อดีตฝ่ายค้านแลนด์สไลด์ พรรคทหารทรุด เสียงส่วนใหญ่ไม่เอาอดีตพรรคร่วม

ผลการเลือกตั้งทั่วไป 2566 อย่างไม่เป็นทางการปรากฏว่าอดีตพรรคฝ่ายค้านเอาชนะอดีตพรรคฝ่ายรัฐบาลไปอย่างถล่มทลาย ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากผลคะแนนเมื่อสี่ปีก่อน

 

อดีตฝ่ายค้านรวมกันถล่มทลาย คะแนนเพิ่ม 62 ที่นั่ง

ในการเลือกตั้งทั่วไป 2562 พรรคเพื่อไทยกลายเป็นพรรคอันดับหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร โดยกวาดที่นั่งไป 136 ที่นั่งจากที่ส่งลงสมัครทั้งหมด เขต คะแนนเสียงทั้งประเทศ 7.8 ล้านเสียง ซึ่งเป็น ส.ส. เขตทั้งหมดและไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียวจากระบบคำนวณจัดสรรปันส่วนผสม แม้ว่าพรรค “แตกแบงค์” อย่างไทยรักษาชาติจะถูกยุบไปก่อนการเลือกตั้งก็ตาม ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ลงสมัครเลือกตั้งครั้งแรกกลายเป็นพรรคใหญ่อันดับสามของสภา 81 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส. เขต 31 ที่นั่ง และบัญชีรายชื่อ 50 ที่นั่ง รวมคะแนนเสียงทั้งประเทศ 6.3 ล้านเสียง

เวลาผ่านมาสี่ปี อดีตพรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 พรรคก้าวไกล หรือเมื่อสี่ปีที่แล้วอยู่ในนามพรรคอนาคตใหม่ หักทุกปากกาเซียน กลายเป็นพรรคอันดับหนึ่งอย่างเหนือความคาดหมาย ทั้งที่ก่อนการเลือกตั้งมีการคาดการณ์กันว่าพรรคก้าวไกลเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งมาคำนวนแบบคู่ขนาน และคะแนนเสียงในปี 2562 ก็ได้รับอานิสงส์จากการยุบพรรคไทยรักษาชาติทำให้คะแนนไหลมาที่พรรคอนาคตใหม่ แต่ปรากฏว่าการเลือกตั้งทั่วไป 2566 พรรคก้าวไกลได้ที่นั่ง 151 ที่ เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 86 ส่วนคะแนนรวมทั้งประเทศก็มากขึ้นเป็น 14,172,211 คะแนน หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 124 และทำให้กลายเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนพรรคเพื่อไทย ในครั้งนี้ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นเป็น 141 ที่นั่ง เรียกได้ว่าไม่มากนักเท่ากับการคาดการณ์ก่อนหน้าที่เห็นว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งมาเป็นบัตรสองใบและคำนวนแบบคู่ขนาน โดยพรรคเพื่อไทยก็ได้ที่นั่งบัญชีรายชื่อ 29 ที่นั่ง เมื่อรวมกับ ส.ส. เขต จึงทำให้ได้ทั้งหมด 141 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 5 ที่นั่ง ส่วนคะแนนรวมทั้งประเทศ ในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัคร ส.ส. ครบทุกเขตและการเปลี่ยนมาเป็นบัตรสองใบทำให้ประชาชนทั้งประเทศได้โอกาสเลือกพรรคในบัตรใบที่สอง จึงทำให้มีผู้ลงคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทยทั้งหมด 10,801,620 คะแนน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 37

ในขณะที่อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ ได้ที่นั่งในจำนวนที่ไม่มากนัก พรรคเสรีรวมไทยเหลือเพียงที่นั่งเดียว พรรคไทยสร้างไทยที่แยกออกมาจากพรรคเพื่อไทยได้ไป 6 ที่นั่ง และพรรคประชาชาติได้ไป 9 ที่นั่ง

รวมทั้งหมดแล้ว อดีตพรรคฝ่ายค้านรวมกันกวาดที่นั่งไปแบบ “แลนด์สไลด์” ทั้งหมด 309 ที่นั่ง มากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส. ทั้งหมด 500 คน และพรรคก้าวไกลก็ประกาศตัวพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

 

อดีตพรรคร่วมรัฐบาลอาการหนัก ภูมิใจไทยรอดพรรคเดียว

ในทางกลับกัน อดีตพรรคร่วมรัฐบาล หลังการเลือกตั้งเมื่อสี่ปีที่แล้วสามารถจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงข้างมากของ ส.ส. ไปอย่างเฉียดฉิว 253 ที่นั่ง โดยได้เสียงจากพรรคจิ๋วขนาดที่นั่งเดียวให้ผ่านคาบเส้น ในการเลือกตั้งทั่วไป 2562 พรรคสืบทอดอำนาจทหารอย่างพรรคพลังประชารัฐซึ่งเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีได้ไป 116 ที่นั่ง จากคะแนนเสียงทั้งประเทศทั้งหมด 8.4 ล้านเสียง ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลหลักอื่น พรรคภูมิใจไทยได้ไป 51 ที่นั่งจาก 3.7 ล้านเสียง และพรรคประชาธิปัตย์ที่กล่าวก่อนการเลือกตั้งว่าไม่สนับสนุนประยุทธ์แต่กลับลำเข้าร่วมรัฐบาลทหารในภายหลังได้ไป 53 ที่นั่งจาก 3.9 ล้านเสียงทั่วประเทศ

อดีตพรรคร่วมรัฐบาลเหล่านี้กลายเป็นผู้แพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 อย่างราบคาบ ความแตกแยกภายในอดีตผู้ก่อการรัฐประหารทำให้ประยุทธ์แยกตัวจากพลังประชารัฐมาตั้งพรรคการเมืองเองในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ผลปรากฏว่าทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติก็ “ล้ม” ทั้งคู่ โดยพรรคพลังประชารัฐซึ่งอยู่ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ที่นั่งไป 40 ที่ คะแนนรวมทั้งประเทศ 528,610 ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติได้ไป 36 ที่ รวมทั้งประเทศ 4,667,913 คะแนน หากนำสองพรรคการเมืองนี้มารวมกันก็ยังได้คะแนนและที่นั่งน้อยกว่าที่พรรคพลังประชารัฐเคยได้ในปี 2562

ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ อดีตพรรคอันดับสองตลอดกาลในช่วงเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา ก็ต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งทั่วไป 2562 หัวหน้าพรรคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกตามที่ลั่นวาจาเอาไว้หลังพรรคประชาธิปัตย์ได้ไม่ถึง 100 ที่นั่ง มาถึงการเลือกตั้งทั่วไป 2566 เฉลิมชัย ศรีอ่อน แกนนำพรรคลดตัวเลขเป้าหมายลงมาที่ 50 ที่นั่ง และถ้าไม่ถึงก็จะเลิกเล่นการเมือง ผลปรากฏว่าสี่ปีผ่านไป ท่ามกลางการแข่งขันของพรรคฝ่ายขวาที่มีมากขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ฟื้น ได้ที่นั่งแค่ 25 ที่ ลดลงจากเดิม 28 ที่ ส่วนคะแนนเสียงทั้งประเทศได้เพียง 897,689 คะแนน ลดลงเช่นกันร้อยละ 94

ส่วนพรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคที่ขึ้นชื่อเรื่อง “ดูด” นักการเมืองจากพรรคการเมืองอื่นมากที่สุด โดยมีอดีต ส.ส. 55 คนจากแทบทุกพรรคการเมืองหลักที่เปลี่ยนข้างย้ายมาอยู่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคภูมิใจไทยในศึกการเลือกตั้ง 2566 ผลปรากฏว่าภูมิใจไทยได้ที่นั่งไป 71 ที่ โดยส่วนใหญ่เป็น ส.ส. เขต 68 ที่นั่ง และเป็นบัญชีรายชื่อ 3 ที่นั่ง

โดยรวมแล้ว อดีตพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อรวมกับพรรคชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนากล้า และรวมไทยสร้างชาติ ได้ ส.ส. รวมกันเพียงแค่ 184 ที่นั่ง