เลือกตั้ง 66: เปิดขั้นตอนนับคะแนน “บัตรเขย่ง” ไม่นับใหม่ได้หากไม่ได้ทุจริต-ไม่เปลี่ยนผลผู้ชนะ

การนับคะแนนเลือกตั้งถือเป็นอีกขั้นตอนสำคัญในกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2566 (ระเบียบเลือกตั้ง 2566) ระบุขั้นตอนไว้อย่างละเอียด การเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเลือกตั้งสองใบที่ประชาชนจะแยกหย่อนบัตร ซึ่งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะเริ่มนับไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่สำคัญคือ บัตรที่หย่อนผิดหีบไม่ถือเป็นบัตรเสียและหากมีกรณี “บัตรเขย่ง” คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจสั่งให้ไม่ต้องนับหรือออกเสียงใหม่ได้ หากไม่ได้เป็นเหตุทุจริตหรือเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง

ปิดหีบต้องทำลายบัตรเหลือ สรุปยอดบัตรก่อนนับ หย่อนผิดกล่องไม่ถือเป็นบัตรเสีย

หลังการปิดหีบในเวลา 17.00 น. กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งนำบัตรเลือกตั้งที่เหลือมานับให้ทราบจำนวนและระบุจำนวนในปกบัตรด้านหลัง กรณีทีเหลือเต็มเล่มให้เจาะกลางบัตรเลือกตั้งให้ทะลุทุกฉบับแล้วใช้เชือกผูกรวมเป็นปึกเดียวกัน จัดเก็บในถุงใสและเขียนรายละเอียดหน่วยเลือกตั้งและจำนวนเล่มที่เหลือของบัตรเลือกตั้งดังกล่าว บัตรที่เหลือไม่เต็มเล่มให้ทำเช่นเดียวกันและจัดเก็บรวมกับต้นขั้วบัตรเลือกตั้งในถุงใส พร้อมระบุรายละเอียดหน่วยเลือกตั้งและจำนวนเล่มของบัตรเลือกตั้งที่เหลือไม่เต็มเล่ม ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนทำลายเพื่อไม่ให้ใช้บัตรเลือกตั้งที่เหลืออยู่ออกเสียงลงคะแนนได้ พร้อมทั้งจัดทำประกาศรายการเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งตามแบบ ส.ส. 5/7 สามชุด หนึ่งในนั้นจะต้องปิดไว้ในที่เลือกตั้ง

จากนั้นกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งจะเริ่มการนับคะแนน ซึ่งต้องกระทำโดยเปิดเผยและติดต่อกันจนเสร็จ โดยจะแบ่งกรรมการประจำหน่วยเป็นสองชุดสำหรับนับคะแนนบัตรแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อเนื่องจากการเลือกตั้ง 2566 จะมีบัตรเลือกตั้งสองใบคือ บัตรให้เลือกผู้แทนแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ทำให้ระเบียบกกต. 2566 เพิ่มหลักเกณฑ์การคัดแยกบัตรเลือกตั้ง ข้อ 172 ระบุว่า เมื่อเปิดหีบเพื่อเริ่มนับคะแนน หากกรรมการพบ “บัตรผิดประเภท” หรือบัตรที่หย่อนผิดกล่องให้แยกออกและนำไปมอบแก่ประธานกรรมการฯ เพื่อนำไปใส่ในหีบบัตรที่ถูกต้อง พร้อมทั้งกำหนดให้เป็นเหตุต้องบันทึกลงรายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง (ส.ส. 5/6) และให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ในเวลานั้นลงชื่อเป็นพยานไม่น้อยกว่าสองคน

ในระหว่างการนับคะแนน ถ้าผู้แทนพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่า การนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งไม่ถูกต้อง ให้ยื่นคำทักท้วงตามแบบ ส.ส. 5/10  (ในทางปฏิบัติผู้สังเกตการณ์สามารถโต้แย้งได้ทันที หากกรรมการยืนยันนับเช่นเดิมให้เขียนแบบ ส.ส. 5/10) เมื่อนับเสร็จแล้วให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งรวมจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดว่า ตรงกับผู้มาแสดงตนใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ กรณีที่ไม่ตรงให้ตรวจสอบอีกครั้งและถ้าไม่ตรงอีกครั้งหนึ่ง ให้รายงานต่อกกต. ถึงความไม่ถูกต้องและแจ้งเหตุผลของการนับคะแนนไม่ตรงกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พร้อมทั้งแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง

เปิดช่อง “บัตรเขย่ง” ไม่ต้องนับ-ออกเสียงใหม่ ถ้าไม่ทุจริตและเปลี่ยนแปลงผล

การออกเสียงเลือกตั้งปี 2562 มีเหตุ “บัตรเขย่ง” หรือบัตรเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งการให้มีการนับคะแนนและออกเสียงเลือกตั้งใหม่ ในกรณีออกเสียงใหม่มีทั้งหมดหกหน่วย ซึ่งไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนแปลงผู้ชนะ แต่ตามระเบียบ กกต. ปี 2561 ข้อ 158 วรรคสาม “ปิดทาง” ไม่ให้ กกต. มีดุลยพินิจวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น โดยระบุว่า หากดำเนินการนับคะแนนอีกครั้งและผลยังไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งให้รายงาน กกต. และอธิบายเหตุผลเพื่อพิจารณาให้มีการนับคะแนนใหม่หรือออกเสียงลงคะแนนใหม่ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 122 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.ส.ส.) พ.ศ. 2561 อย่างไรก็ตาม ใน พ.ร.ป.ส.ส. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2566 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 122 เปิดช่องให้ กกต. สามารถใช้ดุลพินิจในการสั่งนับคะแนนหรือออกเสียงใหม่ หรือจะไม่สั่งนับคะแนนหรือออกเสียงใหม่ก็ได้ หากกกต. มีความเห็นตรงกันว่า ความไม่ถูกต้องตรงกันของบัตรเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงนั้นไม่ได้เกิดจากการทุจริตและไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งในเขตนั้นเปลี่ยนแปลงไป

พ.ร.ป.ส.ส. พ.ศ. 2561 “มาตรา 122 ในกรณีที่ผลการนับคะแนนปรากฏว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง หากยังไม่ตรงกันอีกให้รายงานพร้อมเหตุผลต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่หรือสั่งให้ออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น พร้อมทั้งแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งทราบ และนําส่งหีบบัตรเลือกตั้งพร้อมวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้งแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งมอบหมาย”

พ.ร.ป.ส.ส. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2566 “มาตรา 122 ในกรณีที่ผลการนับคะแนนปรากฏว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน … เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สั่งให้มีการนับคะแนนใหม่หรือสั่งให้ออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น เว้นแต่คณะกรรมการจะมีความเห็นว่าความไม่ถูกต้องตรงกันนั้น มิได้เกิดจากการทุจริตและไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเปลี่ยนแปลงไปจะสั่งให้ยุติก็ได้”

ซึ่งระเบียบ กกต. 2566 ออกตามความนี้ด้วย จึงเปิดช่องให้ กกต. พิจารณาสั่งการให้ไม่ต้องนับคะแนนหรือออกเสียงใหม่ได้ หากเห็นแล้วว่า “บัตรเขย่ง” ไม่ได้เกิดจากการทุจริตหรือเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง ระเบียบฉบับนี้เพิ่มหมวดใหม่นำการนับคะแนนใหม่ การออกเสียงลงคะแนนใหม่ และการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งไว้ด้วยกัน เป็นการแก้ปัญหากรณี “บัตรเขย่ง” ที่ให้อำนาจ กกต. สั่งการให้นับคะแนนใหม่ ออกเสียงใหม่หรือในกรณีการที่เกี่ยวกันกับการทุจริตอาจสั่งให้เลือกตั้งใหม่ได้ตามเงื่อนไขที่ พ.ร.ป.ส.ส. 2561 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2566 บัญญัติไว้ ดังนี้

การนับคะแนนใหม่

กกต. สามารถสั่งให้นับคะแนนใหม่อีกครั้งในหน่วยเลือกตั้งหรือทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ในกรณีที่จำนวนบัตรลงคะแนนไม่ตรงกับจำนวนผู้แสดงตนมาใช้สิทธิและไม่ได้เข้าเหตุยกเว้นตามกฎหมายเลือกตั้ง พ.ร.ป.ส.ส. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2566 มาตรา 122 กล่าวคือ พบเหตุหรือหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งไม่เป็นโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามมาตรา 124 และ 137 กระบวนการนับคะแนนใหม่ ให้ผู้อำนวยการและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ได้รับการแต่งตั้งปฏิบัติหน้าที่ต่อในการนับคะแนน หรือ กกต. อาจเปลี่ยนแปลงได้หากมองว่า จะดำรงความเป็นกลางทางการเมืองหรือเป็นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการนับคะแนนเลือกตั้งใหม่จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมเก้าคน

การออกเสียงใหม่

ในกรณีที่จำนวนบัตรลงคะแนนไม่ตรงกับจำนวนผู้แสดงตนมาใช้สิทธิและไม่เข้าเงื่อนไขยกเว้นตามมาตรา 122 ของ พ.ร.ป.ส.ส. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กกต. อาจสั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้ออกเสียงใหม่ได้ กระบวนการออกเสียงใหม่ ให้ผู้อำนวยการและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ได้รับการแต่งตั้งในการเลือกตั้งที่ผ่านมาปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หรือกกต. อาจเปลี่ยนแปลงได้ หากมองว่า จะดำรงความเป็นกลางทางการเมืองหรือเป็นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ส่วนคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ทำหน้าที่ในวันเลือกตั้งก่อนหน้าก็ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามที่เห็นสมควร การออกเสียงใหม่จะเปิดให้ประชาชนแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันที่มีการประกาศให้ออกเสียงใหม่จนถึงเจ็ดวันนับตั้งแต่วันออกเสียงใหม่

การเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง

ระเบียบ กกต. 2566 กำหนดให้จัดการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งด้วยห้าสาเหตุด้วยกัน คือ หนึ่ง กรณีปรากฏภายหลังหรือผลการวินิจฉัยออกมาหลังการเลือกตั้งว่า ผู้สมัครที่ได้รับเลือก ได้คะแนนเป็นที่หนึ่ง ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม สอง ผลคะแนนเลือกตั้งพบว่า ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าไม่ประสงค์จะเลือกผู้ใด โดยจะต้องรับผู้สมัคร ส.ส. ใหม่ ผู้สมัครเดิมจะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นใหม่ ส่วนเหตุอีกสามข้อตามมาตรา 124 132 และ 137 ของ พ.ร.ป.ส.ส. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเป็นเหตุเกี่ยวเนื่องกับการนับคะแนนไม่ถูกต้อง เหตุไม่สุจริตและทุจริตการเลือกตั้ง