เลือกตั้ง66: กปน.ระวัง! หากจงใจทำให้ผลการเลือกตั้งผิดพลาด เสี่ยงรับโทษตามกฎหมาย

การจัดการเลือกตั้งทั่วไป ผู้ที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็คือคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งตลอดทั้งวัน ทั้งยังเป็นผู้นับและรายงานผลการนับคะแนนไปจนถึงดำเนินการกล่าวโทษหากพบเห็นการกระทำผิดในการเลือกตั้งและประชุมและวินิจฉัยกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งทั่วไป กปน. อาจต้องแบกรับความคาดหวังของประชาชนทั่วประเทศว่าจะทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ในความเป็นจริง ด้วยขั้นตอน วิธีการ หลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ต้องใช้ความละเอียดสูง ประกอบสภาพอากาศที่ร้อนระอุในช่วงเลือกตั้ง เดือนพฤษภาคม 2566 การต้องปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เช้าจรดเย็นก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความผิดพลาดของคน (Human Error) หากไม่มีผู้ใดช่วยกันทักท้วงความผิดนั้น

อย่างไรก็ตาม หากปรากฏว่า กปน. จงใจสร้างความผิดพลาดในระหว่างการลงคะแนนเลือกตั้งก็ต้องรับผิดตามกฎหมาย

กปน. จงใจทำการใดให้ผลการเลือกตั้งผิดจากความจริง โทษร้ายแรงปรับ-จำคุก-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

กปน. ที่มีอยู่เก้าคนต่อหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง  การปฏิบัติหน้าที่นั้นจะแบ่งออกเป็นฝ่ายต่างๆ ประกอบด้วย

  • ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย
  • ฝ่ายตรวจบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  • ฝ่ายส่งบัตรเลือกตั้ง
  •  ฝ่ายควบคุมดูแลคูหาลงคะแนน
  • ฝ่ายควบคุมหีบบัตรเลือกตั้ง 

ส่วน กปน. ที่เหลือจะคอยทำหน้าที่สับเปลี่ยนช่วยเหลือ กปน.ฝ่ายต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งคำในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ กปน. บางมาตราจะถูกเรียกรวมกับผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ ว่า “เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง”

กฎหมายเลือกตั้งกำหนดบทลงโทษแก่ กปน.ที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริตอันจะส่งผลให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมอย่างที่ควรจะเป็นไว้ ตั้งแต่ความผิดใหญ่อย่างการทุจริตทั้งกระบวนการไปจนถึงความผิดระหว่างปฏิบัติงานที่อาจส่งผลให้ผลการเลือกตั้งผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง โดยความผิดเฉพาะในมาตรา 119 กำหนดข้อห้าม กปน. กระทำการต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ห้ามนับบัตรเลือกตั้งหรือนับคะแนนหรือรวมคะแนนผิดจากความจริง
  • ห้ามทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุด เสียหาย หรือทำให้เป็นบัตรเสีย โดยไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมาย
  • ห้ามทำให้บัตรเสียกลายเป็นบัตรดี (บัตรที่ใช้ได้) 
  • ห้ามอ่านบัตรเลือกตั้งผิดจากความจริง 
  • ห้ามทำรายงานการเลือกตั้งไม่ตรงความเป็นจริง 

หาก กปน. ผู้นั้นมีเจตนา “จงใจ” ที่จะฝ่าฝืนข้อห้ามใดข้างต้นมาตรา 166 ได้กำหนดระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 20 ปี นอกจากนี้ ในมาตรา 141 ยังกำหนดไว้อีกว่า ผู้ที่รับโทษตามมาตรา 166 ถือว่ากระทำการทุจริตการเลือกตั้ง

นอกจากนี้สำหรับเจ้าพนักงานดำเนินการเลือกตั้งนอกจาก กปน. ได้แก่

  • ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง
  • ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง 
  • ประธานกรรมการและกรรมการการประจำที่เลือกตั้งกลาง
  • ประธานกรรมการและกรรมการการนับคะแนนบัตรเลือกต้ัง
  • เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
  • ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง 

กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 144 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้กับบุคคลทั่วไป กำหนดให้ในกรณีที่มีผู้กระทำการใดๆ ที่จะทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือทำการใดก็ตามให้บัตรเสียกลายเป็นบัตรดี มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 10 ปี

และในวรรคสองยังระบุว่า หากการกระทำดังกล่าว ทำโดย “เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง” จะได้รับโทษหนักขึ้น จําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาทและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 20 ปี

กปน. ได้รับความคุ้มครองความผิดหากกระทำการโดยสุจริต

กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 23 กำหนดความรับผิด ในกรณีที่ผู้จัดการเลือกตั้ง “ทุกระดับ” ตั้งแต่กรรมการ กกต. เลขาธิการสำนักงานกกต. ผู้รับผิดชอบระดับจังหวัด ระดับเขต รวมถึง กปน. และผู้ที่มาช่วยทำงานทั้งหมด หากหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางไม่ให้เป็นไปตามกฎหมาย มีโทษตามมาตรา 149 จําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี

อย่างไรก็ดีกฎหมายกำหนดเพิ่มเติมด้วย “หากได้กระทําโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง” เท่ากับว่า กกต. หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้น หากทำหน้าที่ไปตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด หรืออาจจะมีความบกพร่องบ้าง ผิดพลาดบ้าง ก็ไม่ต้องกังวลหากไปโดยสุจริตแล้วจะไม่ต้องมีความรับผิดตามกฎหมาย ข้อยกเว้นความผิดลักษณะนี้มีประโยชน์เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติให้สามารถทำงานไปได้โดยไม่ต้องกังวลใจหากมีข้อผิดพลาดเล็กน้อยที่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจทุจริต

นอกจากนี้ การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 24 ได้ให้อำนาจบุคคลดังต่อไปนี้ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่

  • กกต. 
  • เลขาธิการ กกต.
  • ผู้ตรวจการเลือกตั้ง
  • ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัด
  • เจ้าพนักงานผู้ดําเนินการเลือกตั้ง

ทำให้กลุ่มคณะทำงานเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย  ยกตัวอย่างเช่น หากพูดโกหกกับเจ้าพนักงานซึ่งเขาอยู่ระหว่าง “ปฏิบัติหน้าที่” และการโกหกนั้นอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนคนอื่นเสียหายด้วยก็จะถือว่าเป็นการแจ้งความเท็จ มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ทั้งนี้ ความคุ้มครองแก่ตัวเจ้าพนักงานจะอยู่แค่ในการปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งและคุ้มครองการกระทำหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น  อย่างไรก็ตามการเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญาก็ไม่ได้รับแค่การคุ้มครองจากตำแหน่งหน้าที่อย่างเดียวเพราะถ้าหากผู้นั้นกระทำความผิดโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ก็ต้องรับโทษตามกฎหมายอาญาที่เพิ่มขึ้นมาจากคนปกติเช่นกัน

ทั้งนี้ สําหรับเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งซึ่งรวมถึง กปน. จะถือเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ กฎหมายให้นับตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งจนถึงสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่

กกต. มีอำนาจสั่งให้ กปน.ที่ขาดประสิทธิภาพ พ้นจากตำแหน่งได้

การปฏิบัติหน้าที่ดำเนินการการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ กฎหมายเลือกตั้งได้ให้อำนาจแก่ กกต. เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการควบคุมดำเนินการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างสุจริตเที่ยงธรรมและโปร่งใส

จึงกำหนดใน มาตรา 22 ให้กรรมการ กกต. มีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งซึ่งรวมถึงกปน. พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ได้โดยต้องมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ด้วยว่าผู้นั้นขาดประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ หรือละทิ้งหน้าที่ หรือไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อกรรมการ กกต. สั่งให้เจ้าพนักงานผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งแล้วจะต้องรายงานให้กรรมการคนอื่นทราบด้วย