวัชชัย เทอดเผ่าไทย กรรมการการเลือกตั้ง มีอายุครบ 70 ปี เมื่อ 30 ธันวาคม 2565 จึงพ้นจากตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง ตามที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการสรรหาฯ จึงเปิดรับสมัครและดำเนินการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งคนใหม่ และได้เสนอชื่อ ชาย นครชัย อดีตอธิบดีกรรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ต่อวุฒิสภา เพื่อให้พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยวุฒิสภาจะต้องตั้งกมธ.สอบประวัติฯ บุคคลดังกล่าวก่อน หากกระบวนการในชั้นกมธ.สอบประวัติฯ แล้วเสร็จ ก็จะเข้าสู่กระบวนการให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบบุคคลดังกล่าวต่อไป

ป.ป.ช.: เนื่องจาก พลตำรวจเอก สถาพร หลาวทอง ดำรงตำแหน่งครบเก้าปี และพลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี คณะกรรมการสรรหาฯ จึงเปิดรับสมัครและดำเนินการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทนที่พลตำรวจเอก สถาพร และ พลเอก บุณยวัจน์ โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ได้เสนอชื่อ พศวัจณ์ กนกนาก อดีตประธานศาลอุทธรณ์ เพื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทนที่ พลตำรวจเอก สถาพร หลาวทอง และเสนอชื่อ สมบัติ ธรธรรม ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายอิสระ เพื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทนที่ พลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ โดยวุฒิสภาจะต้องตั้ง กมธ.สอบประวัติฯ บุคคลดังกล่าวก่อน หากกระบวนการในชั้น กมธ.สอบประวัติฯ แล้วเสร็จ ก็จะเข้าสู่กระบวนการให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบบุคคลดังกล่าวต่อไป

โดยการประชุมวุฒิสภานัดนี้ เป็นการประชุมสมัยวิสามัญที่เปิดประชุมนอกสมัยประชุม เพื่อพิจารณาให้บุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ในการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร เป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 126 กำหนดยกเว้นไว้เฉพาะให้วุฒิสภาสามารถประชุมในนาม “รัฐสภา” ได้ และยังมีข้อยกเว้นอื่นๆ ที่วุฒิสภาสามารถประชุมในนาม “รัฐสภา” ระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรได้ คือกรณีที่เกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 17 และมาตรา 19 การรับทราบร่างกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 20 การพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้สืบราชสันตติวงศ์ที่องคมนตรีเป็นผู้เสนอ ตามมาตรา 21 การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม ตามมาตรา 177

อย่างไรก็ดี หากเป็นการประชุมอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าข้อยกเว้นตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 126 กำหนดไว้ วุฒิสภาจะประชุมในระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย